พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
ประสูติ17 ตุลาคม พ.ศ. 2400
สิ้นพระชนม์16 เมษายน พ.ศ. 2462 (61 ปี)
ชายาหม่อมเจ้าเม้า รองทรง
หม่อมเจ้าสุวรรณ นิลรัตน
หม่อม
  • 8 คน
พระบุตร15 องค์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาเจ้าจอมมารดาสังวาลย์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ธิดา นายศัลยวิชัย หุ้มแพร (ทองคำ ณ ราชสีมา)[1] ประสูติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2400 ทรงเป็นพระบิดาแห่งภาพยนตร์ไทย

พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ทรงพระปรีชาในด้านงานช่าง ทรงร่วมรับหน้าที่บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 100 ปี พ.ศ. 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมเกียรติพระองค์ ทรงกรมเป็น กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ ผู้บังคับการกรมช่างมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ. 2431 ทรงบังคับบัญชางานช่างต่าง ๆ ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน พระราชวังบางปะอิน สวนสราญรมย์ ทรงรับผิดชอบงานโยธาในการก่อสร้าง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. 2439 และได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ในปีต่อมา ทรงตามเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 ได้ทรงจัดซื้อเครื่องซีเนมาโตกราฟฟี ซึ่งเป็นทั้งกล้องถ่ายและเครื่องฉายภาพยนตร์ กลับมาเมืองไทยด้วย ภาพบันทึกเหตุการณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2440 นับเป็นภาพยนตร์ม้วนแรกสุดในโลกที่ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชาติไทย

กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจได้ทรงถ่ายทำภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เบ็ดเตล็ด ทั้งในและนอกเขตพระราชวัง จนถึงภาพพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง นอกจากพระองค์ทรงเป็นนักถ่ายภาพยนตร์เป็นรายแรกและรายเดียวของสยามในรัชสมัยนั้นแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นผู้ดำเนินธุรกิจจัดฉายและให้เช่าภาพยนตร์เป็นรายแรกของชาติด้วย โดยนอกจากจะทรงให้โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ เช่ายืมภาพยนตร์ของพระองค์แล้ว บางครั้งก็ทรงจัดฉายภาพยนตร์เก็บค่าดูจากสาธารณชนขึ้นในบริเวณวังของพระองค์ และที่ทรงทำเป็นประจำคือ การออกร้านฉายภาพยนตร์เป็นเจ้าประจำในงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร ในรัชกาลต่อมา พระองค์ทรงว่างเว้นและเลิกราการถ่ายทำภาพยนตร์ เนื่องจากมีผู้ดำเนินการขึ้นในสยามแล้วหลายราย

พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ทรงประทับอยู่ที่วังสรรพสาตรศุภกิจ ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2444 วังนี้ถูกไฟไหม้หมดจนเหลือแต่ซุ้มประตูทางเข้าวัง เมื่อ พ.ศ. 2510 และมีการสร้างตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นมาแทน ปัจจุบันย่านนี้เรียกว่า แพร่งสรรพศาสตร์

พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ทรงได้รับเฉลิมพระเกียรติเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เมื่อ พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับราชการตำแหน่งสุดท้ายเป็น นายพันเอกราชองครักษ์ ประชวรเป็นพระโรคอัมพาต สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2462 พระชนมายุได้ 62 ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล ทองแถม และทรงมีเชื้อสายที่ไม่ได้นับเป็นราชสกุล คือ สกุลทองเจือ

พระโอรสและธิดา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ทรงเป็นต้นราชสกุลทองแถม มีหม่อม 10 ท่าน ได้แก่

  1. หม่อมเจ้าเม้า (ราชสกุลเดิม: รองทรง) พระธิดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น๒ กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ
  2. หม่อมเจ้าสุวรรณ (ราชสกุลเดิม: นิลรัตน) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา
  3. หม่อมราชวงศ์เกษรสุมาลี (ราชสกุลเดิม: อิศรางกูร) ธิดาในหม่อมเจ้าตุ้ม อิศรางกูร
  4. หม่อมราชวงศ์นารีนพรัตน์ (ราชสกุลเดิม: อิศรางกูร) ธิดาในหม่อมเจ้าตุ้ม อิศรางกูร
  5. หม่อมตาดใหญ่ (สกุลเดิม: โรจนวิภาต)
  6. หม่อมเมือง (สกุลเดิม: พลนิเทศ)
  7. หม่อมทับทิม
  8. หม่อมตาดเล็ก (สกุลเดิม: นาครทรรพ) ธิดาหลวงปราณีประชาชน (แมลงทับ)
  9. หม่อมเศรษฐี
  10. หม่อมประเทียบ (สกุลเดิม: พุ่มพวงเพชร)

