ผู้ใช้:วัดลานตากฟ้า/หน้าทดลอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดลานตากฟ้า (Wat Lan Tak Fa)[แก้]

วัดลานตากฟ้า/หน้าทดลอง
ชื่อสามัญWat Lan Tak Fa
ที่ตั้งตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธโสภณ
เจ้าอาวาสพระครูปฐมกิตติวรรณ ( กิตติ กิตฺติวณฺโณ )
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดลานตากฟ้า เป็นวัดราษฎร์ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา สังกัดคณะสงฆ์ฝ่าย มหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำนครชัยศรี เลขที่ 41 หมู่ 4 ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นสถานที่ประกอบ ศาสนพิธี และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนลานตากฟ้ารวมทั้งเป็นที่พำนักของสงฆ์และนักบวช วัดลานตากฟ้าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2300 เป็นวัดที่เก่าแก่สร้างมานาน ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาเป็นระยะตามลำดับเดิมมีนามว่า วัดลานตากฟ้า[1]ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2494 (เดิมวันที่ 2กันยายน พ.ศ.2457) ได้ผูกพัทธสีมาอุโบสถวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 มีที่ดินปัจจุบัน 38  ไร่ 2 งาน 68 ตารางวา และมีเจ้าอาวาสซึ่งได้ปกครองวัดลานตากฟ้า มาแล้ว ที่มีปรากฏแน่ชัด9รูปตามลำดับดังนี้

  1. พระอธิการโต
  2. พระอธิการจุ้ย
  3. พระอธิการไป๋
  4. พระอธิการมา
  5. พระมหาฟัก
  6. พระอธิการส่ง
  7. พระอธิการสุรพล
  8. พระครูประโชติธรรมาภรณ์
  9. พระครูปฐมกิตติวรรณ (เดิมพระอธิการกิตติ กิตฺติวณฺโณ) รูปปัจจุบัน

ประวัติของวัดลานตากฟ้าและชุมชนบ้านลานตากฟ้า[2][3][แก้]

วัดลานตากฟ้า เป็นวัดเก่าแก่ ไม่ทราบประวัติความเป็นมาอย่างแน่ชัดว่าสร้างในยุคสมัยใด แต่เมื่อพิจารณาตามหลักฐานภายในวัดลานตากฟ้าที่ยังคงเหลืออยู่ ในปัจจุบันคือพระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทรายแดง จากการพิจารณาตามพุทธลักษณะแล้วพบว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง 3 ซึ่งพระพุทธรูปแบบอู่ทอง 3 นี้ ได้รับอิทธิพลของศิลปะสมัยทวารวดี และอิทธิพลของศิลปะสมัยสุโขทัยปะปนกันอยู่ หากประมาณตามอายุและศิลปะแล้วน่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 (ประมาณปี พ.ศ. 2000 เป็นต้นมา) หรือเทียบได้กับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

จากการสืบค้นตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่าพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (ต้นฉบับสมุดข่อยไทย) มีเนื้อความบรรยายตั้งแต่การสถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ ราชธานีบุรีรมย์ หรือ เรียกสั้นๆ ว่า กรุงศรีอยุธยา มาจนกระทั่งใกล้สิ้นสมัยของกรุงศรีอยุธยา ได้มีการกล่าวถึง บ้านลานตากฟ้า ไว้ในช่วงหนึ่งซึ่งมีใจความว่า “หลวงศรียศ[4][5] ซึ่งเป็นชาวบ้าน ลานตากฟ้า แขวงเมืองนครปฐม ได้เข้าร่วมกับสมเด็จพระชัยราชาธิราช ก่อการรัฐประหารสมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมารในปี พ.ศ. 2077 และต่อมา หลวงศรียศ ได้ร่วมมือกับขุนนางอีก 3 ท่านโค่นล้มอำนาจของขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์จนสำเร็จ จากนั้นได้ทูลอัญเชิญพระเธียรราชา พระราชอนุชาต่างพระราชมารดาของสมเด็จพระชัยราชาธิราช แล้วสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ครองแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา” การกล่าวถึงหลวงศรียศและบ้านลานตากฟ้า ในพงศาวดารฉบับนี้ เป็นหลักฐานสำคัญทำให้ทราบได้ว่า บ้านลานตากฟ้า เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และมีบันทึกไว้ในสมุดข่อยเป็นหลักฐาน อ้างอิงอย่างชัดเจน

