ข้ามไปเนื้อหา

พรหมมาศ เลื่อมใส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พรหมมาศ หรือ จุ่น เลื่อมใส (มกราคม พ.ศ. 2501 – 28 มกราคม พ.ศ. 2539) เป็นฆาตกรชาวไทยผู้ก่อเหตุฆาตกรรมคน 3 คนระหว่างปี พ.ศ. 2528–2531 เขาถูกตัดสินประหารชีวิตจากการฆาตกรรมสุพจน์ ทองบริสุทธิ์ พลเมืองดีระหว่างการปล้นร้านขายยาที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ. 2528 และถูกประหารชีวิตในปี พ.ศ. 2539 เขานับเป็นบุคคลแรกที่ถูกประหารชีวิตในรอบ 8 ปี[1] หลังจากการประหารชีวิตสมโภชน์ ชื่นชม, ไพริน ณ วันดี, คำพัน อรรถศรี และสุวรรณ คำภูษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2530[2][3][4]

พรหมมาศ เลื่อมใส
เกิดมกราคม พ.ศ. 2501
ตำบลเกาะลอย อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย
เสียชีวิต26 มกราคม พ.ศ. 2539 (38 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตประหารชีวิตด้วยการยิง
ชื่ออื่นจุ่น
อาชีพลูกเรือประมง
มีชื่อเสียงจากบุคคลแรกที่ถูกประหารชีวิตในรอบ 8 ปี
สถานะทางคดีถูกประหารชีวิต
พิพากษาลงโทษฐาน
  • ปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
  • ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่
  • พยายามฆ่าเจ้าพนักงาน และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
  • ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
  • พยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
  • พกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต
บทลงโทษประหารชีวิต
รายละเอียด
ระยะเวลาอาชญากรรม
30 มิถุนายน พ.ศ. 2528–28 มีนาคม พ.ศ. 2531
ประเทศประเทศไทย
รัฐจังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดชลบุรี
ตำแหน่งร้านขายยาอี้เซ้ง ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์
ร้านอาหารโต้รุ่ง ตลาดช่องแสมสาร ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ
บ้านเนินไผ่ ตำบลหน้าประดู่ อำเภอพานทอง
ตายสุพจน์ ทองบริสุทธิ์ อายุ 32 ปี
สมบูรณ์ พลอยประเสริฐ อายุ 26 ปี
พลวิษณุ บุญเผย อายุ 28 ปี
บาดเจ็บเกียรติ สุขประเสริฐ
อาวุธปืนลูกซองยาว
ปืนพกขนาด .38
วันที่ถูกจับ
28 มีนาคม พ.ศ. 2531
จำคุกที่เรือนจำกลางบางขวาง

ประวัติ[แก้]

พรหมมาศเกิดที่อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2501 เขาไม่มีที่อยู่อย่างเป็นหลักแหล่ง เขามีนิสัยโหดเหี้ยม และติดการพนันอย่างรุนแรง โดยเขาจดจ่ออยู่กับการพนันได้เป็นวันๆ[5]

การก่อคดี[แก้]

การปล้นร้านขายยาอี้เซ้ง[แก้]

