ข้ามไปเนื้อหา

นูกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นูกา
แท่งนูกา
ประเภทขนมหวาน
ส่วนผสมหลักนูกาขาว: น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง, ถั่ว (อัลมอนด์, วอลนัต, พิสตาชีโอ, เฮเซลนัต), ไข่ขาว, บางครั้งใส่ผลไม้แห้ง
นูกาดำ: น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง, ถั่ว (อัลมอนด์, วอลนัต, พิสตาชีโอ, เฮเซลนัต)
นูกาเยอรมันหรือนูกาเวียนนา: น้ำตาล, ถั่ว, ช็อกโกแลต
รูปแบบอื่นแกซ, ตอร์โรเน, ตูร์รอน
พลังงาน
(ต่อ 100 หน่วยบริโภค)
398 กิโลแคลอรี (1666 กิโลจูล)

นูกา (ฝรั่งเศส: nougat, ออกเสียง: [nuɡa]; อาเซอร์ไบจาน: nuqa; อังกฤษ: nougat, UK: /ˈnɡɑː/),[1][2][3] นูกัต (US: /ˈnɡət/)[2][3][4] หรือ นูฆอ (เปอร์เซีย: نوقا) เป็นชื่อเรียกขนมหวานกลุ่มหนึ่งที่ทำมาจากน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง, ถั่ว (ส่วนมากนิยมใช้อัลมอนด์, วอลนัต, พิสตาชีโอ, เฮเซลนัต และแมคาเดเมีย), ไข่ขาว และบางครั้งใส่ผลไม้แห้ง เนื้อของนูกามีลักษณะเคี้ยวหนึบ และนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในขนมแท่งและช็อกโกแลตหลายชนิด คำว่า nougat ในภาษาฝรั่งเศสมาจากวลีในภาษาอุตซิตาว่า pan nogat (ออกเสียง: [ˈpaⁿ nuˈɣat]) ซึ่งน่าจะมาจากวลีภาษาละตินว่า panis nucatus ซึ่งแปลว่า "ขนมปังใส่ถั่ว" (คำคุณศัพท์ nucatum แปลว่า "ที่ใส่ถั่ว" หรือ "ที่มีถั่ว")

มีนูการูปแบบพื้นฐานอยู่สองรูปแบบ รูปแบบแรกคือ นูกาขาว (nougat blanc) หรือ นูกาเปอร์เซีย (nougat perse; หรือที่เรียกว่า แกซ ในอิหร่าน และ ตูร์รอน ในสเปน) มีส่วนผสมของไข่ขาวกับน้ำผึ้ง ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ถึงศตวรรษที่ 7 ในอัลอันดะลุส ในเมืองอาลิกันเต ประเทศสเปน ในศตวรรษที่ 16 มีการตีพิมพ์เรื่องแต่งจำนวนมากที่กล่าวถึงของหวานชนิดนี้ เช่น เรื่องสั้นอย่างสั้นเรื่อง ลาเฆเนโรซาปาลิซา ของโลเป เด รูเอดา หรือนวนิยายเรื่องอื่น ๆ ของมิเกล เด เซร์บันเตส[5] รวมถึงในเมืองมงเตลีมาร์ ประเทศฝรั่งเศส ในศตวรรษที่ 18 (ในชื่อนูกามงเตลีมาร์) ส่วนนูการูปแบบที่สองคือ นูกาดำ (nougat noir) หรือ นูกาน้ำตาล (brown nougat; หรือที่เรียกว่า กรอกกันเต ในภาษาอิตาลี ซึ่งแปลว่า "กรอบ") ทำขึ้นโดยไม่มีส่วนผสมของไข่ขาวและมีผิวสัมผัสที่แน่นกว่าและมักจะกรอบ

ประวัติศาสตร์

[แก้]

