ข้ามไปเนื้อหา

การรับรองคู่ชีวิตเพศเดียวกันในประเทศนามิเบีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การรับรองคู่ชีวิตเพศเดียวกันไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศนามิเบีย ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 4–1 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 ว่าการแต่งงานของเพศเดียวกันที่รับรองนอกนามิเบียควรได้รับการยอมรับเพื่อจุดประสงค์ในการอยู่อาศัย ร่างกฎหมายที่พยายามหักล้างคำพิพากษาได้ผ่านรัฐสภานามิเบียแล้ว และกำลังรอการลงนามของประธานาธิบดีนันโกโล อึมบัมบา

ประวัติการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน[แก้]

แม้ว่าหลายวัฒนธรรมในดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศนามิเบียจะเคยมีประเพณีการมีภรรยาหลายคน แต่ก็ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับการแต่งงานของเพศเดียวกันในวัฒนธรรมเหล่านั้นตามที่เข้าใจจากมุมมองของตะวันตก อย่างไรก็ตามมีหลักฐานเกี่ยวกับอัตลักษณ์และพฤติกรรมที่อาจจัดอยู่ในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[1] ชาวยุโรปยุคแรกที่ไปเยือนดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศนามิเบีย ซึ่งรวมถึงนักมานุษยวิทยา นักชาติพันธุ์วิทยา และนักบวช รายงานว่ามี "พิธีแต่งงานของเพศเดียวกัน" ในหมู่ชาวโอวัมโบ ชาวนามา ชาวเฮเรโร และชาวฮิมบา ควร์ท ฟอล์ก (Kurt Falk) นักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันรายงานในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ว่า "ประเพณีของชนเผ่าโอวัมโบ สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ดังนั้นชาวโอวัมโบเกือบทุกคนจึงมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ" นักชาติพันธุ์วิทยา การ์ลุส เอสเตร์มันน์ [pt] (Carlos Estermann) กล่าวว่ามีคนที่แสดงบทบาทเพศที่สามในสังคมโอวัมโบ หรือที่รู้จักในชื่อคิมบันดา (kimbanda) ซึ่ง "คัดเลือกมาเฉพาะในหมู่ผู้ชายจำนวนน้อยที่เข้าเกณฑ์และหวาดกลัว โดยกิจกรรมของพวกเขาซ่อนเร้นความลึกลับไว้อย่างสิ้นเชิง" นอกจากนี้เขายังเขียนด้วยว่าเจ้าของเครื่องดนตรีโอมาโกลา (omakola) จำนวนมากเป็นคนรักร่วมเพศแบบเกย์รับ (โอมาเซงเก, omasenge) ซึ่ง "แต่งตัวเหมือนผู้หญิง ทำงานของผู้หญิง และ 'ทำข้อตกลงการแต่งงาน' กับผู้ชายคนอื่น ๆ ที่มีภรรยาเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว" “ลักษณะของเอเซงเก (esenge, เอกพจน์ของโอมาเซงเก) โดยพื้นฐานแล้วคือผู้ชายที่ถูกครอบงำตั้งแต่วัยเด็กโดยจิตวิญญาณของเพศหญิง ซึ่งดึงลักษณะของทุกสิ่งที่เป็นชายรวมทั้งความกำยำออกจากเขาทีละน้อย”[2]

สำหรับชาวเฮเรโร ถือเป็น "ธรรมเนียม" สำหรับผู้ชายสองคนที่จะสร้างมิตรภาพที่เร้าอารมณ์ ซึ่งเรียกในภาษาโอตจิเอเรโรว่า โอมาปังกา (omapanga) ซึ่งโดยทั่วไปรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อชายคนใดคนหนึ่งแต่งงาน ความสัมพันธ์ก็จะสิ้นสุดลง[3][2] ชาวนามายอมรับ "สนธิสัญญามิตรภาพ" ที่คล้ายกันซึ่งเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเพศของคนเพศเดียวกัน[4][5] ฟอล์กรายงานว่า "ตามกฎแล้ว ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยหลักหมายถึงมิตรภาพที่ลึกซึ้งและความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์รักร่วมเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กผู้ชายที่คอยดูแลกันและกันด้วยความหึงหวง" ประเพณีเหล่านี้หายไปพร้อมกับการทำให้ทันสมัยและการนำศาสนาคริสต์และวัฒนธรรมตะวันตกเข้าสู่นามิเบียในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20[6]

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันถูกกฎหมายในนามิเบียตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2024[7] ก่อนหน้านี้การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักในหมู่ผู้ชายถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายภายใต้กฎหมายคอมมอนลอว์โรมัน-ดัตช์ แม้ว่าจะไม่เคยมีใครถูกตัดสินว่ามีความผิด แต่ก็มีการรายงานเหตุการณ์ต่อตำรวจเป็นครั้งคราว ส่งผลให้มีการจับกุมและพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งทำให้ชุมชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหวาดกลัว[8]

ประวัติทางกฎหมาย[แก้]

ภูมิหลัง[แก้]

