ข้ามไปเนื้อหา

สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้

พิกัด: 34°23′5.34″N 109°16′26.11″E / 34.3848167°N 109.2739194°E / 34.3848167; 109.2739194
นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก สุสานจักรพรรดิฉินที่ 1)

สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้
秦始皇陵
สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ตั้งอยู่ในประเทศจีน
สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้งเขตหลินถง, ซีอาน, มณฑลฉ่านซี
ประเทศประเทศจีน
พิกัด34°22′54″N 109°15′14″E / 34.38167°N 109.25389°E / 34.38167; 109.25389
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์i, iii, iv, vi
ขึ้นเมื่อ1987 (ชุดที่ 11)
เลขอ้างอิง441
Regionเอเชีย-แปซิฟิก

สุสานจักรพรรดิฉินที่ 1 (จีนตัวย่อ: 秦始皇兵马俑; จีนตัวเต็ม: 秦始皇兵馬俑; พินอิน: Qínshǐhuáng bīngmǎyǒng; อังกฤษ: Mausoleum of the First Qin Emperor) เป็นสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉิน

สุสานฉินสื่อหวงตั้งอยู่ในเขตหลินถง, ซีอาน, มณฑลฉ่านซี ของประเทศจีน สร้างขึ้นมานานกว่า 38 ปี ตั้งแต่ 246 ถึง 208 ปีก่อนคริสตศักราช และตั้งอยู่ใต้เนินสุสานสูง 76 เมตรที่มีรูปร่างคล้ายพีรามิดที่ถูกตัดทอน[1] แผนผังของสุสานนั้นจำลองมาจากเสียนหยาง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ฉิน โดยแบ่งออกเป็นเมืองชั้นในและชั้นนอก เส้นรอบวงของเมืองชั้นในยาว 2.5 กิโลเมตร (1.55 ไมล์) และด้านนอกยาว 6.3 กิโลเมตร (3.9 ไมล์) สุสานตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองชั้นในและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ห้องฝังศพหลักที่เก็บโลงพระศพและสิ่งประดิษฐ์ที่ฝังศพถือเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมที่ซับซ้อนของสุสาน

สุสานแห่งนี้ถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2517 โดยชาวนาในหมู่บ้านซีหยางชื่อ หยางจื้อฟา ในขณะที่ขุดดินเพื่อทำบ่อน้ำ บริเวณเชิงเขาหลีซาน ห่างจากตัวเมืองซีอาน ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 35 กม.[2] โดยในระหว่างที่ขุดนั้น ก็บังเอิญพบกับซากของทหารดินเผา ที่ทราบภายหลังว่ามีอายุมากกว่า 2,000 ปี

ปัจจุบันรัฐบาลจีนขุดค้นพบวัตถุโบราณที่เป็นกองทัพทหารดินเผา สรรพาวุธ รถม้าและม้าศึก จำนวนทั้งสิ้นกว่า 7,400 ชิ้น ภายในบริเวณพื้นที่หลุมสุสานกว่า 25,000 ตารางเมตร มีการคาดคะเนว่าอาณาเขตของสุสานฉินสื่อหวงจะมีพื้นที่มากกว่า 2,180 ตารางกิโลเมตร[3] สุสานฉินสื่อหวงได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2530[4]

สุสานฉินสื่อหวงเริ่มก่อสร้างในสมัยฉินสื่อหวง ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 38 ปี ตั้งแต่ปี 246 - 208 ก่อนคริสตกาล ซึ่งอาณาเขตพื้นที่ของสุสานรวมทั้งสิ้น 2,180 ตร.กม. แบ่งออกเป็นพระราชฐานชั้นในและพระราชฐานชั้นนอก ภายในสุสานใช้บรรจุพระบรมศพของฉินสื่อหวง ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ตลอดจนกองกำลังทหาร นางสนมและนางกำนัล รถม้าและขุนพลทหาร จำนวนมาก เพื่อเป็นตัวแทนของข้าราชบริพารในการร่วมเดินทางไปยังปรโลกของฉินสื่อหวง[5]

โครงสร้างและสถาปัตยกรรมโดยรวมของสุสาน มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความลึกเฉลี่ย 35 เมตร กว้าง 145 เมตร และ ยาว 170 เมตร

สำหรับห้องบรรจุพระบรมศพอยู่จุดกึ่งกลางของสุสาน มีความสูง 15 เมตร มีขนาดพื้นที่และความใหญ่โตมโหฬารราวกับสนามฟุตบอล

สำหรับภายใน ในส่วนที่ก่อสร้างจากหินนั้นยังคงได้รับการปิดผนึกอย่างดีโดยคงสภาพเดิมเอาไว้ และไม่เคยผ่านการขุดและรื้อทำลายมาก่อน โดยโครงสร้างของสุสานดังกล่าว มีรูปแบบโครงสร้างและการจัดสร้างที่มีความสลับซับซ้อน ขนาดของสุสานมีขนาดมหึมา ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติของจักรพรรดิจีนผู้รวบรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น

ประวัติการค้นพบสุสาน

[แก้]
กองทัพทหารดินเผาภายในสุสานฉินสื่อหวง
หุ่นทหารดินเผาที่ขุดค้นพบภายในสุสานฉินสื่อหวง

