วัดศรีธรรมาราม (จังหวัดยโสธร)
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
วัดศรีธรรมาราม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดศรีธรรม , วัดท่าชี |
ที่ตั้ง | ถนนวิทยะธำรงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร 35000 |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
พระพุทธรูปสำคัญ | พระคัมภีร์พระพุทธเจ้า หรือ พระพุทธมงคลรุ่งโรจน์ (ศิลปะแบบล้านช้าง) |
เจ้าอาวาส | พระครูประสิทธิ์สีลคุณ (ประสิทธิ์ กันตสีโล) |
จุดสนใจ | เจดีย์พระพุทธมงคลรุ่งโรจน์ และพิพิธภัณฑ์พระเทพสังวรญาณ (พวง สุขินทริโย) |
กิจกรรม | งานสรงน้ำพระพุทธมงคลรุ่งโรจน์ (ช่วงวันมหาสงกรานต์) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดศรีธรรมาราม เดิมชื่อ วัดท่าชี , วัดนอก และวัดท่าแขกตามลำดับ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองยโสธร อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือ พระคัมภีร์พระพุทธเจ้า หรือพระพุทธมงคลรุ่งโรจน์ (หลวงพ่อพระสุก[1]) มีพระครูประสิทธิ์สีลคุณ (ประสิทธิ์ กันตสีโล) เป็นเจ้าอาวาส
ประวัติ
[แก้]วัดศรีธรรมาราม สร้างครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2395 ในสมัยรัชกาลที่ 4 มูลเหตุของการสร้างวัดมาจากการสิ้นชีวิตของครอบครัวเจ้าอุปราชบุตร และเจ้าคำม่วน ซึ่งเป็นญาติของพระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าฝ่ายบุต) เจ้าผู้ครองเมืองยศสุนทร องค์ที่ 3 ด้วยความอาลัยรันทดในวิบากกรรมของท่านทั้งหลายนั้น เจ้าผู้ครองเมืองจึงได้สร้างวัดนี้ไว้เพื่อเป็นที่รำลึกนึกถึงด้วยท่านเหล่านั้นได้สิ้นชีวิตโดยการถูกประหารใน "คุกเพลิง" และได้สร้างพระอุโบสถครอบสถานที่ทำการประหาร ชื่อวัดจึงบอกถึงความหมายและความเป็นมา หลังจากการสร้างวัดแล้วก็มีการเปลี่ยนชื่อวัดหลายต่อหลายครั้ง
ปี พ.ศ. 2416 พระสุนทรราชวงศาฯ (เจ้าเหม็น) ได้นำไพร่พลชาวเมืองยศสุนทรมาบูรณปฏิสังขรณ์วัต่อจากพระบิดา เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น วัดศรีธรรมหายโศก และเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสด็จฯ มาประพาสเมืองยศสุนทร จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นชื่อวัดเป็น วัดอโศการาม ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงโปรดประทานชื่อให้ใหม่ว่า วัดสร่างโศกเกษมสันต์ จนมาปี พ.ศ. 2500 พระครูพิศาลศีลคุณ (บุญสิงห์ สีหนาโท) เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้นได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า วัดศรีธรรมาราม ตราบจวบจนปัจจุบัน
ตำนานหลวงพ่อพระสุก
[แก้]ได้มีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสารหลายแห่ง ร่วมทั้งจากการสอบถามพยานบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ มาจัดทำเป็นหนังสือ”เจดีย์พระสุก และ พิพิธภัณฑ์พระเทพสังวรญาณ” เพื่อเป็นที่ระลึกงานสมโภชเจดีย์พระสุกและพิพิธภัณฑ์พระเทพสังวรญาณ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2559 ใจความบางส่วนจากหนังสือที่ระลึก คือ ตามประวัติและหลักฐานที่จารึกไว้เล่าว่า ผู้ที่นำหลวงพ่อพระสุกมามอบไว้ให้ที่วัดศรีธรรมาราม คือ พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ (จิตร จิตตะยโศธร) ต้นตระกูลจิตตยะโศธร ซึ่งชีวิตในวัยเด็กของท่านมีความผูกพันกับวัดศรีธรรมาราม และเมืองยโสธรเป็นอย่างมาก ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลอุดร ช่วงปี พ.ศ. 2467 ท่านได้ใช้ให้นักโทษต้องโทษประหารจำนวน 8 คน ไปค้นหาพระสุกจากลำน้ำโขง หากทำสำเร็จก็จะได้รับการละเว้นโทษตาย ซึ่งปรากฏว่านักโทษงมหาหลวงพ่อพระสุกจนพบ และสามารถอัญเชิญขึ้นมาได้ แต่เรื่องราวนี้ไม่เป็นที่เปิดเผย