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2528 พรหมมาศได้พาคนร้ายจำนวน 5 คนนั่งเรือหางยาวมาตามคลองลาดขวางแล้วจอดที่ท่าเรือห่างจากบ้านครอบครัวเจริญสุข 20 เมตร ถัดจากนั้นพรหมมาศและคนร้ายอีก 2 คนซึ่งใส่หมวกไหมพรมคลุมหน้าได้ลงจากเรือพร้อมกับมีด, ปืนขนาด.38 และปืนลูกซองยาว แล้วเดินเข้ามาหานางสาวศิริพร เจริญสุข อายุ 17 ปี ซึ่งกำลังแล้วขายของอยู่หน้าร้าน กลุ่มคนร้ายได้ใช้ปืนขู่ศิริพรเพื่อไม่ให้ขัดขืน ก่อนจะแยกย้ายกันรื้อค้นทรัพย์สิน[6] ระหว่างที่คนร้ายรื้อค้นทรัพย์สิน ศิริพรได้ตะโกนขอความช่วยเหลือ นงนุชแม่ของศิริพรที่กำลังกินข้าวอยู่ในครัวหลังบ้านจึงกระโดดออกจากหน้าต่างแล้ววิ่งหนีไปปีนรั้วหลังบ้านเพื่อขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านและตะโกนว่า"ช่วยด้วย...ช่วยด้วย...ไฟไหม้" ทำให้ปราณีแม่ของศิริพรซึ่งนอนอยู่ชั้นสองได้รีบลงมายังชั้นล่างทำให้เธอถูกหนึ่งในคนร้ายใช้ปืนจ่อศรีษะ ในเวลาเดียวกันนายสุพจน์ ทองบริสุทธิ์ อายุ 32 ปี ชาวบ้านที่อยู่ห่างจากร้านขายยาเล็กน้อยได้คิดว่าได้เกิดไฟไหม้จริงๆ จึงวิ่งออกจากบ้านเพื่อมาช่วยดับไฟ พรหมมาศซึ่งถือปืนลูกซองและเป็นหัวหน้าสั่งการลูกน้องอยู่จึงใช้ปืนยิงออกจากร้าน ส่งผลให้สุพจน์เสียชีวิตในทันที เมื่อคนร้ายได้ทรัพย์สินมูลค่า 4,000 บาท ซึ่งประกอบด้วยเข็มขัดเงินน้ำหนัก 14 บาท จำนวน 1 เส้น แว่นตา 1 อัน กลุ่มคนร้ายจึงออกจากร้านไปพร้อมกับแบกเอาตู้เก็บเครื่องสำอางกับตู้ใส่แว่นไปด้วย ระหว่างที่ออกจากร้านกลุ่มคนร้ายได้ใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าจำนวน 5 นัดเพื่อขู่ชาวบ้าน ก่อนจะวิ่งกลับไปที่เรือหางยาวก่อนจะขับหลบหนีไป[7][8]

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านโพธิ์ทำให้ทราบชื่อผู้ก่อเหตุยิงสุพจน์คือพรหมมาศ เลื่อมใส ตำรวจจึงออกหมายจับพรหมมาศแต่เขาได้หลบหนีไปทำงานเป็นลูกเรือประมง เมื่อไม่ได้ออกเรือเขามักจะไปเล่นพนันตามวงไพ่หรือไฮโล[9]

การฆาตกรรมที่ร้านอาหารโต้รุ่ง ตลาดช่องแสมสาร[แก้]

ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 เขาได้ไปกินเหล้าที่ร้านอาหารโต้รุ่งตลาดช่องแสมสาร เขาได้มีปากเสียกับสมบูรณ์ พลอยประเสริฐและเกียรติ สุขประเสริฐ นายท้ายเรือประมงซึ่งมานั่งดื่มเหล้าที่โต๊ะตรงข้าม เมื่อพบว่าไม่น่าจะสู้ได้ เขาจึงกลับไปเอาปืนลูกซองจากบ้าน ในเวลา 01.00 น. เขากลับมายังร้านอาหารและใช้ปืนลูกซองยิงเกียรติจนได้รับบาดเจ็บสาหัส สมบูรณ์จึงลุกขึ้นมาแย่งปืนลูกซองจากพรหมมาศ เมื่อสมบูรณ์เสียหลักล้มลง เขาจึงใช้ปืนยิงที่ศรีษะของสมบูรณ์จนเสียชีวิตแล้วหลบหนีไป เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิฐานว่าคนร้ายน่าจะเคยมีเรื่องโกรธกันมาก่อน[10] จากการสืบสวนพยานที่เหตุการณ์ทำให้ทราบชื่อของคนร้ายคือพรหมมาศ เลื่อมใส[11]

การฆาตกรรมครั้งสุดท้ายและการจับกุม[แก้]

วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2531 เวลาประมาณ 12.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอพานทองจำนวน 9 นายได้เข้าจับกุมผู้เล่นพนันรัมมี่ที่บ้านเนินไผ่ อำเภอพานทอง ระหว่างที่พลวิษณุ บุญเผย, สิบตำรวจตรีชาพุมาตร ศรีคุมแก้ว และดาบตำรวจถาวร สวัสดิผล กำลังวิ่งไล่ตามนักพนันจำนวน 3 คน เมื่อพรหมมาศหนึ่งในนักพนันจวนตัว เขาจึงหันกลับมาแล้วใช้ปืนยิงวิษณุจำนวน 2 นัด ทำให้วิษณุเสียชีวิต ถาวรและชาพุมาตรจึงเปลี่ยนจากการติดตามนักพนันคนอื่นมาติดตามเขา เมื่อเขาเห็นถาวรและชาพุมาตรเข้าใกล้จึงยิงใส่ทั้งสอง 2 นัดแต่กระสุนไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชาพุมาตรจึงใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าจำนวน 3 นัด เขาจึงโยนปืนลงคูน้ำและยอมจำนนเนื่องจากกลัวจะถูกวิสามัญฆาตกรรมและไม่มีกระสุนเหลือ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวเขามายังสถานีตำรวจภูธรพานทองเพื่อดำเนินคดีตามกฏหมายและแจ้งข้อหาพกอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่, พยามยามฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน[12]

