พระกำพูฉัตร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระกำพูฉัตร
เทพผู้รักษานพปฎลมหาเศวตฉัตร
เจว็ดของพระกำพูฉัตรใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง
ส่วนเกี่ยวข้องเทพพื้นเมือง
เป็นที่นับถือในประเทศไทย

พระกำพูฉัตร เป็นเทพยดาผู้รักษานพปฎลมหาเศวตฉัตร คอยอภิบาลรักษาพระมหากษัตริย์ และราชบัลลังก์[1] เชื่อว่าสิงสถิตอยู่ในกำพู ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ร้อยซี่ค้ำฉัตรรวมเป็นกำสู่คันของนพปฎลมหาเศวตฉัตร[2] เดิมไม่มีรูปเคารพ แต่ต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริสร้างรูปเทพยดารับกำพูพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรติดไว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[3]

ประวัติ[แก้]

คติการนับถือเทพยดาประจำนพปฎลมหาเศวตฉัตร คอยอภิบาลพระมหากษัตริย์ และราชบัลลังก์ คาดว่าได้รับมาจากคติอินเดีย คือเชื่อว่าฉัตรเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ตกทอดมาแต่ศาสนาพระเวทจนถึงศาสนาพุทธสำหรับบูชาศาสนสถานหรือศาสนวัตถุ[1] หรืออาจมาจากการนับถือพระศรีหรือพระลักษมี เทพีแห่งความมั่งคั่งและโชคลาภ ซึ่งทรงสถิตอยู่ในเศวตฉัตร[3] ใน อรรถกถาเตมียชาดก กล่าวถึงเทพธิดาประจำเศวตฉัตร ซึ่งเป็นมารดาของพระเตมีย์ในชาติก่อน เป็นผู้นำให้พระเตมีย์แสร้งเป็นง่อย หูหนวก และเป็นใบ้[1][3] ในพงศาวดาร มหาวงศ์ ของลังกา ระบุว่า พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยมีพระราชประสงค์จะสร้างเจดีย์เป็นพุทธบูชา แต่ไม่มีโอกาส เพราะบ้านเมืองทุกข์เข็ญจากการถูกชาวทมิฬรุกราน ครั้นเทพธิดาประจำเศวตฉัตรทราบเข้า จึงไปบอกกับเทวดาอื่น ๆ จนไปถึงสักกเทวราช สักกเทวราชจึงให้พระวิศวกรรมเนรมิตอิฐ หิน ทองแดง สำหรับก่อสร้างแก่พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย[1]

เดิมพระกำพูฉัตรไม่มีรูปเคารพใด ๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรับปรุงนพปฎลมหาเศวตฉัตรใหม่ และจากคติการนับถือว่ามีเทวดาสิงสถิตประจำอยู่ในเศวตฉัตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริสร้างรูปเทวดารับกำพูลักษณะเป็นเจว็ด มีรูปลักษณ์เป็นเทวดาในท่าเหาะ ทำจากทองคำลงยาราชาวดีประดับอัญมณี พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือพระขรรค์ พระหัตถ์อีกข้างยกขึ้นเสมอพระเศียรกำก้านโลหะที่สอดตรึงไว้กับคันฉัตรใต้กำพู[3] ในคราวเดียวกันนั้นทรงสร้างเทพยดาอีกสององค์คือ พระราชบันฦๅธารเชิญพระแสงขรรค์พิธี และพระราชมุทธาธรเชิญหีบพระราชมุทธา[2]

ปัจจุบันรูปพระกำพูฉัตรยังถูกตรึงไว้ใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยองค์หนึ่ง และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทองค์หนึ่งตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์หนึ่งตรึงไว้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[3] และอีกองค์หนึ่งเคยตรึงไว้ที่พระราชวังบวรสถานมงคล แต่ปัจจุบันถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร[1]

ความเชื่อ[แก้]

ตามธรรมเนียมราชสำนักไทย พระมหากษัตริย์จะต้องหลั่งน้ำขอพรจากเทพยดาประจำเศวตฉัตรตามแบบแผน หากประกอบเรื่องอื้อฉาวในพระบรมมหาราชวังก็จะถือเป็นการล่วงเกินเทวดารักษาเศวตฉัตรด้วย อย่างกรณีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีจนตั้งพระครรภ์ ซึ่งถือเป็นดูถูกเทวดาในวังหลวงทำให้ประสูติการยาก ต้องแก้ไขด้วยการทำน้ำมนต์ที่จุ่มด้วยพระอังคุฐของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในขันทองให้สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีดื่ม จึงประสูติการพระราชบุตรในที่สุด แต่พระราชโอรสพระองค์นั้นมีพระชนม์ชีพเพียงวันเดียวก็สิ้นพระชนม์[1]

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงพระกำพูฉัตรในนามเทพยบุตรเจ้าซึ่งรักษาเศวตฉัตรในการสบถสาบานของข้าราชการ[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 กรกิจ ดิษฐาน (20 มกราคม 2563). "จอมพลคนสุดท้ายกับเทวดาผู้รักษาเศวตฉัตร". Gypzy World. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 "รัชกาลที่ 4 ทรงปรับปรุงพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร". ศิลปวัฒนธรรม. 25 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 พิชญา สุ่มจินดา (18 ตุลาคม 2560). "พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ตอนจบ)". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)