โดยมีพระโอรสธิดารวมทั้งหมด 15 องค์ เป็นชาย 7 องค์ และหญิง 8 องค์[2] ดังนี้

พระรูป พระนาม หม่อมมารดา ประสูติ สิ้นชีพิตักษัย คู่สมรส
1. หม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ ที่ 1 ในหม่อมเจ้าเม้า 14 สิงหาคม 2427 13 พฤษภาคม 2476 หม่อมเจ้าข่ายทองถัก (ทองใหญ่)
หม่อมเจ้าพันธ์สิหิงค์ (ทองใหญ่)
หม่อมแสงมณี (วิริยศิริ)
หม่อมทรัพย์
หม่อมศรี
หม่อมพิณ
ไฟล์:หม่อมเจ้าเครือมาศวิมล.JPG 2. หม่อมเจ้าเครือมาศวิมล หม่อมเมือง 2 พฤศจิกายน 2427 26 ธันวาคม 2482
3. หม่อมเจ้าพวงสนธิสุวรรณ ในหม่อมตาดใหญ่ 28 พฤศจิกายน 2427 24 กันยายน 2472 หม่อมเจ้าโชติรส เกษมสันต์
4. หม่อมเจ้าพันธุคำนพคุณ หม่อมทับทิม 21 พฤษภาคม 2428 พ.ศ. 2506 หม่อมเจ้านาฏนพคุณ (ทองใหญ่)
หม่อมเลื่อน
หม่อมหล่อ
5. หม่อมเจ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม) พ.ศ. 2430 20 เมษายน 2434
6. หม่อมเจ้าคำงอก ในหม่อมเจ้าสุวรรณ 8 มีนาคม 2430 20 มกราคม 2471 หม่อมแฟร์ (ภมรสุต)
หม่อมมงคล (ภมรสุต)
หม่อมเรียม
7. หม่อมเจ้าทองชมพูนุท ที่ 2 ในหม่อมเจ้าเม้า 22 ตุลาคม 2433 พ.ศ. 2491 หม่อมหลวงแย้ม (อิศรเสนา)
หม่อมสอางค์ (อินทรรัสมี)
8. หม่อมเจ้าชุนทองชุด หม่อมตาดเล็ก ไม่ทราบปี ไม่ทราบปี
9. หม่อมเจ้าหย่องกาญจนา หม่อมราชวงศ์เกษรสุมาลี 13 กรกฎาคม 2434 21 สิงหาคม 2498
10. หม่อมเจ้าทองเติม ที่ 3 ในหม่อมเจ้าเม้า 3 สิงหาคม 2435 พ.ศ. 2506 หม่อมเชิญ (กัลยาณมิตร)
11. หม่อมเจ้าทองต่อ ที่ 4 ในหม่อมเจ้าเม้า 26 กันยายน 2436 13 มกราคม 2501 หม่อมเจ้าพิมพ์รำไพ (รพีพัฒน์)
12. หม่อมเจ้ากนกนารี หม่อมราชวงศ์นารีนพรัตน์ 17 มีนาคม 2437 21 มีนาคม 2511
13. หม่อมเจ้าสุวรรณโสภา ที่ 5 ในหม่อมเจ้าเม้า 29 พฤศจิกายน 2440 6 ธันวาคม 2440
14. หม่อมเจ้าทองบรรณาการ ที่ 6 ในหม่อมเจ้าเม้า 3 ธันวาคม 2446 พ.ศ. 2506 หม่อมราชวงศ์ศิริโสภา (ศรีธวัช)
หม่อมราชวงศ์ศรีถนอม (ศรีธวัช)
หม่อมราชวงศ์วรรณวิจิตร (รองทรง)
15. หม่อมเจ้ากังวาลสุวรรณ หม่อมเศรษฐี 22 กรกฎาคม 2448 21 ตุลาคม 2543 หม่อมเจ้าธวัชชัยเฉลิมวงศ์ ศรีธวัช
หม่อมเจ้าจรัลยา จรูญโรจน์
สวัสดิ์ กนิษฐชาต
ไฟล์:100yr thaifilm2.jpg
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ในแสตมป์ที่ระลึก 100 ปี ภาพยนตร์ไทย พ.ศ. 2440 - 2540

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พระองค์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของตระกูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้[3]

อ้างอิง

  1. กรมศิลปากร, จดหมายเหตุนครราชสีมา 11 กันยายน พ.ศ. 2497, พิมพ์สนองคุณ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น ณ ราชสีมา) และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินท์ ณ ราชสีมา), กรุงเทพฯ: ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ม.ป.ป.)
  2. เว็บไซต์ราชสกุลทองแถม. ลำดับราชสกุลทองแถม. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2556
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสิ้นพระชนม์, เล่ม ๓๖, ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒, หน้า ๑๒๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา, เล่ม ๗, ตอน ๔๓, ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๓, หน้า ๓๙๒
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔, เล่ม ๒๑, ตอน ๓๒, ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗, หน้า ๕๖๔
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัจจุบันฝ่ายหน้า, เล่ม ๒๕, ตอน ๓๕, ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑, หน้า ๑๐๑๒
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๒๗, ตอน ๐ ง, ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๒๔๐๙