ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงคิกูโกะ พระชายาในเจ้าชายโนบูฮิโตะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงคิกูโกะ
เจ้าหญิงพระชายา
ประสูติ26 ธันวาคม พ.ศ. 2454
โตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
สิ้นพระชนม์18 ธันวาคม พ.ศ. 2547 (92 ปี)
โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
พระภัสดาเจ้าชายโนบูฮิโตะ ทากามัตสึโนะมิยะ (พ.ศ. 2473–2530)
ราชวงศ์ญี่ปุ่น (เสกสมรส)
พระบิดาโยชิฮิซะ โทกูงาวะ
พระมารดาเจ้าหญิงมิเอโกะแห่งอาริซูงาวะ

เจ้าหญิงคิกูโกะ พระชายาในเจ้าชายโนบูฮิโตะ (ญี่ปุ่น: 宣仁親王妃喜久子โรมาจิNobuhito Shinnōhi Kikuko; 26 ธันวาคม พ.ศ. 2454 – 18 ธันวาคม พ.ศ. 2547) มีพระนามเดิมว่า คิกูโกะ โทกูงาวะ (ญี่ปุ่น: 徳川喜久子โรมาจิTokugawa Kikuko) เป็นพระชายาในเจ้าชายโนบูฮิโตะ ทากามัตสึโนะมิยะ[1] เป็นพระสุณิสาในจักรพรรดิไทโช และเป็นพระปิตุลานีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ

พระประวัติ

[แก้]

พระชนม์ชีพตอนต้น

[แก้]

เจ้าหญิงคิกูโกะประสูติเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2454 หรือพระนามเดิมคิกูโกะ โทกูงาวะ เป็นธิดาคนที่สองของโยชิฮิซะ โทกูงาวะ กับมิเอโกะ โทกูงาวะ (พระนามเดิม เจ้าหญิงมิเอโกะแห่งอาริซูงาวะ) บิดาเป็นบุตรของโยชิโนบุ โทกูงาวะ โชกุนคนสุดท้ายของญี่ปุ่น ส่วนมารดาเป็นพระธิดาในเจ้าชายทาเกฮิโตะ อาริซูงาวะโนะมิยะ ทายาทรุ่นที่ 7 ของตำแหน่งเจ้าชายอาริซูงาวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ราชสกุลที่สืบมาแต่สมัยเอโดะ

คิกูโกะสำเร็จการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกากูชูอิงซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วน จนเมื่อมีอายุได้ 18 ปี คิกูโกะจึงได้หมั้นกับเจ้าชายโนบูฮิโตะ ทากามัตสึโนะมิยะ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในลำดับที่สามของการสืบราชบัลลังก์ญี่ปุ่น

เสกสมรส

[แก้]

เธอได้เสกสมรสกับเจ้าชายโนบูฮิโตะ ทากามัตสึโนะมิยะ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ที่จัดขึ้นภายในพระราชวังอิมพีเรียล หลังการเสกสมรสได้เพียงไม่นานทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ ไปประกอบพระกรณียกิจในต่างประเทศ ก่อนจะเสด็จฯ นิวัตกลับมายังประเทศญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2474 และเข้าพำนักในทากานาวะ เขตมินาโตะ กรุงโตเกียว

เจ้าชายโนบูฮิโตะและเจ้าหญิงคิกูโกะทรงครองคู่มายาวนานแต่ไม่มีพระโอรส-ธิดาด้วยกัน จนกระทั่งพระสวามีสิ้นพระชนม์เสียก่อนในปี พ.ศ. 2530

ปลายพระชนม์ชีพ

[แก้]
เจ้าชายโนบูฮิโตะและเจ้าหญิงคิกูโกะในเบอร์ลิน พ.ศ. 2473

เจ้าหญิงคิกูโกะได้เป็นพระกุลเชษฐ์ที่มีพระชันษาสูงที่สุดของราชวงศ์ญี่ปุ่น หลังจากการสวรรคตของจักรพรรดินีโคจุง พระราชชนนีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะในปี พ.ศ. 2543

เมื่อครั้งการประสูติกาลของเจ้าหญิงไอโกะ พระธิดาเพียงพระองค์เดียวในมกุฎราชกุมารนารูฮิโตะ และมกุฎราชกุมารีมาซาโกะ พระองค์ถือเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชบัลลังก์ของฝ่ายในต่อสาธารณชน[2] โดยทรงนิพนธ์บทความลงในนิตยสารฟูจิง-โกรง ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือน ซึ่งภายในมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแนวความคิดที่จะให้ฝ่ายในสามารถสืบราชสมบัติได้[1]

"ข้าพเจ้าคิดว่ามันเป็นไปได้ที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในสามารถครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 127 และก็ไม่เป็นการแปลกอันใด เมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของญี่ปุ่น"[1]

เจ้าหญิงคิกูโกะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ณ ศูนย์การแพทย์เซนต์ลู้ก กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังเสด็จฯ เข้ารับการรักษาพระโรคบ่อยครั้งตามพระชันษา สิริพระชันษา 92 ปี โดยมีการจัดพระราชพิธีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง ณ สุสานโทชิมางาโอกะ เขตบุงเกียว กรุงโตเกียว[3]

พระเกียรติยศ

[แก้]

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 26 ธันวาคม พ.ศ. 2454 – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 : เลดีคิกูโกะ โทกูงาวะ
  • 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 – 18 ธันวาคม พ.ศ. 2547 : เจ้าหญิงคิกูโกะ พระชายาฯ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Princess backs Japan succession change". BBC. News. 7 January 2002. สืบค้นเมื่อ 7 October 2010.
  2. เรื่องราวของเจ้าหญิงมาซาโกะและเจ้าหญิงไอโกะ
  3. "News24.com Japanese Princess buried". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-13. สืบค้นเมื่อ 2011-10-06.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]