ข้ามไปเนื้อหา

เพชรคัลลินัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เพชรคัลลินัน 1-9
Cullinan I-IX
เพชรคัลลินันดิบก่อนเจียระไน (บน) และเพชรคัลลินันทั้งเก้าชิ้นใหญ่ที่สุดหลังตัดแบ่ง (ล่าง)
น้ำหนัก3106.75 กะรัต (603.35 กรัม)
รูปแบบเหลี่ยมเพชรหลายแบบ
สถานที่ค้นพบ แอฟริกาใต้
แหล่งกำเนิดเหมืองพรีเมียร์ พริทอเรีย
วันที่ค้นพบ26 มกราคม ค.ศ. 1905
ผู้เจียระไนAsscher Brothers
ผู้ค้นพบPremier Diamond Mining Co.
ผู้ครอบครองเม็ดที่ 1-2 ครอบครองโดย สำนักพระราชวังอังกฤษ และเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร, เม็ดที่ 3-9 ครอบครองโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นการส่วนพระองค์
มูลค่าโดยประมาณมากกว่า 78,000 ล้านบาท[1]

เพชรคัลลินัน (อังกฤษ: Cullinan diamond) เป็นเพชรคุณภาพอัญมณีดิบ (rough gem-quality) ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบ หนัก 3,106.75 กะรัต (621.35 กรัม) มีความยาวประมาณ 10.5 ซม. (4.1 นิ้ว) ค้นพบเมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1905 ในเหมืองพรีเมียร์ 2 ใกล้กับกรุงพริทอเรีย ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเพชรกาญจนาภิเษกที่ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2528 หนัก 545.67 กะรัต (109.13 กรัม) ก็จากเหมืองพรีเมียร์แห่งเดียวกัน

พลอยที่เจียระไนแล้วชิ้นใหญ่ที่สุดนั้นได้ชื่อว่า คัลลินัน 1 หรือดาวใหญ่แห่งแอฟริกา (Great Star of Africa) หนัก 530.4 กะรัต (106.1 กรัม)[2] พลอยชิ้นนี้จึงเป็นเพชรขัดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบัน คัลลินัน 1 ถูกติดไว้ที่ส่วนหัวของคทากางเขน (Sceptre with the Cross) ซึ่งเป็นคทาประจำพระมหากษัตริย์อังกฤษ เพชรชิ้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองจากหินคัลลินัน ชื่อ คัลลินัน 2 หรือดาวเล็กแห่งแอฟริกา (Lesser Star of Africa) หนัก 317.4 กะรัต (63.5 กรัม) เป็นเพชรขัดใหญ่ที่สุดอันดับสี่ของโลก เพชรทั้งสองนี้อยู่ในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร (Crown Jewels of the United Kingdom)

ประวัติ

[แก้]

เพชรคัลลินันค้นพบโดยทอมัส อีวาน พาวเวลล์ (Thomas Evan Powell) นักขุดซึ่งนำขึ้นมาจากเหมืองและมอบให้กับผู้จัดการ คือ เฟรเดอริก เวลส์ แห่งเหมืองพรีเมียร์ (Premier Mine) ในเมืองคัลลินัน ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1905 เพชรนี้ถูกตั้งชื่อตามเซอร์ทอมัส คัลลินัน (Sir Thomas Cullinan) ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเหมืองเพชรแห่งนี้

แบบจำลองจากแก้วของเพชรคัลลินันทั้ง 9 ชิ้น

เซอร์วิลเลียม ครุกส์ (Sir William Crookes) เป็นผู้วินิจฉัยเพชรคัลลินันก่อนการตัดแบ่งและเจียระไน และพบว่าเพชรนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่ความสว่างใส (clarity) แต่พบจุดสีดำอยู่ตรงกลาง สีสันของเพชรบริเวณรอบ ๆ จุดดำนั้นมีสีสันสวยงามและเปลี่ยนไปตามเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ โดยเขาคิดว่าเกิดจากความเครียดภายในของอัญมณี ซึ่งพบได้ค่อนข้างยากในเพชร[3]