พระราชบัญญัติการแต่งงาน (พระราชบัญญัติที่ 25 ค.ศ. 1961)[a] ตราขึ้นโดยรัฐสภาแห่งแอฟริกาใต้ เมื่อนามิเบียยังคงเป็นแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ไม่ได้ห้ามอย่างชัดเจนถึงการยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน และไม่ได้ให้คำนิยามการแต่งงานไว้อย่างชัดเจน[12] อย่างไรก็ตาม มีการตีความกฎหมายว่าไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกันระหว่างเพศเดียวกัน[13] เมื่อนามิเบียได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1990 นามิเบียยังคงยึดถือกฎหมายของแอฟริกาใต้ทั้งหมด เว้นแต่จะมีพระราชบัญญัติยกเลิกหรือแก้ไขโดยรัฐสภาอย่างชัดเจน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญของนามิเบียไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานของเพศเดียวกันอย่างชัดเจนโดยระบุในมาตรา 14(2):[14][15][16][17][18][19]

การแต่งงานจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมอย่างเสรีและครบถ้วนจากคู่สมรสที่ประสงค์เท่านั้น

มาตรา 14(1) ระบุว่าชายและหญิงในวัยที่สามารถสมรสได้อาจแต่งงานได้โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ชาติพันธุ์ ความเชื่อ สถานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจ หรือสัญชาติ นอกจากนี้ ชายและหญิงมีสิทธิได้รับสิทธิและพันธกรณีเดียวกัน ไม่ว่าจะในระหว่างการสมรสหรือหย่าร้าง มาตรา 14(3) กำหนดให้ครอบครัวเป็น "หน่วยตามธรรมชาติและเป็นพื้นฐานของสังคม" ซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองพิเศษจากรัฐ[20]

สถานะทางการเมือง[แก้]

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2016 จอห์น วอลเตอร์ส ผู้ตรวจการแผ่นดินของนามิเบีย แสดงการสนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน[21][22] แต่พรรคสวาโป (South West Africa People's Organisation, SWAPO) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลตั้งแต่ได้รับเอกราช ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน นับตั้งแต่ไอโฟเน โดซับ (Yvonne Dausab) ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปี 2020 รัฐบาลที่นำโดยพรรคสวาโปได้ลดท่าทีลง โดยเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรีหารือเกี่ยวกับการยกเลิกกฎหมายการชำเราแบบวิตถาร[23][24] ในบรรดาพรรคอื่นที่มีผู้แทนราษฎรในรัฐสภานามิเบีย พรรคคริสเตียนเดโมเครติกวอยซ์ (Christian Democratic Voice, CDV) และพรรคนามิเบียนอีโคโนมิกฟรีดอมไฟเตอร์ส (Namibian Economic Freedom Fighters, NEFF) ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างแข็งขัน ขณะที่พรรคป็อปปูลาเดโมเครติกมูฟเมนต์ (Popular Democratic Movement, PDM) มีความลังเลในประเด็นนี้[25]

คดีความในศาล[แก้]

กิจกรรมทางเพศกับเพศเดียวกันถูกกฎหมาย
  การแต่งงานเพศเดียวกัน
  การรับรองอย่างจำกัด (สิทธิพำนักของชาวต่างชาติ)
  ไม่ยอมรับคู่รักเพศเดียวกัน
กิจกรรมทางเพศกับเพศเดียวกันผิดกฎหมาย
  จำคุกแต่ไม่ได้บังคับใช้
  จำคุก
  มีโทษประหารชีวิตตามกฎหมายแต่ไม่ได้บังคับใช้
  บังคับใช้โทษประหารชีวิต

คดีระหว่างประธานคณะกรรมการคัดเลือกคนเข้าเมืองกับฟรังค์และอีกบุคคลหนึ่ง[แก้]

ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1990 เอลิซาเบธ คาซาส (Elizabeth Khaxas) และแอร์นา เอลีซาเบ็ท ฟรังค์ (Erna Elizabeth Frank) คู่ครองชาวเยอรมันของเธอ ฟ้องร้องให้ยอมรับความสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยนในนามิเบีย กฎหมายนามิเบียให้ถิ่นที่อยู่และการเป็นพลเมืองแก่ชาวต่างชาติที่แต่งงานกับพลเมืองนามิเบีย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายไม่ยอมรับความสัมพันธ์เพศเดียวกันของทั้งคู่ ฟรังค์จึงไม่สามารถได้รับถิ่นที่อยู่ถาวรหรือสถานะพลเมืองได้ เธอได้ยื่นขอใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่ถาวรกับคณะกรรมการคัดเลือกคนเข้าเมืองสองครั้งในปี ค.ศ. 1996 และ ค.ศ. 1997 คณะกรรมการปฏิเสธคำขอทั้งสองครั้ง ศาลสูงตัดสินให้ผู้ร้องชนะคดีในปี 1998 โดยสั่งให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่ให้กับฟรังค์ คณะกรรมการได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลฎีกาในคดีระหว่างประธานคณะกรรมการคัดเลือกคนเข้าเมืองกับฟรังค์และอีกบุคคลหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2001 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า:

