พระโกญจนาเนศวร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระโกญจนาเนศวร์
เทพเจ้าแห่งช้าง
ส่วนเกี่ยวข้องเทพพื้นเมือง
อาวุธขอช้าง · บ่วงบาศ
พาหนะช้างเจ็ดเศียร
เป็นที่นับถือในประเทศไทย
ข้อมูลส่วนบุคคล
บิดา-มารดา

พระโกญจนาเนศวร์ หรือ พระโกญจนาทเนศวร์ เป็นเทพเจ้าแห่งช้างองค์หนึ่ง มีพระวรกายเป็นมนุษย์แต่มีเศียรเป็นช้าง ซึ่งปรากฏใน ตำราช้าง และ คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง อันเป็นเอกสารของไทยช่วงรัตนโกสินทร์ แม้จะมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับพระพิฆเนศ แต่เทพองค์นี้ได้รับการนับถือในฐานะครูหมอช้างตามหลักคชศาสตร์ของไทย[1] และเป็นเทพที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนาฮินดูใด ๆ ของประเทศอินเดีย[2]

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) สันนิษฐานว่าพระนาม "โกญจนาเนศวร์" ใน คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง เป็นพระนามของพระขันทกุมาร เพราะคำว่า "โกญจนา" ตรงกับคำสันสกฤตว่า "เกราญจ" ซึ่งเป็นชื่อภูเขาที่พระขันทกุมารเสด็จไปประทับ[2] รองศาสตราจารย์ ดร. มณีปิ่น พรหมสุทธิลักษณ์อธิบายมาจากคำสันสกฤตว่า "เกฺราญจนาเนศวร" (กฺราญจน+อานน+อิศวร)[3] จึงแปลความหมายของชื่อดังกล่าวว่า "ผู้เป็นใหญ่เหนือแผ่นพักตร์เกราญจะ"[2] และมณีปิ่นได้อธิบายอีกว่า ชาวสยามโบราณคงทราบทางเทพปกรณัมแขก [อินเดีย] ว่าพระอิศวรมีบุตรสององค์ แต่เข้าใจผิดว่าเป็นองค์เดียวกัน จึงโอนชื่อพระขันทกุมารไปให้กับพระคเณศ[3]

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่งอธิบายว่า "โกญจนาทเนศวร์" ซึ่งปรากฏใน ตำราช้าง มาจากคำว่า "โกญจนาท" แปลว่า "เสียงร้องของช้าง" และพระนามจึงควรจะเป็น "โกญจนาเทศวร์" แปลว่า "พระเป็นเจ้าที่มีเสียงร้องของช้าง" หรืออาจจะมาจาก "โกญจนาทนฺ+อีศวร" ตามการสนธิสันสกฤตอย่างทมิฬ[2]

ประวัติ[แก้]

พระโกญจนาเนศวร์หรือพระโกญจนาทเนศวร์ ปรากฏใน คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง อธิบายว่าพระโกญจนาเนศวร์เป็นบุตรของพระอิศวรและเป็นน้องชายของพระพิฆเนศ ดังเนื้อความ[3]

"ในไตรดายุคพระอิศวรมีเทวโองการให้พระเพลิงพระทำเทวฤทธิ์เพื่อบังเกิดศิวบุตร 2 องค์ พระเพลิงรับเทวโองการและกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเป็นเปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสอง เบื้องขวาบังเกิดบุตรที่มีพระพักตร์เป็นช้างคือพระคเณศ ส่วนเบื้องซ้ายบังเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่งชื่อพระโกญจนาเนศวร มีพักตร์เป็นช้าง 3 พระพักตร์ มีพระกร 6 พระกร แต่ละพระหัตถ์กำเนิดมีช้างประเภทต่าง ๆ เช่น ช้างเอราวัณ ช้างคีรีเมฆละไตรดายุค ช้างเผือกเอก เผือกตรี เผือกโท เป็นต้น"

ใน คัมภีร์นารายณ์ยี่สิบปาง และ ตำราช้าง ได้อธิบายรูปลักษณ์ของพระโกญจนาเนศวร์ไว้ตรงกันคือมีเศียรรูปช้างสามเศียร มีกรหกกร ในพระกรทั้งหกกรจะมีช้างชนิดต่าง ๆ ทั้งของโลกและสวรรค์ คือช้างเอราวัณ ช้างเผือกชนิดต่าง ๆ และสังข์ทักขิณาวัฏในพระกรขวา และสังข์อุตราวัฏโลกในพระกรซ้าย ประทับยืนอยู่บนศีรษะของช้างเจ็ดเศียร มีบทบาททางคชศาสตร์คือสร้างช้างเผือกสำหรับพระราชาบนโลกมนุษย์[2] พระโกญจนาเนศวร์นี้มีเทวลักษณะใกล้เคียงกับตรีมุขคณปติ (พระคณบดีสามพักตร์) ปรากฏใน ตำราตัตวนิธิ ของอินเดียใต้ แต่ไม่ปรากฏบทบาทเกี่ยวกับช้างแต่อย่างใด[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. พสิษฐ์ ไชยวัฒน์ (5 พฤศจิกายน 2561). "สัมภาษณ์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง: ฮินดู...อีกมุมที่คนไทยไม่รู้จัก". ประชาไท. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม ? ผี พราหมณ์ พุทธ ?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2560, หน้า 115-118
  3. 3.0 3.1 3.2 ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (12 ตุลาคม 2560). "ครูช้าง พราหมณ์สยาม : พระคเณศกับปกรณัมแบบไทย ๆ". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)