ข้ามไปเนื้อหา

นอสตราดามุส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นอสตราเดมัส)
นอสตราเดมัส
Nostradamus
  • ภาพเหมือนนอสตราเดมัส
  • ฝีมือซีซาร์ (Cesar) บุตรของเขาเอง
เกิด14 หรือ 21 ธันวาคม 1503
เสียชีวิต2 กรกฎาคม ค.ศ. 1566(1566-07-02) (62 ปี)
อาชีพ
มีชื่อเสียงจาก
  • การทำนายโชคชะตาราศี
  • การรักษากาฬโรค
ลายมือชื่อ

นอสตราเดมัส ไทยมักเรียก นอสตราดามุส (อังกฤษ: Nostradamus) ชื่อจริงว่า มีแชล เดอ นอสทร์ดาม (ฝรั่งเศส: Michel de Nostredame; เกิด 14 หรือ 21 ธันวาคม 1503 แล้วแต่แหล่งข้อมูล;[1] ตาย 2 กรกฎาคม 1566) เป็นชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นเภสัชกร (apothecary) และหมอดูที่มีชื่อเสียง เพราะเผยแพร่ชุดคำทำนายซึ่งเลื่องชื่อที่สุดในโลกหลายชุด โดยเฉพาะ เลพรอเฟซี (Les Propheties) ที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1555 เมื่อเผยแพร่หนังสือชุดดังกล่าวแล้ว นอสตราเดมัสก็ได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์ใหญ่หลายแห่ง พร้อมกิตติศัพท์ว่า สามารถทำนายทายทักเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่องในโลก[2][3]

แต่เดิมนั้น ครอบครัวฝ่ายบิดาของนอสตราเดมัสเป็นชาวยิว แต่ได้หันมานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกก่อนนอสตราเดมัสจะเกิด เขาเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยอาวีญง ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะปิดตัวลงในอีกหนึ่งปีต่อมาอันเป็นผลมาจากการระบาดทั่วของกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง นอสตราเดมัสเริ่มทำงานด้วยการเป็นเภสัชกรเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะกลับไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยมงเปอลีเย โดยหวังจะสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต ทว่าเขาก็ถูกไล่ออกไม่นานหลังสมัครเข้าเรียน เนื่องจากมหาวิทยาลัยสืบพบว่าเขาทำงานเป็นเภสัชกรซึ่งถือเป็น "การค้าทางหัตถกิจ" (manual trade) และถือว่าผิดธรรมเนียมปฏิบัติ เขาสมรสครั้งแรกใน ค.ศ. 1531 แต่ภรรยาและบุตรทั้งสองคนได้เสียชีวิตลงใน ค.ศ. 1534 จากการกลับมาระบาดของกาฬโรค นอสตราเดมัสอุทิศตนร่วมกับแพทย์ในยุคนั้นเพื่อต่อสู้กับกาฬโรค ก่อนจะสมรสครั้งที่สองกับ อาน ปงซาร์ด มีบุตร–ธิดารวม 6 คน เขาเริ่มเขียนกาลานุกรมใน ค.ศ. 1550 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากทำให้เขาตัดสินใจเขียนต่อในปีต่อ ๆ มาควบคู่ไปกับการทำงานในฐานะนักโหราศาสตร์ให้แก่ชนชั้นสูงผู้มั่งคั่ง ผู้สนับสนุนของเขาในช่วงเวลานั้นมักเป็นผู้มีชื่อเสียงรวมถึง แคทเธอรีน เดอ เมดีชี ในเวลาต่อมา นอสตราเดมัสได้ออกหนังสือคำพยากรณ์ที่มีชื่อเสียงซึ่งรู้จักกันในชื่อ เลพรอเฟซี Les Prophéties (The Prophecies) ได้รับการตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1955 มีจุดเด่นในด้านเนื้อหาที่อิงประวัติศาสตร์ และการใช้ภาษาโน้มน้าวผู้อ่านซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ในเวลาต่อมา นอสตราเดมัสเริ่มทรมานกับโรคเกาต์ซึ่งรุนแรงมากขึ้นกระทั่งนำไปสู่อาการบวมน้ำ เขาเสียชีวิตในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1566 นักเขียนสมัยใหม่ยังคงเล่าขานถึงชีวประวัติของเขาสืบต่อมา แม้บางข้อสันนิษฐานจะขาดหลักฐานที่แน่ชัด