การพิจารณาคดี และการประหารชีวิต[แก้]

ในปี พ.ศ. 2531 ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้ตัดสินประหารชีวิตพรหมมาศในความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจากคดีฆาตกรรมสุพจน์ ทองบริสุทธิ์ที่อำเภอบ้านโพธิ์ และย้ายตัวเขาไปยังเรือนจำกลางบางขวาง ส่วนคดีฆาตกรรมที่จังหวัดชลบุรีไม่พบข้อมูลคำตัดสินว่าได้รับโทษอย่างไร เขาได้ใช้สิทธิ์ขอยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษายืนประหารชีวิต หลังจากนั้นเขาได้ใช้สิทธิ์ขอยื่นฎีกา แต่ศาลฏีกาก็พิพากษายืนประหารชีวิตตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เขาจึงถวายฎีกาทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษในปี พ.ศ. 2536 แต่ฎีกาดังกล่าวได้ถูกกระทรวงมหาดไทยสั่งยกในปี พ.ศ. 2538 เนื่องจากเขามีพฤติกรรมเป็นอาชญากร ประกอบกับการก่ออาชญากรรมหลายครั้ง ประพฤติตัวเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และไม่มีทางแก้ไขให้กลับตัวเป็นคนดีได้ ต่อมาในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2538 หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้รายงานว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยได้กล่าวว่าชายคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อ กำลังจะถูกประหารชีวิตเพื่อยับยั้งการก่ออาชญกรรม โดยชายคนดังกล่าวถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปล้นทรัพย์และฆาตกรรม 3 ครั้งในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ในช่วงปี พ.ศ. 2528 ถึง 2530 จริงๆบุคคลดังกล่าวก็คือพรหมมาศแต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อว่าพรหมมาศคือชายที่กำลังจะถูกประหารชีวิต[13][14]

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2539 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวพรหมมาศออกจากหมวดควบคุมนักโทษประหารแดน 1 อย่างเงียบๆเพื่อไม่ให้นักโทษประหารคนอื่นแตกตื่น เมื่อนำตัวมาถึงหมวดผู้ช่วยเหลือฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรได้เข้าไปพิมพ์ลายนิ้วมือของเขาและตรวจสอบประวัติอาชญากร เมื่อเจ้าหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือของเขาเสร็จ เวรผู้ใหญ่ได้ทำการอ่านคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้และให้เซ็นลงในคำสั่ง ถัดจากนั้นได้ให้เขาเขียนพินัยกรรมโดยเขาได้เขียนจดหมายถึงแม่ หลังจากเขียนพินัยกรรมและจดหมาย พี่เลี้ยงได้ยกอาหารมื้อสุดท้ายซึ่งประกอบด้วยข้าวเปล่า, น้ำพริกปลาทู และแกงจืดมะระยัดไส้มา เขามีอาการกลัวจนเดินไม่ไหวและเหงื่อออก เขาได้ขอบุหรี่มาสูบเพื่อลดความหวาดกลัว ในเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงนำเขาเข้าไปเพื่อฟังเทศนาธรรมจากพระครูอินทสรานุรักษ์ซึ่งเทศนาเรื่องกฎแห่งกรรม ระหว่างฟังเทศน์เขามีสีหน้าซีดเผือกและหวาดกลัวมาก พระครูอินทสรานุรักษ์เห็นใบหน้าของเขาจึงเทศน์ให้ให้มีสติตั้งมั่นในหลักธรรมคําสอนเรื่อง การเกิด แก่ เจ็บ ตาย อันเป็นของธรรมดาสุดแต่เวรแต่กรรม มิให้ยึดถือโกรแค้น ทำให้ความหวาดกลัวของเขาลดลงและสงบนิ่งมากขึ้น โดยยังมีน้ำตาคลอหน้าอยู่บ้าง หลังจากการเทศน์ระยะเวลาประมาณ 10 นาที เขาได้ถวายเงินติดกัณฑ์เทศน์ ถัดจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้พาเขาไปยังศาลาเย็นใจเพื่อเตรียมการประหารชีวิต โดยระหว่างเดินเขาร้องไห้และคอพับอ่อนจนเดินไม่ไหว[15] เขาถูกนำตัวเข้าสถานที่หมดทุกข์และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อเวลา 18.48 น. โดยเพชฌฆาตเชาวน์เรศน์ จารุบุศย์ ซึ่งเขาเสียชีวิตจากการยิงเพียงชุดเดียว[16] หลังจากการประหารชีวิต 3 นาทีพี่เลี้ยงและแพทย์ได้ตรวจสอบร่างของเขาและยืนยันว่าเขาเสียชีวิตก่อนปลดเขาออกจากหลักประหารแล้วนำศพของเขาคว่ำหน้าไว้ ก่อนนำศพของเขาไปพิมพ์ลายนิ้วมือ ในวันถัดมานักโทษซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานได้ตัดตรวนสองชั้นที่ขาของเขาออกแล้วอาบน้ำกับเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ก่อนบรรจุลงไปในโลงศพ แล้วนำศพออกไปทางประตูเเดงของวัดบางแพรกใต้ ก่อนนำศพไปเก็บที่ช่องเก็บศพนักโทษประหาร แล้วโบกปูนและเขียนชื่อของนักโทษที่ถูกประหารชีวิตไว้ด้านหน้าของช่องเก็บศพ ในอีกสองวันต่อมาญาติของเขาได้เดินทางมารับศพกลับไปประกอบพิธีกรรมตามศาสนาที่อำเภอพานทอง[17][18][19]