เมืองซีอานเป็นนครแห่งวัฒนธรรม อันมีชื่อเสียงลือเลื่องทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ในประวัติศาสตร์เคยเป็นเมืองหลวง และราชธานีของราชวงศ์จีนรวมกว่า 10 ราชวงศ์ เป็นระยะเวลากว่าพันปี เคยเป็นแหล่งการต่อสู้ของชาวนาในหลายครั้งในการก่อตั้งอำนาจรัฐ ปัจจุบันเมืองซีอานยังคงหลงเหลือร่องรอยของโบราณสถาน และโบราณวัตถุให้พบเห็นได้ทั่วไป และในปี พ.ศ. 2517 ได้มีการขุดพบหลุมฝังรูปปั้นดินเผา รูปปั้นทหารและม้าในสมัยราชวงศ์ฉินขนาดใหญ่ ภายในหมู่บ้านซีหยาง เชิงเขาหลีซานในอำเภอหลินถง ทางทิศตะวันออกของเมืองซีอาน (34°23′5.34″N 109°16′26.11″E / 34.3848167°N 109.2739194°E / 34.3848167; 109.2739194)

การขุดค้นพบทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน และยิ่งใหญ่ที่สุดสิ่งหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20 และตราบจนทุกวันนี้ ทางการรัฐบาลจีนถือว่า สุสานฉินสื่อหวง ที่ยังรอการขุดค้นนั้น เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคโบราณชิ้นที่ 8 กองทัพทหารดินเผาภายในสุสานและรถม้าสมัยราชวงศ์ฉิน จำนวนมาก มีขนาดใหญ่โตมโหฬารซุกซ่อนอยู่ภายใต้พื้นดิน ตามบันทึกในประวัติศาสตร์จีนถูกขุดพบโดยบังเอิญจากชาวนาตระกูลหยางจำนวน 7 คน ในหมู่บ้านซีหยาง เมืองหลินถง ในต้นของฤดูใบไม้ผลิในปี พ.ศ. 2517 ที่ขุดดินเพื่อหาบ่อน้ำไว้ใช้สำหรับเพาะปลูกในฤดูหนาวที่จะมาถึงภายในหมู่บ้าน ในวันที่ 5 ของการขุดดินเพื่อหาบ่อน้ำ เมื่อขุดลึกลงไปประมาณ 4 เมตร ก็พบกับวัตถุที่ทำด้วยดินเผาที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายกับเหยือกสำหรับใส่น้ำ จึงค่อย ๆ ขุดดินอย่างระมัดระวัง และเมื่อยิ่งขุดลึกลงไปก็พบกองทัพทหารดินเผาในชุดเกราะ คันธนูและลูกธนูทองเหลืองจำนวนหนึ่ง

หลังการขุดพบโดยบังเอิญ ชาวนาตระกูลหยางได้จุดธูปกราบไว้เพื่อขอขมาเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นวัดหรือโบราณวัตถุ หลังจากนั้นอีก 2 เดือน เจ้าหน้าที่ของทางการที่รับผิดชอบในการขุดหาแหล่งน้ำของจีน ได้เข้ามาตรวจสอบความคืบหน้าของการขุดหาแหล่งน้ำของชาวบ้าน ก็ได้พบกับสิ่งที่ชาวนาตระกูลหยางค้นพบ และสังเกตเห็นถึงลักษณะของอิฐและรูปปั้นดินเผาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับที่สุสานของฉินสื่อหวง จึงได้รายงานไปยังทางการของมณฑลฉ่านซี หลังจากนั้นทางรัฐบาลจีนได้เริ่มทำการขุดค้นหาอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ผลของการขุดค้นพบรูปปั้นกองทัพทหารและรถม้าดินเผามากกว่า 8,000 ตัว และรถม้าไม้มากกว่า 100 คัน ในจำนวนหลุมภายในสุสานที่ขุดพบมีอาณาเขตพื้นที่รวมกันถึงกว่า 20,000 ตร.ม.

ต่อมา เจ้าคังหมิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรมประจำอำเภอหลินถง ได้ไปตรวจสอบยังบริเวณพื้นที่ที่ชาวนาตระกูลหยางค้นพบ เพื่อทำการกว้านซื้อซากโบราณวัตถุอันทรงคุณค่าที่ถูกขุดพบ และได้นำออกไปจำหน่ายก่อนหน้านี้ได้ 3 คันรถ เพื่อนำกลับไปยังห้องวิจัยเพื่อทำการศึกษา และต่อมาในต้นเดือนพฤษภาคม เจ้าคังหมินได้จำกัดพื้นที่ในบริเวณอาณาเขตที่ขุดพบจำนวน 120 ตร.ม. เพื่อทำการขุดหาซากของกองทัพดินเผาเพิ่มเติม รัฐบาลจีนได้เข้ามามีบทบาทในการขุดหาเพิ่มเติมของกองทัพทหารดินเผาซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ ลิ่นอันเหวิ่น นักข่าวหนังสือพิมพ์ซินหัว ได้เดินทางกลับไปเยี่ยมญาติที่อำเภอหลินถงและพบกับสิ่งที่ชาวนาและเจ้าหน้าที่ขุดพบ เมื่อกลับสู่ปักกิ่ง ได้นำเรื่องกองทัพทหารดินเผาตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ "ชุมนุมเหตุการณ์" ในหนังสือพิมพ์เหรินหมินยื่อเป้า

ต้นเดือนกรกฎาคม รองนายกรัฐมนตรีหลี่เซียนเนี่ยน ได้มีคำสั่งให้กองโบราณคดีและกรรมการมณฑลฉ่านซีของจีน ร่วมกันหามาตรการในการอนุรักษ์โบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์ของจีนนี้ และในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 หยวนจงอี้ เจ้าคังหมิน ได้นำทีมนักโบราณคดี เดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านซีหยางอีกครั้ง เพื่อทำการตรวจสอบและขุดค้นเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2522 กองทัพทหารดินเผาภายใต้มหาสุสานฉินสื่อหวงได้เปิดให้สาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2530 องค์การยูเนสโกได้ลงมติให้สุสานฉินสื่อหวง เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม[6]

ภายในสุสานประกอบไปด้วยหลุมทหารรูปปั้นดินเผาจำนวนมาก ขุดพบแล้วจำนวน 3 หลุมจากทั้งหมด 8 หลุม ซึ่งสรุปโดยรวมวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบทั้งที่เป็นหุ่นทหารดินเผา สรรพาวุธ รถม้าและม้าศึกที่ใช้ในการสงคราม มีจำนวนรวมทั้งสิ้นกว่า 7,400 ชิ้น ในหลุมสุสานที่มีอาณาเขตพื้นที่กว่า 25,000 ตร.ม.