จากนั้นเพชรดิบนี้ได้ถูกรัฐบาลของอาณานิคมทรานส์วาล (Transvaal Colony) ซื้อและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแก่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักรในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์.[4][5]

ต่อมาเพชรดิบนี้ได้ถูกตัดแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ ๆ โดยบริษัท รอยัล แอสเชอร์ ไดมอนด์ จำกัด (Royal Asscher Diamond Company) แห่งอัมสเตอร์ดัม และต่อมาเป็น 9 ชิ้นกับเศษเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะนั้น เทคโนโลยีไม่ได้เอื้ออำนวยเพื่อรับประกันคุณภาพของการเจียระไนเพชรดังในปัจจุบัน ซึ่งการตัดแบ่งเพชรในสมัยนั้นถือว่าเป็นงานที่ยากลำบาก และเสี่ยงมาก จึงได้มีการออกแบบอย่างระมัดระวัง โดยทำรอยบากไว้ก่อนที่ความลึกครึ่งนิ้ว และจากนั้นได้สอดมีดที่ออกแบบมาพิเศษนั้น และทำการผ่าออกด้วยแรงมหาศาล ซึ่งทำให้เพชรดิบนี้ถูกแบ่งตรงจุดตำหนิพอดีซึ่งทั้งสองชิ้นนี้ได้แบ่งจุดตำหนิไปเท่า ๆ กัน[6]

เพชรคัลลินันหลังจากการเจียระไน

[แก้]

เพชรคัลลินันนั้นถูกแบ่งเจียระไนเป็นทั้งหมด 9 เม็ดใหญ่ ๆ และอีก 96 เม็ดย่อย สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประดับเพชรคัลลินัน 1 และคัลลินัน 2 ไว้ที่คทากางเขน และมงกุฎอิมพีเรียลสเตต ตามลำดับ ที่เหลืออีก 7 เม็ด และเม็ดย่อยทั้ง 96 เม็ดนั้นยังอยู่ในกรรมสิทธิ์ของบริษัทเมสเซอร์ ไอ เจ แอสเชอร์ แห่งอัมส์เตอร์ดัม ซึ่งเป็นบริษัทที่ตัดแบ่งและเจียระไนเพชรคัลลินันทั้งหมด จนกระทั่งรัฐบาลแอฟริกาใต้]]นั้นขอซื้อไว้ทั้งหมด[7] และสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสมาพันธ์แอฟริกาได้ทูลเกล้าฯถวายแด่สมเด็จพระราชินีแมรีเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1910[8]

