สันนิบาตดีเลียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สันนิบาตดีเลียนช่วงก่อนสงครามเพโลพอนนีเซียน ใน 431 ปีก่อนคริสตกาล

สันนิบาตดีเลียน (กรีก: Συμμαχία της Δήλου) เป็นกลุ่มนครรัฐกรีกที่ก่อตั้งใน 478 ปีก่อนคริสตกาล[1] มีจุดประสงค์เพื่อดำเนินการรบกับจักรวรรดิอะคีเมนิด (เปอร์เซีย) ต่อหลังได้ชัยในยุทธการที่พลาตีอา ช่วงปลายการบุกครองกรีซครั้งที่สองของเปอร์เซีย[2] สันนิบาตนี้นำโดยเอเธนส์ มีจำนวนสมาชิกระหว่าง 150–330 นครรัฐ[3]

สันนิบาตดีเลียนเป็นชื่อสมัยใหม่ที่มาจากเกาะดีลอส ที่ตั้งของที่ประชุมและกองคลัง[4] ก่อนที่เพริคลีสจะย้ายไปที่เอเธนส์ใน 454 ปีก่อนคริสตกาล[5]

เอเธนส์เริ่มใช้ทุนของสันนิบาตเพื่อประโยชน์ส่วนตนหลังก่อตั้งไม่นาน ทำให้สันนิบาตนี้แปรสภาพเป็นจักรวรรดิกลาย ๆ ของเอเธนส์ ใน 431 ปีก่อนคริสตกาล อำนาจของสันนิบาตที่คุกคามอธิกภาพของสปาร์ตาบานปลายเป็นสงครามเพโลพอนนีเซียน สันนิบาตสลายตัวหลังเอเธนส์แพ้สงครามใน 404 ปีก่อนคริสตกาล

เบื้องหลัง[แก้]

สงครามกรีก-เปอร์เซียมีที่มาจากพิชิตนครกรีกในเอเชียน้อยและไอโอเนียของพระเจ้าไซรัสมหาราช จักรพรรดิองค์แรกแห่งจักรวรรดิอะคีเมนิดใน 550 ปีก่อนคริสตกาล ต่อมาฝ่ายเปอร์เซียพบว่าชาวไอโอเนียนั้นปกครองยาก จึงสนับสนุนให้มีทรราชปกครองแต่ละเมืองในไอโอเนีย[6] 499 ปีก่อนคริสตกาล อริสตาโกรัส ทรราชแห่งไมลีตัสที่ล้มเหลวในการล้อมนักซอสปลุกปั่นชาวกรีกให้ลุกฮือต่อต้านเปอร์เซียเพื่อรักษาอำนาจของตน[7] เหตุการณ์นี้นำไปสู่กบฏไอโอเนีย[8] นครรัฐเอเธนส์และอีรีเทรียมีส่วนในการยึดและเผาเมืองซาร์ดิส เมืองสำคัญของเปอร์เซียในไอโอเนีย[9]

การกบฏดำเนินต่อไปอีกห้าปีก่อนถูกปราบ แต่กระนั้นดาไรอัสมหาราชแห่งเปอร์เซียตัดสินใจบุกกรีซเนื่องจากเห็นว่านครรัฐเหล่านี้ยังเป็นภัยและต้องการลงโทษเอเธนส์และอีรีเทรียที่เผาเมือง การบุกกรีซครั้งแรกทำให้เธรซ มาซิดอน และหมู่เกาะอีเจียนตกเป็นของเปอร์เซีย ส่วนอีรีเทรียถูกทำลาย[10] อย่างไรก็ตามการบุกครองสิ้นสุดลงใน 490 ปีก่อนคริสตกาลเมื่อเปอร์เซียพ่ายแพ้ในยุทธการที่มาราธอน[11]