ความสัมพันธ์รักร่วมเพศไม่ว่าระหว่างชายกับชายหรือระหว่างหญิงกับหญิง เห็นได้ชัดว่าอยู่นอกขอบเขตและเจตนาของมาตรา 14 (ของรัฐธรรมนูญแห่งนามิเบีย)[26]

แม้ว่าศาลจะตัดสินว่าฟรังค์ควรได้รับใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่ถาวร ซึ่งเธอได้รับในอีกหนึ่งปีต่อมา ศาลไม่ได้ตัดสินให้ยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันตามกฎหมาย[27][28]

คดีระหว่างดิกาชูกับรัฐบาลสาธารณรัฐนามิเบีย และคดีระหว่างไซเลอร์-ลิลเล็สกับรัฐบาลสาธารณรัฐนามิเบีย[แก้]

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2017 โจฮันน์ พ็อตกีเตอร์ (Johann Potgieter) และมัตโซบาเน ดาเนียล ดิกาชู (Matsobane Daniel Digashu) สามีชาวแอฟริกาใต้ของเขาได้ยื่นฟ้องศาลสูงในคดีระหว่างดิกาชูกับรัฐบาลสาธารณรัฐนามิเบีย เพื่อให้การแต่งงานของพวกเขาได้รับการยอมรับในนามิเบีย ทั้งคู่แต่งงานกันในแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ. 2015 แต่รัฐบาลนามิเบียไม่ยอมรับดิกาชูให้เป็นคู่สมรสของพ็อตกีเตอร์ ทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมายและระเบียบของทางราชการหลายประการ เนื่องจากเขาไม่สามารถได้รับถิ่นที่อยู่ถาวรหรือสัญชาติ เช่นเดียวกับที่อนุญาตให้คู่รักเพศตรงข้ามที่แต่งงานแล้ว[29][28] ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2018 เจ้าหน้าที่ได้อนุมัติคำขอของทั้งคู่ให้อนุญาตให้ดิกาชูและลูกชายเดินทางเข้าสู่นามิเบีย ในขณะที่ศาลสูงยังคงพิจารณาคดีของพวกเขาต่อไป[27] อีกกรณีหนึ่งคือคดีระหว่างไซเลอร์-ลิลเล็สกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐนามิเบีย ซึ่งยื่นฟ้องในปี ค.ศ. 2018 โดยแอนเน็ตต์ ไซเลอร์ (Anette Seiler) และภรรยาชาวเยอรมันของเธอ อนีทา ไซเลอร์-ลิลเล็ส (Anita Seiler-Lilles) ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 ทั้งคู่อ้างเหตุผลว่าการแต่งงานในประเทศเยอรมนีของพวกเธอในปี ค.ศ. 2017 ควรได้รับการยอมรับในนามิเบีย[30]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019 เปตรุส ดามาเซ็บ (Petrus Damaseb) ประธานผู้พิพากษา ได้สั่งการให้ผู้พิพากษาสามคนเต็มองค์คณะพิจารณาคดีที่ค้างอยู่ทั้งหมด[27] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 โจทก์ทั้งสองคดีตกลงที่จะรวมคดีความของตนเข้าด้วยกัน[30][13] ผู้พิพากษาฮานเนไล พรินสลู (Hannelie Prinsloo), ออร์เบน ซิเบยา (Orben Sibeya) และเอซิ ชิมมิง-เชส (Esi Schimming-Chase) ได้รับฟังคำแถลงด้วยวาจาของคดีรวมในศาลเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2021 คู่รักทั้งสองขอให้ศาลรับรองการแต่งงานของพวกเขาที่ดำเนินการนอกนามิเบีย เรย์มอนด์ ฮีทโคต (Raymond Heathcote) ที่ปรึกษาอาวุโส (Senior Counsel) ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์ แย้งว่าคดีนี้จะไม่ทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันในนามิเบียถูกกฎหมาย แต่พยายามรับรองการแต่งงานที่ดำเนินการที่อื่น เขาแย้งว่ารัฐธรรมนูญให้สิทธิชายและหญิงในการแต่งงานโดยไม่มีข้อจำกัดเนื่องจากสถานะทางสังคมของพวกเขา และการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศถือเป็นการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศและสถานะทางสังคม ซึ่งเป็นเหตุผลสองประการที่รัฐธรรมนูญห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งหมด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2022[31] ผู้พิพากษาเห็นพ้องในหลักการกับโจทก์ แต่ตัดสินว่าพวกเขาผูกพันกับคดีระหว่างประธานคณะกรรมการคัดเลือกคนเข้าเมืองกับฟรังค์และอีกบุคคลหนึ่งในปี 2001 และด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถตัดสินให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้ ผู้พิพากษาสนับสนุนให้คู่รักทั้งสองยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเพื่อขอล้มล้างคำตัดสินก่อนหน้านี้ ผู้พิพากษาพรินสลูกล่าวว่า "มีเพียงศาลฎีกาเท่านั้นที่สามารถแก้ไขตัวเองได้" โดยเสริมว่า "ถึงเวลาแล้วที่รัฐธรรมนูญจะสะท้อนความเป็นจริงทางสังคม"[32] คู่รักทั้งสองคู่กล่าวว่าพวกเขา “ผิดหวัง” กับคำตัดสินดังกล่าว แต่ตอนนี้จะพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา คาร์ลี ชลิคเคอร์ลิง (Carli Schlickerling) ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์กล่าวว่า "ศาลกล่าวกับเราเมื่อเช้านี้ว่า 'ดูสิ เราต้องการช่วยคุณ เราเชื่อว่าคุณควรจะประสบความสำเร็จในประเด็นรัฐธรรมนูญ' ดูเหมือนว่าศาลมุ่งที่จะบอกไปยังศาลฎีกาว่าเหตุใดเราจึงควรอุทธรณ์ได้สำเร็จ"[33]

