กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว
กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ยุทธการอานชิ่ง ค.ศ. 1861 วาดใน ค.ศ. 1884 | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
ช่วงหลัง: |
ไท่ผิงเทียนกั๋ว ผู้ร่วมรบ: กบฏเหนี่ยน กบฎโพกผ้าแดง ชมรมดาบเล็ก | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
| |||||||
กำลัง | |||||||
มากกว่า 3,400,000 คน[2] | 2,000,000 คน[3] | ||||||
10,000,000 (การโจมตีทั้งหมด)[4] | |||||||
ความสูญเสีย | |||||||
ตาย 145,000 คน | ตาย 243,000 คน | ||||||
ยอดตาย: 20–30 ล้านคน (การประมาณที่ดีที่สุด)[5] |
ไท่ผิงเทียนกั๋ว (จีนตัวย่อ: 太平天国; จีนตัวเต็ม: 太平天國; พินอิน: Tàipíng Tiānguó; "กรุงเทพมหาสันติ") เป็นกบฏขนานใหญ่ซึ่งรัฐไท่ผิงเทียนกั๋วของหง ซิ่วเฉฺวียน (洪秀全) ก่อขึ้นต่อต้านจักรวรรดิจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิงที่มีชาวแมนจูเป็นผู้นำ ในช่วง ค.ศ. 1850–1864
หง ซิ่วเฉฺวียน เป็นบัณฑิตสอบตกที่เข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิก และอ้างตนเป็นน้องชายของพระเยซู เขาก่อตั้งลัทธิป้ายช่างตี้ (拜上帝教; "ลัทธิบูชามหาเทพ") ที่มุ่งหวังจะให้ประชาชนหันมานับถือศาสนาคริสต์ตามแบบของเขาที่มีการบูชาเทวดาต่าง ๆ ทั้งจะโค่นล้มราชวงศ์ชิง แล้วจัดการปฏิรูปบ้านเมืองขนานใหญ่[6][7] การปฏิรูปของหง ซิ่วเฉฺวียน ไม่ได้เป็นไปเพื่อเอาชนชั้นรากหญ้าเข้าแทนที่ชนชั้นปกครองเท่านั้น แต่พยายามจะสับเปลี่ยนระเบียบทางสังคมและจิตวิญญาณด้วย[8] เมื่อถูกขุนนางท้องถิ่นห้ามปราม ลัทธิป้ายช่างตี้ก็ลุกฮือที่จินเถียน (金田起義) ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1851 รัฐบาลกลางจึงส่งทัพธงเขียว (綠營兵) เข้าไปปราบ หง ซิ่วเฉฺวียน จึงออกหน้าประกาศตนเป็นเทียนหวัง (天王; "เจ้าฟ้า") แห่งประเทศที่เขาก่อตั้งใหม่ เรียกว่า "ไท่ผิงเทียนกั๋ว" แล้วจัดตั้งทัพมุ่งขึ้นเหนือเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1851 เพื่อโจมตีชาวแมนจู ครั้นวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1853 ทัพไท่ผิงเทียนกั๋วยึดหนานจิง (南京; "เมืองใต้") ไว้ได้ จึงเอาเป็นเมืองหลวง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "เทียนจิง" (天京; "เมืองฟ้า")
ทัพกบฏยึดครองภาคใต้ส่วนใหญ่ได้ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนสามารถควบคุมฐานประชากรเกือบ 30 ล้านคน ลุกลามเป็นสงครามเต็มรูปแบบ หลังจากยึดเจียงซี (江西), หูเป่ย์ (湖北), และอานฮุย (安徽) ได้แล้ว กบฏก็มุ่งหน้าไปยึดเป่ย์จิง (北京) เมืองหลวงของราชวงศ์ชิง แต่ไม่สำเร็จ กระนั้น กองทัพราชวงศ์ชิงไม่สามารถหยุดยั้งการรุกคืบของกบฏได้ มีแต่กองกำลังทหารท้องถิ่นนอกประจำการของขุนพลเจิง กั๋วฟาน (曾國藩) ที่เรียกว่า ทัพเซียง (湘軍) เป็นกลุ่มหลักในการต่อต้านการกบฏ
ช่วงหลัง ไท่ผิงเทียนกั๋วเริ่มอ่อนแอลงเพราะการชิงอำนาจกันเอง โดยเฉพาะในเหตุการณ์เทียนจิง (天京事變) เมื่อ ค.ศ. 1856 ที่หยาง ซิ่วชิง (楊秀清) ผู้ดำรงตำแหน่งตงหวัง (東王; "เจ้าบูรพา") พยายามยึดอำนาจ แต่ล้มเหลวและถูกเหวย์ ชางฮุย (韋昌輝) ผู้ดำรงตำแหน่งเป่ย์หวัง (北王; "เจ้าอุดร") ฆ่า ขณะที่ทัพของเจิง กั๋วฟาน ก็สามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ในเจียงซีกับหูเป่ย์คืนไปได้ อย่างไรก็ดี ในยุทธการเจียงหนาน (江南之战) เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1860 ทัพกบฏมีชัยเหนือทัพหลวงที่ล้อมหนานจิงไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1853 ขับไล่กองทัพรัฐบาลไปจากภูมิภาค และเปิดทางให้ตนรุกรานเจียงซู (江苏) กับเจ้อเจียง (浙江) เป็นผลสำเร็จ ส่วนทัพของเจิง กั๋วฟาน ก็มุ่งลงฉางเจียง (長江) ไปยึดอานชิ่ง (安慶) คืนจากกบฏได้ในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1861
