โชคชัย บัณฑิต'
โชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์ | |
---|---|
เกิด | 21 มีนาคม พ.ศ. 2509 จังหวัดนครสวรรค์ ประเทศไทย |
นามปากกา | โชคชัย บัณฑิต' |
อาชีพ | นักเขียน |
สัญชาติ | ไทย |
ช่วงปีที่ทำงาน | พ.ศ. 2528 - ปัจจุบัน |
โชคชัย บัณฑิต' (มีเครื่องหมาย ' ต่อท้าย) เป็นนามปากกาของ โชคชัย บัณฑิตศิละศักดิ์ (21 มีนาคม พ.ศ. 2509—) เป็นอาจารย์และนักเขียนรางวัลซีไรต์[1] เริ่มมีผลงานเผยแพร่ตามหน้านิตยสารตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ขณะเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันรับราชการตำแหน่งวิทยาจารย์ ระดับชำนาญการพิเศษ สอนวิชาภาษาไทย อยู่ที่ ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี จังหวัดสมุทรปราการ
การศึกษา
[แก้]โชคชัยเกิดที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบุตรคนโตของ นายประมวล-นางบุญเลี่ยม บัณฑิตศิละศักดิ์ มีน้องชาย 1 คนคือ นายไกรลาศ บัณฑิตศิละศักดิ์
โชคชัยเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนปฐมสิทธิ์พิทยาคาร (ป. 1 – 4) แล้วเรียนต่อโรงเรียนบูรพาศึกษา ในอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์จนจบ ป.6 หลังจากนั้นเข้าเรียน ป.7 ที่โรงเรียนลาซาลโชติรวีนครสวรรค์ และเข้าเรียนมัธยมศึกษา (ม.ศ. 1-5) ในโรงเรียนนครสวรรค์ ในอำเภอเมืองนครสวรรค์
หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษา โชคชัยได้เข้าเรียนระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิต จากภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ (ปัจจุบันคือ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศึกษาต่อระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ไทยศึกษา) จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ผลงาน
[แก้]มีผลงานรวมเล่ม จำนวน 14 เล่ม
- กังสดาลดอกไม้ รวมบทกวี พ.ศ. 2534
- ลมอ่อนตะวันอุ่น รวมบทกวี พ.ศ. 2537
- เงานกในร่มไม้ รวมบทกวี พ.ศ. 2538
- บ้านเก่า จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์รูปจันทร์ พ.ศ. 2544 (รวมบทกวีได้รับรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2544 ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 100 เล่ม หนังสือแนะนำสำหรับเยาวชน ของ สกว. และได้รับคัดเลือกให้เป็น วรรณกรรมดีเด่นในสมัยรัชกาลที่ 9 ตามแนวคิดศาสตร์พระราชา จากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม)
- เขียนกระดาษ วาดละคร รวมเรื่องสั้น พ.ศ. 2545
- รูปฉายลายชีพ รวมบทกวี พ.ศ. 2553(1 ใน 6 เล่ม เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2553)
- กวี ดู-โอ ดู อิท บนเฟซบุ๊ค รวมบทกวี พ.ศ. 2555 (เขียนร่วมกับ ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร)
- ของฝากจากแดนไกล รวมบทกวี พ.ศ. 2556 (1 ใน 7 เล่ม เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2556)
- หลากถ้อยในรอยทาง รวมบทกวี พ.ศ. 2559 (เข้ารอบแรกรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2559/รางวัลชมเชยประเภทกวีนิพนธ์ จาก สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2560)
- ใต้เมฆต่างเมือง รวมบทกวี พ.ศ. 2562
- ฝูงนกเหนือวิหาร รวมบทกวี พ.ศ. 2563 (รางวัลดีเด่นประเภทกวีนิพนธ์ จาก สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2564)
- รากคิด ลายคำ รวมคอลัมน์ตอบปัญหาด้านวรรณกรรม พ.ศ. 2564
- ระเบียงฟ้า ชายคาเมฆ รวมงานเขียนร้อยแก้วและร้อยกรอง พ.ศ. 2565
- จักรวาลสังเคราะห์ในกระเพาะปลวก รวมบทกวี 2567
ผลงานบทกวีบางชิ้นได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ ฝรั่งเศส เขมร) บทกวี "ในสระน้ำใส" และ "นครเมฆา" ได้รับการบรรจุเป็นบทเรียนในแบบเรียนวิชาภาษาไทยของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช (ชั้น ม.2 และ ม.4) รางวัลวรรณกรรมที่เคยได้รับนอกจากรางวัลซีไรต์ โชคชัยยังได้รับรางวัลบทกวีดีเด่น จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2552(เหตุการณ์ในกองถ่าย)และรางวัลชมเชย เมื่อ พ.ศ. 2535 (เวทนา) พ.ศ. 2541 (ปีกไม้-ลายแทง) พ.ศ. 2549 (คลอนด้ามขวาน) พ.ศ. 2551 (ขุดรากถากเหง้า)และ พ.ศ. 2553(โทษธรรม์!) เกียรติคุณอื่น ๆ เช่น ศิษย์เก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2550 นักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดีเด่น สาขาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม พ.ศ. 2553
นอกจากบทกวี เรื่องสั้น สารคดี และบทความแล้ว โชคชัยยังเขียนเพลงไว้จำนวนหนึ่ง โดยได้นำมารวมเป็นอัลบั้มที่ระลึกในโอกาสที่เขียนหนังสือมาครบ 30 ปีในชื่อชุด "ก้าวแรกบนถนนดนตรี 30 ปีบนถนนวรรณกรรม" เมื่อ พ.ศ. 2559
พ.ศ. 2561 โชคชัย ได้รับคัดเลือกจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้ได้รับรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง(Mekong river literature award) ประเภทร้อยกรอง และในปีเดียวกันนี้ยังได้รับรางวัลศิลปินแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา สาขาวรรณศิลป์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
พ.ศ. 2562 รางวัลราชมงคลสรรเสริญกิตติมศักดิ์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมด้านศิลปะ สาขาวรรณศิลป์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
กิจกรรมทางวรรณกรรม โชคชัย เคยเป็นกรรมการบริหารสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กรรมการบริหารสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ และ อุปนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นกรรมการรางวัลวรรณกรรมต่าง ๆ เช่น รางวัลพานแว่นฟ้า รางวัลหนังสือดีเด่นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด และรางวัลบรรณาธิการดีเด่น (รางวัลคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง) เป็นต้น
ดูเพิ่ม
[แก้]เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2564 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[2]
- พ.ศ. 2554 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[3]
- พ.ศ. 2557 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ รายชื่อนักเขียนรางวัลซีไรท์ เก็บถาวร 2005-12-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - รายชื่อนักเขียนรางวัลซีไรท์และประวัติของบางท่าน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๔, เล่ม ๑๓๙ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๑๐๐, ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๔, เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๓, ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๕๗, เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๓๙, ๒ มิถุนายน ๒๕๕๘
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บทกวีคลื่นพิโรธ โดยโชคชัย บัณฑิต' ที่เว็บไซต์เสขิยธรรม
- ประวัติ เก็บถาวร 2003-07-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - ที่เว็บของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น
- เว็บเสนอผลงานโชคชัย
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2509
- บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่
- บุคคลจากอำเภอลาดยาว
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ - ศิลปศาสตร์ - มนุษยศาสตร์
- กวีชาวไทย
- นักประพันธ์รางวัลซีไรต์ชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนนครสวรรค์
- บุคคลจากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- บุคคลจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- นักเขียนจากจังหวัดนครสวรรค์
- นักวิชาการจากจังหวัดนครสวรรค์