ข้ามไปเนื้อหา

ปอแก้ว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปอแก้ว
Kenaf
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophyta
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
Eudicots
เคลด: โรสิด
Rosids
อันดับ: ชบา
วงศ์: ชบา
สกุล: สกุลชบา

L.
สปีชีส์: Hibiscus cannabinus
ชื่อทวินาม
Hibiscus cannabinus
L.
ชื่อพ้อง[1]
  • Abelmoschus congener Walp.
  • Abelmoschus verrucosus Walp.
  • Furcaria cannabina Ulbr.
  • Furcaria cavanillesii Kostel.
  • Hibiscus malangensis Baker f.
  • Hibiscus vanderystii De Wild.
  • Hibiscus vitifolius Mill. no. illeg.

ปอแก้ว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hibiscus cannabinus; อังกฤษ: Kenaf)[2] เป็นพืชในวงศ์ชบา (Malvaceae) มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษอื่น ๆ เช่น Deccan hemp, Java jute เป็นต้น โดย H. cannabinus อยู่ในสกุล Hibiscus มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาใต้[3] และเจริญเติบโตหรือกระจายพันธุ์เป็นหลักในเขตtropical เช่น ประเทศ อินเดีย บังกลาเทศ ไทย จีน เวียดนาม อิร่าน อเมริกา เป็นต้น [3]พื้นที่ปลูกปอในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่ปลูกมาก เช่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ศรีสะเกษ อุดรธานี และอุบลราชธานี[4]

คำว่า Kenaf ถูกใช้กับเส้นใยที่ได้จากพืชชนิดนี้ เป็นหนึ่งในเส้นใยที่ใช้ร่วมกับปอกระเจาซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

ชื่อสามัญ

[แก้]

ปอแก้วมีชื่อสามัญในภาษาต่าง ๆ มากกว่า 129 ชื่อ[5] ตัวอย่างเช่น

ฝรั่งเศส: chanvre de Bombay, chanvre de roselle, jute de Java, jute de Siam; เยอรมัน: Javajute, Kenaf, Rosellahanf, Roselle, Siamjute; โปรตุเกส: cânhamo rosella, juta-de-java, juta-do-sião, quenafe; สเปน: cáñamo Rosella, pavona encendida, yute de Java, yute de Siam

มราฐี: अंबाडी, อักษรโรมัน: Ambaadi; เตลูกู: గోంగూర, อักษรโรมัน: Gongura;[6] เปอร์เซีย: کنف, อักษรโรมัน: Kanaf; จีน: 红麻; พินอิน: hóng má (เปลี่ยนอย่างเป็นทางการจาก 洋麻; yáng má ระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]
ต้นปอแก้วที่ตากแห้งแล้ว

เป็นไม้ล้มลุก (herbaceous)อายุปีเดียวหรือสองปี (ส่วนน้อยเป็นไม้ยืนต้นอายุสั้น) สูง 1.5–4 เมตร โคนต้นมีเนื้อไม้ ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1–2 เซนติเมตร กิ่งมักไม่แตกแขนง อาจมีสีของลำต้นต่างกัน เช่น มีสีเขียว สีม่วงแดง มีสีเขียวปน แดง มีทั้งผิวเรียบ หรือมีหนาม [7]

ใบ เป็นใบเดี่ยว (simple leaf) มีความยาว 10–15 เซนติเมตร จัดเรียงใบแบบสลับ (alternate phyllotaxy) มีลักษณะเฉพาะ คือ รูปร่างหลายแบบ (leaf polymorphism หรือ heterophylly) โดย ใบตอนล่างมีรูปร่างเป็นรูปไข่ถึงรูปหัวใจ (ovate to cordate) ส่วนใบตอนกลางถึงยอดมักมีลักษณะเว้าเป็นแฉกแบบนิ้วมือ (palmately lobed) จำนวน 3–7 แฉก (lobes) แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม และมีขอบหยัก [8]