กำเนิดสุสาน

[แก้]
ภายในสุสานกองทัพทหารดินเผา

ฉินสื่อหวงทรงสร้างสุสานกองทัพทหารดินเผาขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บพระบรมศพของพระองค์เอง แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการและสถาปัตยกรรมโบราณของจีน และศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ จักรพรรดิจีนทุกพระองค์ในประวัติศาสตร์จะมีความใฝ่ฝันสูงสุดอยู่ 2 ประการคือ 1. ยาอายุวัฒนะ ถ้าหากพระองค์ยังเสาะแสวงหาไม่ได้ สิ่งที่พระองค์จะต้องทำก็คือ 2. การสร้างมหาสุสานขนาดอันใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเป็นที่ประทับชั่วกาลนาน

ชาวจีนในสมัยโบราณมีความเชื่อว่ามนุษย์นั้นมี 2 วิญญาณ วิญญาณแรกคือ โป (Po) ซึ่งจะมาพร้อมกับการเกิดของทารก อีกวิญญาณหนึ่งเรียกว่า ฮั่น (Han) เป็นวิญญาณที่สวรรค์ส่งมารวมกับวิญญาณแรกพร้อมกันตั้งแต่เกิด และเมื่อเจ้าของร่างตายลง วิญญาณแรกหรือโปจะคงอยู่ในร่างนั้น ส่วนฮั่นจะออกจากร่างกลับคืนสู่สวรรค์ไป ถ้าผู้ตายไม่ได้รับการฝังอย่างถูกต้องตามประเพณี โปจะอยู่อย่างไม่มีความสุข เที่ยวเร่ร่อนกลายเป็น กุย (Gui) หรือปีศาจอันชั่วร้าย ชาวจีนทุกคนจึงต้องได้รับการฝังอย่างถูกต้องตามประเพณีเมื่อถึงแก่กรรม โดยจะถูกบรรจุร่างไว้ภายในสุสานตามฐานะของผู้ตาย นอกจากนั้น พระองค์ยังโปรด ฯ ให้สร้างสุสานของพระองค์ทันทีตามโบราณราชประเพณี และอีกสิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงใส่พระทัยเป็นพิเศษก็คือ มีพระราชบัญชาให้ นักพรตสีฝู่ นำตัวเด็กหญิงและเด็กชายพรหมจรรย์นับพันคน ลงเรือเดินทะเล เดินทางไปทางตะวันออกเพื่อแสวงหาเกาะเผิงไหล เกาะฟางเจ้า และเกาะอิ๋งโจว ทรงเชื่อว่าเป็นดินแดนหวงห้ามของมนุษย์ เนื่องจากเป็นที่พำนักของเซียนที่จะมอบยาอายุวัฒนะให้พระองค์ทรงมีชีวิตเป็นอมตะ แต่ทว่าตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ข่าวคราวและชะตากรรมของคณะเดินทางที่พระองค์ทรงมอบหมายภารกิจเสี่ยงตายให้นั้น ไม่เคยได้ยินถึงพระกรรณของพระองค์เลยแม้แต่น้อย

หลังทรงขึ้นครองราชย์ในปี 247 ก่อนคริสตกาล ฉินสื่อหวงก็เริ่มสร้างสุสานของพระองค์แล้ว จนถึงในปี 210 ก่อนคริสตกาล เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง งานสร้างมหาสุสานก็ยังไม่แล้วเสร็จ จนมาเสร็จสมบูรณ์ในปีที่ 2 ของรัชสมัยฉินเอ้อซื่อ ผู้เป็นบุตรชาย (ปี 208 ก่อนคริสตกาล) รวมระยะเวลาในการก่อสร้างถึง 38 ปี และได้เรียกชื่อสุสานนี้ว่า หลีซานหยวน หรืออุทยานแห่งเขาหลีซาน ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างสุสานตั้งแต่ปี 246 - 208 ก่อนปีคริสต์ศักราช เพราะมีความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของพระองค์ ทรงสร้างหุ่นกองทัพทหารดินเผาจำนวนมากรวมทั้งรถม้าและม้าศึก เพื่อให้ทั้งหมดนี้ติดตามไปรับใช้และอารักขาพระองค์ในปรโลก และเนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ทำให้หุ่นทหารดินเผา ม้าศึกและรถม้าจำนวนมากที่ถูกฝังอยู่ภายในสุสาน ล้วนแต่มีขนาดเท่าของจริงทุกประการ รวมทั้งรายละเอียดต่าง ๆ ของหุ่นทหารดินเผาและการจัดทัพ ซึ่งเป็นการจัดตำแหน่งตามกระบวนทัพโดยแบ่งออกเป็น 11 แถว ประกอบไปด้วย

  • แม่ทัพฝ่ายบู๊
  • แม่ทัพฝ่ายบุ๋น
  • พลหอก
  • พลดาบ (ซึ่งอาวุธในมือส่วนใหญ่คืออาวุธจริง)
  • สารถีประจำรถม้า
  • ม้าศึก

