ข้ามไปเนื้อหา

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์
หม่อมเจ้า ชั้น 4
ประสูติ24 ธันวาคม พ.ศ. 2460
ประเทศสยาม
หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล
สิ้นชีพตักษัย2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 (100 ปี)
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
พระราชทานเพลิง10 ตุลาคม พ.ศ. 2561
เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
สวามีหม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ (พ.ศ. 2483-2528)
โอรสธิดาหม่อมราชวงศ์พิมลพักตร์ สุขสวัสดิ์
หม่อมราชวงศ์จำเริญลักษณ์ โสฬสจินดา
หม่อมราชวงศ์ประเสริฐศักดิ์ สุขสวัสดิ์
หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช สุขสวัสดิ์
หม่อมราชวงศ์วิไลกัญญา วิชัยดิษฐ์
หม่อมราชวงศ์อุษณิษา สุขสวัสดิ์
ราชวงศ์จักรี
ราชสกุลดิศกุล (ประสูติ)
ศุขสวัสดิ์ (เสกสมรส)
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระมารดาหม่อมแสง ศตะรัต
ศาสนาเถรวาท

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล สุขสวัสดิ์ (ราชสกุลเดิม ดิศกุล; 24 ธันวาคม พ.ศ. 2460 – 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติแต่หม่อมแสง ศตะรัต[1]

พระประวัติ

[แก้]

ปฐมวัย

[แก้]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล มีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงเพียร เป็นพระธิดาองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมแสง ศตะรัต ประสูติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2460[2] มีโสทรเชษฐาและโสทรเชษฐภคินีรวม 5 องค์ ได้แก่ หม่อมเจ้ามารยาตรกัญญา ดิศกุล, พรพิลาศ บุนนาค, หม่อมเจ้าพวงมาศผกา ดิศกุล, หม่อมเจ้าศุกรวรรณดิศ ดิศกุล และเราหิณาวดี กำภู[3]

หลังจากประสูติได้เพียงไม่กี่เดือน หม่อมแสง พระมารดาของหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลก็ถึงแก่กรรม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงได้มอบให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา อุปถัมภ์เลี้ยงดู เนื่องจากเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา คือ เจ้าจอมมารดาแส ในรัชกาลที่ 5 และเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 พระมารดาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพี่น้องกัน

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ในระดับประถมศึกษา และสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชินี หลังจากนั้นทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ก่อนจะเริ่มทำงานเป็นครูที่โรงเรียนศึกษาวิทยา ถนนสีลม[4]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลยังมีความสามารถด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า ทรงตัดชุดสวมใส่เองอย่างสวยงาม และได้นำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บมาประดิษฐ์รองเท้าให้เข้าชุดกัน ทำให้เป็นผู้นำแฟชั่นในวิทยาลัยและได้รับการยกย่องจากทั้งคณาจารย์และนักศึกษา

เสกสมรส

[แก้]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงพบกับหม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ครั้งแรกที่ตำหนักของหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ซึ่งเป็นเชษฐภคินีของท่านหญิง หม่อมเจ้าประสบสุขทรงเล่าว่าครั้งแรกที่ได้พบหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลนั้น ท่านหญิงกำลังใส่รองเท้า และในขณะนั้นก็ทรงหลงรักทันที

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลและหม่อมเจ้าประสบสุขทรงเข้าพิธีเสกสมรสเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2483 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ประกอบพิธี หลังจากพิธีเสกสมรส ทั้งสองได้เสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ณ ชินนะมอนฮอลล์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อขอพรและฉลองน้ำผึ้งพระจันทร์

