ข้ามไปเนื้อหา

พระราชวังฤดูร้อนเดิม

พิกัด: 40°00′26″N 116°17′33″E / 40.00722°N 116.29250°E / 40.00722; 116.29250
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชวังฤดูร้อนเดิม
อักษรจีนตัวย่อ圆明园
อักษรจีนตัวเต็ม圓明園
ความหมายตามตัวอักษรGardens of Perfect Brightness
Imperial Gardens
อักษรจีนตัวย่อ御园
อักษรจีนตัวเต็ม御園
ภาพวาดแสดงพระราชวังยฺเหวียนหมิง-ยฺเหวียน
ภาพวาดแสดงการปล้มสะดม และขนโบราณวัตถุออกจากพระราชวัง โดยกองทหารฝรั่งเศส
ซากปรักหักพังของยฺเหวียนหมิง-ยฺเหวียน

พระราชวังฤดูร้อนเดิม (อังกฤษ: Old Summer Palace) เป็นที่รู้จักในชื่อ ยฺเหวียนหมิง-ยฺเหวียน (จีนตัวย่อ: 圆明园; จีนตัวเต็ม: 圓明園; พินอิน: Yuánmíng Yuán; อังกฤษ: Gardens of Perfect Brightness) เดิมมีชื่อเรียกว่า ยฺวี่-ยฺเหวียน (จีนตัวย่อ: 御园; จีนตัวเต็ม: 御園; พินอิน: Yù Yuán; อังกฤษ: Imperial Gardens) เป็นกลุ่มพระราชวัง และสวนหย่อม ตั้งอยู่บริเวณชานกรุงปักกิ่ง ห่างจากพระราชวังต้องห้ามไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร ในบริเวณใกล้เคียงกับพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอ-ยฺเหวียน

ยฺเหวียนหมิง-ยฺเหวียน สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 เพื่อเป็นที่ประทับของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง มีเนื้อที่ประมาณ 3.5 ตารางกิโลเมตร พระตำหนักส่วนใหญ่สร้างด้วยหิน ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก จากการออกแบบของ Giuseppe Castiglione และ Michel Benoist สถาปนิกเยซูอิตชาวอิตาลี [1]

พระราชวังยฺเหวียนหมิง-ยฺเหวียน เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1707 ในรัชกาลจักรพรรดิคังซี เพื่อพระราชทานแก่พระราชโอรสองค์ที่สี่ ซึ่งต่อมาได้ครองราชย์เป็นจักรพรรดิหย่งเจิ้น และทรงขยายอาณาเขตพระราชวัง ในปี ค.ศ. 1725 และได้มีการบูรณะอีกครั้งในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง และใช้เป็นพระราชวังที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิ เป็นเวลาถึง 150 ปี

พระราชวังยฺเหวียนหมิง-ยฺเหวียน ถูกเผาทำลายในช่วงปลายของสงครามฝิ่นครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1860 โดยกองทหารฝรั่งเศส บุกเข้ายึดพระราชวัง ซึ่งเป็นที่ประทับของจักรพรรดิเสียนเฟิง ในกลางดึกของคืนวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1860 ต่อมาในวันที่ 18 ตุลาคม ลอร์ดเจมส์ บรูซ แห่งเอลกิน ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษ ได้สั่งการให้กองทหารอังกฤษ จำนวน 3,500 คน บุกเข้าเผาทำลายพระราชวัง เพื่อเป็นการตอบโต้ราชสำนักจีน ที่สั่งทรมานและประหารชีวิตนักโทษชาวยุโรป และอินเดีย จำนวน 20 คน [2] โดยใช้เวลาเผาทำลายถึง 3 วัน

ในยุคปัจจุบัน ทางการจีนเคยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างพระราชวังยฺเหวียนหมิง-ยฺเหวียนขึ้นมาใหม่ แต่ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจอนุรักษ์ซากปรักหักพังไว้ในสภาพเดิม

ภาพรวม

[แก้]
ที่ตั้งพระราชอุทยานเดิม
แผนที่พระราชวังฤดูร้อนเดิม

พระราชอุทยานหรือสวนใหญ่ในพระราชวังฤดูร้อนเดิมประกอบด้วย 3 สวนใหญ่ :

  1. หยวนหมิงหยวน (圆明园; 圓明園; Yuánmíng Yuán, อังกฤษ: Garden of Perfect Brightness)
  2. ฉางชุนหยวน (长春园; 長春園; Chángchūn Yuán, อังกฤษ: Garden of Eternal Spring)
  3. ฉี่ชุนหยวน (绮春园; 綺春園; Qǐchūn Yuán, อังกฤษ: Garden of Elegant Spring)

หยวนหมิงหยวน สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1707 (รัชกาลคังซีปีที่ 46) โดยเริ่มแรกจักรพรรดิคังซีมอบสวนแห่งนี้ให้เป็นรางวัลแก่พระโอรสองค์ที่ 4 องค์ชายอิ้นเจิน และได้เขียนแผ่นป้ายคำว่า "หยวนหมิงหยวน" ด้วยพระองค์เอง โดยคำว่า "หยวนหมิง 圆明" นั้น หมายถึงองค์ชายอิ้นเจิน

เมื่อองค์ชายอิ้นเจินหรือจักรพรรดิยงเจิ้งขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ.1722 ก็ได้มีการขยายสวนทางใต้ออกไปอีก โดยมีการสร้างพระที่นั่งเจิ้งต้ากวางหมิง พระที่นั่งฉินเจิ้งเตี้ยน ห้องของคณะขุนนาง (รัฐมนตรี) อาคารทำการ (กระทรวง) สภากลาโหม และอาคารสถานที่อื่นอีกมากมาย จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการประชุมบริหารราชการแผ่นดินในช่วงฤดูร้อน โดยปราศจากการสอดแนมแอบฟัง

ในรัชสมัยของจักรพรรดิเฉียนหลง นอกจากจะมีการสร้างขยายเพิ่มเติมเฉพาะจุดภายในหยวนหมิงหยวนแล้ว ยังให้มีการสร้างสวนฉางชุนหยวนขึ้นทางฝั่งตะวันออก และสวนฉี่ชุนหยวนเพิ่มขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

40°00′26″N 116°17′33″E / 40.00722°N 116.29250°E / 40.00722; 116.29250