ชื่อ ขนาด (กะรัต) ทรง ประดับที่[9]
คัลลินัน 1[10] 530.2 กะรัต หยดน้ำ ประดับอยู่ที่บริเวณยอดของพระคทากางเขน ซึ่งสามารถถอดออกมาเป็นเข็มกลัดประดับคู่กับคัลลินัน 2 ได้
คัลลินัน 2 317.4 กะรัต สี่เหลี่ยมผืนผ้า ประดับไว้บริเวณฐานด้านหน้าของมงกุฎอิมพีเรียลสเตต ซึ่งใช้ทรงร่วมกับพระคทากางเขน
คัลลินัน 3[11] 94.4 กะรัต หยดน้ำ[12] เคยประดับอยู่เหนือลูกโลกบริเวณยอดมงกุฎพระราชินีแมรี ในปัจจุบันอยู่รวมกันกับคัลลินัน 4 บนเข็มกลัดประดับ
คัลลินัน 4[13] 63.6 กะรัต สี่เหลี่ยมจัตุรัส เคยประดับบริเวณฐานด้านหน้าของมงกุฎพระราชินีแมรี ในปัจจุบันอยู่รวมกันกับคัลลินัน 3 บนเข็มกลัดประดับ
คัลลินัน 5 18.8 กะรัต หัวใจ ประดับตรงกลางของเข็มกลัดประดับคัลลินัน 5 ตัวเรือนทำจากแพลตตินัม ซึ่งเป็นส่วนประดับตรงกลางของแผงประดับหน้าอก ของชุดอัญมณีประดับเพชรและมรกตแห่งเดลี เดอร์บาร์ (The Diamond and Emerald Delhi Durbar Parure)
คัลลินัน 6 11.5 กะรัต มาร์กีส (ทรงข้าวสาร) ห้อยอยู่จากเข็มกลัดประดับซึ่งมีคัลลินัน 8 ประดับตรงกลางบนเรือนแพลตตินัมประดับเพชร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผงประดับหน้าอก ของชุดอัญมณีประดับเพชรและมรกตแห่งเดลี เดอร์บาร์ (The Diamond and Emerald Delhi Durbar Parure)
คัลลินัน 7 8.8 กะรัต มาร์กีส (ทรงข้าวสาร) ห้อยอยู่จากสร้อยพระศอเดลี เดอร์บาร์ (Delhi Durbar Necklace with Cullinan VII Pendant) ซึ่งทำจากมรกต 9 ชิ้นประดับเพชรคัลลินัน 7 บริเวณปลายฝั่งหนึ่ง คู่กับอีกปลายหนึ่งซึ่งเป็นมรกตขนาดใหญ่กว่า สร้อยพระศอนี้สร้างขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของชุดอัญมณีประดับเพชรและมรกตแห่งเดลี เดอร์บาร์ (The Diamond and Emerald Delhi Durbar Parure) สำหรับสมเด็จพระราชินีแมรี
คัลลินัน 8 6.8 กะรัต เหลี่ยมขอบมน ประดับตรงกลางของเข็มกลัดประดับ เรือนทำด้วยแพลตตินัม และห้อยด้วยคูลลินัน 6 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า จัดเป็นส่วนหนึ่งของแผงประดับหน้าอก ของชุดอัญมณีประดับเพชรและมรกตแห่งเดลี เดอร์บาร์ (The Diamond and Emerald Delhi Durbar Parure)
คัลลินัน 9 4.4 กะรัต หยดน้ำ ประดับอยู่บนพระธำมรงค์(แหวน) ของสมเด็จพระราชินีแมรี

อ้างอิง

[แก้]
  1. https://www.borro.com/uk/insights/blog/most-expensive-diamonds/
  2. Overview of the different Cullinan diamonds
  3. "Crookes: Diamonds (1909) Page 78". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-02-01. สืบค้นเมื่อ 2013-06-20.
  4. "Goodchild: Precious Stones (1908) Page 140". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-07. สืบค้นเมื่อ 2013-06-20.
  5. Crookes: Diamonds (1909) Page 77 เก็บถาวร 2012-11-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (A photo of the rough Cullinan, marked as number 17, is facing page 80.)
  6. "Crookes: Diamonds (1909) Page 79". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-07. สืบค้นเมื่อ 2013-06-20.
  7. ยกเว้นเพชรคัลลินัน 6 ซึ่งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงซื้อไว้และพระราชทานแก่สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราในปีค.ศ. 1907 ซึ่งต่อมาทรงพระราชทานให้เป็นมรดกแก่สมเด็จพระราชินิแมรี
  8. ’’The Queen's Jewels. The Personal Collection of Elizabeth II.’’ Leslie Field. Harry N. Abrams, Incorporated, @ 1987. Times Mirror Books. INBN 0-8109-1525-1. p. 72.
  9. ข้อมูลจากหนังสือ ‘’The Queen's Jewels. The Personal Collection of Elizabeth II’’ หน้า 72–77
  10. Also known as the Great Star of Africa.
  11. First of the Lesser Stars of Africa
  12. First of the Lesser Stars of Africa.
  13. Second of the Lesser Stars of Africa.