จากบันทึกรายการทรัพย์สินในพระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม คราวที่พระครูวิจิตตวิโสธนาจารย์ (ทองพูล โสภโณ) เจ้าอาวาสลำดับที่ 2 บูรณะพระอุโบสถ (ช่วงปี พ.ศ. 2467 – พ.ศ. 2473) รายการทรัพย์สินลำดับที่ 5 ได้มีการบันทึกไว้ว่า มีพระปางสมาธิพระนามว่า คำภีรพุทธเจ้า ฐานเป็นเรือนแก้ว หน้าตักกว้าง 27 นิ้วฟุต นับรวมตั้งฐานสูง 41 นิ้วฟุต สร้างแต่ยุคเวียงจันทน์ยังดำรงเอกราช เป็นพระขัดเงา พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ เป็นเจ้าของ ราคาประมาณ 800 บาท จากเอกสารนี้ทำให้ทราบว่า พระยาอุดรธานีศรีโขมสาครเขตต์ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์สำคัญมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดศรีธรรมาราม คราวบูรณะพระอุโบสถ พ.ศ. 2467 – พ.ศ. 2473 เพื่ออุทิศส่วนกุศลแต่ พระอาจารย์มี คัมภีโร บิดาของท่าน โดยใช้พระนามว่า คัมภีรพุทธเจ้า ซึ่งพ้องกับฉายาเดิมของบิดาท่าน
เรื่องราวเกี่ยวกับ พระสุก นี้อาจจะคลุมเครือ แต่องค์ที่ประดิษฐาน ณ เจดีย์พระสุกและพิพิธภัณฑ์พระเทพสังวรญาณ มีลักษณะเป็นจริงที่สุด คือ ลักษณะขององค์พระที่อ่อนช้อย งดงาม ตามแบบศิลปล้านช้าง เนื้อองค์พระมีความเก่าและความหนัก บริเวณฐานมีร่องรอยกัดกร่อนด้วยจมน้ำเป็นเวลานาน (ราว 100 ปี จาก พ.ศ. 2371 – 2467 โดยประมาณ) รอยคราบโคลนยังปรากฏให้เห็น ผู้ที่อัญเชิญมาคือ พระยาอุดรธานีฯ อดีตเจ้าเมืองอุดร ซึ่งเป็นข้าฯ พระบาทที่ใกล้ชิดของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย) และมีหลักฐานว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลงความเห็นเกี่ยวกับ พระสุก พระเสริม พระใส ว่าเป็นพระพุทธรูปล้านช้างที่งดงามยิ่งกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆ และทรงสันนิษฐานว่า อาจเป็นพระพุทธรูปที่สร้างจากเมืองหนึ่งเมืองใด ทางตะวันออกของอาณาจักรล้านช้าง และต่อมาตกอย่ในเขตล้านช้าง หรืออาจสร้างขึ้นในเขตล้านช้างโดยฝีมือชาวลาวพุงขาวล้านช้าง ซึ่งเป็นไปได้ว่าพระองค์ทรงเคยเห็นพระพุทธรูปทั้ง 3 พระองค์นี้ ท่านพระยาอุดรธานีฯ ถือได้ว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ เพราะได้ติดตามสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาตลอด ทำให้ทราบถึงความสำคัญของพระสุก และสามารถค้นพบ และได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดศรีธรรมาราม แห่งเมืองยโสธร เพื่อเป็นอนุสรณ์แทนคุณแผ่นดินเกิดของท่าน และเมืองยโสธร มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับเมืองเวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์มาช้านาน
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จมาที่วัดศรีธรรมารามแห่งนี้ และให้เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดศรีธรรมหายโศก เป็นวัดอโสการาม ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีธรรมาราม
พระราชสุทธาจารย์ (รักษาการเจ้าอาวาดวัดศรีธรรมารามองค์ปัจจุบัน พ.ศ. 2559) เคยเล่าว่า หลวงตาพวงได้กล่าวย้ำๆ กับท่านว่า นี่แหละหลวงพ่อพระสุก นี่แหละหลวงพ่อพระสุก
เมื่อครั้งที่หลวงตาพวงยังมีชีวิตอยู่ หลวงตามีความปรารถนาที่จะสร้างวิหารเพื่อเป็นที่ประดิษฐานแห่งองค์พระสุก แต่เนื่องจากราคาค่าก่อสร้างสูงเป็นสิบๆ ล้านบาท ท่านก็พิจารณาว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะการรับกิจนิมนต์แต่ละครั้งของหลวงตา ชาวบ้านได้ทำบุญด้วยความศรัทธาตามกำลังของชาวบ้าน จึงเกรงว่าจะก่อให้เกิดความยุ่งยากลำบากใจในภายหลัง หลวงตาจึงเก็บรักษา พระสุก ไว้เป็นอย่างดี คอนขยับเปลี่ยนที่ประดิษฐาน ใช้ชื่อพระคัมภีรพุทธเจ้า และพระพุทธมงคลรุ่งโรจน์ แทนชื่อพระสุก เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เกรงว่าจะโดนขโมย
ได้มีการทำเรื่องส่งให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี ทำการขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2548
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ หมวดหมู่:พระพุทธรูปสำคัญในประเทศไทย
- ↑ dharma-gateway.com
- ↑ วัดศรีธรรมาราม (จังหวัดยโสธร)
- ↑ วัดศรีธรรมาราม (จังหวัดยโสธร)