ศาลฎีการับฟังคำแถลงด้วยวาจาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2023[34][35][36] ในวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 ศาลฎีกามีมติ 4–1 ว่า เนื่องจากการประกันความเสมอภาคและศักดิ์ศรีตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่กระทำนอกนามิเบียเพื่อวัตถุประสงค์ในการพำนักอาศัย[37][38] นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับคำตัดสินในปี ค.ศ. 2001 โดยระบุว่าข้อสังเกตก่อนหน้านี้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันคือ "ข้อสังเกตเสริมและคำกล่าวภายนอกไม่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจนั้นและด้วยเหตุนี้ [...] จึงไม่มีผลผูกพัน"[39]

ผลที่ตามมาและปฏิกิริยา[แก้]

คำตัดสินได้รับความยินดีโดยคู่สมรสของโจทก์ ดิกาชูกล่าวว่าเขา "รู้สึกหนักใจ" "ในตอนแรกกระบวนการในการดำเนินคดีเป็นเรื่องที่โดดเดี่ยว แต่เราก็ได้เพื่อนและความสัมพันธ์ที่ดีตลอดเส้นทาง ตั้งแต่การดำเนินคดีและการสนับสนุนจากองค์กรศูนย์คดีความแอฟริกาใต้ (Southern Africa Litigation Centre) ซึ่งช่วยเหลือเราได้อย่างมาก ไปจนถึงองค์กรประชาสังคมในนามิเบียซึ่งเรารู้สึกถึงความเป็นชุมชนที่ยอดเยี่ยม" ซีคลีนเดอ เวเทอร์ (Sieglinde Wether) ประธานสมาคมผู้มีสิทธิเลือกตั้งโคริซัส (Khorixas Constituency Residents Association) ยินดีกับคำตัดสินที่ว่า "เราทุกคนเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงสร้าง และไม่มีใครควรด้อยกว่าใคร นามิเบียต้องดำเนินชีวิตตามสังคมที่ยุติธรรมและเท่าเทียมกันตามที่รัฐธรรมนูญเน้นย้ำ"[40] อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีถูกต่อต้านอย่างดุเดือดจากกลุ่มศาสนาและนักการเมือง สภาคริสตจักรในนามิเบียออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน โดยอธิบายว่าเป็นการ "ขัดกับวัฒนธรรมนามิเบีย"

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2023 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่ต้องการล้มล้างคำตัดสินของศาล ร่างกฎหมายดังกล่าวให้นิยามการแต่งงานว่าเป็น "การอยู่ร่วมกันระหว่างบุคคลที่มีเพศตรงข้าม" และให้คำจำกัดความของคู่สมรสว่าเป็น "ครึ่งหนึ่งของการอยู่ร่วมกันตามกฎหมายระหว่างชายโดยกำเนิดและหญิงโดยกำเนิด" นอกจากนี้ จะทำให้การเฉลิมฉลอง การเป็นพยาน การส่งเสริม หรือการเผยแพร่การแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี และปรับสูงสุด 100,000 ดอลลาร์นามิเบีย (5,500 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวอธิบายว่าเป็น “การพูดที่แสดงการละเมิดเสรีภาพอย่างชัดเจน” ยังไม่ชัดเจนว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะล้มล้างคำตัดสินของศาลได้อย่างไร เนื่องจากศาลฎีกาได้ตัดสินว่าหลักการทางรัฐธรรมนูญแห่งความเท่าเทียมรับประกันการยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่ดำเนินการในต่างประเทศ และร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงไม่สามารถพลิกผันคำตัดสินของศาลได้อย่างแท้จริง หากมีการประกาศใช้และมีการยื่นคำคัดค้าน ก็มีแนวโน้มว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะ แมคเฮนรี เฟียนอน (McHenry Venaani) สมาชิกรัฐสภากล่าวว่า "ผมไม่เคยเห็นร่างกฎหมายที่เขียนโดยจงใจ (เพื่อ) ขัดแย้งกับคำตัดสินของศาล ผมไม่แน่ใจว่ามันจะผ่านการตรวจสอบว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ"[41]

ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการลงมติเป็นเอกฉันท์ในรัฐสภาเมื่อปลายเดือนกันยายน ค.ศ. 2023[42] ขณะนี้กำลังรอการลงนามหรือการยับยั้งของประธานาธิบดีนันโกโล อึมบัมบา โดยในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2023 ฮาเก เกนก็อบ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนกระทั่งถึงแก่กรรมในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 แถลงคัดค้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่แสดง "ความระมัดระวัง" เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายดังกล่าว แดเนียล คาชิโกลา (Daniel Kashikola) สมาชิกรัฐสภายังแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของร่างกฎหมายนี้ต่อการแต่งงานตามธรรมเนียมและบุคคลที่มีเพศกํากวม ส่วนอีควล นามิเบีย (Equal Namibia) กลุ่มผู้สนับสนุนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่าจะยื่นฟ้องกฎหมายนี้หากประธานาธิบดีอึมบัมบาลงนามในกฎหมาย โอมาร์ ฟัน เรเนน (Omar van Reenen) ผู้จัดการการรณรงค์หาเสียงขององค์กรกล่าวว่า "[ร่างกฎหมายนี้] ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิงและจะตกไปในชั้นศาล แต่มันพิสูจน์ได้ว่านี่คือสภานิติบัญญัติที่ละเมิดคำสาบานเพื่อรับคะแนนนิยมราคาถูกจากการรณรงค์"[43] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2024 นักเคลื่อนไหวได้เริ่มการรณรงค์เรียกร้องให้ประธานาธิบดีอึมบัมบา ยับยั้งกฎหมายดังกล่าว[44]

คดีระหว่างกร็อบเลอร์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและตรวจคนเข้าเมือง[แก้]

ในปี ค.ศ. 2018 อนิตา กร็อบเลอร์ (Anita Grobler) ทนายความจากเมืองโอตจิวารองโก (Otjiwarongo) และซูซาน จาค็อบส์ (Susan Jacobs) คู่สมรสชาวแอฟริกาใต้ของเธอ ซึ่งครองคู่กันมานานกว่า 25 ปี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลสูงเพื่อให้การแต่งงานในแอฟริกาใต้ของพวกเธอในปี ค.ศ. 2009 ได้รับการยอมรับในนามิเบีย และจาค็อบส์ได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยในนามิเบีย[27][45] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและตรวจคนเข้าเมืองได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยหลักในคดีนี้[24] คณะกรรมการคัดเลือกคนเข้าเมืองมีมติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2019 อนุมัติใบสมัครของจาค็อบส์เพื่อขอใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่ถาวร เธอได้ชำระเงินที่จำเป็นสำหรับใบอนุญาตจำนวน 18,000 ดอลลาร์นามิเบีย แต่ ณ เดือนตุลาคม ค.ศ. 2019 ยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้กับเธอเลย[46] โจทก์ตกลงที่จะทำการยุติคดีและถอนฟ้องก็ต่อเมื่อมีการออกใบสำคัญถิ่นที่อยู่แล้ว[30]

คดีระหว่างเลือล์กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและตรวจคนเข้าเมือง[แก้]

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 ผู้พิพากษาศาลสูง โธมัส มาซูกุ (Thomas Masuku) ตัดสินว่าบุตรชายของคู่รักเพศเดียวกันได้แก่ กิเยร์โม เดลกาโด (Guillermo Delgado) สัญชาติเม็กซิโก และฟิลลิพ เลือล์ (Phillip Lühl) สัญชาตินามิเบีย ซึ่งเกิดผ่านการอุ้มบุญในแอฟริกาใต้ เป็นพลเมืองนามิเบียโดยสืบเชื้อสาย[47] ศาลฎีกากลับคำตัดสินของศาลสูงในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 โดยถือว่าศาลสูง "หลงทาง" ในการให้สัญชาติแก่เด็ก “เนื่องจากการเกิดไม่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติความเป็นพลเมือง ศาลสูงจึงไม่มีอำนาจที่จะให้การบรรเทาทุกข์ได้”[48]

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 หัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกา ปีเตอร์ ชีวุต (Peter Shivute) สั่งให้กระทรวงมหาดไทยประเมินการสมัครเป็นผู้มีถิ่นพำนักของเดลกาโดอีกครั้ง แม้จะมีขอบเขตการพิจารณาคดีที่แคบ อึนดิโลเกลวา อึนเทตวา (Ndilokelwa Nthetwa) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยินดีกับการตัดสินใจดังกล่าว โดยกล่าวว่า “สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อคู่สมรสเองและไม่กระทบโดยแน่แท้ต่อชุมชน แต่เป็นชัยชนะในลักษณะที่ศาลฎีกายอมรับว่ากระทรวงได้ใช้นโยบายสาธารณะ (ความไว้วางใจ) ในทางที่ผิด ในการปฏิบัติต่อคู่รักคู่นี้และครอบครัวของพวกเขาอย่างไร้มนุษยธรรมและในลักษณะที่ไม่เป็นมิตร"[49][50]