บ้านลานตากฟ้า ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งที่ 2 ในเอกสารประวัติศาสตร์ คือในนิราศสุพรรณ[6] ซึ่งสุนทรภู่ แต่งขึ้น เมื่อ พ.ศ.2374 กล่าวถึงด่านสำคัญ หรือแดนด่าน เป็นด่านใหญ่จากช่องปากคลองโยงต่อกับแม่น้ำนครชัยศรี เป็นทางน้ำสัญจรของเรือสินค้าเพื่อเดินทางเข้าออกจากหัวเมืองฝั่งตะวันตกและกรุงเทพฯ ทำให้มีเรือจำนวนมาก ต้องหยุดที่จุดตั้งด่านมีตลาดและชุมชน และมีนายด่านเรียกว่า เจ้าตลาดปากคลอง เป็นผู้ตรวจตราและเรียกเก็บภาษีในสมัยนั้น

สุนทรภู่ ได้บันทึกถึงชุมชน “ลานตากฟ้า” ว่าเป็นชุมชนใหญ่  มีบ้านเรือน โรงร้านตั้งยาวตลอดคุ้งน้ำ สุนทรภู่ ให้ภาพชีวิตชาวบ้านในชุมชน ขณะกำลังตากปลาบนร้าน ซึ่งเขาเชื่อมโยงความหมายว่าเป็นที่มาของชื่อชุมชน อาจจะเรียกว่า ลานตากปลา ก็ได้ซึ่งนอกจากสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำช่วงยุคนั้นที่มีทั้งปลาและผักน้ำ อย่าง ผักบุ้ง เต็มท้องทุ่ง ใช้เป็นอาหารได้แล้วสุนทรภู่ ได้พรรณนาถึงบ้านลานตากฟ้า เป็นโคลง 4 สุภาพ ในนิราศสุพรรณ ไว้ดังนี้

ออกแควแม่น้ำปาก คลองโยง
แดนด่านบ้านเรือนโรง เรียดคุ้ง
ชื่อลานตากฟ้าโถง ทุ่งรอบ ขอบแฮ
เย็นย่ำน้ำค้างฟุ้ง ฟากฟ้าสากล
ชาวบ้านร้านเลือกตั้ง ตากปลา
แต่ปากว่าตากฟ้า เฟื่องฟุ้ง
กว้างขวางสร้างวัดวา ไว้ช่อง คลองแฮ
ริมฝั่งพรั่งผักบุ้ง ยอดแยมแซมไสว

นอกจากนี้สุนทรภู่ ยังได้แต่งนิราศพระประธมใน พ.ศ. 2375 โดยกล่าวถึงการเดินทางไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์โดยการเดินทางผ่านคลองโยงทางเรือแล้วออกแม่น้ำนครชัยศรีเพื่อไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์โดยผ่านย่าน ลานตากฟ้า ในขณะที่ผ่าน บ้านลานตากฟ้า ได้แต่งกลอน เป็นกลอน 8 มีใจความสำคัญไว้ดังนี้

จะออกช่องคลองโยงเห็นโรงบ้าน เขาเรียกลานตากฟ้าค่อยพาชื่น
โอ้แผ่นฟ้ามาตากถึงภาคพื้น น่าจะยืนหยิบเดือนได้เหมือนใจ
เจ้าหนูน้อยพลอยว่าฟ้าตกน้ำ ใครช่างดำยกฟ้าขึ้นมาได้
แม้นแดนดินสิ้นฟ้าสุราลัย จะเปล่าใจจริงจริงทั้งหญิงชาย

บ้านลานตากฟ้า ยังถูกกล่าวถึงจากเรื่องเล่าของชาวบ้านปากต่อปากอีกว่า ครั้งอดีตบริเวณนี้ยังไม่มีถนน ประชาชนใช้เรือในการเดินทาง สัญจรติดต่อค้าขาย วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุเรือล่มที่หน้าวัด ชาวบ้านช่วยผู้ประสบเหตุแล้วนำข้าวของและเสื้อผ้าขึ้นตากที่ลานวัด ซึ่งมีสิ่งของและเสื้อผ้าจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเรียกขานว่า ลานตากผ้า เมื่อกาลเวลาผ่านไป จึงเพี้ยนไปเป็น ลานตากฟ้า

