พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 4
พระองค์เจ้าชั้นเอก
ประสูติ18 กรกฎาคม พ.ศ. 2405
สิ้นพระชนม์11 ตุลาคม พ.ศ. 2432 (27 ปี)
หม่อมหม่อมสาย
พระบุตรหม่อมเจ้าเล็ก
หม่อมเจ้าปิยสรรพางค์
หม่อมเจ้าสุรางค์ศรี โศภางค์
ราชสกุลโศภางค์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาท้าวสมศักดิ์ (เจ้าจอมมารดาเหม ในรัชกาลที่ 4)

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 – 11 ตุลาคม พ.ศ. 2432) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท้าวสมศักดิ์ (เจ้าจอมมารดาเหม ในรัชกาลที่ 4) เป็นอธิบดีกรมพยาบาลพระองค์แรก[1]และเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช

พระประวัติ[แก้]

"หนังสือว่าด้วยอำนาจผีแลผีหลอก" ผลงานพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ท้าวสมศักดิ์ (เจ้าจอมมารดาเหม ในรัชกาลที่ 4) เมื่อวันศุกร์ เดือน 8 แรม 7 ค่ำ ปีจอจัตวาศก จ.ศ. 1224 ตรงกับวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 พระองค์เป็นต้นราชสกุลโศภางค์

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงรับราชการหลายตำแหน่ง เป็นเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอักษรพิมพการ (โรงพิมพ์หลวงอักษรพิมพการ สำนักงานพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษา) พระองค์มีผลงานพระนิพนธ์เรื่อง หนังสือว่าด้วยอำนาจผีแลผีหลอก (ตีพิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงพระศพของพระองค์เอง เมื่อ พ.ศ. 2433 และตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2464) และเป็นอธิบดีกรมพยาบาล เป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชร่วมกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

หากเรียงลำดับพระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ที่ยังมีพระชนม์อยู่ในขณะนั้น โดยเรียงตามพระชันษา พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ จะมีลำดับต่อจากพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งที่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้ากรมพระอาลักษณ์คิดชื่อกรมให้คล้องจองกับกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และได้ชื่อกรมว่า กรมหมื่นศุภกาพย์กวีการ แต่พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ สิ้นพระชนม์เสียก่อนรับกรม ชื่อกรมนี้จึงไม่ได้มีการสถาปนาแต่อย่างใด

เนื่องจากการทรงงานอย่างหนักในหลายหน้าที่ทั้งงานประจำและงานจร ทำให้พระพลานามัยของพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ทรุดลง แม้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพและบรรดาเจ้านายที่เป็นพระพี่น้องจะเคยทูลตักเตือนว่าทรงงานเกินพระกำลัง ควรแบ่งเบางานด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกิจการของกรมพยาบาลให้ผู้อื่นทำแทน แต่พระองค์ไม่ทรงรับฟังและตั้งพระทัยจะทรงงานถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อไป กระทั่งเมื่อแพทย์ตรวจพบว่าพระองค์ประชวรด้วยวัณโรคเนื่องจากพระปัปผาสะ (ปอด) พิการ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์จึงเสด็จประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช และตั้งพระทัยไว้ว่าหากรักษาไม่หายก็จะขอสิ้นพระชนม์ในโรงพยาบาล เพราะทรงผูกพันกับโรงพยาบาลศิริราชมาตั้งแต่ทรงเริ่มจัดตั้ง

เมื่อประชวรครั้งที่จะสิ้นพระชนม์นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ออกพระโอษฐ์ด้วยความตกพระทัยว่า "ไม่รู้เลยว่าใช้ศรีเกินกำลัง" และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จไปเยี่ยมพระอาการของพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง เป็นพยานแห่งพระเกียรติยศสูงสุดที่ได้ถวายงานสนองพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือน 11 แรม 2 ค่ำ ปีฉลูเอกศก จ.ศ. 1251 ตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2432 เวลา 13.40 น. สิริพระชันษาได้ 27 ปี 2 เดือน 23 วัน คิดเป็นวันได้ 9,947 วัน พระศพได้ตั้งบำเพ็ญพระกุศล ณ วังสะพานถ่านของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เนื่องจากก่อนเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราชจนกระทั่งสิ้นพระชนม์นั้น พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ประทับอยู่ ณ ตำหนักแพที่บางยี่ขัน ยังมิทันได้สร้างวังของพระองค์เอง ได้มีการพระราชทานเพลิงพระศพตามราชประเพณี โดยพระราชทานเพลิงพระบุพโพเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2433 (ตามปฏิทินปัจจุบัน) ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน หลังจากนั้นจึงได้เชิญพระอัฐิของพระองค์ไปประดิษฐานไว้ที่หอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนพระอังคารนั้นได้บรรจุไว้ที่วัดพระนามบัญญัติ (วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร ในปัจจุบัน)

พระโอรสและธิดา[แก้]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ เป็นต้นราชสกุลโศภางค์ มีหม่อม 1 คน คือ หม่อมสาย (สกุลเดิม สาตราภัย; ธิดาพระยารามกล่อมสาตราภัยกำแหง) มีพระโอรสและธิดา 3 องค์ เป็นชาย 2 องค์ และหญิง 1 องค์

พระรูป พระนาม หม่อมมารดา ประสูติ สิ้นชีพิตักษัย คู่สมรส
1. หม่อมเจ้าเล็ก หม่อมสาย ไม่ทราบปี ไม่ทราบปี
2. หม่อมเจ้าปิยสรรพางค์ ต.จ. หม่อมสาย มกราคม พ.ศ. 2423 18 ตุลาคม พ.ศ. 2453 หม่อมทองคำ
ไฟล์:หม่อมเจ้าสุรางค์ศรี.JPG 3. หม่อมเจ้าสุรางค์ศรี โศภางค์ ป.ป.ร.3 หม่อมสาย 11 เมษายน พ.ศ. 2427 4 สิงหาคม พ.ศ. 2507

หม่อมเจ้าปิยสรรพางค์สมรสกับหม่อมทองคำ มีโอรสธิดา 4 คน คือ

  • หม่อมราชวงศ์ประมวญศรี โศภางค์
  • หม่อมราชวงศ์หญิงเครือศรี โศภางค์
  • หม่อมราชวงศ์เชวงศรี โศภางค์
  • หม่อมราชวงศ์หญิงเยี่ยมศรี โศภางค์

ปัจจุบันนี้ ราชสกุลโศภางค์ยังมีผู้สืบราชสกุลหลงเหลืออยู่ แต่ปรากฏรายชื่อเพียง 2 ท่านคือ คุณสุชัญญ์ญา โศภางค์ ณ อยุธยา ซึ่งได้รับรางวัลที่ 3 ในการประกวดรถโบราณของสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562[2] และคุณวิวัฒน์พล โศภางค์ ณ อยุธยา ซึ่งปัจจุบันนี้อาศัยอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี[3]

พระเกียรติยศ[แก้]

ธรรมเนียมพระยศของ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระอิสริยยศ[แก้]

  • พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ (18 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411)
  • พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2432)

ภายหลังสิ้นพระชนม์

  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ (23 ตุลาคม พ.ศ. 2453)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

พงศาวลี[แก้]

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]