นักวิทยุสมัครเล่น
"นักวิทยุสมัครเล่น" ภาษาอังกฤษเรียกว่า "amateur radio operator" หมายถึงบุคคลที่ได้รับใบอนุญาตการเป็นนักวิทยุสมัครเล่นจากรัฐบาลหรือจากผู้ที่มีอำนาจของแต่ละประเทศ นักวิทยุสมัครเล่นจะใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในสถานีของนักวิทยุสมัครเล่นสำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างนักวิทยุสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาตเช่นเดียวกัน รวมทั้งใช้ความถี่ที่กำหนดให้เฉพาะกิจการวิทยุสมัครเล่นเท่านั้น ซึ่งการใช้งานจะต้องเป็นตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต นักวิทยุสมัครเล่นจะได้รับการกำหนดสัญญาณเรียกขาน เพื่อระบุตัวตนในการติดต่อสื่อสาร ปัจจุบันมีนักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกประมาณ 3 ล้านคน
นักวิทยุสมัครเล่นมักเรียกตัวเองว่า "ham" สำหรับที่มาของคำว่า "ham" นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อใด และนักวิทยุสมัครเล่นมักจะเรียกหรือกล่าวถึงนักวิทยุสมัครเล่นที่เสียชีวิตว่า "silent key"
ประเทศ | จำนวนนักวิทยุสมัครเล่น[1] | ปี ค.ศ. |
---|---|---|
ญี่ปุ่น | 1,296,059 | 1999 |
สหรัฐอเมริกา | 679,864 | 2000 |
ไทย | 176,278[2] | 2006 |
เกาหลีใต้ | 141,000 | 2000 |
เยอรมนี | 79,666 | 2000 |
ไต้หวัน | 68,692 | 1999 |
สเปน | 58,700 | 1999 |
สหราชอาณาจักร | 58,426 | 2000 |
แคนาดา | 44,024 | 2000 |
รัสเซีย | 38,000 | 1993 |
บราซิล | 32,053 | 1997 |
อิตาลี | 30,000 | 1993 |
อินโดนีเซีย | 27,815 | 1997 |
ฝรั่งเศส | 18,500 | 1997 |
ยูเครน | 17,265 | 2000 |
อาร์เจนตินา | 16,889 | 1999 |
อินเดีย | 10,679 | 2000 |
แอฟริกาใต้ | 6,000 | 1994 |
นอร์เวย์ | 5,302 | 2000 |
มาเลเซีย | 2,730 | 2006 |
จีน | 800 | 2000 |
คุณลักษณะทั่วไปของนักวิทยุสมัครเล่น[แก้]
มีไม่กี่ประเทศที่ได้บันทึกเกี่ยวกับคุณลักษณะของนักวิทยุสมัครเล่นไว้ นอกจากจำนวนของนักวิทยุสมัครเล่นเท่านั้น นักวิทยุสมัครเล่นส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศเหล่านี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไทย เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเป็นนักวิทยุสมัครเล่น คือ เยเมน และ เกาหลีเหนือ ในบางประเทศก็เป็นการยากที่ประชาชนทั่วไปจะได้รับอนุญาตเนื่องจากค่าใบอนุญาตที่สูงมาก ในบางประเทศก็อนุญาตให้ชาวต่างชาติด้วย ซึ่งมีจำนวนน้อยที่นักวิทยุสมัครเล่นจะได้รับอนุญาตในหลายๆ ประเทศพร้อมกัน
ดูเพิ่ม[แก้]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ITU (2000). "Status Summary of Radio Amateurs & Amateur Stations of the World 2000" เก็บถาวร 2007-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2549
- ↑ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ,แผนยุทธศาสตร์ การพัฒนากิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2549 - 2550, หน้า 9