แม้จะมีข้อสันนิษฐานของสุนทรภู่ และเรื่องเล่าของชาวบ้าน ว่าชื่อบ้านลานตากฟ้า อาจจะผิดเพี้ยนมาจากคำว่า ลานตากปลาบ้าง ลานตากผ้าบ้าง แต่ก็มิได้มีเอกสารหรือหลักฐานใดๆเลย ที่จะสมเหตุผลหรือพิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ได้ว่าเป็นเช่นนั้น แต่หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ กลับกล่าวถึงชื่อ “บ้านลานตากฟ้า” ไว้อย่างชัดเจนที่สุด ดังนั้นจึงน่าจะสรุปได้ว่าชื่อ “บ้านลานตากฟ้า” เป็นชื่อดั้งเดิมของวัดและชุมชนนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว มิได้เกิดจากความผิดเพี้ยนแต่อย่างใด

จากการศึกษาพุทธลักษณะของพระพุทธรูปเก่าบนฐานชุกชีในอุโบสถวัดลานตากฟ้า ซึ่งมีอายุราวประมาณพุทธศตวรรษที่  20 จากหลักฐานในพระราชพงศาวดารที่กล่าวถึงบ้านลานตากฟ้าว่ามีมาแต่สมัยพระชัยราชาธิราช ประมาณปี พ.ศ. 2000 เศษ และจากการกล่าวถึงบ้านลานตากฟ้าของสุนทรภู่ ในการแต่งนิราศพระประธมและนิราศสุพรรณ จึงพอจะสรุปได้ว่า วัดลานตากฟ้า เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างมาพร้อมๆกับชุมชน บ้านลานตากฟ้า มีอายุราว 500 - 600 ปีแล้ว

ประวัติพระพุทธโสภณ พระประธานในอุโบสถวัดลานตากฟ้า[แก้]

ตามประวัติแล้ววัดลานตากฟ้าเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา มีพระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง ซึ่งพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้

  • พระพุทธรูปอู่ทอง 1 ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของทวารวดี และขอมปะปนอยู่ร่วมกัน ได้แก่ พระพุทธรูปที่มีพระพักตร์เป็นแบบพื้นเมือง คือ ที่มีพระพักตร์ สี่เหลี่ยม ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นตุ่มเล็กๆ ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดแบบตัดตรง
  • พระพุทธรูปอู่ทอง 2 ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของขอมชัดเจนที่สุด ลักษณะที่สำคัญได้แก่ พระพักตร์สี่เหลี่ยม สีพระพักตร์ถมึงทึง ขมวด พระเกศาเล็ก มีไรพระศก (แนวที่ปรากฏอยู่ระหว่างพระนลาฏและขมวดพระเกศา) พระรัศมีเป็นเปลว ชายสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ปลาย แบบตัดตรง นิยมทำพระพุทธรูปที่มีพระชงฆ์เป็นสันที่เรียกว่า “ พระแข้งคม ” ประทับนั่งเหนือฐานที่เว้าเป็นร่อง
  • พระพุทธรูปอู่ทอง  3 ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของสุโขทัย ลักษณะโดยรวมคล้ายกับอู่ทอง 2 คือ มีไรพระศก พระชงฆ์เป็นสันที่เรียกว่า “ พระแข้งคม ” ประทับนั่งเหนือฐานที่เว้าเป็นร่อง แต่จะมีเปลวพระรัศมีสูงมากกว่ายุคอื่นๆ เป็นพิเศษ

พระพุทธโสภณ พระประธานในอุโบสถวัดลานตากฟ้า เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทรายแดง พุทธลักษณะงดงาม พระพักตร์เรียว พระสังฆาฏิเป็นแบบเขี้ยวตะขาบ คล้ายกับศิลปะสุโขทัย พุทธลักษณะเช่นนี้จึงมีลักษณะเข้ากับศิลปะอู่ทอง 3 ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 พระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้พบจำนวนมากในจังหวัดราชบุรี อาจเพราะมีพระพักตร์ที่งดงาม จึงได้รับการถวายพระนามว่า พระพุทธโสภณ เพราะคำว่าโสภณหมายถึง ความงดงาม

พระพุทธโสภณ ประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถหลังเดิม ซึ่งอุโบสถหลังเดิมนั้นมีลักษณะเป็นทรงเรือสำเภา ตามความเชื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยา อุโบสถเป็นที่นำพากุลบุตรทั้งหลายก้าวข้ามไปสู่พระนิพพานโดยการลงเรือเพื่อจะข้ามท้องน้ำอันกว้างใหญ่คือห้วงกิเลสตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่ชื่อว่า โอฆะ แปลว่าห้วงน้ำ คือ กิเลส มี 4 ประการ คือ