ดอก เป็นดอกเดี่ยว มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8–15 เซนติเมตร สีขาว, สีเหลือง หรือสีม่วง โดยดอกที่มีสีขาวหรือสีเหลืองตรงกลางจะเป็นสีม่วงเข้มที่ฐานกลีบดอก ออกตามซอกใบ (axillary) หรือปลายยอด กลีบดอก (petals) 5 กลีบ ขนาดค่อนข้างใหญ่ มีกลีบเลี้ยง (sepals)5 กลีบ และมักมีวงกลีบรองกลีบเลี้ยง (epicalyx) รังไข่ของดอกเป็นแบบอยู่เหนือฐานดอก (superior ovary) โดยดอกจะบานในช่วงเช้าและโรยภายในวันเดียว

ผล เป็น ผลแห้งแบบcapsule เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออกตามแนวยาวของพู ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก และมีขนละเอียดปกคลุมอยู่

เส้นใย

[แก้]

เส้นใยในปอแก้วพบในเปลือก (bast) และแก่น (เนื้อไม้) ส่วนเปลือกคิดเป็น 40% ของต้น "เส้นใยดิบ" ที่แยกจากเปลือกเป็นแบบหลายเซลล์ ประกอบด้วยเซลล์หลายเซลล์ติดกัน[9] เซลล์เส้นใยแต่ละเซลล์มีรูปร่างเรียวความยาวประมาณ 2–6 มิลลิเมตร ผนังเซลล์หนา (6.3 ไมโครเมตร) แก่นคิดเป็นประมาณ 60% ของต้น และมีเซลล์เส้นใยหนา (ประมาณ 38 ไมโครเมตร) แต่สั้น (0.5 มิลลิเมตร) และผนังเซลล์บาง (3 ไมโครเมตร)[10] เยื่อกระดาษผลิตจากทั้งก้าน จึงมีเส้นใยสองประเภท ทั้งจากเปลือกและแก่น คุณภาพของเยื่อจะใกล้เคียงกับของไม้เนื้อแข็ง

องค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ[11]

[แก้]

1. เซลลูโลส (Cellulose) : พบที่เปลือกไม้ เป็นโครงสร้างหลักที่ให้ความเหนียวและความแข็งแรงของเส้นใย

2. ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) : พบในใบ ดอก และเมล็ด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ

3. สารประกอบฟีนอลิก (Phenolic compounds) : พบในใบ ดอก และเมล็ด ช่วยต้านจุลชีพและอนุมูลอิสระ

4.ซาโปนิน (Saponins) : พบในใบ ดอก และเมล็ด ลดไขมันในเลือด, เสริมภูมิคุ้มกัน, ต้านจุลชีพ, ลดคอเลสเตอรอล

5. แทนนิน (Tannins) : พบในใบ ดอก และเมล็ด สมานแผล ต้านเชื้อแบคทีเรีย

6. กรดไขมัน (Fatty acids) : พบในเมล็ด มีกรดลิโนเลอิกสูง (omega-6) ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช

7. วิตามินและแร่ธาตุ เช่น เบต้าแคโรทีน, ธาตุเหล็ก, แคลเซียม : บำรุงสายตา, บำรุงเลือด, เสริมสร้างกระดูก

การใช้ประโยชน์

[แก้]
การเก็บเกี่ยวปอแก้ว

ปอแก้วปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเส้นใยในประเทศอินเดีย, บังกลาเทศ, สหรัฐ, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, แอฟริกาใต้, เวียดนาม, ไทย, บางส่วนของแอฟริกา และมีพื้นที่ปลูกเล็กน้อยทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ลำต้นผลิตเส้นใยสองประเภท: เส้นใยหยาบบริเวณเปลือกนอก (bast) และเส้นใยที่ละเอียดกว่าในแกนกลาง เส้นใยส่วนเปลือกใช้ทำเชือก ต้นปอแก้วครบกำหนดเก็บเกี่ยวใน 100 ถึง 200 วัน มีการปลูกเป็นครั้งแรกในอียิปต์เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ใบของต้นปอแก้วเป็นส่วนประกอบของอาหารทั้งของมนุษย์และสัตว์ ในขณะที่เส้นใยส่วนเปลือกใช้ทำกระสอบ, เชือก และใบเรือสำหรับเรือใบอียิปต์ พืชไร่ชนิดนี้ถูกนำเข้าสู่ยุโรปตอนใต้ไม่เร็วกว่าช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1900 ทุกวันนี้พื้นที่เพาะปลูกหลักคือประเทศจีนและอินเดีย และยีงพบการปลูกในสหรัฐ, เม็กซิโก และเซเนกัล

