หลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต
พระผาง จิตฺตคุตฺโต (ผาง จิตฺตคุตฺโต) | |
---|---|
ชื่ออื่น | หลวงปู่ผาง |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 5 สิงหาคม พ.ศ. 2445 อำเภอเขื่องในอุบลราชธานี (80 ปี) |
มรณภาพ | 24 มีนาคม พ.ศ. 2525 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดอุดมคงคาคีรีเขต ขอนแก่น |
อุปสมบท | พ.ศ. 2465 พ.ศ. 2488 |
พรรษา | 37 |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าอาวาสวัดอุดมคงคาคีรีเขต |
หลวงปู่ผาง (5 สิงหาคม พ.ศ. 2445 — 24 มีนาคม พ.ศ. 2525) พระคณาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย ที่ได้อุทิศตนให่แก่พระพุทธศาสนา จนประชาชนชาวพุทธศาสนาได้เลื่อมใสศรัทธาท่าน และเวลามีงานบุญใด ๆ ท่านก็จะเป็นองค์ประธานร่วมอนุโมทนาในการทำบุญในครั้งนี้ด้วย ท่านได้สร้างพระพุทธรูป สร้างสาธารณะให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเจริญพระพุทธศาสนาต่อไป
ประวัติ
[แก้]หลวงพ่อผางท่านมีนามเดิมว่า ผาง ครองยุติ เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ณ บ้านกุดกะเสียน ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายทัน และ นางบัพพา ครองยุติ ในช่วงชีวิตเยาว์วัย หลวงปู่ท่านได้เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ท่านมีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม มีความซื่อสัตย์ มีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ และ ชอบทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมเสมอ [1] ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในมหานิกาย เมื่อปี พ.ศ. 2465 ณ วัดเขื่องกลาง บ้านเขื่องใน ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูดวน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านศึกษาพระธรรมวินัย มีความรู้พอสมควร ต่อมาจึงได้ลาสิกขาจากสมณเพศ และได้มีครอบครัวตามประเพณีอยู่หลายปี ภรรยาของท่านเป็นคนบ้านแดงหม้อ ต. แดงหม้อ อ. เขื่องใน จ. อุบลราชธานี แต่ไม่มีบุตร[2]
ในชีวิตฆราวาสของท่าน ท่านเป็นคนที่มีความขยัน มีความใส่ใจในงาน ประกอบอาชีพทำไร่ไถนา บางครั้งก็เป็นพ่อค้าเรือใหญ่บรรทุกข้าวจากแม่น้ำมูลไปขายตามลำน้ำชีน้อย บางครั้งก็เป็นพ่อค้าวัว นำวัวไปขายที่เขมรต่ำ หลวงปู่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างฐานะให้แก่ครอบครัว[3] ต่อมาเมื่ออายุได้ 43 ปี ท่านก็ได้ตัดสินใจออกบวชครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2488 เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย พร้อมกับภรรยา ภรรยาบวชเป็นแม่ชี ส่วนเงินที่เหลือ ท่านได้มอบให้กับบุตรบุญธรรม ที่วัดคูขาด บ้านศรีสุข ต.เขื่องใน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี มีพระครูศรีสุตาภรณ์ (สี พุทธสาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ไม่ปรากฏ หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเดิม แต่ท่านได้เข้าศึกษาอบรมพระกรรมฐาน อยู่ในสำนักวัดป่าวารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กับพระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) และหลวงปู่มหาปิ่น ปญฺญาพโล และหลังจากปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์สิงห์แล้ว ท่านก็เดินธุดงค์ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้พอสมควร ก็ท่องเที่ยววิเวกไปแต่ผู้เดียวในป่าเขา จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นถิ่นทุรกันดารเป็นเวลาหลายปี
ต่อมาท่านได้เดินธุดงค์ไปจำพรรษาอยู่หลายวัด และในระหว่างนั้น ท่านได้สร้างวัดแห่งใหม่ขึ้นมาคือ วัดบ้านแจ้ง ในปี พ.ศ. 2505 และได้เป็นประธานในการสร้างพระธาตุขามแก่น นโรดม ในปี พ.ศ. 2523 เพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุได้ 200 ปี (พ.ศ. 2325 — พ.ศ. 2525) และท่านได้ร่วมทอดผ้ากฐินสามัคคีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524[4] หลวงพ่อท่านได้เข้ารักษา(ตัว)เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524 วัดที่ ท่านจำพรรษาคือวัดอุดมคงคาคีรีเขต (ดูน) ตำบลนางาม อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่นและได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2525 สิริรวมอายุได้ 81 ปี[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ชาติกำเนิดหลวงพ่อผาง
- ↑ "ชีวประวัติหลวงพ่อผาง จิตตคุตฺโต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-30. สืบค้นเมื่อ 2011-10-14.
- ↑ "ปฏิปทาของหลวงพ่อผางในชีวิตฆราวาส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-10. สืบค้นเมื่อ 2011-10-14.
- ↑ ประวัติหลวงพ่อผาง วัดบ้านแจ้ง
- ↑ ความเสียสละของหลวงปู่ผาง