มีหลายตำนานที่บอกเล่าถึงที่มาของนูกา สูตรนูกาขาวยุคแรกเริ่มซึ่งน่าจะรับมาจากเอเชียกลางหรือเปอร์เซีย มีปรากฏหลักฐานในเอกสารฉบับหนึ่งที่พบในกรุงแบกแดด อายุราวศตวรรษที่ 10 นูกาในยุคนั้นเรียกว่า นาฏิฟ (ناطف)[6] หนึ่งในสูตรจากยุคนั้นระบุว่า นาฏิฟ มีที่มาจากนครฮาร์รันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองอูร์ฟา (ปัจจุบันอยู่ในภาคใต้ของประเทศตุรกี) กับเมืองอะเลปโป (ปัจจุบันอยู่ในประเทศซีเรีย) ในปลายศตวรรษที่ 10 อิบน์ เฮาก็อล นักเดินทางและนักภูมิศาสตร์ บันทึกไว้ว่าเขาได้ลิ้มรสของ นาฏิฟ ในเมืองมันบิจญ์ (ปัจจุบันอยูในประเทศซีเรีย) และในเมืองบูฆอรอ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอุซเบกิสถาน)[7]

ความนิยม

[แก้]

ในยุโรปใต้ นูกาเป็นส่วนประกอบสำคัญของมื้ออาหารคริสต์มาส[8] ในภูมิภาคนี้นูกามีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่ ตูเรา ในประเทศโปรตุเกส; ตูร์โรง, ตูร์รอน, ตูร์รอย และ ตูร์โร ในประเทศสเปน; นูกา ในภาคใต้ของประเทศฝรั่งเศส; ตอร์โรเน, มันดอร์ลาโต, กูเปตา และ กุบไบตา ในเกรโมนา, เตารีอาโนวา และซิซิลีในประเทศอิตาลีตามลำดับ;[9] อุบบัยต์ ในประเทศมอลตา และ มันโดลาโต หรือ มันโดลา ในประเทศกรีซ ส่วนในประเทศโรมาเนียเรียกว่า อัลวิตเซอ ในประเทศไต้หวัน นูกาเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว สูตรของไต้หวันมีการเพิ่มมาร์ชเมลโลว์ แครกเกอร์ เนยสด นมผง และผลไม้ เรียกกันติดปากในภาษาไทยว่า "ตังเมไต้หวัน"

อ้างอิง

[แก้]
  1. "nougat". OxfordDictionaries.com. Oxford University Press. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 16, 2016. สืบค้นเมื่อ 30 June 2016.
  2. 2.0 2.1 "nougat". Cambridge Dictionary Online. Cambridge University Press. สืบค้นเมื่อ 19 August 2013.
  3. 3.0 3.1 "nougat". Dictionary.com. สืบค้นเมื่อ 19 August 2013.
  4. "nougat". TheFreeDictionary.com. สืบค้นเมื่อ 19 August 2013.
  5. Anonymous (2000) [c. 1550]. Majada Neila, Jesús (บ.ก.). Manual de mujeres en el cual se contienen muchas y diversas recetas muy buenas (ภาษาสเปน). Caligrama. ISBN 9788493176341. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-24. สืบค้นเมื่อ 2 November 2016 – โดยทาง Biblioteca Virtual Miguel de Cervantes.
  6. "ترجمة ومعنى كلمة ناطف" [Translation and meaning of the word nāṭif]. Almaany.com (ภาษาอาหรับ). สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
  7. Moncorgé, Marie Josèphe (2018). "All kinds of nougat, A journey through the Mediterranean history of a confectionery" (ภาษาอังกฤษ). TAMBAO. สืบค้นเมื่อ 8 April 2019.
  8. Jessop, Tara. "A Brief History Of Spanish Turrón". Culture Trip. สืบค้นเมื่อ 2017-10-25.
  9. "Torrone di Benevento". sito.regione.campania.it (ภาษาอิตาลี). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2016. สืบค้นเมื่อ 12 February 2016.