  1. กาโมฆะ             โอฆะ คือ กาม
  2. ภโวฆะ               โอฆะ คือ ภพ
  3. ทิฏโฐฆะ            โอฆะ คือ ทิฐิ
  4. อวิชโชฆะ           โอฆะ คือ อวิชชา

โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิด หรือหมายถึงกิเลสอันเปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ท่วมใจสัตว์โลก หากข้ามโอฆะ ห้วงน้ำแห่งสังสารวัฏได้ ก็ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในห้วงน้ำนี้อีก เพราะได้ข้ามไปสู่ฝั่ง คือ พระนิพพานได้แล้ว รูปแบบของอุโบสถสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงนิยมสร้างให้ลักษณะคล้ายเรือสำเภา

พระพุทธโสภณ เป็นพระพุทธรูปแกะจากหินทรายแดง มีขนาดค่อนข้างใหญ่คือมีขนาดหน้าตัก 109 เซนติเมตร ความสูงขององค์พระ 150 เซนติเมตร เมื่ออุโบสถเก่าชำรุดทรุดโทรลง เจ้าอาวาสวัดลานตากฟ้าในขณะนั้นจึงดำริให้มีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น และได้อัญเชิญพระพุทธโสภณ จากอุโบสถเก่ามายังอุโบสถใหม่ แต่ด้วยเหตุที่องค์พระมีอายุเก่าแก่มาก จึงมีบางส่วนที่เกิดความชำรุดไป เช่น พระหัตถ์และพระรัศมีจึงมีการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่อีกครั้ง เนื่องจากพบว่าเกิดการชำรุดเสียหายของพระอุระและพระหัตถ์ การบูรณะซ่อมแซมครั้งนี้มีช่างผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากรและบุคลากรจากช่างทองหลวงเป็นผู้ดูแลบูรณะซ่อมแซม มีการลงรักปิดทองคำแท้จนงดงามเหลืองอร่ามทั้งองค์

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2558 มีการฉลองสมโภชพระพุทธโสภณและยกพระเศวตฉัตรขึ้นกางกั้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย พระพุทธโสภณพระประธานภายในอุโบสถวัดลานตากฟ้า เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่สาธุชนทั้งหลาย จึงได้มาสักการบูชากราบไหว้ ขอพร เป็นประจำ เมื่อได้ขอพรแล้วได้สมปรารถนา ก็มักจะนำ ไข่ต้ม ขนมจีน น้ำยาใส่หาบมาถวาย หรือนำละครรำ มาถวาย ณ อุโบสถวัดลานตากฟ้า ซึ่งทางวัดลานตากฟ้า ก็จะจัดให้มีงานนมัสการปิดทองในวันพระขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ของทุกๆปี หรือตรงกับวันมาฆบูชา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "งานกลางเดือน 3"

รายนามเจ้าอาวาสวัดลานตากฟ้า[แก้]

เมื่อกล่าวถึงวัดลานตากฟ้า ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งตามประวัตินั้นเป็นวัดเก่าแก่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 หรือประมาณกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ย่อมจะเป็นวัดซึ่งมีอดีตเจ้าอาวาสหรือรักษาการเจ้าอาวาส ปกครองวัดสืบต่อกันมาจำนวนหลายรูป แต่อาจจะเป็นเพราะมิได้มีการจดบันทึกไว้หลักฐาน จึงทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีเจ้าอาวาสนามว่าอะไรบ้างและมีจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่เท่าที่สืบค้น สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่และเจ้าอาวาสในลำดับต่อๆมา พบว่ามีรายนามเจ้าอาวาสซึ่งได้ปกครองวัดลานตากฟ้า มาแล้ว ที่มีปรากฏแน่ชัดตามลำดับดังนี้