หลังจากเสกสมรส หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลและหม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ ทรงใช้ชีวิตร่วมกันที่ตำหนักของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ พระเชษฐภคินีของหม่อมเจ้าประสบสุข บนถนนพระอาทิตย์ พระองค์เจ้ามนัศสวาสดิ์ทรงปลูกเรือนหอเล็ก ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นที่ประทับของทั้งสอง หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงเล่าว่าเคยซื้อกุ้งแม่น้ำจากชาวประมงที่หากุ้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าตำหนักดังกล่าว ซึ่งต่อมาตำหนักนี้ได้กลายเป็นที่ทำการของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบครัวของหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลได้ย้ายไปพำนักที่ซอยกาติ๊บ (ปัจจุบันคือซอยอารีย์สัมพันธ์) ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นพื้นที่ที่รายล้อมด้วยทุ่งนา หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเคยทรงจักรยานจากบ้านที่ซอยกาติ๊บไปจ่ายตลาดที่ประตูน้ำ

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล มีโอรสและธิดา 6 คน ได้แก่

  1. หม่อมราชวงศ์พิมลพักตร์ สุขสวัสดิ์ (เกิด 6 กันยายน พ.ศ. 2483)
  2. หม่อมราชวงศ์จำเริญลักษณ์ โสฬสจินดา (เกิด 11 กันยายน พ.ศ. 2484)
  3. พลอากาศโท หม่อมราชวงศ์ประเสริฐศักดิ์ สุขสวัสดิ์ (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2486)
  4. หม่อมราชวงศ์ดำรงเดช สุขสวัสดิ์ (เกิด 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2489)
  5. หม่อมราชวงศ์วิไลกัญญา วิชัยดิษฐ์ (เกิด 15 มกราคม พ.ศ. 2492)
  6. หม่อมราชวงศ์อุษณิษา สุขสวัสดิ์ (เกิด 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2498)

ในปี พ.ศ. 2486 หม่อมเจ้าประสบสุข สุขสวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งราชการในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตพาณิชย์และการคลังของประเทศไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ครอบครัวจึงได้ย้ายไปพำนักในประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลาสองปี ในปีเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สิ้นพระชนม์ หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลได้รับพระมรดกเป็นห้องแถวสามห้องที่บริเวณสี่กั๊กเสาชิงช้า (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของร้านกระเป๋าจาค็อบ) ซึ่งท่านหญิงทรงขายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อนำเงินไปลงทุนซื้อขายที่ดินต่ออีกหลายแปลง รวมถึงที่ดินในซอยสุขใจ (ซอย 12) ถนนสุขุมวิท ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นพื้นที่ทุ่งนาเลี้ยงโคกระบือ และที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นที่พำนักของครอบครัวจนถึงปัจจุบัน

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงเป็นแม่ศรีเรือนที่มีความสามารถรอบด้าน ไม่เพียงแต่ในเรื่องการปรุงอาหารและดูแลบ้านเท่านั้น ยังมีฝีพระหัตถ์ด้านงานเย็บปักถักร้อย และมักตัดเย็บเสื้อผ้าให้โอรสและธิดาสวมใส่เอง รวมถึงการประดิษฐ์เครื่องตกแต่งบ้าน เช่น ม่าน หมอน และผ้าเช็ดปาก ซึ่งจะปักอย่างประณีต นอกจากนี้ยังมีความถนัดในงานช่างแบบผู้ชาย เช่น งานไม้ งานปูน และงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นงานที่ทรงศึกษาเรียนรู้จากช่างก่อสร้างที่มาซ่อมแซมบ้าน ทำให้สามารถซ่อมแซมงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้านได้ด้วยองค์เอง

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเคยบวชชี โกนศีรษะ และครองผ้าขาว ทรงสร้างกุฏิขององค์เองที่วัดเขาพุทธโคดม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และใช้ชีวิตอย่างสมถะที่นั่นเป็นเวลาหลายปี หลังจากลาสิกขาบทแล้วได้กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัว และเริ่มหันมาสนใจงานอดิเรกใหม่ คือ การทัศนาจร ซึ่งโปรดเป็นพิเศษ ทั้งการเดินทางในประเทศและต่างประเทศ โดยมักเดินทางกับกลุ่มทัศนาจรประจำ

