โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และ Medical Hub
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
แผนที่
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้ง110 ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200, ไทย
พิกัด18°47′24″N 98°58′27″E / 18.7901082°N 98.9740595°E / 18.7901082; 98.9740595
หน่วยงาน
ระบบการบริการประกันสุขภาพแห่งชาติ
ประเภทโรงพยาบาลมหาราช
สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บริการสุขภาพ
แผนกฉุกเฉินมี
จำนวนเตียง1,282 [1]
ลานจอดเฮลิคอปเตอร์มี
ประวัติ
ชื่อเดิมโรงพยาบาลเชียงใหม่, โรงพยาบาลสวนดอก
เปิดให้บริการ12 ธันวาคม พ.ศ. 2499 (67 ปี)
ลิงก์
เว็บไซต์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
ลิงก์อื่นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยระดับตติยภูมิขั้นสูง ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 โดยมีชื่อที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า โรงพยาบาลสวนดอก เนื่องจากพื้นที่ของโรงพยาบาลตั้งอยู่ในเวียงสวนดอก ซึ่งเป็นเวียงโบราณของจังหวัดเชียงใหม่

ปัจจุบันโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ให้บริการรักษาขั้นสูงและรักษาโรคที่ซับซ้อนจากประชากรใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งใน พ.ศ. 2565 มีจำนวนผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการทั้งสิ้น 1,654,255 คน ผู้ป่วยใน 43,181 คน จำนวนเตียงทั้งสิ้น 1,282 เตียง (ไม่รวมศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มช.) มีจำนวนบุคลากรมากกว่า 5,000 คน [2]

ประวัติ[แก้]

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2499 เป็นโรงพยาบาลในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่ง มีชื่อเดิมคือคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) และเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 3 ของประเทศไทยต่อจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมีประวัติความเป็นมา ดังนี้

  • 12 ธันวาคม พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติในหลักการ ให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ที่เชียงใหม่ ตามที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอ
  • 1 มกราคม พ.ศ. 2502 โอนโรงพยาบาลเชียงใหม่ ของกระทรวงสาธารณสุขมาสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
  • 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 มีพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลเชียงใหม่ เป็น “โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่”

ศูนย์และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์[แก้]

ศูนย์ศรีพัฒน์ (ศูนย์บริการสุขภาพพิเศษ)[แก้]

ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3/2539 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2539 ในนามศูนย์บริการสุขภาพพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2540 เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานบริการสุขภาพพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2551 เป็นต้นมา ศูนย์ศรีพัฒน์ฯเป็นหน่วยงานหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้บริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในโดยคณาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคทุกสาขาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีจำนวนเตียง 170 เตียง ให้บริการด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดในการวินิจฉัยโรครวมทั้งบริการอันอบอุ่นประทับใจ ที่มุ่งเน้นคุณภาพของการบริการที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์[แก้]

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เริ่มดำเนินการในสมัยที่ศาสตราจารย์คลิกนิก นายแพทย์ นิเวศน์ นันทจิต ดำรงตำแหน่งคณบดี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับงบประมาณในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ขึ้นในช่วงที่มีการประชุมสัญจรของคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นได้งบไทยเข้มแข็งอีกครั้งจึงได้เครื่องมือเอกไซเมอร์เลเซอร์สำหรับแก้ไขสายตา และเครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยแสงเลเซอร์ และได้บรรจุให้มีศูนย์รักษาสายตาด้วยแสงเลเซอร์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศ ในช่วงก่อตั้งศูนย์เลสิคได้ดำเนินการโดยผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศขณะนั้น (รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล) ได้จัดตั้งศูนย์เลสิคจนพร้อมที่จะดำเนินการได้และสามารถผ่าตัดผู้ป่วยเลสิค ได้ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2556 ด้วยเหตุนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประชาชนในภาคเหนือได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด และได้พิจารณาทั้งด้านคุณภาพในการรักษาเป็นหลักและมีราคาที่เหมาะสม โดยคุณภาพของเครื่องเลเซอร์ที่ทางศูนย์เลสิคใช้ในการรักษาเป็นเครื่องที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน สำหรับด้านนโยบาย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วัฒนา นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มอบนโยบายให้ศูนย์เลสิคแห่งนี้เป็นศูนย์ที่สร้างประโยชน์แก่นักศึกษา และประชาชน ตลอดจนสามารถพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ และการวิจัยด้านสายตา และกระจกตาอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นแบบของศูนย์ความเป็นเลิศอื่นๆที่จะเกิดขึ้นในอาคารแห่งนี้ และสามารถสนองตอบนโยบายความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้[3]

ปัจจุบันศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงที่ทันสมัยและการบริการแบบครบวงจรด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาและบริการอย่างยอดเยี่ยม ดังนี้[4]

1. ศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (Thai Traditional and Complementary Medicine Center)[แก้]

2. ศูนย์เลสิค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  (CMU Lasik  Center)[แก้]

3. ศูนย์สุขภาพสตรี (Women Health Center)[แก้]

4. ศูนย์เพทซีทีและไซโคลตรอน (PET/CT & Cyclotron Center)[แก้]

5. ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medical Center : GMC)

6. ศูนย์วิเคราะห์สุขภาพการนอนหลับ (Sleep Discorders Center : SDC)7. ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร (CMEx Fertility Center  : CFC)

8. ศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (CMEx Lifelong Learning Center)


ศูนย์ ภายใต้โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่[แก้]

1.ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ[แก้]

เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วยกตัวอย่าง เช่น ในแง่ของการวินิจฉัยโรคลมชัก มีการนำเอา Digital Technology มาประยุกต์ใช้กับเครื่องตรวจคลื่นสมอง และเครื่องตรวจการนอนหลับแบบเดิม พัฒนาเป็นระบบ Digital EEG และ Digital Sleep ทำให้สามารถเก็บข้อมูลได้ละเอียดมากขึ้น และให้การวินิจฉัยได้รวดเร็ว โดยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาประยุกต์เพื่อหาความผิดปกติของคลื่นสมอง ตัวอย่างอื่นๆที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีของการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจพิเศษทางพยาธิวิทยาโดยใช้การย้อมสีพิเศษด้วยเอนไซม์ และการตรวจโดยเครื่องจุลทรรศน์อิเลคตรอน ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคทางเส้นประสาทและกล้ามเนื้อได้ดีกว่าการย้อมสีแบบเก่านอกจากนี้เทคโนโลยีการรักษาโรคก็ได้เปลี่ยนไปอย่างมากมาย เช่น การฉีดยา Botulinum toxin ในผู้ป่วยที่มีโรคคอบิดหรือคอเอียงซึ่งได้ผลดีมากกว่าการรักษาด้วยการให้ยากิน ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้กลับไปใช้ชีวิตได้เกือบเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงมีเฉพาะผู้เชี่ยวชาญจึงจะสามารถทำให้การรักษาได้ในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหลายสาขาร่วมกันรักษาผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่ง อันก่อให้เกิดการรักษาแบบสหสาขา ศูนย์โรคสมองภาคเหนือ จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของแพทย์เฉพาะทาง 9 สาขาด้วยกัน คือ ประสาทแพทย์, ศัลยแพทย์ระบบประสาท, กุมารแพทย์ระบบประสาทแพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู,จิตแพทย์, รังสีแพทย์, จักษุแพทย์, แพทย์ทางโสต ศอ นาสิก และพยาธิแพทย์ นอกจากนี้ ศูนย์โรคสมองทางภาคเหนือได้ก่อกำเนิดขึ้นมาเพื่อให้การบริการแก่ผู้ป่วยในจังหวัดทางภาคเหนือเพื่อให้ผู้ป่วยมิต้องลำบากในการเดินทางไปรักษาที่กรุงเทพมหานคร

2.ศูนย์ฝึกทักษะผ่าตัด[แก้]

ศูนย์ฝึกทักษะผ่าตัดเริ่มก่อตั้งขึ้นโดยการดำริของ ศ.พญ.ผาสุก มหรรฆานุเคราะห์ (หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์) และ ผศ.นพ. ก่อกู้ เชียงทอง (หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์) ที่มีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีศูนย์ดังกล่าวเพื่อเป็นสถานที่ใช้เพิ่มพูนทักษะการผ่าตัดจากร่างอาจารย์ใหญ่ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญก่อนที่จะไปทำการผ่าตัดจริงในผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยหลักการแนวคิดนี้จึงได้นำเรียนปรึกษากับท่านคณบดีในสมัยนั้นคือ ศ.นพ. สุพจน์ วุฒิการณ์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกทักษะผ่าตัดขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานบริการสุขภาพพิเศษศรีพัฒน์ และได้เปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2549 หลังจากนั้น ได้มีการขอใช้บริการฝึกผ่าตัดทั้งในระดับชาติและนานาชาติจากศูนย์ฯเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลเพื่อเข้าสู่ AECของคณบดี รศ.รพ.วัฒนา นาวาเจริญ และอธิการบดี รศ.นิเวศน์ นันทจิต จึงสนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์ใหม่ขึ้นที่ชั้น 1 อาคาร 50 ปีเพื่อเป็นศูนย์ความเป็นเลิศแห่งหนึ่งภายใต้คณะแพทยศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจากท่านคณบดี เป็นประธานกรรมการ และเปิดศูนย์ฝึกทักษะผ่าตัด อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557