เส้นใยจากปอแก้วใช้ทำเชือก, ผ้าดิบ (คล้ายกับปอกระเจา) และกระดาษ ในรัฐมิสซิสซิปปี, ลุยเซียนา, เท็กซัส และแคลิฟอร์เนีย มีการปลูกปอแก้วรวม 12,000 เอเคอร์ (48.5 ตารางกิโลเมตร)[12] ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นอาหารและปูรองนอนสำหรับปศุสัตว์

เส้นใยปอแก้วใช้ทำไม้เทียม, ฉนวนกันความร้อน, ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อ, ส่วนผสมของภาชนะปลูกแบบไม่ใช้ดิน, ที่นอนสัตว์, บรรจุภัณฑ์ และวัสดุที่ใช้ดูดซับน้ำมันและของเหลว นอกจากนี้ยังใช้ประโยชนโดยการตัดเส้นใยส่วนเปลือกผสมกับเรซินในการทำพลาสติกคอมโพสิต, เป็นสารป้องกันการสูญเสียน้ำโคลนขุดเจาะสำหรับการขุดเจาะน้ำมัน และส่วนผสมในสารสำหรับการควบคุมการกัดเซาะหน้าดินแบบมีเมล็ดพืชคลุมดิน (hydromulch) ปอแก้วสามารถทำเป็นวัสดุปูพื้นเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้หลายประเภท เช่น แผ่นปูหญ้าที่มีเมล็ดพันธุ์สำหรับสนามหญ้าสำเร็จรูป และแผ่นขึ้นรูปสำหรับชิ้นส่วนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ บริษัทพานาโซนิก ได้จัดตั้งโรงงานในประเทศมาเลเซียเพื่อผลิตแผ่นกระดานที่ใช้เส้นใยปอแก้วและส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

ฟอร์ดและบีเอ็มดับเบิลยู กำลังพัฒนาวัสดุสำหรับตัวถังรถจากเส้นใยปอแก้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการทำให้ยานพาหนะมีความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งนำมาใช้ครั้งแรกในรถยนต์ฟอร์ดรุ่น Escape (2013)[13] ส่วนบีเอ็มดับเบิลยู i3 ใช้เส้นใยปอแก้วในคิ้วสีดำรอบคัน[14] การใช้ปอแก้วคาดว่าจะสามารถชดเชยวัสดุเรซินที่ผลิตจากปิโตรเลียมคิดเป็นน้ำหนัก 300,000 ปอนด์ต่อปี สำหรับโรงงานผลิตในทวีปอเมริกาเหนือ และควรลดน้ำหนักของวัสดุหุ้มประตูรถลงร้อยละ 25

รายงานในปี ค.ศ. 2021 บริษัท Kenaf Ventures ซึ่งเป็นบริษัทของอิสราเอลกำลังพัฒนาและผลิตวัตถุดิบที่ยั่งยืนซึ่งทำจากปอแก้ว ด้วยความพยายามที่จะลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการก่อสร้างโดยไม่ลดคุณภาพของผลิตภัณฑ์[15]

น้ำมันเมล็ดปอแก้ว

[แก้]

เมล็ดปอแก้วให้ผลผลิตน้ำมันพืชที่รับประทานได้ น้ำมันยังใช้สำหรับทำเครื่องสำอาง, สารหล่อลื่นสำหรับอุตสาหกรรม และการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ น้ำมันปอแก้วมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFAs) สูง ประกอบด้วยกรดลิโนเลอิก (โอเมก้า-6) เป็นส่วนใหญ่ โดยรวมประกอบด้วยกรดลิโนเลอิก (C18:2) ตามด้วยกรดโอเลอิก (C18:1) และกรดลิโนเลนิกอัลฟา (C18:3) มีปริมาณร้อยละ 2 ถึง 4

