สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา

พิกัด: 17°39′13″N 100°08′24″E / 17.653741°N 100.140015°E / 17.653741; 100.140015
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา
Wat Kungtaphao Buddhist School
หสต.
ที่ตั้ง
ข้อมูล
ชื่ออื่นส.ค.ภ.
คำขวัญเอตทคฺคํ วุฑฺฒีนํ
ยทิทํ ปญฺญาวุฑฺฒิ

การพัฒนาปัญญา
เป็นเลิศแห่งการพัฒนาทั้งปวง[1]
สถาปนาวิสาขบูชา พ.ศ. 2535
หน่วยงานกำกับคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์
ผู้อำนวยการพระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (น.ธ.เอก, ป.บส., พธ.บ.)
สี███ สีแดง หมายถึง "วิชฺชา" คือความรู้, ความสง่างามด้วยความรู้
███ สีเหลือง หมายถึง "จรณสมฺปนฺโน" คือความเป็นคนดีมีคุณธรรมในจิตใจ
เว็บไซต์www.watkungtaphao.ob.tc

สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา หรือ สำนักเรียนวัดคุ้งตะเภา เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับคฤหัสถ์ประจำตำบลคุ้งตะเภา[2] ตั้งอยู่ที่ วัดคุ้งตะเภา บ้านคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดคณะสงฆ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ควบคู่กับ สำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดใหม่เจริญธรรม ที่เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีของพระสงฆ์ในตำบลคุ้งตะเภา

สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา เป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกคฤหัสถ์ของคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภาแห่งแรกของตำบล ปัจจุบันทำการเรียนการสอนในโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในตำบลคุ้งตะเภาทั้ง 6 โรงเรียน โดยมีคณะครูสอนพระปริยัติธรรมสังกัดวัดในตำบลคุ้งตะเภาทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์เข้าสอนควบคู่กับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนในเขตตำบลคุ้งตะเภา[3]

สำนักศาสนศึกษาแห่งนี้นับเป็นสำนักศาสนศึกษาหนึ่งในไม่กี่แห่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีการนำพระสงฆ์เข้าสอนพระปริยัติธรรมแก่คฤหัสถ์ในโรงเรียนตลอดปีการศึกษา และเป็นสำนักศาสนศึกษาที่มีสถิตินักเรียนสอบไล่ได้พระปริยัติธรรมแผนกธรรมเป็นลำดับต้น ๆ ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์[4]

ประวัติ[แก้]

ครูสอนพระปริยัติธรรมตำบลคุ้งตะเภาเข้าสอนธรรมศึกษาในโรงเรียน

สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา ก่อตั้งโดยกลุ่มครูสอนพระปริยัติธรรมในตำบลคุ้งตะเภา ในปี พ.ศ. 2535 โดยดำริของ พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา โดยไม่ได้อาศัยงบประมาณสนับสนุนจากส่วนราชการ การดำเนินการในช่วงแรกเป็นไปได้ด้วยดีโดยอาศัยทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากพระสงฆ์ที่เป็นพระอาจารย์สอนธรรมศึกษาเอง โดยในช่วงแรก ๆ อาศัยอาคารหอพระวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่เล่าเรียน แต่ยังไม่มีการจัดการด้านบุคลากรและนักเรียนอย่างเป็นระบบมากนัก

การศึกษาแผนกธรรมศึกษาหรือการศึกษาวิชาธรรมของคฤหัสถ์อย่างเป็นระบบ ได้เริ่มจัดการเรียนการสอนได้ในปี พ.ศ. 2540 อันเป็นช่วงแรก ๆ ที่แม่กองธรรมสนามหลวงเปิดโอกาสให้มีการสอบไล่ธรรมศึกษาสำหรับคฤหัสถ์ในต่างจังหวัดขึ้น โดยในช่วงแรก พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (แสงสิน) รองเจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา และพระนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ดำเนินการประสานงานไปยังโรงเรียนในเขตตำบลคุ้งตะเภาขอนำพระสงฆ์เข้าสอนจริยธรรมและธรรมศึกษาในโรงเรียน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในครั้งนั้นประสบผลสำเร็จไปด้วยดี มีนักเรียนและผู้สนใจสอบไล่ได้ธรรมศึกษาเป็นจำนวนมาก

นักเรียนในสังกัดสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา ปีการศึกษา พ.ศ. 2552 (ธศ.โท โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น)

ต่อมาเจ้าคณะตำบลในขณะนั้นคือ เจ้าอธิการธง ฐิติธมฺโม (อิ่มชม) วัดคุ้งตะเภา (สมณศักดิ์ในปัจจุบัน พระครูประดิษฐ์ธรรมธัช) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาธรรมของคฤหัสถ์ดังกล่าว จึงได้ดำเนินการขอจัดตั้งสำนักศาสนศึกษาประจำตำบลคุ้งตะเภาขึ้นที่วัดคุ้งตะเภา ในนาม สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา ต่อมามีการเปลี่ยนเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภาในปี พ.ศ. 2543 จึงเกิดการลักลั่นในการบริหารงานสำนักศาสนศึกษาในระยะหนึ่ง แต่วัดคุ้งตะเภาโดยการนำของพระสมุห์สมชาย ก็ได้จัดการสอนธรรมศึกษาเช่นเดิม โดยดำเนินการและออกทุนดำเนินการเองทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผู้สอบไล่ได้ธรรมศึกษาเป็นจำนวนมากทุกปี และในปี พ.ศ. 2549 พระปลัดสมพงษ์ สมจิตฺโต วัดใหม่เจริญธรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งตะเภา จึงได้จัดเปิดสนามสอบธรรมศึกษาแห่งที่ 5 ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ที่โรงเรียนป่าขนุนเจริญวิทยา เพื่อเป็นสนามสอบสำหรับนักเรียนในสังกัดสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา ซึ่งเป็นการเปิดสนามสอบธรรมศึกษาที่ตำบลคุ้งตะเภาเป็นครั้งแรก[3]

ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554 นายโยธินศร์ สมุทรคีรีจ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ 1/2554 จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นในวัดคุ้งตะเภาอย่างเป็นทางการ สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภาจึงมีภารกิจด้านการจัดแหล่งการเรียนรู้ในวัดเพิ่มเติมจากการทำการเรียนการสอนตามปกติในสถานศึกษาระดับพื้นฐาน โดยในส่วนของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดคุ้งตะเภานั้นอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม[5]

หัวหน้าสำนักศาสนศึกษา[แก้]

ครูใหญ่
รายชื่อ ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง

พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ (น.ธ.เอก, ป.บส., พธ.บ.) พ.ศ. 2535 - ปัจจุบัน

สัญลักษณ์สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา[แก้]

พระพุทธรูปประจำสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา[แก้]

พระพุทธวชิรปัญญาญาณสัมพุทธบพิตร (หลวงพ่อทรงเครื่อง) พระพุทธรูปประจำสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา

พระพุทธรูปประจำสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักสามนิ้ว เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องพุทธลักษณะทรงเครื่องจักรพรรดิราช สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีอายุมากกว่าร้อยปี องค์พระทำด้วยโลหะตามแบบอย่างพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เป็นที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปัจจุบันองค์พระประดิษฐานอยู่ภายในวัดคุ้งตะเภา พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับการถวายพระนามว่า "พระพุทธวชิรปัญญาญาณสัมพุทธบพิตร" พระนามพระพุทธรูปเป็นมงคลนามสื่อความหมายถึง "พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระผู้ตรัสรู้โดยชอบซึ่งพระปัญญาญาณแห่งพระสัมพุทธเจ้าด้วยพระปัญญาประดุจเพ็ชร"[3]

ตราสัญลักษณ์สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา[แก้]

ตราสัญลักษณ์สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา

ตราสัญลักษณ์สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา เป็นรูปวงกลมลงสีแดงชาด ภายในประดิษฐานรูปพระพุทธรูปหลวงพ่อสุวรรณเภตรา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญของวัดคุ้งตะเภา ล้อมด้วยลวดลายกนกเปรียบพระมหาปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าอันแผ่ไพศาล ใต้ฐานพระพุทธรูปปรากฏข้อความ "สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา" ภายใต้ข้อความดังกล่าวเป็นพระพุทธพจน์ภาษาบาลี ซึ่งเป็นพระพุทธดำรัสของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาต ว่า "เอตทคฺคํ วุฑฺฒีนํ ยทิทํ ปญฺญาวุฑฺฒิ" แปลว่า การพัฒนาปัญญาเป็นเลิศแห่งการพัฒนาทั้งปวง ทั้งหมดอยู่ภายในกรอบวงกลมล้มรอบภายนอกด้วยลายดอกปทุมชาติ แสดงความถึงการแสวงหาปัญญาแห่งการตรัสรู้[3]

คำขวัญสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา[แก้]

คำขวัญสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา เป็นพระพุทธศาสนสุภาษิตภาษาบาลีอันมีที่มาจากพระไตรปิฎกอังคุตรนิกาย เอกนิบาต ว่า

เอตทคฺคํ วุฑฺฒีนํ ยทิทํ ปญฺญาวุฑฺฒิ
การพัฒนาปัญญาเป็นเลิศแห่งการพัฒนาทั้งปวง

— องฺ.เอก.๒๐/๗๘/๑๗

หมายถึงนักเรียนในสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา พึงศึกษาเพื่อฝึกหัดพัฒนาตนทั้งกายและใจ คือเป็นผู้มีความรู้วิชาการควบคู่กับคุณธรรมในจิตใจ เป็นคนดีของสังคมได้ในอนาคต

อ้างอิง[แก้]

  1. พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก [1]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลเมื่อ 26-10-52
  2. ราชกิจจานุเบกษา, กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยสถาบันพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๔๘ (กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อส่งเสริมและ สนับสนุนการจัดการศึกษาของสถาบันพระพุทธศาสนา), เล่ม ๑๒๒, ตอน ๕๔ ก, ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๑๘
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 ประวัติสำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา-History of Watkungtaphao Buddhism School. สำนักศาสนศึกษาวัดคุ้งตะเภา. เข้าถึงได้จาก [2][ลิงก์เสีย]. เข้าถึงเมื่อ 26-10-52
  4. ประกาศผลสอบนักธรรมและธรรมศึกษาประจำปี ๒๕๕๑. เว็บไซค์สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร. เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้จาก [3]. เข้าถึงแหล่งข้อมูลเมื่อ 26-10-52
  5. ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์. (2554, 19 มกราคม). ประกาศจังหวัดอุตรดิตถ์ เรื่อง จัดตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ประจำปี 2554.

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

17°39′13″N 100°08′24″E / 17.653741°N 100.140015°E / 17.653741; 100.140015