พระราชวังต้าหมิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนมรดกแห่งชาติพระราชวังต้าหมิง
Daming Palace National Heritage Park
ประตู Danfeng ซึ่งสร้างขึ้นใหม่
แผนที่
ก่อตั้ง1 ตุลาคม 2010
ที่ตั้งซีอาน ประเทศจีน
พิกัดภูมิศาสตร์34°17′29″N 108°57′34″E / 34.29139°N 108.95944°E / 34.29139; 108.95944
ประเภทแหล่งโบราณคดี และพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์
พระราชวังต้าหมิง
อักษรจีนตัวย่อ大明宫
อักษรจีนตัวเต็ม大明宮
ความหมายตามตัวอักษรวังแห่งความรุ่งโรจน์ [1]
สวนมรดกแห่งชาติพระราชวังต้าหมิง
อักษรจีนตัวย่อ大明宫国家遗址公园
อักษรจีนตัวเต็ม大明宮國家遺址公園

พระราชวังต้าหมิง (จีน: 大明宮; อังกฤษ: Daming Palace) หรือ "ต้าหมิงกง" เป็นพระราชวังหลวงของราชวงศ์ถัง ตั้งอยู่ที่ฉางอานเมืองหลวงของราชวงศ์[2][3] เป็นที่ประทับหลักและศูนย์กลางการปกครองของจักรพรรดิถังเป็นเวลานานกว่า 220 ปี[2] ปัจจุบันเป็นมรดกแห่งชาติที่สำคัญของจีน[4] มีพื้นที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองซีอานในปัจจุบัน มณฑลฉ่านซี[5]

ประวัติ[แก้]

ในปี ค.ศ.634 จักรพรรดิถังไท่จง ฮ่องเต้รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์ถัง ทรงมีพระบรมราชโองการให้สร้างพระราชวังขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชชนก ซึ่งก็คืออดีตปฐมจักรพรรดิถังเกาจู่ ผู้ทรงสละราชบัลลังก์ให้พระราชโอรสดูแลว่าราชการแทน โดยแรกสร้างนั้นใช้ชื่อว่าพระราชวังหย่งอัน (永安宫) แต่ทว่าในปีถัดมาพระราชชนกก็เสด็จสวรรคตก่อนที่พระราชวังจะแล้วเสร็จ ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักลง

ต่อมาในปี ค.ศ.661 พระนางอู่เจ๋อเทียน (บูเช็กเทียน) ได้สานต่อโครงการ โปรดเกล้าฯให้ Yan Liben สถาปนิกหลวงออกแบบเพิ่มเติมพระราชวังที่ยังไม่แล้วเสร็จ และให้ดำเนินการสร้างต่อโดยใช้คนงานมากกว่า 100,000 คน ใช้เวลาเพียง 1 ปีพระราชวังต้าหมิงก็ได้สร้างเสร็จสมบูรณ์อย่างรวดเร็ว ตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิถังเกาจง รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์ถัง และกลายเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของจักรวรรดิเป็นระยะเวลาประมาณ 200 ปี

พระราชวังแห่งนี้มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร มีขนาดพื้นที่ประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร กำแพงโดยรอบพระราชวังมีความยาว 7.6 กิโลเมตร ประตูเข้าออก 11 ประตู พระที่นั่งหลักขนาดใหญ่ 3 หลังเรียงตามแนวถนนสายหลักซึ่งกว้าง 176 เมตร และพระตำหนักใหญ่น้อยอีกจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ประมาณกันว่าพระราชวังต้าหมิงมีขนาดใหญ่กว่าพระราชวังต้องห้ามกู้กงในกรุงปักกิ่งประมาณ 4-6 เท่า วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 1206 เชื้อพระวงศ์ทั้งหมดจึงย้ายจาก พระราชวัง Taiji ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุยมาอยู่ที่ต้าหมิงกงอย่างเป็นทางการ

พระราชวังแห่งนี้ถูกเผาทำลายไปตั้งแต่สงครามช่วงสุดท้ายในราชวงศ์ถัง ทำให้เหลือเพียงร่องรอยความยิ่งใหญ่ในอดีตไว้

โครงสร้างและแผนผัง[แก้]

ประตูกำแพงทางด้านทิศเหนือ คือ ประตูเสวียนอู่ ที่ในปัจจุบันสร้างขึ้นมาใหม่บนพื้นที่เดิม เสวียนอู่ เป็นชื่อเทพในจินตนาการที่คอยปกปักรักษาประตูทางทิศเหนือ ประตูหลักด้านทิศใต้ชื่อว่า ประตู Danfeng [6]

แผนผังของพระราชวังแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ Qian Chao เป็นส่วนที่ทำงานและท้องพระโรง และ Nei Ting ใช้เป็นส่วนที่พักผ่อน และอยู่อาศัย

เขตพระราชฐานชั้นนอก[แก้]

Qian Chao ประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 องค์ ได้แก่

  • พระที่นั่ง Hanyuan เป็นพระที่นั่งที่มีชื่อเสียงและใหญ่ที่สุดในบรรดา 3 พระที่นั่ง ใช้สำหรับจัดงานพิธีสำคัญ ๆ เป็นพระที่นั่งหลักอยู่ตรงกลางต้าหมิงกง และยังเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระหว่างนานาชาติในสมัยนั้นด้วย ทุกวันขึ้นปีใหม่จักรพรรดิจะจัดงานเฉลิมฉลองที่นี่ และมีการต้อนรับทูตจากนานาชาติ และชนกลุ่มน้อยที่อยู่ข้างเคียง พระที่นั่งองค์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งและความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ถังได้เป็นอย่างดี เปรียบเสมือนตัวแทนของสถาปัตยกรรมระดับสูงสุดในยุคนั้น
  • พระที่นั่ง Xuanzhen เป็นที่ทำงานบริหารราชกิจของจักรพรรดิ
  • พระที่นั่ง Zichen เป็นที่สำหรับข้าราชบริพารเข้าพบพระจักรพรรดิ

เขตพระราชฐานชั้นกลาง[แก้]

เขตพระราชฐานชั้นใน[แก้]

อยู่ทางทิศเหนือของต้าหมิงกง ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยและพักผ่อน ประกอบด้วย

  • พระที่นั่ง Linde เป็นสถานที่จักรพรรดิใช้จัดงานเลี้ยงรื่นเริง และต้อนรับคณะทูต
  • สระ Taiye หรือสระ Penglai ซึ่งเป็นสระรูปไข่ที่ถูกสร้างขึ้นมีพื้นที่ประมาณ 1.6 เฮกเตอร์
  • นอกจากนี้ยังมีอาคาร หอคอย ระเบียงทางเดินอีกมากมาย ซึ่งพระราชวังต้องห้ามก็ได้รับอิทธิพลการสร้างมาจากแบบแปลนของต้าหมิงกงนี้เช่นเดียวกัน

ขอบ[แก้]

ปัจจุบันบริเวณรอบ ๆ พระราชวังนั้นเต็มไปด้วยต้นแค ต้นหลิว ดอกไม้ และพุ่มไม้ทุกด้าน

มรดก[แก้]

ต้าหมิงกงถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2500 โดยมีการสำรวจและขุดค้นส่วนของตำหนัก Hanyuan เป็นที่แรกระหว่างปี พ.ศ. 2502-2503 หลังจากนั้นหน่วยงานของทางการจีนจึงได้ร่วมมือกับยูเนสโกในการสำรวจ

วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ได้เปิดมรดกแห่งชาติต้าหมิงกงแห่งนี้ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม[7] ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกลำดับที่ 30 ของจีน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

อ้างอิง[แก้]

  1. Chung, Saehyang. "A Study of the Daming Palace: Documentary Sources and Recent Excavations". Artibus Asiae, Vol. 50, No. 1/2 (1990), pp. 23–72. Accessed 15 November 2013.
  2. 2.0 2.1 Yu, Weichao (1997). A Journey into China's antiquity. Beijing: Morning Glory Publishers. p. 56. ISBN 978-7-5054-0507-3.
  3. "Stories of Daming Palace". China Daily. p. 2. สืบค้นเมื่อ 7 January 2012.
  4. Wang, Tao; Shao, Lei (2010). "Eco-city: China's realities and challenges in urban planning and design". ใน Lye, Liang Fook; Chen, Gang (บ.ก.). Towards a liveable and sustainable urban environment: Eco-cities in East Asia. Singapore: World Scientific. p. 149. ISBN 978-981-4287-76-0.
  5. Du, Xiaofan (2010). Agnew, Neville (บ.ก.). Conservation of ancient sites on the Silk Road. Hellman, Naomi (trans.). Los Angeles: Getty Conservation Institute. p. 37. ISBN 978-1-60606-013-1.
  6. "Site of Danfeng Gate". ICOMOS International Conservation Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 April 2015. สืบค้นเมื่อ 7 January 2012.
  7. "Daming Palace preservation project". China Daily. สืบค้นเมื่อ 7 January 2012.