นับตั้งแต่ เลพรอเฟซี ได้รับการตีพิมพ์ นอสตราเดมัสได้ดึงดูดกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมาก รวมถึงสื่อที่มีชื่อเสียงหลายสำนักซึ่งยกย่องเขาในฐานะผู้พยากรณ์เหตุการณ์สำคัญของโลกอย่างแม่นยำ[4][5] อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลทางวิชาการส่วนใหญ่ถือกันว่า การอ้างว่าเหตุการณ์ในโลกสัมพันธ์กับโคลงทำนายของนอสตราเดมัสนั้น เป็นผลมาจากการตีความหรือแปลความที่ผิดพลาด ซึ่งบางครั้งปรากฏว่า ตั้งใจให้ผิดพลาด มิฉะนั้น ก็เป็นเรื่องมโนสาเร่ถึงขนาดที่ไม่อาจถือเอาโคลงเหล่านั้นเป็นพยานหลักฐานว่า นอสตราเดมัสมีอำนาจพยากรณ์อย่างแท้จริง[6] อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งก็ประสบความสำเร็จในการตีความอย่างเสรีโดยใช้วิธี "พลิกแพลง" ถ้อยคำในโคลงเพื่อระบุเหตุการณ์อันเห็นได้ชัดว่า ใกล้จะมาถึงอยู่แล้ว เช่น ในปี 1867 หลุยส์-มีแชล เลอ เปอเลอตีเย (Louis-Michel le Peletier) ใช้กลวิธีดังกล่าวทำนายล่วงหน้า 3 ปีว่าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 จะทรงมีชัยหรือปราชัยในสงครามฝรั่งเศส–ปรัสเซีย แม้เลอ เปอเลอตีเย จะยอมรับว่า ตนไม่สามารถบอกได้จริงว่า จะทรงมีชัยหรือปราชัย และเหตุการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม[7]

ประวัติ

[แก้]

วัยเด็ก

[แก้]

นอสตราเดมัสเกิดที่เมืองแซ็ง-เรมี-เดอ-พรอว็องส์ แคว้นพรอว็องซาลป์-โกตดาซูร์ ประเทศฝรั่งเศส เชื่อว่าที่เกิดของเขายังมีอยู่ในบัดนี้ นอสตราเดมัสเป็นบุตรคน 1 ของเรอเน เดอ แซ็ง-เรมี (Renée de Saint-Rémy) หรือเรนีแยร์ เดอ แซ็ง-เรมี (Reynière de Saint-Rémy) กับฌัก เดอ โนสทร์ดาม (Jacques de Nostredame) หรือโฌม เดอ โนสทร์ดาม (Jaume de Nostredame) ฌักเป็นพ่อค้าข้าวและพนักงานรับรองเอกสาร นอสตราเดมัสมีพี่น้องอย่างน้อย 8 คน ครอบครัวของฌักมีเชื้อสายยิวด้วย แต่กี กาโซเน (Guy Gassonet) บิดาของฌัก และปู่ของนอสตราเดมัส เข้ารีตเป็นคาทอลิกในราวปี 1455 แล้วเปลี่ยนชื่อแซ่เป็น ปีแยร์ เดอ โนสทร์ดาม (Pierre de Nostredame) ชื่อสกุลนี้ปรากฏว่า ตั้งตามวันพระที่มีการทำพิธีเข้ารีต[8][9][10]

เรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับวัยเด็กของนอสตราเดมัสนั้นมีให้รู้ไม่มาก มีผู้สันนิษฐานว่า นอสตราเดมัสเล่าเรียนกับฌ็อง เดอ แซ็ง-เรมี (Jean de Saint-Rémy) ผู้เป็นตา ตามธรรมเนียมที่ถือสืบกันมา[11] แต่ธรรมเนียมนี้ดูจะขัดกับข้อเท็จจริงที่ว่า ฌ็องไม่ปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกเลยหลังจากปี 1504 ซึ่งเป็นเวลาที่นอสตราเดมัสผู้เป็นหลานกำลังมีอายุได้ 1 ปี[12]

วัยเรียน

[แก้]

เมื่ออายุได้ 15 ปี[2] นอสตราเดมัสได้เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอาวีญง (University of Avignon) และคงได้เล่าเรียนวิชาในกลุ่มไตรศิลปศาสตร์ตามแบบแผน คือ ไวยากรณ์ วาทศาสตร์ และตรรกศาสตร์ มากกว่ากลุ่มจตุรศิลปศาสตร์ คือ เรขาคณิต คณิตศาสตร์ สังคีตศาสตร์ และโหราศาสตร์ แต่เรียนไปไม่ถึงปีก็จำต้องอพยพจากเมืองอาวีญง เพราะกาฬโรคระบาดจนต้องปิดมหาวิทยาลัย เมื่อไปจากเมืองอาวีญงแล้ว นอสตราเดมัสเตร็ดเตร่อยู่ตามชนบทเพื่อวิจัยสมุนไพรและประกอบอาชีพเป็นเภสัชกรถึง 8 ปีตั้งแต่ปี 1521 ครั้นปี 1529 เขาเข้าศึกษาแพทยศาสตร์ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยมงเปอลีเย (University of Montpellier) แต่เมื่อกีโยม รงเดอเล (Guillaume Rondelet) อธิการบดี ทราบว่า เขาเป็นเภสัชกร ซึ่งเป็น "การค้าทางหัตถกิจ" (manual trade) ที่ธรรมนูญมหาวิทยาลัยไม่อนุญาต อธิการบดีก็ไล่เขาออกทันที[13] คำสั่งไล่ออกเลขที่ BIU Montpellier, Register S 2 folio 87 ยังมีอยู่ที่หอสมุดคณะในปัจจุบัน[14] กระนั้น แม้เขาไม่จบแพทยศาสตร์ แต่สำนักพิมพ์และผู้สื่อข่าวในภายหลังก็พอใจจะเรียกขานเขาว่า "นายแพทย์"

เมื่อถูกไล่ออกแล้ว สันนิษฐานว่า นอสตราเดมัสยังคงเลี้ยงชีพด้วยการเป็นเภสัชกรต่อไป เพราะต่อมาเขาเกิดมีชื่อเสียงจากการผลิตยาที่เรียก "ลูกกลอนกุหลาบ" (rose pill) ซึ่งคาดว่า มีสรรพคุณป้องกันกาฬโรค[15]

สมรส

[แก้]

ในปี 1531 จูเลียส ซีซาร์ สแกลีเจอร์ (Julius Caesar Scaliger) พหูสูต ได้เชิญนอสตราเดมัสไปเมืองอาฌ็อง (Agen)[16] ณ ที่นั้น นอสตราเดมัสพบรักและสมรสกับสตรีนาง 1 ซึ่งชื่อเสียงเรียงนามยังไม่ทราบ แต่คาดว่าเป็น อ็องรีแยต ด็องโกส (Henriette d'Encausse) เขากับภริยามีบุตร 2 คน[17]

ในปี 1534 สันนิษฐานว่า กาฬโรคลง ภริยาและบุตรทั้ง 2 จึงตายสิ้น เป็นเหตุให้นอสตราเดมัสตัดสินใจออกเดินทางต่อไปผ่านประเทศฝรั่งเศสและอาจเข้าไปถึงประเทศอิตาลีด้วย[18]