การปฏิบัติทางศาสนา[แก้]

ในปี ค.ศ. 2015 การประชุมสภาสงฆ์เป็นการทั่วไปของคริสตจักรปฏิรูปดัตช์ (Dutch Reformed Church) ได้ลงมติโดยเสียงข้างมากร้อยละ 64 ให้รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ให้พรแก่ความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกัน และยอมรับศาสนาจารย์และนักบวชที่เป็นเกย์ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นโสด) คำตัดสินนี้ใช้กับการประชุมสภาสงฆ์ 9 ใน 10 สภา โดยไม่รวมสภาเถรนามิเบีย แต่จะใช้กับสภาเถรภาคเหนือ ซึ่งรวมถึงบางส่วนของฉนวนคาปรีวีด้วย[51] การตัดสินใจดังกล่าวทำให้เกิดปฏิกิริยาที่รุนแรงและการคัดค้าน ส่งผลให้มีการกลับมติในอีกหนึ่งปีต่อมา ต่อมาสมาชิกของคริสตจักรหลายสิบรายได้นำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลเพื่อรื้อฟื้นคำตัดสินในปี 2015 ต่อมาในปี ค.ศ. 2019 ศาลสูงนอร์ทเคาเต็งได้กลับคำตัดสิน โดยตัดสินว่าแม้ว่าองค์กรทางศาสนาจะมีเสรีภาพทางศาสนาในการนิยามการแต่งงาน แต่มติในปี 2016 ก็ไม่สอดคล้องกับกระบวนการที่เหมาะสมของคริสตจักรเอง[52][53] บาทหลวงแต่ละรูปมีอิสระที่จะเลือกว่าจะอำนวยพรการแต่งงานของคนเพศเดียวกันหรือไม่ ตัวบทว่าด้วยเสรีภาพแห่งมโนธรรมช่วยให้ศิษยาภิบาลที่คัดค้านสามารถเลือกไม่จัดงานแต่งงานสำหรับเพศเดียวกันได้

คริสตจักรแองกลิกันแห่งแอฟริกาใต้ (Anglican Church of Southern Africa) ซึ่งมีสังฆมณฑลหนึ่งในนามิเบีย ไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน นโยบายการแต่งงานระบุว่า "การแต่งงานอันศักดิ์สิทธิ์คือการอยู่ร่วมกันตลอดชีวิตและพิเศษเฉพาะระหว่างชายหนึ่งคนกับหญิงหนึ่งคน" ในปี ค.ศ. 2016 การประชุมสภาสงฆ์ได้มีการลงมติคัดค้านการให้พรแก่คู่ชีวิตเพศเดียวกัน การตัดสินใจทำให้คริสตจักรแตกแยก โดยหลายสังฆมณฑลได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อไปโดยให้พรแก่คู่ที่มีความสัมพันธ์เพศเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังฆมณฑลซัลดานาเบย์ (Diocese of Saldanha Bay) ในแอฟริกาใต้[54] อัครมุขนายกทาโบ มักโกบา (Thabo Makgoba) แสดงความผิดหวังกับการตัดสินใจไม่อำนวยพรคู่ชีวิตเพศเดียวกัน แต่เสริมว่า "ทุกอย่างจะไม่สูญเปล่า" โดยแสดงความหวังว่าเรื่องนี้จะมีการถกเถียงกันอีกครั้งในอนาคต อดีตอัครมุขนายกอึนจ็องอนกูลู อึนดุนกาเน (Njongonkulu Ndungane) ยังได้แสดงความผิดหวังกับการตัดสินใจดังกล่าวด้วย[55] ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2023 คริสตจักรปฏิเสธที่จะอนุญาตให้บาทหลวงอำนวยพรคู่ชีวิตเพศเดียวกันอีกครั้ง แต่สั่งให้ที่ประชุมสภาสงฆ์พัฒนา "แนวปฏิบัติในการจัดให้มีพันธกิจอภิบาลแก่ผู้ที่มีความสัมพันธ์เพศเดียวกัน"[56] ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 อัครมุขนายกมักโกบาเผยแพร่เอกสารแนะนำการสวดมนต์สำหรับคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งคาดว่าที่ประชุมสภาสงฆ์จะนำเข้าพิจารณาในเดือนกันยายน[57]

ในปี ค.ศ. 2017 มุขนายกเชกูตาอัมบา นัมบาลา (Shekutaamba Nambala) แห่งคริสตจักรนิกายลูเธอรันผู้เผยแพร่ศาสนา (Evangelical Lutheran Church) ในนามิเบีย ซึ่งเป็นหนึ่งในนิกายที่ใหญ่ที่สุดในนามิเบีย ประณามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันและธรรมเนียมปฏิบัติแบบอาวัมโบ (Aawambo) ดั้งเดิมในเทศกาลโอลูฟูโก (Olufuko Festival) ซึ่งคริสตจักรถือว่า "นอกรีต" และ "ต่อต้านศาสนาคริสต์"[58]