น้ำมันเมล็ดปอแก้วมีน้ำหนัก 20.4% ของน้ำหนักเมล็ดทั้งหมด ประกอบด้วย:

อุตสาหกรรมกระดาษ

[แก้]

กระบวนการทั่วไปในการทำกระดาษจากเส้นใยปอแก้วคือการต้มเยื่อโดยวิธีโซดาก่อนแปรรูปในเครื่องทำกระดาษ

การใช้เส้นใยปอแก้วในการผลิตกระดาษมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการผลิตกระดาษจากต้นไม้ ปี ค.ศ. 1960 กระทรวงเกษตรสหรัฐ ได้สำรวจพืชมากกว่า 500 ชนิด และเลือกปอแก้วเป็นวัตถุดิบที่มีแนวโน้มมากที่สุดสำหรับการผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์โดยไม่ใช้ต้นไม้ ในปี ค.ศ. 1970 กระดาษหนังสือพิมพ์จากใยปอแก้วได้รับการนำไปใช้กับหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับของสหรัฐ และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1987 โรงงานกระดาษในแคนาดาได้ผลิตกระดาษหนังสือพิมพ์จากใยปอแก้ว 13 ม้วน ให้กับหนังสือพิมพ์สี่ฉบับของสหรัฐใช้ในการทดลองพิมพ์[16] พวกเขาพบว่ากระดาษจากใบปอแก้ว มีความแข็งแรงกว่า, สว่างกว่า และสะอาดกว่ากระดาษจากเยื่อต้นสนมาตรฐาน รวมทั้งทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเนื่องจากเส้นใยของปอแก้วมีสีขาวตามธรรมชาติมากกว่าเนื้อไม้ จึงต้องใช้การฟอกสีน้อยลงในการสร้างแผ่นกระดาษที่สว่างขึ้น ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ซึ่งเป็นสารฟอกขาวที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมไม่สร้างสารไดออกซิน ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการฟอกสีเส้นใยปอแก้ว

รายงานหลายฉบับแนะนำว่าความต้องการพลังงานในการผลิตเยื่อกระดาษจากใยปอแก้วนั้นน้อยกว่าข้อกำหนดสำหรับเยื่อไม้ประมาณร้อยละ 20 ส่วนใหญ่เนื่องมาจากปริมาณลิกนินในปอแก้วที่ต่ำกว่า

พื้นที่ปลูกปอแก้ว 1 เอเคอร์ (4,000 ตารางเมตร) ให้ผลผลิต 5 ถึง 8 ตันสำหรับเส้นใยทั้งสองชนิดของปอแก้วในหนึ่งฤดูปลูก ในทางตรงกันข้าม ป่าไม้สน (Southern pine) ขนาด 1 เอเคอร์ ในสหรัฐ ผลิตเส้นใยได้ประมาณ 1.5 ถึง 3.5 ตันต่อปี ประมาณการว่าการปลูกปอแก้วบนพื้นที่ 5,000 เอเคอร์ (20 ตารางกิโลเมตร) สามารถผลิตเยื่อกระดาษได้เพียงพอต่อการป้อนโรงงานกระดาษที่มีกำลังการผลิต 200 ตันต่อวัน ในเวลา 20 ปี พื้นที่เพาะปลูก 1 เอเคอร์ จะสามารถผลิตเส้นใยได้ 10 ถึง 20 เท่าของปริมาณเส้นใยที่สามารถผลิตได้จากต้นสนในพื้นที่เท่ากัน[17]

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเส้นใยธรรมชาติที่สำคัญของโลก ปอแก้วจึงถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของการประกาศปีสากลแห่งเส้นใยธรรมชาติ 2009

ด้านการเกษตร ใช้ทำผ้าคลุมแปลงพืช ป้องกันแสงแดด หรือหิมะ ด้านที่อยู่อาศัย ทำพรมเช็ดเท้า พรมปูพื้น ทำผืนผ้าบุเก้าอี้ เสื่อ