ในปี 1545 นอสตราเดมัสกลับบ้านเกิดเมืองนอนมาเป็นลูกมือให้ลุย แซร์ (Louis Serre) แพทย์ชื่อดังซึ่งกำลังยับยั้งกาฬโรคที่ระบาดหนักในเมืองมาร์แซย์ จากนั้น นอสตราเดมัสได้เข้ารับมือกับกาฬโรคที่แพร่อยู่ในเมืองซาลง-เดอ-พรอว็องส์ (Salon-de-Provence) กับแอ็กซ็องพรอว็องส์ด้วย ที่สุดแล้ว ในปี 1547 นอสตราเดมัสจึงตั้งรกรากที่เมืองซาลง-เดอ-พรอว็องส์ เรือนของเขายังมีอยู่ในบัดนี้ ที่เมืองนั้นเขาได้สมรสกับอาน ปงซาร์ด (Anne Ponsarde) เศรษฐินีหม้าย และมีบุตรด้วยกัน 6 คน เป็นหญิง 3 ชาย 3[19]

ในช่วงปี 1556 ถึง 1567 นอสตราเดมัสกับภริยาได้หุ้นในโครงการขุดลอกขนานใหญ่ซึ่งอาด็อง เดอ กราปอน (Adam de Craponne) ดำเนินเพื่อทดน้ำดูว์ร็องส์ (Durance) มาทำชลประทานให้แก่เมืองซาลง-เดอ-พรอว็องส์ที่แห้งแล้งเป็นวงกว้าง และให้แก่ทุ่งโคร (plaine de la Crau) ที่อยู่ใกล้เคียงด้วย[20]

คำทำนาย

[แก้]

นอสตราเดมัสกลับไปเยือนอิตาลีอีกครั้ง ครั้งนี้ เขาเบนเข็มจากสมุนไพรเป็นเรื่องคุณไสย พอได้รับทราบกระแสนิยมหลายกระแสแล้ว เขาก็เขียนกาลานุกรม (almanac) สำหรับปี 1550 ขึ้นเผยแพร่ โดยใช้ชื่อสกุลตนเองเป็นภาษาละตินว่า "Nostradamus" เป็นครั้งแรก กาลานุกรมของเขามียอดขายดีมาก ทำให้เขาเขียนกาลานุกรมอีกหลายฉบับอย่างน้อยปีละเล่ม ส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ของแต่ละปี แต่บางปีก็เริ่มแต่วันที่ 1 มีนาคม เมื่อรวมกาลานุกรมทั้งหมดแล้ว เป็นคำพยากรณ์จำนวน 6,338 บท และปฏิทินอย่างน้อย 11 ปี[21][22]

ความที่กาลานุกรมประสบความสำเร็จอย่างมากนี้เอง นอสตราเดมัสจึงเริ่มมีชื่อเสียง และบุคคลสำคัญมากหน้าหลายตาก็เริ่มแห่กันมาร้องขอให้เขาทำนายโชคชะตาราศีให้ รวมถึงขอให้เขาใช้ "ญาณทิพย์" มอบคำปรึกษาให้ นอสตราเดมัสมักให้ "ลูกค้า" ส่งมอบวันเดือนปีเกิดที่เขียนลงบนตารางให้สำหรับใช้ทายทัก มากกว่าจะคำนวณตัวเลขเหล่านั้นด้วยตนเหมือนดังที่นักโหราศาสตร์มืออาชีพพึงทำ และเมื่อจำเป็นต้องคำนวณดังกล่าวตามตารางวันเดือนปีที่เผยแพร่กันอยู่แล้ว ก็ปรากฏว่า เขามักคำนวณพลาด ทั้งยังไม่สามารถกำหนดเลขชะตาให้ตรงกับวันเดือนปีหรือสถานที่เกิดของลูกค้าได้[23][24][a][25] ฉะนั้น เมื่อนอสตราเดมัสเขียนโคลง 4 พยากรณ์จำนวน 1,000 บท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศส จึงไม่ลงวันเวลากำกับไว้อีก[26] โคลงเหล่านี้ทำให้เขามีชื่อเสียงมากมาจนบัดนี้