หุ่นทหารดินเผาภายในสุสานมีขนาดรูปร่างที่แตกต่างกัน มีความสูงประมาณ 1.8 เมตร ลักษณะหน้าตา กริยาท่าทาง เครื่องแต่งกายไม่เหมือนกันแม้แต่ตัวเดียว รัฐบาลจีนที่รับผิดชอบในการขุดค้นสุสานประวัติศาสตร์นี้ เชื่อกันว่าหลุมกองทัพดินเผาของฉินสื่อหวง มีด้วยกันทั้งหมด 8 หลุม แต่ในปัจจุบันมีการขุดค้นเพียงแค่ 3 หลุมเท่านั้น เพราะรัฐบาลจีนยังไม่ต้องการทำการขุดค้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเกรงว่าสีของหุ่นทหารดินเผาที่ขุดพบนั้นจะหายไป ในอดีตเริ่มแรกของการขุดพบกองทัพทหารดินเผาจากสุสานใต้ดินนั้น หุ่นทหารเหล่านี้มีแก้มเป็นสีชมพู สวมเครื่องแต่งกายที่มีสีสันสดใสที่ทาสีเอาไว้อย่างสวยงาม โดยส่วนใหญ่จะสวมเสื้อสีชมพู กางเกงสีเขียวและฟ้า แต่ทว่าเมื่อหุ่นทหารดินเผาถูกอากาศและแสงแดด เกิดปฏิกิริยาทางเคมีทำให้สีของหุ่นทหารดินเผาลอกหายไป เปลี่ยนเป็นสีดำอย่างน่าเสียดาย

จากการตรวจสอบขนาดของมหาสุสานนี้ในปัจจุบันพบว่า สุสานตั้งอยู่บนเนินดินที่เคยสูงประมาณ 115 เมตร มีขนาดคล้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสเมื่อแรกสร้าง คือ จากทิศเหนือไปใต้ยาวประมาณ 350 เมตร จากทิศตะวันออกไปตะวันตกยาวประมาณ 345 เมตร ตัวสุสานเป็นหลุมขนาดใหญ่ มีความลึกกว่า 30 เมตร นักโบราณคดีประเมินคร่าว ๆ ว่าขนาดของพระราชวังใต้ดินถูกสร้างขึ้นในระดับที่ลึกที่สุดของหลุม มีขนาด 120 x 160 เมตร หรือเทียบเท่าขนาดของสนามบาสเกตบอล 40 สนามรวมกัน และจากการตรวจสอบด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ยืนยันได้ว่า ภายในสุสานมีสารปรอทจำนวนมากผิดปกติ คือ สูงกว่าระดับปกติถึงกว่า 100 เท่า จึงไม่ผิดกับที่ ซือหม่า เสี่ยน ได้บันทึกในปูมประวัติศาสตร์มากว่า 2,000 ปีที่แล้วว่า "...ภายในมีสารปรอทไหลเวียนดุจแม่น้ำและทะเล..."

โครงสร้างและสถาปัตยกรรม

[แก้]
โครงสร้างและสถาปัตยกรรมภายในสุสาน

สุสานฉินสื่อหวง ตั้งอยู่ในเขตเมืองหลินถง ห่างจากเมืองซีอานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 35 กม.[7] มีทำเลที่ตั้งอยู่อิงบริเวณเขาหลีซาน บริเวณด้านหน้าของสุสานหันไปทางแม่น้ำเว่ยเหอ โดยเฉพาะทางทิศใต้ของเขาหลีซานอุดมไปด้วยสินแร่ทองคำ ส่วนทางทิศเหนือก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่หยก ดังนั้นฉินสื่อหวงจึงทรงเลือกชัยภูมิที่มีฮวงจุ้ยอันดีเลิศนี้ เพื่อเป็นสุสานสำหรับฝังพระบรมศพของพระองค์ สุสานกองทัพทหารดินเผานั้นอยู่ห่างจากสุสานฉินสื่อหวงราว 1.5 กม.ทั้งหมดถูกฝังอยู่ภายใต้ผืนแผ่นดินจีน พร้อมกับพระบรมศพของฉินสื่อหวง

สุสานฉินสื่อหวงที่คงหลงเหลืออยู่บนดินนั้น ตามข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดี มีความน่าเชื่อถือได้ว่าแต่เดิมมีรูปพรรณสัณฐานเป็นพื้นที่หมวกสี่เหลี่ยมหัวกลับ มีความสูงถึง 115 เมตร ตั้งอยู่บนฐานกว้างราว 345 เมตร คูณ 350 เมตร จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกและทิศเหนือมายังทิศใต้ บริเวณสุสานมีการก่อสร้างเป็นกำแพงล้อม 2 ชั้น คือกำแพงชั้นนอกและกำแพงชั้นใน กำแพงชั้นในมีความยาวจากเหนือจรดใต้ถึง 1,355 เมตร และจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกความยาว 580 เมตร มีประตูสุสานอยู่ทางด้านทิศเหนือ ส่วนบริเวณกำแพงชั้นนอกมีความยาวจากเหนือจรดใต้ 2,165 เมตร ทางด้านตะวันออกจรดตะวันตก มีความยาว 940 เมตร มีประตูทางออกพร้อมหอคอยรักษาการณ์ทั้งสี่มุม ในระหว่างกำแพงชั้นนอกกับกำแพงชั้นในมีซากปรักหักพังหลงเหลือแสดงถึงร่องรอยที่ตั้งศาลาพิธีการและจวนที่พำนักของเจ้าพนักงานเฝ้าสุสาน[8]

