โชติ คุ้มพันธ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดร.โชติ คุ้มพันธ์

โชติ คุ้มพันธ์ เป็นชาวจังหวัดปทุมธานี เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษา เข้าสมัครเป็นเสมียนกรมศุลกากร ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้อาสาสมัครเข้าเป็นพลทหาร ตำแหน่งพลขับ เมื่อกลับมาแล้วรับจ้างเป็นกะลาสีในเรือ แล้วจึงไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี สถานที่เคยอาสาไปรบ จนกระทั่งเรียนจนได้ปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อกลับมาแล้วเข้าทำงานธนาคาร โดยเป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มตั้งธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้น

ในทางการเมือง ดร.โชติ คุ้มพันธ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรประเภทที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย และเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตย โดยมีสมาชิกคนสำคัญเช่น นายสอ เสถบุตร, ร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ เป็นต้น เคยถูกจับกุมในข้อหากบฏคิดล้มล้างรัฐบาลในกรณีกบฏพระยาทรงสุรเดช ได้ถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็ถูกเนรเทศไปจำที่ทัณฑนิคมเกาะเต่า สุราษฎร์ธานี พร้อมกับหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน นักโทษการเมืองคดีเดียวกันอีกคนที่หนึ่งด้วย

เมื่อพ้นโทษออกมา ได้กลับมาสู่เส้นทางทางการเมืองใหม่ ได้รับฉายาว่า "ผู้แทนคนยาก" เนื่องจากเป็นผู้ที่ริเริ่มการหาเสียงด้วยโทรโข่ง ไปพบปะกับชาวบ้านด้วยการเดินหาเสียงตามบ้านเรือน ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 เนื่องจากไม่มีทุนรอนในการหาเสียง จึงใช้วิธีตะโกนพูดผ่านโทรโข่งบนอานรถสามล้อถีบ พูดท่ามกลางชุมชนตามตลาดบ้าง ตามลานวัดเก่า ๆ บ้าง มีคนถีบสามล้อเป็นขบวนนำ หยุดพูดที่ไหนก็ให้ ดร.โชติ ยืนสองเท้าเหยียบบนอานรถสองคันตะโกนใส่ลำโพง โดยหาเสียงไปพร้อมกับ นายควง อภัยวงศ์ และ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งต่างก็ใช้วิธีด้วยเช่นกัน

ต่อมา เมื่อมีการก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้น ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคด้วย โดยยุบพรรคประชาธิปไตยของตนเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์

ก่อนจะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดให้มีงานการกุศลที่สวนอัมพร ดร.โชติ ได้เป็นผู้ถีบรถสามล้อ โดยมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้นั่ง เพื่อเก็บเงินเพื่อการกุศลด้วย

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นายควง อภัยวงศ์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้ลาออกจากพรรคไป ดร.โชติ เป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคที่ลาออกไปด้วย และถึงแก่กรรมลงอย่างเงียบ ๆ ในปี 2514 [1] [2]

อ้างอิง[แก้]

  1. การรื้อสร้าง ๒๔๗๕ : ฝันจริงของนักอุดมคติ "น้ำเงินแท้" โดย ณัฐพล ใจจริง, ศิลปวัฒนธรรม: วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 27 ฉบับที่ 02
  2. [ลิงก์เสีย] ผู้แทนราษฏร จากสกุลไทย