สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา
ประเภทสวนพฤกษศาสตร์
ที่ตั้งตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
พื้นที่14 ไร่
เปิดตัวพ.ศ. 2535
ผู้ดำเนินการวัดคุ้งตะเภา, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ[1]
สถานะเปิดทำการ

สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา หรือ ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ชุมชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่วัดคุ้งตะเภา ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สวนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 บนพื้นที่ 14 ไร่ โดยเป็นสวนพฤกษศาสตร์ท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นและดำเนินการโดยองค์กรทางพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์การศึกษาสมุนไพรและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของชุมชนท้องถิ่น[2]

ปัจจุบันสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา เป็นสวนสมุนไพรในวัดที่มีผลงานดีเด่นระดับประเทศของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ[3] และเป็นสถานที่ศึกษาพันธุกรรมพืชที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์[1] โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข[4] โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย[5] สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลทางพฤกษศาสตร์เพื่อการศึกษาต่อยอดทางวิชาการพืชสมุนไพรในระดับประเทศ[2]

ประวัติ[แก้]

สวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา หรือ สวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา ได้รับการจัดตั้งให้เป็น ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ. 2547[1] เนื่องจากวัดคุ้งตะเภามีพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในด้านสมุนไพรแผนโบราณ ได้เป็นผู้รวบรวมสมุนไพรหายากจากสถานที่ต่าง ๆ มารวมไว้ในวัด (ในปัจจุบันในวัดมีต้นยาสมุนไพรทั้งสิ้นกว่า 500 ชนิด) [6] เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจและเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการอนุรักษ์สมุนไพร[7]

นักเรียนในสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

ทางวัดได้แบ่งเขตสังฆาวาสส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรที่รวบรวมมาได้จากที่ต่าง ๆ นำมาปลูกไว้ ทั้งชนิดต้นและชนิดไม้ลงหัว ไปจนกระทั่งไม้เลื้อยขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รวบรวมพืชสมุนไพรไทยที่หาชมได้ยากนำมาปลูกในเขตพื้นที่บริเวณวัดหลายร้อยชนิด โดยเริ่มทำการจัดหาสมุนไพรมาอนุรักษ์เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มการปลูกอนุรักษ์สมุนไพรในวัดคุ้งตะเภาก็คือ พระสมุห์สมชาย จีรปุญฺโญ เจ้าอาวาสวัดคุ้งตะเภา พระอู๋ ปญฺญาวชิโร และพระธง ฐิติธมฺโม ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในการจำแนกพืชสมุนไพรไทย

นักวิจัยในสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรวัดคุ้งตะเภา

ปัจจุบันสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภาเป็นสถานที่ศึกษาอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์[8] มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลทางพฤษศาสตร์เพื่อการศึกษาต่อยอดทางวิชาการพืชสมุนไพรในระดับประเทศ[2]

วัดคุ้งตะเภาได้จัดพื้นที่ตั้งวัดด้านทิศเหนือ และบางส่วนของพื้นที่ตั้งวัด สำหรับเป็นพื้นที่สวนรุกขชาติ สระน้ำ แปลงสวนป่าปลูกพรรณไม้เนื้อแข็ง อาคารเพาะชำ บรรยากาศโดยทั่วไปมีพื้นที่ร่มรื่น เต็มไปด้วยแมกไม้นานาพรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางวัดใช้พื้นที่ส่วนนี้บางส่วนสำหรับปลูกพรรณไม้ชนิดล้มลุก หรือพืชลงหัว ซึ่งจะแตกใบสวยงามในช่วงฤดูฝน ส่วนในช่วงฤดูแล้ง จะเป็นพื้นที่ลานโล่งใต้ต้นไม้ สลับกับพื้นที่เนินดินไหล่เขาขนาดเล็กสวยงามเหมาะกับการปฏิบัติธรรมและหย่อนใจ [9]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. (2549). โครงการสมุนไพรในวัด. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. 2.0 2.1 2.2 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2555). แบบรายงานอุทยานการศึกษาในวัด ประจำปี 2555 : วัดคุ้งตะเภา จังหวัดอุตรดิตถ์. อุตรดิตถ์ : สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (อัดสำเนา). หน้า 1-233
  3. ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง การพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนวัดที่มีผลงานดีเด่นด้านสมุนไพร โครงการสวนสมุนไพรและแพทย์แผนไทยในวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ ลงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
  4. หนังสือกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ที่ สธ ๐๕๑๔.๐๒/๘๖๒ ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๕
  5. หนังสือวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ ศธ ๐๕๑๒.๗๘/๕๓๗๙๓๑๐๓๕๓ ลงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔
  6. วัดคุ้งตะเภา. (2555). รายชื่อสมุนไพร ๕๐๐ ชนิด ภายในสวนสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [1] เก็บถาวร 2010-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 27-3-55
  7. เทวประภาส มากคล้าย. (2553). คุ้งตะเภา จากอดีตสู่ปัจจุบัน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ISBN 9789743648847
  8. หนังสือคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ ที่ พิเศษ ๒๕๕๔ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๔
  9. ข้อมูลและภาพสวนป่าสมุนไพรวัดคุ้งตะเภา (ศูนย์ศึกษาสมุนไพรในวัดประจำจังหวัดอุตรดิตถ์) จากเว็บไซด์วัดคุ้งตะเภา[ลิงก์เสีย]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

พิกัดภูมิศาสตร์: 17°39′12″N 100°08′24″E / 17.653441°N 100.140122°E / 17.653441; 100.140122