จากการตรวจสอบประวัติของมหาสุสานฉินสื่อหวง บันทึกทางประวัติศาสตร์ ระบุว่าสุสานแห่งนี้ได้จำลองเอาลักษณะของประเทศจีน ทั้งหมด ย่อส่วนลงจากจีนแผ่นดินใหญ่ให้กลายเป็นแผ่นดินจีนขนาดจิ๋ว ภายใต้พื้นดินที่มีความสูงถึง 47 เมตร ลักษณะของสุสานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่กว่า 56 ตร.กม. แต่ละส่วนแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ บริเวณกลางสุสานเชื่อกันว่าคือสถานที่สำหรับฝังพระบรมศพของฉินสื่อหวง และตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้บันทึกเอาไว้ว่า เพดานของสุสานนั้นมีการประดับด้วยเพชรพลอยจำนวนมากเป็นรูปท้องฟ้าในยามค่ำคืน และมีการสูบเอาปรอทมาจำลองเป็นลำธารในแม่น้ำใหญ่หรือแม่น้ำหวางเหอ

สภาพของสุสานฉินสื่อหวงที่ถูกขุดค้นพบตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงเก็บรักษาไว้ดังเดิม ในรูปและลักษณะของสุสานมูลดินทรงพีระมิด มีความสูงประมาณ 70 กว่าเมตร ก่อสร้างบนฐานกว้างยาวประมาณ 8 เมตร พื้นที่บริเวณโดยรอบของสุสานถูกล้อมรั้วห้ามเข้าเนื่องจากเป็นเขตต้องห้ามที่นักโบราณคดีทำการขุดค้น จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีน บริเวณพื้นที่แห่งนี้เมื่อระยะเวลาเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ฉินสื่อหวง ได้เคยเสด็จมาเลือกพื้นที่สำหรับก่อสร้างสุสานด้วยพระองค์เอง ตรงบริเวณเชิงเขาหลีซาน ซึ่งมีภูมิประเทศสวยงาม อุดมไปด้วยสินแร่ ทั้งแหล่งผลิตทองคำทางตอนใต้ และแหล่งผลิตหยกทางตอนเหนือซึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเว่ยเหอ

สุสานของจักรพรรดิจีนโบราณ มักจะขุดลึกลงไปใต้ดินที่เป็นเนินเขาทำเป็นอุโมงค์ทางเดินไปสู่ห้องเก็บพระบรมศพ พร้อมกับสมบัติ ข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์นานาชนิด เพื่อไว้สำหรับใช้สอยหลังจากพระองค์สิ้นพระชนมชีพไปแล้ว ส่วนด้านบนพื้นดินเหนืออุโมงค์สุสาน มีธรรมเนียมสร้างถนนแห่งวิญญาณจากทิศใต้มุ่งสู่ประตูอุโมงค์สุสานทางทิศเหนือ โดยวางรูปสลักเทวดา คน สัตว์ต่าง ๆ สองข้างทางจนถึงปากอุโมงค์ซึ่งจะจัดตั้งหลักศิลาขนาดใหญ่ไว้ให้เป็นที่สังเกต

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ของซื่อหม่า เสี่ยน ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (135-145 ปีก่อนคริสตกาล) ระบุว่า ฉินสื่อหวงทรงเริ่มก่อสร้างสุสานทันทีที่เสด็จขึ้นครองราชย์ มีทาส และชาวนาประชาชนจำนวนกว่า 700,000 คนถูกส่งมาใช้แรงงานก่อสร้างสุสาน โดยขุดผิวดินให้ลงไปจากชั้นดินดานถึง 3 ชั้น เพื่อก่อสร้างเป็นพระราชวังใต้ดิน ที่ตั้งพระศพห่อหุ้มด้วยทองแดงเป็นการจำลองแผ่นดินจีนทั้งหมดย่อส่วนเอาไว้ภายในใต้ดิน ช่างฝีมือได้ซ่อนค่ายกลป้องกันพวกลักขโมย เมื่อเข้าใกล้บริเวณสุสานเกาทัณฑ์ก็จะพุ่งเข้าใส่ทันที

จากการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่า บริเวณพื้นดินส่วนกลางของสุสานฉินสื่อหวง มีรังสีจากสารปรอทปริมาณมากที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สารปรอทนั้นแผ่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ 1,200 ตร.ม. ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของซื่อหม่า เสี่ยน ตอนหนึ่งที่ว่า ปรอทใช้บรรจุไว้แทนทะเลและแม่น้ำ เป็นเหตุให้ทางรัฐบาลจีนต้องปิดประกาศเป็นเขตหวงห้าม ยกเว้นสุสานบริวาร 400 แห่งโดยรอบบริเวณกว่า 50 ตร.ม. ซึ่งได้รับอนุญาตให้มีการสำรวจขุดค้น ตลอดเวลา 1 ปีเต็ม ๆ ทำให้นักโบราณคดีพบหลักฐานต่าง ๆ อีกมากมายจนสามารถเขียนแผนผังสุสานฉินสื่อหวงได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งก็ปรากฏที่ตั้งพระบรมศพฉินสื่อหวงเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งของสุสาน

โบราณวัตถุที่ขุดภายในสุสานฉินสื่อหวงทั้งที่เป็นหุ่นทหารดินเผา สรรพาวุธ รถม้าและม้าศึกที่ใช้ในการสงคราม ทั้งสิ้นกว่า 7,400 ชิ้น[3] ในหลุมสุสาน 25,000 กว่าตารางเมตร บางหลุมกองทัพทหารดินเผา มีรถเทียมม้า บางหลุมมีตุ๊กตานกและสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงอุปนิสัยของฉินสื่อหวงที่โปรดการเสด็จประพาสป่า ล่าสัตว์ กองทัพทหารดินเผาและเหล่าม้าศึกที่เฝ้าคอยติดตามถวายอารักขาพระองค์หลังสิ้นพระชนม์ เป็นการบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของฉินสื่อหวง เมื่อวิญญาณโปอยู่ในร่างของพระองค์ขณะมีพระชนมชีพ หรือเมื่อสิ้นพระชนมชีพ วิญญาณฮั่นก็จะนำเสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์