หลังดาไรอัสสวรรคต เซิร์กซีสที่ 1 พระราชโอรสนำทัพบุกกรีซเป็นครั้งที่สองใน 480 ปีก่อนคริสตกาล ชัยชนะที่เทอร์มอพิลีและอาร์เตมีเซียมทำให้กรีซทั้งหมดยกเว้นเพโลพอนนีสถูกเปอร์เซียยึดครอง เปอร์เซียพยายามยึดเพโลพอนนีสแต่พ่ายแพ้ในยุทธนาวีที่ซาลามิส ปีต่อมา (479 ปีก่อนคริสตกาล) กรีกรวบรวมทัพขนาดใหญ่ที่สุดโต้กลับจนเอาชนะเปอร์เซียในยุทธการที่พลาตีอา[12]

ในช่วงเวลาเดียวกัน กองเรือกรีกเอาชนะกองเรือที่เหลือรอดของเปอร์เซียในยุทธนาวีที่มีคาลี เป็นการสิ้นสุดการบุกครองและกรีกเริ่มโต้กลับ กองเรือกรีกแล่นไปที่เธรเชียนเคอร์ซอนีสของเปอร์เซียเพื่อยึดเมืองเซสทอส[13] 478 ปีก่อนคริสตกาล ทัพกรีกยึดเมืองบิแซนเทียมได้สำเร็จ แต่พฤติกรรมของพอสซาเนียส แม่ทัพสปาร์ตาทำให้เกิดความบาดหมางในหมู่นครรัฐกรีก[14]

การก่อตั้งสันนิบาต[แก้]

หลังยึดเมืองบิแซนเทียม สปาร์ตาปรารถนาจะออกจากสงครามเนื่องจากบรรลุเป้าหมายในการปลดปล่อยกรีซแผ่นดินใหญ่และนครกรีกในเอเชียน้อยแล้ว ทั้งยังเกรงเอเธนส์ที่กำลังขึ้นมามีอำนาจ นอกจากนี้สปาร์ตาพบว่าการรักษาสวัสดิภาพของชาวกรีกในเอเชียน้อยเป็นเรื่องยาก[15] โดยก่อนหน้านี้ลีโอไทคีดัส กษัตริย์สปาร์ตาเสนอว่าการอพยพชาวกรีกจากเอเชียน้อยมาที่ยุโรปเป็นหนทางเดียวที่จะปลอดภัยจากเปอร์เซีย[15]

แซนธิปัส แม่ทัพเอเธนส์ปฏิเสธแนวคิดนี้เนื่องจากนครในภูมิภาคไอโอเนียเป็นอาณานิคมของเอเธนส์ และประกาศว่าเอเธนส์จะเป็นผู้ปกป้องภูมิภาคนี้[15] เมื่อสปาร์ตาที่เป็นผู้นำพันธมิตรกรีกถอนตัว มีการเรียกประชุมที่เกาะดีลอสเพื่อจัดตั้งพันธมิตรในการสู้รบกับเปอร์เซียใหม่ ตามบันทึกของทิวซิดิดีส เป้าหมายอย่างเป็นทางการของสันนิบาตคือ "ชำระแค้นให้กับความทุกข์ทรมานที่พวกเขาได้รับด้วยการทำลายล้างดินแดนของกษัตริย์ (เปอร์เซีย)"[5] แต่เป้าหมายในความเป็นจริงถูกแบ่งออกเป็นสามประการได้แก่ เตรียมรับการบุกครองครั้งหน้า แก้แค้นฝ่ายเปอร์เซีย และแบ่งสรรสิ่งที่ได้จากสงคราม สมาชิกพันธมิตรใหม่ส่วนใหญ่เลือกจ่ายเงินสนับสนุนแทนการส่งทหาร[5] มีการสาบานมีมิตรและศัตรูร่วมกัน และทิ้งเหล็กแท่งลงทะเลเป็นสัญลักษณ์แทนการเป็นพันธมิตรถาวร

สงครามกับเปอร์เซียและจักรวรรดิเอเธนส์[แก้]