  1. เจ้าอาวาสรูปที่     1             พระอาจารย์โต    มีบันทึกไว้ว่าได้เป็นเจ้าอาวาสแต่ไม่ทราบฉายาและประวัติที่แน่ชัด ว่าเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ.ใด ถึง พ.ศ.ใด
  2. เจ้าอาวาสรูปที่     2             พระอาจารย์จุ้ย   มีบันทึกไว้ว่าได้เป็นเจ้าอาวาสแต่ไม่ทราบฉายาและประวัติที่แน่ชัด ว่าเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี พ.ศ.ใด ถึง พ.ศ.ใด
  3. เจ้าอาวาสรูปที่     3             พระอาจารย์ไป๋    มีบันทึกไว้ว่าเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่  พ.ศ.2454 –  2456 ไม่ทราบฉายาและประวัติอื่นๆที่ชัดเจน
  4. เจ้าอาวาสรูปที่    4             พระอธิการบุญมา จนฺทสุวณฺโณ (บุญมา สมเชื้อเวียง) เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่  พ.ศ.2456–2493
  5. เจ้าอาวาสรูปที่    5                  พระมหาฟัก (สุกฺกธมฺโม) กรรณวัฒน์   เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่  พ.ศ.2493–2508
  6. เจ้าอาวาสรูปที่     6             พระอาจารย์ส่ง (อนาลโย )นามสมจิตร เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่  พ.ศ.2510–2513
  7. เจ้าอาวาสรูปที่    7             พระอธิการสุรพล  (อุพฺภโต ) โปษยวัติ เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่  พ.ศ.2513–2515
  8. เจ้าอาวาสรูปที่     8                 พระครูประโชติธรรมมาภรณ์ (สังวาลย์ โชติธมฺโม)จันทร์คงวงษ์ เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่  พ.ศ.2515–2542
  9. เจ้าอาวาสรูปที่     9             พระครูปฐมกิตติวรรณ (กิตติ กิตฺติวณฺโณ) นิลสว่าง         เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่  พ.ศ. 2543–ปัจจุบัน

ประวัติเจ้าอาวาสวัดลานตากฟ้ารูปปัจจุบัน[แก้]

พระครูปฐมกิตติวรรณ  ฉายากิตติวณฺโณ นามเดิม นายกิตติ  นิลสว่าง ชาติภูมิ เกิดวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2481 ณ  บ้านลานตากฟ้า หมู่ที่ 3  ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี  จังหวัดนครปฐม

บรรพชาที่วัดลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2499 โดยมีพระครูถาวรวิทยาคม วัดสรรเพชญ  เป็นพระอุปัชฌาย์

อุปสมบท ที่วัดลานตากฟ้า อำเภอ นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2503 มีพระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญฺญวสโน) วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นพระอุปัชฌาย์

พระปลัดบุญมี ชยปาโล วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัด นครปฐม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระส่ง อนาลโย วัดลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

การศึกษา การศึกษาสามัญสำเร็จชั้นสูงสุดระดับ ม. 2 พ.ศ.2496 โรงเรียนศึกษากร จ.นนทบุรี

การศึกษาปริยัติธรรม นักธรรมศึกษาชั้น เอก พ.ศ.2501 สำนักเรียนวัดลานตากฟ้า จังหวัดนครปฐม

ตำแหน่งหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์[แก้]

  • ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดลานตากฟ้า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2542
  • ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดลานตากฟ้า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2543

สมณะศักดิ์[แก้]

  • วันที่ 1 ตุลาคม  พ.ศ.2543  เป็นพระอธิการกิตติ กิตติวณฺโณ
  • วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2558                   เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ราชทินนามที่ พระครูปฐมกิตติวรรณ [7]

อ้างอิง[แก้]

  1. วัดลานตากฟ้า, แม้จะมีข้อสันนิษฐานของสุนทรภู่ และเรื่องเล่าของชาวบ้าน ว่าชื่อบ้านลานตากฟ้า อาจจะผิดเพี้ยนมาจากคำว่า ลานตากปลาบ้าง ลานตากผ้าบ้าง แต่ก็มิได้มีเอกสารหรือหลักฐานใดๆเลย ที่จะสมเหตุผลหรือพิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ได้ว่าเป็นเช่นนั้น แต่หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ กลับกล่าวถึงชื่อ “บ้านลานตากฟ้า” ไว้อย่างชัดเจนที่สุด ดังนั้นจึงน่าจะสรุปได้ว่าชื่อ “บ้านลานตากฟ้า” เป็นชื่อดั้งเดิมของวัดและชุมชนนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว มิได้เกิดจากความผิดเพี้ยนแต่อย่างใด
  2. "ประวัติของวัดลานตากฟ้าและชุมชนบ้านลานตากฟ้า". ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศคณะสงฆ์ภาค ๑๔.
  3. "ความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาททางสังคมของวัดลานตากฟ้า" (PDF).
  4. "หลวงศรียศ". ภาพยนตร์สุริโยไท.
  5. "หลวงศรียศ". หลวงศรียศ.
  6. "นิราศสุพรรณ". นิราศสุพรรณ.
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 132, ตอนที่ 33 ข, 4 ธันวาคม 2558, หน้า 24