จำลอง สารพัดนึก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.

จำลอง สารพัดนึก
เกิดธันวาคม พ.ศ. 2475
เสียชีวิต21 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.จำลอง สารพัดนึก เกิดเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2475 ในครอบครัวชาวนาเชื้อสายมอญ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เป็นบุตรของนายทวน และนางลิ้นจี่ สารพัดนึก เป็นนักวิชาการด้านภาษาตะวันออกและภาษาโบราณ ได้แก่ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี ภาษามอญ และศาสนาพุทธ เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเกษียณอายุราชการได้เป็นอาจารย์พิเศษรับเชิญของหลายสถาบัน มีผลงานปรากฏเป็นหนังสือและตำราเรียนกว่าร้อยเล่ม

ประวัติ[แก้]

ดร.จำลอง สารพัดนึก เป็นชาว ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2475 ในครอบครัวซึ่งประกอบอาชีพทำนา และมีฐานะยากจนมากครอบครัวหนึ่งในละแวกนั้น ภายหลังเนื่องจากการทำนาได้รายได้น้อยไม่พอจุนเจือครอบครัว บิดาของท่านจึงเปลี่ยนมาขายข้าวสาร โดยซื้อข้าวใส่เรือแจวล่องมาขายที่กรุงเทพมหานคร ในย่านคลองผดุงกรุงเกษม แต่เมื่อบวกกับภาระหนี้สินแล้วฐานะของครอบครัวก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด

ในวัยเด็ก ดร.จำลองได้เริ่มการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนประชาบาลวัดมะขาม ใกล้กับบ้าน และบิดาก็ได้นำมาฝากเป็นศิษย์วัดไว้กับพระอธิการพลาย ถาวโร เจ้าอาวาสในขณะนั้นซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของดร.จำลองด้วย ดังนั้นนอกจากภาระการศึกษาเล่าเรียนแล้ว จึงต้องคอยปรนนิบัติหลวงตาตามกำลังของตน กระนั้นเมื่อเสร็จจากภาระที่โรงเรียนและวัดแล้วก็ยังต้องรีบกลับบ้านเพื่อช่วยเหลือภาระงานทางบ้านอีก ทำให้ชีวิตในวัยเด็กต้องประสบกับความยากลำบาก และไม่ได้เล่นสนุกสนานเช่นเด็กอื่น ๆ

หลังจากจบชั้น ป.4 จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2487 โดยมีกำหนดการแรกเริ่มจะบวชเพียง 15 วันเท่านั้น แต่ด้วยจิตที่ใฝ่ในทางพระศาสนามาแต่เล็กทำให้มีศรัทธาจะอยู่ในเพศบรรพชิตต่อมา และได้ศึกษาเล่าเรียนนักธรรมด้วยความพากเพียรมาก ถึงจะสอบตกก็หาได้ทำให้ความมุ่งมั่นของสามเณรจำลองลดถอยลงไม่ ในภาวะหลังสงครามโลกขณะนั้นที่วัดมะขามไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งยังขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงจุดตะเกียง ในยามกลางคืนที่อัตคัดบางครั้งพระเณรถึงกับต้องใช้ธูปจุดไฟรวมเป็นกำแล้วเป่าไฟส่องหนังสืออ่านแล้วท่องจำเป็นตอน ๆ ไป ในช่วงที่บวชเป็นสามเณรที่วัดมะขามนั้นท่านได้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษโดยขอร้องให้ผู้รู้ช่วยสอนให้ แม้จะเริ่มได้อย่างกระท่อนกระแท่นแต่ก็ได้พยายามฝึกฝนต่อมาอย่างสม่ำเสมอ

พ.ศ. 2491 พระอธิการพลาย ถาวโร ได้นำสามเณรจำลองมาฝากให้ศึกษาต่อที่วัดอนงคารามวรวิหาร ในสมัยที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) เป็นเจ้าอาวาส ได้ศึกษานักธรรมชั้นเอกและภาษาบาลีในสำนักเรียนวัดอนงคาราม รวมทั้งได้ซื้อตำราภาษาอังกฤษมาศึกษาเพิ่มเติมด้วยตนเอง ขณะเป็นสามเณรเปรียญสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ได้สอบเข้าศึกษาต่อที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร โดยเป็นนิสิตรุ่นแรก ๆ ของมหาวิทยาลัยนั้นจนอายุครบบวชเมื่อ พ.ศ. 2496 ได้อุปสมบทที่วัดมะขาม จังหวัดปทุมธานี โดยมีพระครูบวรธรรมกิจ (เทียน ปุปฺผธมฺโม) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ภูริปญฺโญ" กระทั่ง พ.ศ. 2498 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ช่วงที่ศึกษาในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ศึกษาวิชาความรู้หลายอย่าง แต่มีวิชาหนึ่งที่ชอบและสนใจเป็นพิเศษคือวิชาภาษาสันสกฤต โดยได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ผู้ทรงความรู้ได้มีวิธีการสอนที่ดีและให้กำลังใจเป็นอันมาก คือ ท่านอาจารย์กรุณา กุศลาสัย และท่านศาสตราจารย์แสง มนวิทูร รวมถึงได้ศึกษากับอาจารย์ชาวอินเดียคือพราหมณ์สัตยนารายณ์ ตริปาฐิ ส่วนในด้านภาษาบาลีนั้นก็ได้รับคำชมเชยจากอาจารย์ผู้สอนเป็นอย่างดีเช่นกัน

หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีพุทธศาสตรบัณฑิตแล้ว พ.ศ. 2507 ได้รับทุนมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) ไปศึกษาต่อด้านภาษาสันสกฤตระดับปริญญาโท ที่ Banaras Hindu University เมืองพาราณสี ประเทศอินเดียได้รับปริญญา M.A. (Sanskrit) เมื่อจบการศึกษาในปี 2509 ได้กลับเข้ามาทำงานในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ปรับปรุงหลักสูตรและตำราเรียนภาษาสันสกฤตหลายเล่ม จนปี พ.ศ. 2511 ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการคณบดีคณะครุศาสตร์ และได้รับนิมนต์ไปช่วยสอนภาษาสันสกฤต ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

การทำงาน[แก้]

พ.ศ. 2512 ได้ลาสิกขา หลังจากนั้นศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้รับไว้เป็นอาจารย์พิเศษด้านภาษาสันสกฤต ที่คณะโบราณคดีต่อมา จนได้บรรจุเข้ารับราชการ และศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านภาษาสันสกฤตที่ มหาวิทยาลัยสัมปูรณานันท สันสกฤต เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ฤคเวทียปฺรถมมณฺฑลสฺย สมาโลจนาตฺมกมฺ อธฺยยนมฺ (พ.ศ. 2523-2525) จากนั้นได้กลับมารับราชการต่อที่คณะโบราณคดี จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2527 และลาออกจากตำแหน่งคณบดี เมื่อ พ.ศ. 2529 ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้สอนเพียงอย่างเดียวนับแต่นั้น

ดร.จำลอง สารพัดนึกเป็นผู้มีชื่อเสียงด้านภาษาสันสกฤต มีความชำนาญภาษาสันสกฤตสมัยพระเวท วรรณคดีสันสกฤต ภาษาบาลี ภาษาฮินดี และภาษามอญ เคยเป็นตัวแทนประเทศไทยไปสัมมนาด้านภาษาสันสกฤตพร้อมกับศาสตราจารย์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ ที่ประเทศอินเดีย และได้ร่วมเป็นผู้พิจารณาร่างหลักสูตรปริญญาโทอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จำลอง เมื่อเป็นข้าราชการบำนาญ ก็ทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษด้านภาษาสันสกฤตให้กับหลายสถาบัน นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการจัดทำพจนานุกรมพระไตรปิฎกของราชบัณฑิตยสถาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโครงการจัดทำพจนานุกรมพุทธศาสนาจีน-สันสกฤต-อังกฤษ-ไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ของคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ดร.จำลอง สารพัดนึกได้รับรางวัลเข็มเกียรติคุณ "พระเกี้ยวทอง" จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. 2531

วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ สาขาภาษาสันสกฤต ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2546[1]

ด้านชีวิตครอบครัวได้สมรสกับ อ.สุรีย์ สารพัดนึก มีธิดาหนึ่งคนคือ ดร.จิตตาภา สารพัดนึก ไชยปัญญา อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

ผลงาน[แก้]

ดร.จำลอง สารพัดนึก เป็นนักวิชาการที่มีความพากเพียรมาก มีผลงานวิชาการทั้งที่เป็นตำรา งานแปล และงานวิจัยมากกว่า 100 เรื่อง นับว่าเป็นนักวิชาการด้านภาษาบาลีสันสกฤตที่มีผลงานปรากฏในวงวิชาการมากที่สุดผู้หนึ่งของไทย โครงการสำคัญที่กำลังทำจนวาระสุดท้ายของชีวิต คือ พจนานุกรมสันสกฤต-ไทย

ผลงานที่สำคัญ ได้แก่

  • แบบเรียนภาษาบาลี
  • แบบเรียนภาษาสันสกฤต
  • ตำราภาษาอังกฤษ
  • แบบเรียนภาษามอญ
  • พจนานุกรมบาลี-ไทย
  • ตำราวรรณคดีสันสกฤต
  • สัทธรรมปุณฑรีกสูตร (แปล)
  • ปรัชญาปารมิตาหฤทยสูตรและสุขาวดีสูตร (แปล)
  • ศิลาจารึกอโศก (แปล)
  • ตำราภาษาฮินดี
  • สุภาษิตสันสกฤต
  • ประวัติวรรณคดีสันสกฤต
  • อิทธิพลของสันสกฤตอันมีต่อภาษาไทย (งานวิจัย)
  • อิทธิพลของคำบาลีอันมีต่อภาษาไทย (งานวิจัย)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 121 (ตอนที่ 52 ง): หน้า 1. 29 มิถุนายน 2547. สืบค้นเมื่อ 25 เมษายน 2560. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๓, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-12-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๙, ๓๐ มกราคม ๒๕๓๒
  • ดร.จำลอง สารพัดนึก. ชีวิตที่ไม่คาดฝัน อัตชีวประวัติของลูกชาวนายากจนคนหนึ่ง. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2535.