สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
เจ้าฟ้าชั้นเอก
ประสูติ21 สิงหาคม พ.ศ. 2395
สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส พระราชโอรสพระองค์ที่ 5 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี

พระประวัติ[แก้]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เมื่อวันเสาร์วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2395[1] เวลา 1 นาฬิกาหลังเที่ยง หลังประสูติ พระองค์มีพระกำลังอ่อน หลังจากประสูติได้เพียง 3 ชั่วโมง พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ในเวลา 4 นาฬิกาหลังเที่ยงวันนั้น เจ้าพนักงานจึงเชิญพระศพของพระองค์ไปโดยมิให้สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีทรงทราบ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงเรียบเรียงไว้ใน "ประวัติ พระอาการประชวรจนสวรรคตแห่งสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสี" ซึ่งกล่าวถึงตอนพระราชโอรสประสูติว่า[2]

"ในวันเสาร์ที่ ๒๑ สิงหาคม เวลา ๑ นาฬิกาหลังเที่ยง สมเด็จพระนางเจ้าพระอัครมเหสีประสูติพระราชกุมารบรมราชโอรสโดยเรียบร้อยและมีพระชนม์ เป็นแต่พระกำลังอ่อนและพระองค์ย่อมทรงพระกันแสงและแสดงอาการอย่างชีวิทารกแรกเกิดโดยปรกติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อส่อดุษฎีภาพทั่วไป ในมิช้าพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายหน้าก็มาชุมสุมเนืองอนันต์ เพื่อชื่นชมพระบารมีถวายพระพรรัชทายาทซึ่งเสด็จอวตารมาโดยมหาประสูติ ชาวประโคมก็ประโคมดุริยดนตรีเป่าสังข์กระทั่งแตรย่ำฆ้องชัยนฤนาถเพื่อสำแดงโสมนัสประโมทย์ในมหามงคลฤกษ์ เชิญพระราชโอรสบรรทม ณ พระแท่นแว่นฟ้าทองหุ้มด้วยพระกระโจมเศวตวัตถา สองพระแสงราชาวุธ พระสุด และดินสอ ฯลฯไว้รอบล้อมตามขัตติยราชประเพณีโบราณ ระแวดระวังพิทักษ์พระกุมารอย่างกวดขัน แต่ต่อเวลาพระประสูติมาอีก ๓ ชั่วโมงเท่านั้น พระอัสสาสะปัสสาสะพระราชกุมารก็หยุดลงเสียเฉย ๆ ใน ๔ นาฬิกาหลังเที่ยงวันนั้น พระชีพดำรงอยู่ได้น้อยเวลานัก เจ้าพนักงานเชิญพระศริระพระกุมาร(ลงกุมภ์นัน)ไปเสียเป็นการลับมิให้พระนางราชมารดาทราบเงื่อนสาย ทำประหนึ่งว่าเชิญไปพิทักษ์ไว้ในห้องอื่น"

หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ทรงทราบถึงการสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสแล้ว พระองค์กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระสงฆ์และทรงโปรยทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ตามพระราชประเพณีการพระศพพระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงเรียบเรียงไว้ว่า[2]

"พระนางเจ้าทรงทราบข่าวสิ้นพระชนม์แห่งเจ้าฟ้าพระราชโอรส จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหสีพร้อมกันทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายมหัคฆภัณฑ์แด่พระสงฆ์พุทธชิโนรส บรรดามาชุมนุมและทรงโปรยทานบรรจุเงินตราสยามในผลมะนาวพระราชทาน แด่บรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งฝ่ายในฝ่ายหน้าบรรดาเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเวลาทรงบำเพ็ญทักษิณาทานุทิศนั้น การเช่นนี้เป็นประเพณีการพระศพสมเด็จพระราชโอรสเจ้าฟ้า (ต่อมาออกพระนามว่าเจ้าฟ้าโสมนัส) พระโอรสของสมเด็จพระนางเจ้า แม้มีพระชนม์อยู่เพียงชั่วสามนาฬิกาก็ยังคงได้ทรงรับพระเกียรติยศสมพระอิสริยศักดิ์"

พระราชโอรสพระองค์นี้ภายหลังปรากฏพระนามว่า เจ้าฟ้าโสมนัส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ถึงเจ้าฟ้าโสมนัส ในบุรพภาคพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า[ลิงก์เสีย]

"ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็ได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชเทวี มีพระราชโอรสประสูตรสิ้นพระชนม์ในวันนั้น อันปรากฏพระนามณบัดนี้ว่า สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้าโสมนัศ เมื่อประสูตรแล้วไม่นานสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัศวัฒนาวดีก็สิ้นพระชนม์ ได้พระราชทานเพลิงณท้องสนามหลวง ตามอย่างสมเด็จพระบรมราชเทวีฯ"

พระอิสริยยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ
  • 21 สิงหาคม พ.ศ. 2395 : สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าโสมนัส
  • 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 : สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าโสมนัส
  • 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าโสมนัส[3]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 51. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-05-16.
  2. 2.0 2.1 พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
  3. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 203.