โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
แผนที่
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งเลขที่ 91 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี, ไทย
หน่วยงาน
ประเภทโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิขั้นต้น
บริการสุขภาพ
จำนวนเตียง515 เตียง เปิดให้บริการจริง 606 เตียง
ประวัติ
เปิดให้บริการ24 มิถุนายน พ.ศ. 2500
ลิงก์
เว็บไซต์www.pranangklao.go.th

โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เป็นโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่เลขที่ 91 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด มีพื้นที่ทั้งหมด 24 ไร่ 1 งาน 2.6 ตารางวา ปัจจุบันโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 515 เตียง[1] เปิดให้บริการจริง 606 เตียง เป็นศูนย์เชียวชาญรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด โรคหลอดเลือดสมอง ด้านมะเร็ง ด้านจักษุ ด้านโรคหลอดเลือดสมอง ด้านสุขภาพช่องปากในผู้ป่วยปากแหว่างเพดานโหว่ และศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น[2]

ประวัติ[แก้]

โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเปิดให้บริการวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2500 เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดนนทบุรี ในปี พ.ศ. 2532 ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า" เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชชนนี สมเด็จพระศรีสุลาลัยเป็นชาวจังหวัดนนทบุรี

เดิมจังหวัดนนทบุรีไม่มีโรงพยาบาล ขุนบุรีภิรมย์กิจ (พริ้ม จารุมาศ) ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ริเริ่มดำเนินการสร้างโรงพยาบาล แต่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินในการก่อสร้าง ซึ่งจากการเจรจากับเจ้าของที่ดินไม่ประสบผลสำเร็จ ขณะเดียวกันขุนบุรีภิรมย์กิจได้ออกจากราชการเสียก่อน ต่อมา พ.ศ. 2499 ผู้ว่าราชการคนใหม่นามว่า นายประกอบ ทรัพย์มณี ได้ดำเนินการสร้างต่อ โดยเห็นว่าที่ดินบริเวณวัดเทพอุรุมภังค์หรือวัดหัวเมืองซึ่งเป็นวัดร้าง (ที่ตั้งโรงพยาบาลปัจจุบัน) ที่ตั้งนี้ในอดีตเป็นที่ตั้งของ เมืองนนทบุรีศรีมหาสมุทร เมืองท่าหน้าด่านของกรุงศรีอยุธยา โดยที่ตั้งวัดนี้อยู่ในเขตเหนือ[3] ที่ดินที่กล่าวมามีเนื้อที่ประมาณ 16 ไร่เศษ อยู่ใกล้กับที่ดินเดิมที่เคยเจรจาไว้ เห็นว่าเหมาะสมจะก่อสร้างโรงพยาบาล จึงได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้น

โรงพยาบาลเปิดดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2500 ในชื่อ โรงพยาบาลนนทบุรี มีอาคารเพียง 2 หลัง คือ อาคารอำนวยการ เป็นตึกชั้นเดียวให้บริการผู้ป่วยนอก และอาคารไม้ชั้นเดียวใช้เป็นหอผู้ป่วย ในระยะแรกประชาชนไม่นิยมมารับบริการเนื่องจากมีแพทย์และเจ้าหน้าที่น้อย จน พ.ศ. 2530 ได้เพิ่มเติมตึกขึ้นเป็น 4 ชั้น และมีตึกอำนวยการหลังใหม่เป็นอาคาร 2 ชั้น เมื่อ พ.ศ. 2526 ภายหลัง พ.ศ. 2530 นนทบุรีมีผู้อพยพมาอยู่อาศัยมากขึ้น ทำให้เริ่มมีผู้มาใช้บริการมากขึ้น จน พ.ศ. 2532 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า" ขณะนั้น มีจำนวนเพียง 217 เตียง เจ้าหน้าที่ 530 คน ผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 530 คน ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามีการขยับขยายอาคารเพิ่มขึ้น เช่น หอผู้ป่วยพิเศษเฉลิมพระเกียรติ 4 ชั้น อาคารปฏิบัติการ 5 ชั้น ได้รื้อเรือนไม้และตึกอำนวยการหลังแรก ตึกอำนวยการหลังที่ 2 เพื่อสร้างอาหารเวชศาสตร์ฟื้นฟู หอผู้ป่วย 8 ชั้น และอาคารเจษฎาบดินทร์ 9 ชั้น[4] ราว พ.ศ. 2559 ได้สร้างอาคารศูนย์การแพทย์พระนั่งเกล้า 18 ชั้น[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. "โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ก้าวสู่สิ่งที่ดีกว่า (Go to the Better)". ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-29. สืบค้นเมื่อ 2021-07-29.
  2. ""รพ.พระนั่งเกล้า" ระดมทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์". สยามรัฐออนไลน์.
  3. "ภูมิบ้าน ภูมอเมือง : 'นนทบุรีศรีมหาสมุทร' เมืองท่าหน้าด่านแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม". แนวหน้า.
  4. "ประวัติโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า".
  5. "รพ.พระนั่งเกล้า ผุดโปรเจ็กต์ยักษ์พันล้านพร้อมก้าวสู่ รพ.ตติยภูมิระดับสูง - รับการขยายตัวเมืองนนท์".