460 ปีก่อนคริสตกาล อียิปต์ที่ขณะนั้นอยู่ใต้อำนาจเปอร์เซียก่อกบฏโดยขอความช่วยเหลือจากเอเธนส์ เพริคลีสนำกองเรือ 250 ลำโจมตีไซปรัสเพื่อหวังสร้างความเสียหายแก่เปอร์เซียเพิ่ม อย่างไรก็ตามกบฏอียิปต์ถูกปราบและทัพเอเธนส์สูญเสียกำลังถึง 50,000 นายตามการประเมินสมัยใหม่[16] เหตุการณ์นี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่เพริคลีสย้ายคลังของสันนิบาตจากเกาะดีลอสมาที่เอเธนส์ ด้านเปอร์เซียส่งกองเรือมายึดไซปรัสคืน แต่ปะทะกับกองเรือของไซมอน แม้ไซมอนจะเสียชีวิตระหว่างการปิดล้อมนครคิติออน แต่กองเรือของเขาเอาชนะเปอร์เซียในซาลามิสทางตะวันออกของไซปรัส ยุทธการครั้งนั้นเป็นการรบครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของสงครามกรีก-เปอร์เซีย ก่อนทั้งสองฝ่ายจะลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพคัลลิอัสใน 449 ปีก่อนคริสตกาล[17]

เมื่อเพริคลีสย้ายคลังของสันนิบาตจากเกาะดีลอสมาที่เอเธนส์ใน 454 ปีก่อนคริสตกาล สันนิบาตดีเลียนกลายสภาพจากพันธมิตรกรีกเป็นจักรวรรดิของเอเธนส์ อำนาจที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากของเอเธนส์กระทบกับสปาร์ตาจนเกิดเป็นสงครามเพโลพอนนีเซียน (431–404 ปีก่อนคริสตกาล) หลังสู้รบเป็นช่วง ๆ นาน 27 ปี จักรวรรดิเอเธนส์ยอมแพ้ต่อสันนิบาตเพโลพอนนีเซียนของสปาร์ตา สิ้นสุดยุคทองของเอเธนส์และตำแหน่งผู้นำนครรัฐกรีกเปลี่ยนมาเป็นสปาร์ตา[18] แม้ต่อมาเอเธนส์จะขับไล่สปาร์ตาออกไปได้แต่ก็ไม่สามารถฟื้นคืนอำนาจได้ดังเดิม

สมาชิกบางส่วน[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Roisman & Yardley 2011, Timeline, p. xliii; Martin 1996, pp. 96, 105–106.
  2. Roisman & Yardley 2011, 18: The Athenian Empire, pp. 246–266.
  3. Nelson & Allard-Nelson 2005, p. 197.
  4. Rhodes 2006, p. 18. ไม่มีชื่อเฉพาะของสันนิบาตในหลักฐานโบราณ สันนิบาตและสมาชิกถูกกล่าวถึงเพียง "ชาวเอเธนส์และพันธมิตร" (In ancient sources, there is no special designation for the league and its members as a group are simply referred to with phrases along the lines of "the Athenians and their allies") (see Artz 2008, p. 2).
  5. 5.0 5.1 5.2 Thucydides. The Peloponnesian War. 1.96.
  6. Holland 2005, pp. 147–151.
  7. Herodotus. The Histories. 5.37.
  8. Holland 2005, pp. 155–157.
  9. Holland 2005, pp. 160–162.
  10. Holland 2005, pp. 183–186.
  11. Holland 2005, pp. 187–194.
  12. Holland 2005, pp. 342–355.
  13. Herodotus. The Histories. 9.114–115.
  14. Thucydides. The Peloponnesian War. 1.95.
  15. 15.0 15.1 15.2 Holland 2005, p. 362.
  16. Fuller 1954–1957, p. 56.
  17. Cartwright, Mark (February 22, 2019). "Peace of Callias". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ May 1, 2021.
  18. Cartwright, Mark (May 2, 2018). "Peloponnesian War". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ May 1, 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]