ข้ามไปเนื้อหา

ไนเมเคิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไนเมเคิน

Nimwegen
เมือง
A view over Nijmegen
มุมมองของเมืองไนเมเคิน
Flag of Nijmegen
ธง
Coat of arms of Arnhem
ตราอาร์ม
ประเทศเนเธอร์แลนด์
จังหวัดเกลเดอร์ลันด์
Ulpia Noviomagnus Batavorum98–102
ผู้ก่อตั้งTrajanus
การปกครอง
 • MayorTh.C. de Graaf (D66)
 • AldermenP.F.G. Depla
J.A.C. van Hooft sr.
H.T.M. Scholten
J.G. Kunst
J. van der Meer
 • SecretaryP. Eringa
พื้นที่(2006)
 • เมือง57.53 ตร.กม. (22.21 ตร.ไมล์)
 • พื้นดิน53.59 ตร.กม. (20.69 ตร.ไมล์)
 • พื้นน้ำ3.94 ตร.กม. (1.52 ตร.ไมล์)  6.8%
ความสูง7–88 เมตร (24–288 ฟุต)
ประชากร
 (4 January 2011)
 • เมือง164,272 คน
 • ความหนาแน่น3,043 คน/ตร.กม. (7,884 คน/ตร.ไมล์)
 • เขตเมือง280,079 คน
 • รวมปริมณฑล736,107 คน
 Source: Gemeente Nijmegen, [1]
เขตเวลาUTC+1 (CET)
 • ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)UTC+2 (CEST)
Postal codes6500–6547, 6663, 6679, 6683
รหัสพื้นที่024 / 0481
เว็บไซต์www.nijmegen.nl

ไนเมเคิน (ดัตช์: Nijmegen) เป็นเมืองและเทศบาลริมฝั่งแม่น้ำวาล ในจังหวัดเกลเดอร์ลันด์ทางตะวันออกของประเทศเนเธอร์แลนด์ ใกล้กับชายแดนประเทศเยอรมนี ถือว่าเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ เฉลิมฉลองครบ 2,000 ปี ในปี ค.ศ. 2005 เขตเมืองมีประชากร 736,107 คน (มกราคม ค.ศ. 2011)

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ไนเมเคินปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกในศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล เมื่อชาวโรมันตั้งค่ายทหารขึ้นเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีชัยภูมิที่ดี ล้อมรอบด้วยภูเขาและอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวาลและแม่น้ำไรน์ ทำให้มองเห็นข้าศึกได้โดยง่าย

ต่อมา ค.ศ. 69 ชาวปัตตาเวีย ชนพื้นเมืองดั้งเดิมลุกฮือต่อต้านการปกครองของจักรวรรดิโรมัน ชาวโรมันปราบปรามและสร้างค่ายทหารที่ใหญ่ขึ้นอีก ส่งผลให้หมู่บ้านรอบๆค่ายเติบโตขึ้น ต่อมาใน ค.ศ. 98 ไนเมเคินยกระดับเป็นเมืองในจักรวรรดิโรมัน เป็นเพียงหนึ่งในสองชุมชนในเนเธอร์แลนด์แรกที่ได้รับสถานะนี้

ในปี ค.ศ. 103 แม่ทัพโรมันย้ายฐานทัพไปยังบริเวณกรุงเวียนนาในปัจจุบัน ทำให้เศรษฐกิจของไนเมเคินซบเซาลง ประชากรอพยพออกจากเมืองกว่าห้าพันคน ในปีต่อมา จักรพรรดิไตรยานุสเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น Ulpia Noviomagus Batavorum หรือย่อเป็น โนวิโอมากุส (Noviomagus) อันเป็นที่มาของชื่อไนเมเคินทุกวันนี้

เมื่อจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย เมืองโนวิโอมากุสตกเป็นของราชอาณาจักรแฟรงก์ที่เรืองอำนาจขึ้นมาแทน ด้วยการตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำวาล การค้าทำให้ไนเมเคินกลับมาคึกคักอีกครั้ง จักรพรรดิในราชวงศ์การอแล็งเฌียงเคยประทับที่เมืองนี้เป็นช่วงเวลาหนึ่ง

ปี ค.ศ. 1230 ไนเมเคินมีสถานะเป็นเมืองอีกครั้งภายใต้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2เป็นผู้ปกครอง ต่อมาในปี ค.ศ. 1247 ไนเมเคินกลายเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จากเคานต์แห่งเกลเดอร์ส เมื่อเงินกู้ไม่เคยถูกชำระคืน ไนเมเคินจึงตกเป็นของเคาน์ตีเกลเดอร์สไปตลอดนับตั้งแต่นั้นมา การค้ายังคงดำเนินได้ต่อเพราะไนเมเคินเป็นส่วนหนึ่งของสันนิบาตฮันเซอตั้งแต่ปี ค.ศ 1364

แม่น้ำวาล เลียบไนเมเคิน ค.ศ. 1641

เมื่อชาวดัตช์ทำการปฏิวัติต่อต้านการปกครองของสเปนในช่วงสงครามแปดสิบปี สาธารณรัฐดัตช์ที่ประกาศเอกราชต่อสเปนเข้ายึดครองไนเมเคินได้ในปี ค.ศ. 1591 กลายเป็นพรมแดนกั้นระหว่างดินแดนเนเธอร์แลนด์ใหม่กับส่วนที่ยังตกเป็นของสเปน จนกระทั่ง ค.ศ. 1648 มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย รับรองเอกราชของเนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ

ไนเมเคินเป็นสถานที่ลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกหลายฉบับระหว่าง ค.ศ. 1678-1679 เพื่อยุติสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับฮอลแลนด์

ศาลาว่าการไนเมเคิน (ซ้าย) ราว ค.ศ. 1900

ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 แนวกำแพงโบราณกลายเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากประชากรอพยพเข้ามาอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองมากเกินไป แต่ทางการไม่สามารถทำลายกำแพงเมืองลงได้เพราะมีความสำคัญต่อการป้องกันประเทศของเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ากำแพงเมืองโบราณล้าสมัยและไม่สามารถใช้ป้องกันได้จริงในศึกสงครามสมัยใหม่ ทางการจึงได้เปลี่ยนนโยบาย กำแพงถูกรื้อในปี ค.ศ. 1874 เกิดการขยายเมืองออกไปรอบนอก

นับแต่นั้นมาจนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ไนเมเคินเติบโตอย่างต่อเนื่อง สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำวาลสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1878 และสะพานรถยนต์แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1936 เป็นสะพานที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในสมัยนั้น มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรัดเบาด์ไนเมเคินในปี ค.ศ. 1923 และขุดคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำวาลและแม่น้ำเมิซในปี ค.ศ. 1927

ไนเมเคินเป็นเมืองแรกในเนเธอร์แลนด์ที่ถูกนาซีเยอรมนียึดครองในสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1940 การต่อสู้ที่ดุเดือดในสงครามทำให้บ้านเมืองได้รับความเสียหายอย่างหนักเนื่องจากไนเมเคินเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในสงคราม โดยเฉพาะยุทธการต่างๆในเดือนกันยายน ค.ศ. 1944

ปัจจุบัน แนวคิดทางการเมืองของไนเมเคินค่อนข้างเด่นชัดว่านิยมฝ่ายซ้าย ได้รับสมญานามว่า "กรุงอาบานาแห่งแม่น้ำวาล" พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายมักได้รับการรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรรคครุนลิงกส์ พรรคประชาธิปัตย์ 66 พรรคสังคมนิยม และพรรคแรงงาน

อ้างอิง

[แก้]