3.ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ[แก้]

ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ (Cardiac Electrophysiology Research and Training Center (CERT CENTER)) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการเปิดศูนย์วิจัยฯ อย่างเป็นทางการในวันจันทร์ ที่ 31 ตุลาคม 2548 โดยภายในศูนย์วิจัยฯ ประกอบไปด้วยแพทย์ นักศึกษาบัณฑิต และนักวิทยาศาสตร์จากหลายสาขา ทำงานวิจัยร่วมกันเพื่อศึกษาถึงกลไกการเกิดโรคทางด้านสมอง หัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัยรวมไปถึงพัฒนาวิธีการรักษาแบบใหม่อีกด้วย ปัจจุบันศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีบุคลากร เครื่องมือและความพร้อม ในการดำเนินงานตามพันธกิจของศูนย์วิจัยฯ คือการเป็นสถาบันที่ส่งเสริมการเรียนรู้และสนับสนุนการทำวิจัยของแพทย์ นักวิชาการและนักวิจัย ในสาขา Cardiac Electrophysiology, Neuroscience และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Disease, NCD) และมุ่งเน้นให้นักวิจัยสามารถนำเอาองค์ความรู้ใหม่ที่ได้ไปประยุกต์ใช้จริงในการรักษาผู้ป่วย โดยมีวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ เป็นสถาบันวิจัยทางด้าน Cardiac Electrophysiology อันดับ 1 ของประเทศและในระดับอาเซียน โดยจะเป็นสถาบันที่ส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถผลิตผลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานในระดับโลกได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางให้กับหน่วยงานในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน ในการอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการทำวิจัย และเป็นสถานที่ในการฝึกฝนความชำนาญของแพทย์ในการทำหัตการก่อนการไปปฏิบัติจริงกับผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นสถานที่ในการทดสอบวิธีการรักษาแบบใหม่ก่อนนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรแบบ Interdisciplinary Collaboration ที่ยั่งยืน ปัจจุบันศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ ได้รับการแต่งตั้งให้มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา โดยขึ้นตรงต่อศูนย์วิจัยและบริการ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

4.ศูนย์ตติยภูมิอุบัติเหตุ[แก้]

ศูนย์ตติยภูมิอุบัติเหตุ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มก่อตั้งและดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดย ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาล ในการให้บริการผู้บาดเจ็บ ในทุกระยะของการบาดเจ็บให้ได้มาตรฐานสากล

5.ศูนย์ทะเบียนมะเร็ง[แก้]

หน่วยทะเบียนผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 โดยความริเริ่มของศาสตราจารย์นายแพทย์ โอกาส พลางกูร,ศาสตราจารย์นายแพทย์ธันยโสภาคย์ เกษมสันต์ และ Dr.Robert A. Wise เป็นผู้ดำเนินงานและเก็บสถิติให้ หน่วยงานนี้อยู่ในภาควิชาศัลยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับ นางวิมล สิมารักษ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพยาบาลประจำหน่วยฯ และมี นางแน่งนิตย์ สถาปนกุล หัวหน้าพยาบาลประจำภาควิชารังสีวิทยา เป็นผู้เก็บรวบรวมสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2522 นางวิมล สิมารักษ์ ลาออก และนาง อรทัย คุณประดิษฐ์ มาดำเนินงานให้เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมสถิติผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด จนถึงปี พ.ศ. 2506 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 ถึง ปี พ.ศ. 2524 โครงการโรคมะเร็ง มีบุคลากรจำนวน 1 คน ในปี พ.ศ. 2525 เริ่มมีบุคลากรเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบันมีจำนวน 8 คน ประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งเดิม ได้แต่งตั้งศาสตราจารย์นายแพทย์ โอกาส พลางกูร เป็นประธาน และแพทย์หญิงนิมิต มาร์ติน เป็นเลขานุการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา ซึ่งคณะกรรมการดำเนินงานผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีการแต่งตั้งทุก 2 ปี และเปลี่ยนแปลงไปทุก 2 ปี แต่คณะกรรมการที่ดำรงมาตลอดระยะเวลา 14 ปี มี 3 คน ดังรายนามต่อไปนี้ 1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิทย์ มีนะกนิษฐ์ 2. ศาสตราจารย์นายแพทย์ สนาน สิมารักษ์ 3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง นิมิต มาร์ติน โดยมีการดำเนินงานตามระยะเวลา ดังนี้