ด้านการก่อสร้างทำฝ้าบุหลังคากันความร้อน หรือ ป้องกันน้ำซึม และป้องกันเสียงสะท้อน ปอแก้วสามารถทำเป็นวัสดุปูพื้นเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้หลายประเภท เช่น แผ่นปูหญ้าที่มีเมล็ดพันธุ์สำหรับสนามหญ้าสำเร็จรูป และแผ่นขึ้นรูปสำหรับชิ้นส่วนการผลิตและบรรจุภัณฑ์[4]

การเก็บเกี่ยว [18]

[แก้]

ระยะที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว เมื่อมีอายุ 110 - 130 วัน ถ้าตัดตอนเริ่มมีดอก ไปถึงระยะที่เริ่มมีฝักอ่อนจะได้ผลผลิตของเส้นใยดี มีเส้นเงางาม และเหนียวแน่น ถ้าหากตัดตอนอายุอ่อนเกินไปจะได้เส้นใยปริมาณน้อย ไม่เหนียวแน่น เปื่อย และขาดง่าย แต่ถ้าหากตัดตอนมีอายุแก่เกินไป จะได้เส้นใยหยาบ แข็ง กระด้าง เปราะ ไม่เงางาม ซึ่งแสดงถึงปอคุณภาพต่ำ ส่งผลต่อการนำไปแปรรูปเป็นกระสอบ ก็จะไม่แข็งแรง รับน้ำหนักได้ไม่ดี ขาดง่ายและมีวิธีการแยกเส้นใยดังนี้

1. การแช่ต้น (Retting) เพื่อทำให้อ่อนนุ่ม โดยการนำมัดปอไปแช่น้ำ แล้วขูดเปลือกออกทันที หรือ ทิ้งไว้ 3 - 4 วัน เพื่อให้ใบร่วงก่อน แล้วนำไปแช่น้ำต่อ 5 – 10 วัน ซึ่งจุลินทรีย์ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนตัวลง และทำลายพันธะpectinระหว่างเปลือกไม้ และทำให้เส้นใยแยกออกจากลำต้นได้

2. การลอกหรือปอกเส้นใย (Stripping) ซึ่งมีหลายวิธี

• การลอกเปลือกสดออกจากต้นแล้วตากเส้นใยให้แห้ง : จะได้เส้นใยที่เรียกว่า ปอกลีบแห้ง (dry ribbon fiber) ใช้มัดของแทนเชือก มีราคาต่ำ

• การลอกเปลือกสด (fresh ribbon) แล้วนำไปฟอก : โดยหลังจากตัดต้นสดแล้วใช้ไม้ทุบโคนต้นให้แตก เพื่อความสะดวกในการลอกเปลือกออกจากแกนลำต้น จากนั้นนำเปลือกสดที่ได้มามัดเป็นกำ (มัดส่วนโคน) แล้วนำไปฟอก เป็นวิธีที่นิยม

• การแช่ปอสดทั้งต้นและฟอก : เส้นใยที่ได้ เรียกว่า เส้นใยปอฟอก (retted fiber) การแช่นี้เป็นงานที่ยุ่งยาก คุณภาพของเส้นใยนั้นขึ้นอยู่กับการแช่เป็นหลัก นอกจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับวัตถุที่นำมาทับมัดปอ ขนาดของมัดปอ ลักษณะและปริมาณของน้ำที่แช่ และ ความหนาของชั้นปอที่แช่อยู่ใต้ระดับน้ำ เป็นวิธีที่นิยม

• การใช้สารเคมีสกัดผิวและเมือกที่ปกคลุมเส้นใยออก : วิธีการสกัดเส้นใยโดยใช้สารเคมี(chemical extraction) สารเคมีที่ใช้มี sodium hydroxide, sodium carbonate, sodiumsulfate, calcium hydroxide, sodium sulfide, sodium chloride และ ethyl alcoholระยะเวลาในการแช่ 7 วัน จะได้เส้นใยที่ขาวสะอาดและมีคุณภาพ วิธีนี้ทุ่นเวลาและแรงงานมากแต่ยังไม่เคยมีการทดลองในประเทศไทย