ปิงหมาหย่ง อภิมหาประติมากรรม
กองทัพทหารดินเผาที่ขุดค้นพบภายในสุสาน
รถม้าและม้าศึกที่ขุดค้นพบภายในสุสาน

ตุ๊กตาทหารดินเผาทุกตัวจะมีตราประทับอักษรบนตัวมากกว่า 80 ชื่อ ทำให้นักโบราณคดีจีนมั่นใจว่าผู้ที่สร้างหุ่นทหารดินเผาทั้งหมด เป็นบรรดาช่างปั้นหม้อ ในสังคมสมัยฉิน ถือว่าพวกนี้เป็นพวกชั้นต่ำ บางพวกเคยทำงานรับใช้ในราชสำนัก ช่างปั้นดินเผาในสมัยจีนโบราณที่สืบทอดวิชาความรู้จากครูหรือบรรพบุรุษ มีเอกลักษณ์งานปั้นเฉพาะตัว รับคำสั่งเกณฑ์พลจากทุกแห่งเพื่อสร้างกองทัพทหารดินเผา

ผู้ที่จัดวางตำแหน่งของกองทัพทหารดินเผาภายในสุสาน ได้วางตำแหน่งอย่างเป็นระเบียบ ทหารดินเผาทุกตัวอยู่ในท่าเตรียมพร้อม ประกอบไปด้วยทหารดาบ ทหารเกาทัณฑ์ ทหารหอก และรถม้าศึก โดยเลือกชัยภูมิจัดผังออกแบบค่ายเป็นรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยกำแพงดินพูนสูงขึ้น และมีคูอยู่นอกกำแพงเมือง ถนนตัดอยู่ภายในเป็นทางเดินกองทหาร ตัดจากทิศเหนือไปถึงทิศใต้และตะวันออกไปตะวันตก มีด่านกันไฟเป็นระยะ ๆ ตรงกลางค่ายเป็นที่ตั้งกองบัญชาการ ล้อมด้วยเหล่าเสนาบดี ที่ปรึกษา หน่วยทหารที่เป็นหน่วยกล้าตายและองค์รักษ์ ทำหน้าที่คุ้มกันฉินสื่อหวง การจัดวางกองทัพทหารดินเผาเป็นการยืนยันถึงภาพที่ชัดเจนของตำราพิชัยสงครามซุนวู[9]

ในยุคสมัยของฉินสื่อหวงสุสานแห่งนี้เคยถูกเผาทำลายหลายครั้ง โดยมีหลายข้อสันนิษฐาน เช่น การปะทุของก๊าซมีเทนใต้ผิวดิน หรืออาจถูกเผาจากหลังจากพิธีฝังพระบรมศพ

ทหารดินเผาที่ขุดพบได้นั้นมีลักษณะใบหน้าที่มองดูแล้วกลมเกือบคล้ายกัน บางหน้าเป็นรูปไข่ บางหน้าเป็นรูปเหลี่ยม ซึ่งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเทคนิคของช่างแต่ละคน มีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน เช่นแผนกช่างนวดดิน ช่างปั้น ช่างทำพิมพ์ สำหรับอวัยวะต่าง ๆ เช่น มือ แขน ขา ศีรษะ เป็นหน้าที่ของช่างขึ้นรูป ที่ทำการปั้นขึ้นรูปศีรษะเป็นรูป ๆ ทำให้ใบหน้าแต่ละหน้าจึงไม่ซ้ำกัน ซึ่งอาจจะเป็นการจำลองจากบุคลิกของทหารจริงในเวลานั้น

ส่วนมากใบหน้าของกองทัพทหารดินเผามีสัณฐานสี่เหลี่ยม ริมฝีปากหนา ไว้หนวดเคราทรงผมนานาชนิด แล้วเอาส่วนต่าง ๆ มาประกอบเข้ากัน นำไปเผาไฟแล้วส่งต่อไปให้ช่างสีซึ่งใช้ฝุ่นสีฉูดฉาดเช่น สีแดง เขียว ฟ้า น้ำตาล เหลือง ดำ ม่วง น้ำเงิน ขาว มาระบายลงบนตัวทหารดินเผา แยกสีตามเหล่าทหารแต่ละกอง สำหรับการปั้นม้าจะแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ ตามลักษณะของม้า ก่อนนำมาประกอบเข้าเป็นลำตัวที่กลวง ส่วนอื่นจะทึบตันหมด แล้วจึงเข้าเตาเผาไฟที่มีความร้อนสูงระหว่าง 950 ถึง 1,050 องศา เทคนิคงานปั้นดินเผาของจีนเริ่มมานานกว่า 2,000 ปี จนถึงปัจจุบันวิธีเก่าแก่นี้ก็ยังคงใช้อยู่ทั่วโลก[10]

กองทัพทหารดินเผาทุกตัวเคยถืออาวุธจริงแต่ได้โดนยึดไปโดยพวกกบฏเป็นจำนวนมาก คงหลงเหลือกว่า 10,000 ชิ้น อาวุธส่วนมากสร้างขึ้นจากโลหะผสมทองแดงและดีบุก รวมทั้งนิกเกิลและสังกะสี ฝีมือประณีตโดยเฉพาะหัวลูกธนูจะผสมตะกั่วเท่ากับเป็นการอาบยาพิษอย่างแรง แต่ทั้งหมดได้รับการปลดออกมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางทหาร และเทคโนโลยี[11]

