วัดโสธรวรารามวรวิหาร

พิกัด: 13°40′25″N 101°04′02″E / 13.6737287°N 101.0673094°E / 13.6737287; 101.0673094
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโสธรวรารามวรวิหาร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดหลวงพ่อโสธร
ที่ตั้งตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา 24000
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี
พระประธานหลวงพ่อพุทธโสธร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

วัดโสธรวรารามวรวิหาร เดิมชื่อว่า วัดหงษ์ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.98 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง

ตามตำนานเล่าว่า หลวงพ่อพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ มีรูปทรงสวยงามมาก ได้แสดงปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้จนมีลักษณะที่เห็นในปัจจุบัน

ประวัติ[แก้]

แต่เดิม หลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่น ๆ 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ มีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม พระพรหมคุณาภรณ์ (จริปุณโญ ด. เจียม กุลละวณิชย์) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 [1]

การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ [1] งานออกแบบด้านสถาปัตยกรรม โดยนายประเวศ ลิมปรังษี งานด้านวิศวกรรมโครงสร้าง โดย สำนักออกแบบนายอรุณ ชัยเสรี[2]

ศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบนับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดานจะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาล โดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ

วัดโสธรวรารามวรวิหาร เป็นวัดที่มีผู้คนมาอธิษฐานขอพรกันเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์จะมีผู้คนแวะเวียนกันมาหนาแน่นตลอดทั้งวัน หากใครประสบผลสำเร็จในคำขอพร คำบนบาน ก็มักจะมาแก้บนกันด้วยไข่ต้ม หรือ ละครรำ แต่ไข่ต้มนั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก จนทำให้การถือตะกร้าไข่ต้มในวัดแห่งนี้เป็นเรื่องปกติไปเลย

ทางวัดมีโซนจอดรถบริเวณด้านหลังวัด โดยมีพื้นที่จอดค่อนข้างกว้างขวาง สามารถรองรับผู้คนได้เป็นจำนวนมาก แต่หากมีผู้คนมาเกินกว่าที่พื้นที่ของทางวัดรองรับได้ ก็สามารถจอดรถฝั่งตรงข้ามที่เป็นส่วนของโรงเรียนได้

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 วัดโสธรวราราม วรวิหาร, กองบรรณาธิการ จดหมายข่าว วสท., ฉบับที่ 5 ตุลาคม 2551
  2. “โสธรวรารามวรวิหาร มงคลคู่แปดริ้ว,” D-Library | National Library of Thailand, accessed 18 ตุลาคม 2019, หน้าที่ 86 http://digital.nlt.go.th/digital/items/show/7350 เก็บถาวร 2019-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

13°40′25″N 101°04′02″E / 13.6737287°N 101.0673094°E / 13.6737287; 101.0673094