• การสกัดผิวเปลือกออกจากเส้นใยโดยใช้แบคทีเรีย : (bacteriological extraction) แบคทีเรียที่ใช้ได้แก่ Arthrobactor sp., Pseudomonas sp., Aerobactor sp. หรือ Bacillus vulgatusและ Bacillus cereus วิธีนี้ใช้เวลาแช่เพียง 5 วัน ก็จะได้เส้นใยที่ขาวสะอาดและมีคุณภาพดี

3. การล้างเส้นใย (Washing) ซักเส้นใยในน้ำสะอาด

4. การบีบและตาก (Squeezing and drying) นำไปตากแดดบนราวไม้หรือเส้นเชือก ไม่ควรวางกองบนพื้น ใช้เวลา 2–3 วัน เพื่อให้แห้งสนิท

เส้นใยปอที่ดีจะพิจารณาจาก สี ความเป็นมันเลื่อม ความเหนียวของเส้นใย และความยาวของเส้นใยเป็นหลักเส้นใยที่มีความยาว ความเหนียวดี สีสวย และเป็นมันเลื่อมไม่มีตำหนิและเปอร์เซ็นต์เปื่อยขาดน้อยที่สุด เรียกว่า เส้นใยที่มีคุณภาพดี

อ้างอิง

[แก้]
  1. "The Plant List: A Working List of All Plant Species". สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2015.
  2. Philip Babcock Gove, บ.ก. (มกราคม 1993). Webster's Third New International Dictionary, Unabridged. Merriam-Webster. ISBN 978-0-8777-9201-7.
  3. 3.0 3.1 "Hibiscus cannabinus L. | Plants of the World Online | Kew Science". Plants of the World Online (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2025-04-18.
  4. 4.0 4.1 "ปอแก้วปอกระเจา". www.trueplookpanya.com. สืบค้นเมื่อ 2025-04-18.
  5. Miyake, B.; Suzuta, I. (1937). "[On the term of Hibiscus Cannabinus L.]". 臺灣農事報 (ภาษาญี่ปุ่น). 370: 71, 76. สืบค้นเมื่อ 11 มิถุนายน 2022.
  6. "Scientific Name: Hibiscus cannabinus". gardentia.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2010.
  7. "โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช". www.rspg.or.th. สืบค้นเมื่อ 2025-04-18.
  8. "Hibiscus cannabinus | Ambari hemp Annual Biennial/RHS". www.rhs.org.uk (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2025-04-18.
  9. Paridah Md. Tahir; Amel B. Ahmed; Syeed O. A. SaifulAzry; Zakiah Ahmed (2011). "Retting Process Of Some Bast Plant Fibres And Its Effect On Fibre Quality: A Review" (PDF). BioResources. 6 (4): 5260–5281.
  10. Nanko, Hirko; Button, Allan; Hillman, Dave (2005). The World of Market Pulp. Appleton, WI, USA: WOMP, LLC. p. 258. ISBN 0-615-13013-5.
  11. Kujoana, Tlou Christopher; Mabelebele, Monnye; Weeks, William James; Manyeula, Freddy; Sebola, Nthabiseng Amenda (2025-06-01). "Nutritional and phenolic profiles of Hibiscus cannabinus L.: Food and feed industries prospect". Applied Food Research. 5 (1): 100689. doi:10.1016/j.afres.2024.100689. ISSN 2772-5022.
  12. "New Uses for Kenaf". AgResearch Magazine. United States Department of Agriculture.
  13. "Ford Uses Kenaf Plant Inside Doors in the All-New Escape, Saving Weight and Energy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 กันยายน 2012.
  14. "BMW's i3: A New Kind of Electric Vehicle".
  15. "A botanical cure for construction's heavy carbon emissions". 31 มีนาคม 2021.
  16. Justin Thomas (21 สิงหาคม 2006). "The Optimal Material to Make Paper: Kenaf". treehugger.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มีนาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2022.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  17. Mahbubul Islam (2019). "Kenaf (Hibiscus cannabinus L., Malvaceae) Research and Development Advances in Bangladesh: A Review" (PDF). Journal of Nutrition and Food Processing. 2 (1). doi:10.31579/2637-8914/010.
  18. www.rakbankerd.com https://www.rakbankerd.com/agriculture/print.php?id=524&s=tblplant. สืบค้นเมื่อ 2025-04-18. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]