จากการขุดค้นพบกองทัพทหารดินเผาและม้าศึกจำนวนกว่า 6,000 ตัว คาดว่าเมื่อรวมกับจำนวนของทหารดินเผาที่ยังไม่ได้ขุดค้น อาจมีประติมากรรมอันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมากถึง 8,000 ตัว กองทัพทหารดินเผาที่ขุดค้นพบทั้ง 3 หลุมนี้ ในแต่ละหลุมจะแยกจากกันอย่างมีแบบแผน มีการฝังลึกลงไปจากผิวดินในระยะทางประมาณ 5 เมตร มีแนวกำแพงดินพูนสูงราว 3 เมตร แยกจากกันเป็นช่วง ๆ ค้ำยันด้วยท่อนซุง โดยรายละเอียดต่าง ๆ ของกองทัพทหารดินเผา มีดังนี้

หลุมหมายเลข 1

[แก้]

หลุมหมายเลข 1 ที่รัฐบาลจีนทำการขุดค้นมีขนาดกว้างใหญ่ที่สุดในบรรดาหลุมทั้ง 3 หรือราว 230 เมตร จากเหนือไปใต้และกว้าง 62 เมตร จากตะวันออกไปตะวันตก เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อที่ 14,260 ตร.ม. มีขนาดความกว้างประมาณ 197 ฟุต (62 เมตร) ยาว 689 ฟุต (230 เมตร) และลึก 14.8 - 21.3 ฟุต (5 เมตร) ประกอบไปด้วยกองทัพทหารติดอาวุธครบมือจำนวนมากกว่า 6,000 ตัว รถศึกพร้อมม้าเทียมรถศึกอีกรวม 40 คัน แบ่งออกเป็น 4 เหล่า คือกองระวังหน้า ปีกซ้าย ปีกขวา และกองระวังหลัง ซึ่งจัดกองทัพทหารดินเผาออกเป็น 38 แถว กองทัพทหารดินเผาทุกนายภายในสุสานมีอาวุธประจำกายได้แก่ ดาบ เกาทัณฑ์ และ หอก อยู่ในที่ตั้งตามตำแหน่งอย่างชัดเจนไม่สับสน

รถม้าและรถศึก กองทัพทหารดินเผาและม้าศึกที่ได้ขุดพบนั้นมีขนาดใหญ่และเล็กเหมือนกับของจริงทุกประการ หุ่นดินเผาทุกตัวมีโครงหน้า สีหน้าและทรงผมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนกันแม้แต่ตัวเดียว มีขนาดความสูงราว 5 ฟุต 8 นิ้ว จนถึง 6 ฟุต 5 นิ้ว ยืนตระหง่านเรียงรายอยู่เป็นหมวดหมู่ ภายในหลุมที่ 1 ซึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านักโบราณคดีของจีนตั้งข้อสังเกตถึงรูปแบบการจัดเรียงของกองทัพทหารดินเผาที่ขุดพบในหลุมที่ 1 มีรูปแบบและแนวการจัดทัพตามบันทึกในตำราพิชัยสงครามซุนวู มีกองทัพทหารดินเผามากกว่า 6,000 ตัว

หลุมหมายเลข 2

[แก้]

หลุมหมายเลข 2 เป็นรูปตัว L ได้ขุดพบในปี พ.ศ. 2519 อยู่ห่างจากหลุมที่ 1 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 20 เมตร ในอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 6,000 ตร.ม. แบ่งออกเป็นพื้นที่ขนาด 4 ส่วน ความกว้างจากเหนือไปใต้ราว 98 เมตร มีความยาวจากตะวันออกไปตะวันตกราว 124 ภายในหลุมมีกองทัพทหารดินเผาจำนวน 4,000 ตัว รถม้าไม้ 89 คัน แบ่งออกเป็น 4 แถว ประกอบไปด้วยเหล่าขุนพลทหารม้า ขุนทหารประจำรถม้าศึก ซึ่งมีรูปร่างสูงใหญ่ สวมหมวกหนัง รองเท้าบูต มือข้างหนึ่งถือ ธนู ม้าศึกมีลักษณะแข็งแรงปราดเปรียว ทุกตัวถูกจัดตามลำดับแถว หลุมรูปปั้นกองทัพทหารดินเผาหลุมที่ 2 รัฐบาลจีนทำการขุดค้นหาพบหุ่นทหารดินเผาจำนวนกว่า 1,000 ตัว ม้าศึก 500 ตัวและรถม้าที่ทำจากไม้ 89 คัน เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมและศึกษาเกี่ยวกับโบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2538

หลุมหมายเลข 3

[แก้]

หลุมหมายเลข 3 เป็นรูปตัว U อยู่ห่างจากหลุมที่ 1 ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 25 เมตร หรือ 120 เมตร รัฐบาลจีนขุดค้นพบในปี พ.ศ. 2519 ทางทิศตะวันออกของหลุมที่ 2 มีขนาดพื้นที่ประมาณ 520 ตร.ม. เป็นหลุมที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญที่สุดยิ่งกว่า หลุมหมายเลข 1 และ 2 เนื่องจากเป็นกองบัญชาการสูงสุด โดยกองทัพทหารดินเผาทุกตัวมีอาวุธครบมือ เข้าแถวรักษาการณ์แบบเผชิญหน้ากันทางทิศเหนือกับทิศใต้ข้างละ 2 แถว เพื่อเป็นการคุ้มกันเหล่าแม่ทัพภายในกระโจมบัญชาการ นอกจากนี้ยังพบเขากวางและกระดูกสัตว์ ซึ่งใช้เป็นเครื่องรางของขลังซึ่งเข้าใจว่าเป็นเครื่องที่ใช้ในการประกอบพิธีบูชายัญในพิธีศพอีกด้วย ซึ่งหลุมที่ 3 นี้เปิดให้สาธารณชนได้เข้าชมในปี พ.ศ. 2532