  • พ.ศ. 2524 ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง นิมิต มาร์ติน ได้รับแต่งตั้งเป็น - ประธานกรรมการโครงการโรคมะเร็ง
  • พ.ศ. 2540 ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชาญ หล่อวิทยา - ประธานกรรมการโครงการโรคมะเร็ง
  • พ.ศ. 2545 ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง ยุพา สุมิตสวรรค์ - ประธานคณะกรรมการดำเนินงานเครือข่ายมะเร็ง
  • พ.ศ. 2550 ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ ทรงพล ศรีสุโข - หัวหน้าศูนย์ทะเบียนมะเร็ง จน ถึง ปัจจุบัน
  • 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 โครงการหน่วยทะเบียนมะเร็ง ได้เข้าเป็นสมาชิกของ International Association of Cancer Registries ประเภท Voting Membership
  • 16 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ประกาศคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปลี่ยนชื่อ “ โครงการมะเร็ง ” เป็น “ โครงการหน่วยทะเบียนมะเร็ง ” โดยภาษาอังกฤษที่ใช้คือ “ Chiangmai Cancer Registry ” ชื่อย่อคือ “ CMR ” เพื่อให้สอดคล้องกับภาระงานที่ปฏิบัติ
  • 29 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เปลี่ยนชื่อจาก “โครงการหน่วยทะเบียนมะเร็ง” เป็น “ศูนย์ทะเบียนมะเร็ง” โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานสังกัดโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มีหัวหน้าศูนย์ทะเบียนมะเร็งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานภายใต้นโยบายของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิด้านโรคมะเร็งแต่งตั้งโดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ศูนย์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[แก้]

1.ศูนย์โอมิกส์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ[แก้]

ศูนย์โอมิกส์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมีเป้าหมายในการบริหารจัดการนักวิจัยและเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อสนับสนุนและสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีโอมิกส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น genomics, transcriptomics, proteomics หรือ metabolomics โดยอาศัยตัวอย่างทางชีวภาพ และข้อมูลจากธนาคารเก็บตัวอย่างทางชีวภาพ (Suandok Repository Unit) รวมถึงการบูรณาการทำงานทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างภาควิชาทางคลินิก และทางพรีคลินิก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยหรือรักษาโรค อันเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยในยุค precision medicin

2.ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัย[แก้]

ศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัยก่อตั้งเพื่อการศึกษาวิจัย ที่ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการข้ามสาย ทั้งทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาการวินิจฉัยโรค การวางแผนการรักษาผู้ป่วย และการค้นคว้าเพื่อหาทางเลือกใหม่ในการรักษาด้วยการแพทย์เฉพาะเจาะจงหรือ precision medicine ซึ่งเป็นอนาคตของโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ในปัจจุบัน

3.ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ[แก้]

ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ MED CMU Health Innovation Center (MedCHIC) ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม2562 เพื่อพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็น “โรงเรียนแพทย์แห่งนวัตกรรม”

การรับรองคุณภาพและมาตรฐาน[แก้]

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการรับรองกระบวนการคุณภาพ ขั้นก้าวหน้า (Advanced HA) จากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) The Healthcare Accreditation Institute (Public Organization) เช่นเดียวกับโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นต้น[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. http://203.157.10.8/hcode_2020/p_export.php[ลิงก์เสีย]
  2. "ความเป็นมาของโรงพยาบาล - คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". web.med.cmu.ac.th.
  3. ศูนย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. บริการของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่http://excellent.med.cmu.ac.th:8080/meccmu/service_center/ เก็บถาวร 2022-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  5. "สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.)". www.ha.or.th.