ในการเขียนโคลงดังกล่าว เขาเกรงว่า จะถูกต่อต้านด้วยเหตุผลทางศาสนา[27] เขาจึงเขียนให้เนื้อความเคลือบคลุมเข้าไว้ โดยใช้กลวิธีทางวากยสัมพันธ์แบบเวอร์จิล (Virgil) ทั้งยังเล่นคำ และแทรกภาษาอื่น เช่น ภาษากรีก ภาษาอิตาลี ภาษาละติน และภาษาถิ่นพรอว็องส์[28]

โคลง 4 ข้างต้นได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ เลพรอเฟซี แปลว่า คำทำนาย เมื่อเผยแพร่แล้วมีเสียงตอบรับในทางบวกบ้างลบบ้างคละกันไป ชาวบ้านเชื่อว่า นอสตราเดมัสเป็นทาสมาร เป็นนักพรตต้มตุ๋น หรือเป็นบ้า แต่พวกผู้ลากมากดีไม่คิดเช่นนั้น แคทเธอรีน เดอ เมดีชี (Catherine de' Medici) มเหสีพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เป็น 1 ในบรรดาผู้เลื่อมใสนอสตราเดมัสอย่างเหนียวแน่นที่สุด นางได้อ่านกาลานุกรมสำหรับปี 1555 ซึ่งแย้มเปรยถึงภัยอันจะมีต่อวงศ์ตระกูลนางแล้ว ก็มีเสาวนีย์เบิกตัวเขามาที่กรุงปารีสเพื่อให้อธิบายภัยดังกล่าว และให้ทำนายดวงชะตาของบุตรนาง เมื่อเสร็จการแล้ว นอสตราเดมัสหวั่นเกรงอย่างยิ่งว่า ศีรษะจะหลุดจากบ่าเพราะคำทำนายที่ให้ไป แต่กลับได้รับแต่งตั้งเป็นปุโรหิต (Counselor) และหมอหลวง (Physician-in-Ordinary) ประจำพระเจ้าชาร์ลที่ 9 (Charles IX) บุตรผู้เยาว์ของแคทเธอรีน เขาดำรงตำแหน่งนี้จนเขาตายในปี 1566[29]

อนึ่ง มีเรื่องร่ำลือเกี่ยวกับชีวิตของนอสตราเดมัสว่า เขากลัวอยู่เสมอว่า ชีวิตจะไม่เป็นสุข เพราะจะถูกศาลพระ (Inquisition) จับไปลงโทษฐานเผยแพร่ความเชื่อนอกรีต แต่ผลงานของเขาทั้งที่เป็นคำพยากรณ์และงานเขียนด้านโหราศาสตร์ก็ไม่เคยถูกเพ่งเล็ง และอันที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระศาสนจักรนั้นอยู่ในขั้นดีมากมาตลอด[30] แม้เขาจะถูกจำคุกที่เมืองมารีญาน (Marignane) เมื่อปลายปี 1561 ก็เพียงเพราะเผยแพร่กาลานุกรมสำหรับปี 1562 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากมุขนายกก่อนตามความในพระราชกฤษฎีกาที่ใช้อยู่ในเวลานั้น[31]

ตาย

[แก้]