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงยึดถือพระบิดา ซึ่งเคยเสด็จประพาสทั่วประเทศไทยในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นแบบอย่าง การทัศนาจรครั้งสุดท้ายคือเมื่อมีชันษากว่า 90 ปี โดยเสด็จประทับรถยนต์จากกรุงเทพมหานครไปประเทศกัมพูชา แม้ทรงทราบดีว่าการลงไปเดินชมโบราณสถานต่าง ๆ คงไม่สะดวกเนื่องด้วยชันษาที่มากแล้ว แต่ด้วยความรักในการเดินทาง ยังทรงเลือกที่จะประทับรถยนต์ประพาสเพื่อความเพลิดเพลิน

ปัจฉิมวัย

[แก้]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเป็นผู้ที่นิยมการดำเนินชีวิตอย่างสมถะ แม้ในวัยสูงอายุ ยังทรงงานบ้านต่าง ๆ ด้วยองค์เอง ห้องพักภายในบ้านมีครัวเล็ก ๆ และเครื่องซักผ้าในตัว ทรงดำรงพระชนม์อย่างเป็นอิสระ จนกระทั่งเมื่อทรงหกล้มและกระดูกพระอุรุ (สะโพก) ร้าวในช่วงชันษา 90 กว่าปี ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล หลังจากนั้นจึงต้องทรงระมัดระวังในการดำเนิน แม้จะทรงประสบกับปัญหาด้านการเดิน แต่หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลยังคงไม่ทรงยอมใช้เครื่องช่วยเดินหรือธารพระกร และไม่โปรดให้ผู้ช่วยพยาบาลมาเฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

พระอาการที่ทรงลุกดำเนินไม่ได้ทำให้เกิดแผลกดทับ ซึ่งรุนแรงขึ้นตามลำดับ จนในที่สุดต้องเข้ารับถวายการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแจกันดอกไม้แก่หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล โดยมีข้อความบนบัตรที่แนบมากับแจกันว่า "พระราชทานหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมล ศุขสวัสดิ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐"

แม้กระทั่งเมื่อหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลทรงเจริญชันษาครบ 100 ปี ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ก็ได้มีการจัดพิธีทำบุญถวายสังฆทานภายในห้องพักที่โรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นพระอาการของหม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลเริ่มทรุดลง แพทย์จึงตัดสินใจถวายยามอร์ฟีนเพื่อลดความเจ็บปวด และในเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 พระอาการก็ทรุดลงอีกครั้ง จึงจำเป็นต้องถวายยามอร์ฟีนเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย

ชีพิตักษัย

[แก้]

หม่อมเจ้ากฤษณาพักตรพิมลได้ถึงชีพิตักษัยด้วยพระอาการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ[4] เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เวลา 13.55 น. ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริชันษา 100 ปีเศษ ศพตั้งสวดที่วัดธาตุทอง (กรุงเทพมหานคร) จนถึงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2561[5] นับเป็นหม่อมเจ้าองค์สุดท้ายของราชสกุลดิศกุลและราชสกุลสุขสวัสดิ์ รวมถึงเป็นหม่อมเจ้าที่มีพระชนม์อยู่เป็นองค์สุดท้ายในบรรดาหม่อมเจ้าที่ได้เกศากันต์ ในการนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองทึบ พร้อมฉัตรเบญจา 4 คันประกอบเกียรติยศ ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นหีบทองทึบเป็นโกศแปดเหลี่ยม และในวันที่ 10 ตุลาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[4]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ หม่อมเจ้าหญิง จงจิตรถนอม ดิศกุล. จดหมายถึงหญิงใหญ่ (ฉบับชำระใหม่). กรุงเทพ : สถาพรบุ๊คส์, 2551. ISBN 978-974-16-6535-8
  2. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพ : อมรินทร์พริ้นติ้ง, พ.ศ. 2547. หน้า หน้าที่. ISBN 974-272-911-5
  3. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  4. 4.0 4.1 4.2 "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้". ช่อง 7 HD. 10 ตุลาคม 2561. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-08-07. สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "บุคคลในข่าว (หน้า 4)". ไทยรัฐออนไลน์. 5 ตุลาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)