คริสตจักรคาทอลิกต่อต้านการแต่งงานของเพศเดียวกันและไม่อนุญาตให้นักบวชประกอบพิธีในการแต่งงานดังกล่าว ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023 สันตะสำนักตีพิมพ์คำประกาศฟิดูเชีย ซุปปลิกันส์ (Fiducia supplicans) ซึ่งเป็นคำประกาศที่อนุญาตให้นักบวชคาทอลิกให้พรคู่รักที่ไม่ถือว่าเป็นการแต่งงานตามคำสอนของคริสตจักร รวมถึงการให้พรแก่คู่รักเพศเดียวกันด้วย[59] อะกาปิตุส เฮาซิกู (Agapitus Hausiku) ผู้อำนวยการองค์การสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เอาต์-ไรต์ นามิเบีย (Out-Right Namibia) คาดว่าจะมีปฏิกิริยาเชิงลบจากการประชุมมุขนายกคาทอลิกแห่งนามิเบีย แต่ก็ยินดีกับ "การอภิปรายที่กำลังดำเนินอยู่เกี่ยวกับการแต่งงานเพศเดียวกันและความเชื่อของคริสเตียน"[60]

หมายเหตุ[แก้]

  1. ในภาษาประจำชาติของประเทศนามิเบีย:[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. Spurlin, William J. (2006). Imperialism Within the Margins: Queer Representation and the Politics of Culture in Southern Africa. Palgrave Macmillan. ISBN 978-1-4039-8366-4.
  2. 2.0 2.1 Murray, Stephen. "Homosexuality in "Traditional" Sub-Saharan Africa and Contemporary South Africa" (PDF). Semgai. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2023.
  3. "Boy-Wives and Female Husbands". www.willsworld.org.
  4. Denver Breda, Toroga (15 ธันวาคม 2022). "Relearning Our Past Histories through Our Native Tongues". Cultural Survival.
  5. "Sources of the Cape KhoeKhoe and Kora records" (PDF). South African History Online. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2023.
  6. Okwenna, Chrysogonus (2021). "Homosexuality in Traditional Africa". Obademi Awolowo University Press.
  7. "Namibian court declares law criminalising same-sex relationships unconstitutional". France24. 21 มิถุนายน 2024.
  8. "Report on the abolishment of the Common Law offences of Sodomy and Unnatural Sexual Offences" (PDF). Windhoek: Law Reform and Development Commission, Government of Namibia. กุมภาพันธ์ 2021. pp. 8–9.
  9. "Eindilo tango manga inaamu hokanathana… Othanekwaveta ompe osho yi li ngaaka". New Era Live (ภาษากวนยามา). 30 พฤศจิกายน 2018.
  10. Bause, Tanja (19 มกราคม 2024). "LGBTQIA-Wetsontwerpe Nog Op Hage Se Tafel". Republikein (ภาษาแอฟริกานส์).
  11. "Ehegesetz ebnet Einspruch der Öffentlichkeit den Weg". HitRadio Namibia (ภาษาเยอรมัน). 17 สิงหาคม 2023.
  12. "Marriage Act 25 of 1961 (SA)" (PDF). laws.parliament.na. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2020.
  13. 13.0 13.1 "Govt sticks to stance on same-sex marriage". Namibian. 3 ตุลาคม 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2020.
  14. "Efinamhango loRepublika yaNamibia". Konrad-Adenauer Stiftung (ภาษากวนยามา). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2021. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2020.
  15. "Namibiab di Republiki di !Huǂhanub". Ministry of Information and Communication Technology (ภาษานามา). 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2021. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2020.
  16. "Grondwet van Namibië". Konrad-Adenauer Stiftung (ภาษาแอฟริกานส์). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2021. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2020.
  17. "Ongunḓeveta ya Namibia". Ministry of Information and Communication Technology (ภาษาเฮเรโร). 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2021. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2020.
  18. "Ediveta lyo Republika za Namibia". Ministry of Information and Communication Technology. 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2021. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2020.
  19. "Mutomo-Puso wa Naha ya Namibia". Ministry of Information and Communication Technology (ภาษาโลซิ). 2016. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 เมษายน 2021. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2020.
  20. "Namibian Constitution" (PDF). lac.org.na. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2020.
  21. "Namibia's ombudsman calls for same-sex marriage amidst UN report furore". MambaOnline - Gay South Africa online. 23 สิงหาคม 2016.
  22. Denver Kisting (23 สิงหาคม 2016). "Let gays be – Walters". The Namibian. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 สิงหาคม 2016.
  23. Petersen, Shelleygan (18 พฤษภาคม 2021). "Sodomy law in Cabinet's hands". The Namibian. p. 1.
  24. 24.0 24.1 "Govt stance on same-sex marriage faces challenge". The Namibian. 26 มิถุนายน 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2020.
  25. Nakale, Albertina (25 สิงหาคม 2021). "Politicians divided on homosexuality … NEFF says 'to hell' with gay rights". New Era.