นอสตราเดมัสได้รับความทรมานจากโรคเกาต์มาหลายปี ในบั้นปลายชีวิตเริ่มเคลื่อนไหวลำบาก จนโรคนั้นลุกลามกลายเป็นอาการบวมน้ำหรือท้องมานไป ปลายเดือนมิถุนายน 1566 เขาจึงเรียกทนายความประจำตัวมาเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งมีมูลค่ากว่า 3,444 คราวน์ (ราว 300,000 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน) พร้อมหนี้สินพ่วงมาด้วยเล็กน้อย ให้แก่ภริยาเขาระหว่างที่ยังมิได้สมรสใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนรอนเลี้ยงบุตรหญิงบุตรชายต่อไป[32] ครั้นบ่ายวันที่ 1 กรกฎาคม 1566 ร่ำลือกันว่า เขาบอกฌ็อง เดอ ชาวีญี (Jean de Chavigny) เลขานุการส่วนตัวของเขา ว่า "พออาทิตย์ขึ้นแล้ว เจ้าจะไม่เห็นข้ามีชีวิตอีก" วันรุ่งขึ้น มีรายงานว่า เขาถูกพบเป็นศพนอนอยู่บนพื้นถัดจากเตียงและตั่งของเขา[33][22]

ศพของเขาฝังไว้ที่โบสถ์คณะฟรันซิสกันในเมืองซาลง (Salon) ซึ่งบัดนี้บางส่วนกลายเป็นภัตตาคารชื่อ ลาโบรเชอรี (La Brocherie) แล้ว แต่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการขุดศพเขาขึ้นไปฝังที่ป่าช้าโบสถ์แซ็ง-ลอแร็ง (Saint-Laurent) แทน ศพของเขาอยู่ที่นั้นมาตราบทุกวันนี้[34]

เชิงอรรถ

[แก้]
หมายเหตุ
  1. Refer to the analysis of these charts by Brind'Amour, 1993, and compare Gruber's comprehensive critique of Nostradamus’ horoscope for Crown Prince Rudolph Maximilian.
อ้างอิง
  1. Most eyewitnesses to his original epitaph (including his son Caesar and historian Honoré Bouche) indicate 21 December, but a few (including his secretary Chavigny) suggest 14th. The inscription on his present tombstone evidently follows Chavigny. No conclusive explanation for the discrepancy has so far been discovered. See Guinard, Patrice, CURA Forum
  2. 2.0 2.1 Lemesurier 2010.
  3. Benazra 1990.
  4. Benazra, Robert (1990). Répertoire chronologique nostradamique: 1545-1989 (ภาษาฝรั่งเศส). La Grande conjonction. ISBN 978-2-85707-418-2.
  5. Lemesurier, Peter (2010). Nostradamus, Bibliomancer: The Man, the Myth, the Truth (ภาษาอังกฤษ). New Page Books. ISBN 978-1-60163-132-9.
  6. Lemesurier 2003, p. 150-2.
  7. See Le Pelletier, Anatole, Les Oracles de Michel de Nostredame, Le Pelletier, 1867
  8. Lemesurier 2003, p. 143-6.
  9. Leroy 1972, p. 32-51.
  10. Lemesurier 1999, p. 24-5.
  11. Chavigny, J.A. de: La première face du Janus françois... (Lyon, 1594)
  12. Brind'Amour 1993, p. 545.
  13. Benazra, R, Espace Nostradamus
  14. Lemesurier 2003, p. 2.
  15. Nostradamus, Michel, Traite des fardemens et des confitures, 1555, 1556, 1557
  16. Leroy 1972, p. 60-91.
  17. Kuzneski 2000.
  18. Leroy 1972, p. 62-71.
  19. Leroy 1972, p. 110-133.
  20. Brind'Amour 1993, p. 130, 132, 369.
  21. Lemesurier 2010, p. 23-5.
  22. 22.0 22.1 Chevignard 1999.
  23. Lemesurier 2010, p. 59-64.
  24. Brind'Amour 1993, p. 326-399.
  25. Gruber 2003.
  26. Gregorio, Mario. "Centuries of Nostradamus". Propheties.it. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 20 March 2010.
  27. Lemesurier 2003, p. 125.
  28. Lemesurier 2003, p. 99-100.
  29. Leroy 1972, p. 83.
  30. Lemesurier 2003.
  31. Lemesurier 2003, p. 124.
  32. Leroy 1972, p. 102-106.
  33. Lemesurier 2003, p. 137.
  34. Leroy 1972.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]