ขบวนรถม้าสำริด

[แก้]
รถม้าสำริดที่ขุดค้นพบภายในสุสานฉินสื่อหวง

นอกจากการขุดพบกองทัพทหารดินเผาจำนวนมากแล้ว รัฐบาลจีนยังขุดพบโลงไม้ ยาว 7 เมตร กว้าง 2.3 เมตร ฝังอยู่ใต้พื้นดิน ห่างจากสุสานฉินสื่อหวงไปทางทิศตะวันตกราว 20 เมตร และเมื่อนำขึ้นมาเปิดฝาโลงออกก็พบกับขบวนรถม้าสำริดจำลองของฉินสื่อหวง ฝีมือประณีตสวยงาม ใช้เทคนิคงานโลหะผสม สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นรถม้าประจำพระองค์ในภพหน้า ปัจจุบันรถม้าสำริดที่ถูกขุดค้นพบ จัดแสดงไว้ในอาคารอีกหลังหนึ่งในบริเวณพิพิธภัณฑ์ กองทัพทหหารดินเผาประกอบด้วยรถม้าส่วนพระองค์ รถเทียมม้าบุกนำทาง มีองค์รักษ์ทำหน้าที่พลขับ

รถม้าบุกนำทาง มีความยาว 1.26 เมตร กว้าง 70 เซนติเมตร กั้นร่มคลุมแทนหลังคา ติดอาวุธพร้อม มีอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ ขนาดเล็กรวมทั้งหมดราว 3,064 ชิ้น ส่วนรถม้าส่วนพระองค์จำลองของฉินสื่อหวง มีความยาว 3.17 เมตร กว้าง 1.06 เมตร รูปทรงสี่เหลี่ยม คลุมด้วยหลังคารูปไข่ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นตัวรถม้าส่วนพระองค์จำลองรวม 3,462 ชิ้น ประดับด้วยทองคำและเงินจำนวนมากกว่า 1,000 ชิ้น นอกจากนี้ ยังมีเส้นทองแดงขดเป็นโซ่ขนาดเล็ก ขนาดเพียง 0.05 เซนติเมตร อยู่ภายใน

รถม้าทั้งสองคันเทียมด้วยม้าสำริดคันละ 4 ตัว แต่งเครื่องทรงเต็มยศ องครักษ์ สูง 51 เซนติเมตร แต่งเครื่องแบบเต็มยศเช่นกัน นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดอีกชิ้นหนึ่งที่ได้เคยค้นพบในประเทศจีน เป็นการลบภาพความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า ยุคทองของเครื่องสำริดได้หมดไปตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซาง ซึ่งเหล็กได้เข้ามามีบทบาทแทนที่จนถึงสมัยราชวงศ์ฉินและราชวงศ์ฮั่น ที่ช่างสำริดได้สูญหายไปหมดแล้ว จากรูปสำริดเหล่านี้ นักโบราณคดีจีนสามารถจินตนาการขบวนรถม้าส่วนพระองค์ของจริงที่ฉินสื่อหวงทรงใช้ประทับแรมระหว่างเสด็จประพาสตามหัวเมืองต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย

มรดกโลกทางวัฒนธรรม

[แก้]

กองทัพทหารดินเผาภายในสุสานฉินสื่อหวง ได้รับคัดเลือกให้เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2530 ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์พิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังต่อไปนี้[12]

  • (i) - เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดของมนุษย์
  • (iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
  • (iv) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
  • (vi) - มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Portal, Jane. "The first emperor of China: new discoveries & research: later this month the British Museum unveils an unprecedented loan exhibition of the terracotta warriors and other discoveries made at the 3rd-century BC tomb complex of Qin Shihuangdi, China's first emperor. Jane Portal, the exhibition's curator, explains the importance of the new finds." Apollo Sept. 2007: 54+. Academic OneFile. Web. 11 July 2016
  2. "ขนาดพื้นที่ของสุสาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-02. สืบค้นเมื่อ 2007-01-05.
  3. 3.0 3.1 "เผยปริศนาในสุสานจิ๋นซี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-11-14. สืบค้นเมื่อ 2007-03-13.
  4. สุสานฉินสื่อหวง[ลิงก์เสีย]
  5. เที่ยว“สุสานจิ๋นซี” สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก เก็บถาวร 2005-05-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์, 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 17:18 น.]
  6. http://whc.unesco.org/archive/repcom87.htm#441
  7. "ระยะทางของสุสาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-02. สืบค้นเมื่อ 2007-01-05.
  8. "สถาปัตยกรรมจีน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-02-20. สืบค้นเมื่อ 2007-01-18.
  9. 1974 โลกตะลึงกองทัพทหารใต้สุสาน เก็บถาวร 2007-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ผู้จัดการออนไลน์
  10. ศ.ดร.ลูเซี่ยน ดับเบิ้นยู. พาย, จีนสามยุค, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543
  11. บุญศักดิ์ แสงระวี, ฉินสื่อหวง-ประวัติศาสตร์ชาติจีน, สำนักพิมพ์ สุขภาพใจ, 2543, หน้า 242
  12. http://whc.unesco.org/en/list/441/

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

34°23′5.34″N 109°16′26.11″E / 34.3848167°N 109.2739194°E / 34.3848167; 109.2739194{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้