  26. Strydom, Johan; Teek, Pio; O'Linn, Bryan (26 มิถุนายน 2019). "Appeal Judgment: Chairperson of the Immigration Selection Board v Frank and Another". Supreme Court of Namibia. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2020.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 "Walters backs LGBT marriage". Namibian Sun. 10 กรกฎาคม 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กรกฎาคม 2019.
  28. 28.0 28.1 Igual, Roberto (15 ธันวาคม 2017). "Namibia: Gay couple sue govt for same-sex marriage and family rights". Mambaonline. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 ตุลาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2020.
  29. "Namibia: Govt Sued Over Gay Marriage". AllAfrica.com. 14 ธันวาคม 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2018.
  30. 30.0 30.1 30.2 "Same-sex couples join forces". Namibian Sun. 5 กันยายน 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2020.
  31. "Landmark test for stance against gay marriage". The Namibian. 21 พฤษภาคม 2021.
  32. "'Second-class citizens'? Namibia rules against gay couples". Reuters. Windhoek. 21 มกราคม 2022.
  33. Thoreson, Ryan (25 มกราคม 2022). "Namibian Court Rules It Cannot Require Recognition of Same-Sex Marriages". Human Rights Watch.
  34. @EqualNamibia (February 17, 2023). "A once in a generation chance to fight for an #equalNamibia! Join us at the Supreme Court, 10 AM, March 3 and 6!" (ทวีต) – โดยทาง ทวิตเตอร์.
  35. Shikongo, Arlana (2 มีนาคม 2023). "Same-sex couples prepare for key court hearings". The Namibian.
  36. Menges, Werner (7 มีนาคม 2023). "Officials 'rude' to same-sex couples seeking equal rights". The Namibian.
  37. Angula, Vitalio (16 พฤษภาคม 2023). "Namibia Court Endorses Recognizing Same-Sex Marriage From Other Countries". voanews.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2023.
  38. Menges, Werner (16 พฤษภาคม 2023). "Supreme Court gives legal status to same-sex marriages". The Namibian.
  39. Menges, Werner (17 พฤษภาคม 2023). "Same-sex marriage wins … historic judgement for equal rights". The Namibian. p. 1.
  40. Kavhu, Sharon (30 มิถุนายน 2023). "Fight for LGBTIQ rights in Namibia goes on after landmark court ruling". OpenDemocracy.
  41. "Namibian MPs back anti-gay law despite Supreme Court ruling". News24. 19 กรกฎาคม 2023.
  42. Shikololo, Aletta (27 กันยายน 2023). "Same-sex marriage's fate in Geingob's hands". New Era Live.
  43. Petersen, Shelleygan (1 ตุลาคม 2023). "Gay community ready to take legal action over Ekandjo's bills". The Namibian.
  44. "Namibia: Call for President to Veto Anti-LGBTQI+ Bill". Mambaonline. 8 มิถุนายน 2024.
  45. "Homo-Ehe beschäftigt Gericht". Allgemeine Zeitung (ภาษาเยอรมัน). 26 มิถุนายน 2019.
  46. "Immigration drags feet". Namibian Sun. 4 ตุลาคม 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2020. สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2020.
  47. "Gay couple hail 'big win' in battle over children's Namibian citizenship". Reuters. 13 ตุลาคม 2021.
  48. "Namibia: court cancels nationality of child of same-sex couple". Africa News. 20 มีนาคม 2023.
  49. Angula, Vitalio (7 มีนาคม 2022). "Namibia's Supreme Court Rules in Favor of Same-sex couple". VOA News.
  50. Rosen, Everitt (3 พฤษภาคม 2022). "Namibia Rules In Favor Of Same-Sex Marriage". South Florida Gay News.
  51. "Dutch Reformed Church to recognise gay marriage". enca. 10 ตุลาคม 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2019.
  52. "Dutch Reformed Church's Decision Not To Recognise Gay Marriages Set Aside". Eyewitness News. 8 มีนาคม 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2019.
  53. "Dutch Reformed Church loses court battle over same-sex unions". enca. 8 มีนาคม 2019. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2019.
  54. "More ructions in Anglican church over same-sex marriage". Iol.co.za. 16 กันยายน 2017. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2019.
  55. "All Are God's Children: On Including Gays and Lesbians in the Church and Society". HuffPost. 11 สิงหาคม 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 11 เมษายน 2019.
  56. "Bishops in Southern Africa agree to prayers but not blessings for same-sex couples". Church Times. 6 มีนาคม 2023.
  57. LeBlanc, Douglas; Michael, Mark (9 พฤษภาคม 2024). "Eclectic Prayers for Same-Sex South African Couples". The Living Church.
  58. "ELCIN denounces same-sex marriage and Olufuko". New Era Live. 19 กันยายน 2017.
  59. Flynn, JD (22 ธันวาคม 2023). "Is the 'false narrative' narrative a false narrative?". The Pillar (ภาษาอังกฤษ). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 ธันวาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2023.
  60. Matthys, Donald (15 มกราคม 2024). "Council of churches to engage Namibia's Catholic Church on same-sex marriage blessings". The Namibian.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]