พรหมมาศนับเป็นบุคคลแรกที่ถูกประหารชีวิตในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่การประหารชีวิตสมโภชน์ ชื่นชม, ไพริน ณ วันดี, คำพัน อรรถศรี และสุวรรณ คำภูษา ในปี พ.ศ. 2530 และนับเป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิตคนที่ 276 ของประเทศไทยด้วยการยิงเป้า[20][21]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Thailand: further information on: fear of imminent execution: Prommas Leamsai
  2. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 หน้าที่ 17 สกู๊ปหน้า 1 ฟื้นโทษยิงเป้า กำราบเดนสังคม
  3. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13887 วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2539
  4. Informe Sobre El Deute Extern a L'estat Espan หน้าที่319-321
  5. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 เรื่องพรหมมาศ เลื่อมใส โหด...ต้องประหาร
  6. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 28 ฉบับที่ 10024 วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 หน้าที่ 7 เรื่องโจรปล้นฆ่าโหดร้านค้าเมียพตท.
  7. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 28 ฉบับที่ 10024 วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 หน้าที่ 20 เรื่องโจรปล้นฆ่า
  8. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 28 ฉบับที่ 10023 วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2528
  9. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 เรื่องพรหมมาศ เลื่อมใส โหด...ต้องประหาร
  10. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 13,424 วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 หน้าที่ 2
  11. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 เรื่องพรหมมาศ เลื่อมใส โหด...ต้องประหาร
  12. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับที่ 14,048 วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2531 หน้าที่ 2
  13. Thailand: Fear of imminent execution: one unnamed prisoner
  14. Thailand: Further information on fear of imminent execution: one unnamed prisoner
  15. หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2539
  16. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 หน้าที่ 17 สกู๊ปหน้า 1 ฟื้นโทษยิงเป้า กำราบเดนสังคม
  17. Human Rights in Transition
  18. Thailand: A Human Rights Review Based on the International Covenant on Civil and Political Rights
  19. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13888 วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ.2539 หน้าที่ 1
  20. Bangkok revives capital punishment after eight years The Straits Times : Weekly Overseas Edition, 3 February 1996, Page 11
  21. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐปีที่ 47 ฉบับที่ 13887 วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2539
ก่อนหน้า
สมโภชน์ ชื่นชม, ไพริน ณ วันดี, คำพัน อรรถศรี และสุวรรณ คำภูษา
บุคคลที่ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในประเทศไทย
พรหมมาศ เลื่อมใส
ถัดไป
บุญโชติ พงศ์พราหมณ์ และ พนม ทวีสุข