ครั้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1862 เจิง กั๋วฟาน เข้าปิดล้อมหนานจิง เมืองหลวงของกบฏ และสามารถตั้งมั่นปิดเมือง แม้ฝ่ายกบฏที่มีกำลังมากกว่าพยายามจะขับไล่หลายครั้งก็ตาม การปิดล้อมทำให้อาหารในเมืองขาดแคลน หง ซิ่วเฉฺวียน เก็บผักป่ามาบริโภค ทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษจนเขาล้มป่วยลงถึง 20 วันและเสียชีวิตในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1864 เมื่อหง ซิ่วเฉฺวียน สิ้นใจแล้ว หนานจิงก็ถูกตีแตกในยุทธการหนานจิง (南京之战) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ. 1864 ครั้นหนานจิงแตกแล้ว เจิง กั๋วฟาน พร้อมด้วยผู้สนับสนุน เช่น หลี่ หงจาง (李鴻章) กับจั่ว จงถัง (左宗棠) ก็ได้รับการสดุดีในฐานะผู้ช่วยราชวงศ์ชิงให้รอด และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 กลุ่มกบฏที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยภายใต้การนำของหง เทียนกุ้ยฝู (洪天貴福) บุตรชายของหง ซิ่วเฉฺวียน ยังคงต่อสู้ต่อไปในเจ้อเจียง แต่หง เทียนกุ้ยฝู ถูกจับในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1864 และกองกำลังกบฏก็ถอยร่นไปเรื่อย ๆ จนถึงกว่างตง (广东) ที่ซึ่งกบฏคนสุดท้ายถูกปราบในวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1866
ประมาณกันว่า กบฏครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 20–70 ล้านคนไปจนถึง 100 ล้านคน และอีกหลายล้านคนต้องพลัดที่อยู่ นับเป็นความขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงที่สุดในจีนนับแต่ราชวงศ์ชิงพิชิตราชวงศ์หมิงได้ใน ค.ศ. 1644 ทั้งยังเป็นสงครามครั้งหนึ่งที่มีการนองเลือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เป็นสงครามกลางเมืองที่สูญเสียเลือดเนื้อมากที่สุด และเป็นการขัดกันทางทหารที่ใหญ่หลวงที่สุดแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Nicolas Standaert; R. G. Tiedemann, บ.ก. (1 ธันวาคม 2009). Handbook of Christianity in China. Vol. 2. BRILL. p. 390. ISBN 978-90-04-11430-2.
- ↑ Heath (1994), pp. 11–16.
- ↑ Heath (1994), p. 4.
- ↑ Heath (1994), p. 7.
- ↑ Platt (2012), p. p. xxiii.
- ↑ Jen Yu-wen (1 มกราคม 1973). The Taiping Revolutionary Movement. Yale University Press. pp. 4–7. ISBN 978-0-300-01542-3.
- ↑ Xiucheng Li; C. A. Curwen (1976). Taiping Rebel: The Deposition of Li Hsiu-ch'eng. Cambridge University Press. p. 1. ISBN 978-0-521-21082-9.
- ↑ Franz H. Michael; Chungli Chang (1 มกราคม 1966). The Taiping Rebellion: History and Documents. Vol. I. Seattle: University of Washington Press. p. 7. ASIN B000GXB726.
- ↑ 曹樹基; 葛劍雄 (2001). 中国人口史 [A History of China's Population]. Vol. 第五. Shanghai: Fudan University Press. pp. 455, 509.
บรรณานุกรม
[แก้]- Heath, Ian (1994). The Taiping Rebellion, 1851–1866. Osprey Military Men-at-Arms Series. London; Long Island City: Osprey. ISBN 1-85532-346-X. เน้นประวัติศาสตร์การทหาร
- Platt, Stephen R. (2012). Autumn in the Heavenly Kingdom: China, the West, and the Epic Story of the Taiping Civil War. New York: Knopf. ISBN 978-0-307-27173-0. วิเคราะห์บันทึกโดยละเอียด
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Taiping Rebellion Videos – Chronological presentation of the Taiping Rebellion, with details and anecdotes. เก็บจากแหล่งเดิมที่ ghostarchive.org เมื่อ 24 พฤษภาคม 2022.
- Taiping Rebellion.com – Narrative history, with many illustrations, a Timeline, and a detailed Map of the Rebellion.
- The Taiping Rebellion – BBC discussion with Rana Mitter, University of Oxford; Frances Wood British Library; and Julia Lovell, University of London.
- กบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว
- กบฏในประเทศจีน
- คริสต์ศตวรรษที่ 19 ในประเทศจีน
- กบฏในคริสต์ศตวรรษที่ 19
- ศาสนาคริสต์ในประเทศจีน
- กบฏรากหญ้า
- กบฏในราชวงศ์ชิง
- สงครามศาสนา
- สงครามกลางเมืองอิงศาสนา
- สงครามเกี่ยวข้องกับฝรั่งเศส
- สงครามเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ชิง
- สงครามเกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักร
- การทำให้เป็นคริสต์
- แปดกองธง
- การเบียดเบียนพุทธศาสนิกชน