ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าหญิงเซ็ตสึโกะ พระชายาในเจ้าชายยาซูฮิโตะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงเซ็ตสึโกะ
เจ้าหญิงพระชายา
ประสูติ9 กันยายน พ.ศ. 2452
วอลทัน-ออน-เทมส์ มณฑลเซอร์รีย์ สหราชอาณาจักร
สิ้นพระชนม์25 สิงหาคม พ.ศ. 2538 (85 ปี)
โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
พระสวามีเจ้าชายยาซูฮิโตะ ชิจิบุโนะมิยะ (พ.ศ. 2471–2496)
ราชวงศ์ญี่ปุ่น (เสกสมรส)
พระบิดาสึเนโอะ มัตสึไดระ
พระมารดาโนบูโกะ นาเบชิมะ

เจ้าหญิงเซ็ตสึโกะ พระชายาในเจ้าชายยาซูฮิโตะ (ญี่ปุ่น: 雍仁親王妃勢津子โรมาจิYasuhito Shinnōhi Setsuko; 9 กันยายน พ.ศ. 2452 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2538) พระนามเดิม เซ็ตสึโกะ มัตสึไดระ (ญี่ปุ่น: 松平節子โรมาจิMatsudaira Setsuko) เป็นพระชายาในเจ้าชายยาซูฮิโตะ ชิจิบุโนะมิยะ พระราชโอรสในจักรพรรดิไทโชและจักรพรรดินีเทเม

ทั้งนี้พระองค์เป็นพระประยูรญาติของเจ้านายหลายพระองค์ เช่น เจ้าหญิงนางาโกะแห่งคูนิ (ต่อมาคือจักรพรรดินีโคจุง) และเจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ (ต่อมาคือเจ้าหญิงพังจา พระชายาในมกุฎราชกุมารอึยมิน) และยังเป็นหนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ญี่ปุ่นที่พระราชวงศ์อังกฤษโปรดปราน โดยเฉพาะเจ้าชายชาลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ออกพระโอษฐ์อยู่เสมอว่าเจ้าหญิงเซ็ตสึโกะเป็น "พระอัยยิกาชาวญี่ปุ่น"[1]

พระประวัติ

[แก้]

พระประวัติตอนต้นและพื้นฐานครอบครัว

[แก้]

เจ้าหญิงเซ็ตสึโกะประสูติเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2452 ณ วอลทัน-ออน-เทมส์ มณฑลเซอร์รีย์ สหราชอาณาจักร เป็นธิดาของสึเนโอะ มัตสึไดระ ผู้เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐ, เกรตบริเตน และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักพระราชวังญี่ปุ่น กับโนบูโกะ (สกุลเดิม นาเบชิมะ) ภริยา

แม้พระองค์จะมีพระชาติกำเนิดเป็นสามัญชน แต่บุรพชนทั้งฝ่ายพระชนกและพระชนนีก็ล้วนแต่สืบสันดานมาแต่ตระกูลขุนนางและชนชั้นสูงเก่าแก่ของญี่ปุ่น อาทิ คาตาโมริ มัตสึไดระ พระอัยกาฝ่ายพระชนก เป็นไดเมียวแห่งไอซุ และตระกูลมัตสึไดระก็เป็นสาขาย่อยของตระกูลโทกูงาวะ ส่วนนาโอฮิโระ นาเบชิมะ พระอัยกาฝ่ายพระชนนี เป็นไดเมียวแห่งซางะ และอิตสึโกะ พระมาตุจฉาเป็นพระชายาในเจ้าชายโมริมาซะ นาชิโมโตะโนะมิยะ มีพระธิดาคือเจ้าหญิงมาซาโกะแห่งนาชิโมโตะ (ต่อมาคือเจ้าหญิงพังจา พระชายาในมกุฎราชกุมารอึยมิน) และเจ้านายพระองค์นี้ยังเป็นพระปิตุลาของเจ้าหญิงนางาโกะแห่งคุนิ (ต่อมาคือจักรพรรดินีโคจุง)[2]

ในปี พ.ศ. 2468 เจ้าหญิงทรงเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนซิดเวลเฟรนส์ (Sidwell Friends School) ในวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ ช่วงปี พ.ศ. 2468–2471 เพราะย้ายตามพระชนกผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐในขณะนั้น[3] ครั้นเมื่อนิวัตมาตุภูมิ จักรพรรดินีเทเมทรงเลือกพระองค์ไว้สำหรับเสกสมรสกับเจ้าชายยาซูฮิโตะ ชิจิบุโนะมิยะ แต่เพราะพระสถานะไม่เหมาะสมกัน ด้วยเหตุนี้เจ้าหญิงเซ็ตสึโกะจึงถูกยกเป็นบุตรบุญธรรมของไวเคานต์โมริโอะ มัตสึไดระ พระปิตุลาที่เป็นขุนนางผู้สูงชั้นกว่าพระชนก เพื่อลดความไม่เหมาะสมกับการเสกสมรสเข้าไปในพระราชวงศ์ หลังจากนั้นเป็นต้นมาเจ้าหญิงเซ็ตสึโกะจึงมีพระสถานะเป็นบุตร (บุญธรรม) ของไวเคานต์[4]

เสกสมรส

[แก้]
เจ้าชายยาซูฮิโตะและพระชายาในพระราชพิธีเสกสมรส

เจ้าชายยาซูฮิโตะ ชิจิบุโนะมิยะ เสกสมรสกับนางสาวเซ็ตสึโกะเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2471 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าหญิงพระชายา พระองค์ทรงครรภ์เพียงครั้งเดียวและทรงตก และมิได้ประสูติพระโอรส-ธิดาอีกเลยแม้แต่พระองค์เดียว[5]

พ.ศ. 2480 เจ้าชายยาซูฮิโตะ ชิจิบุโนะมิยะและพระชายาได้ประกอบพระกรณียกิจเป็นตัวแทนของพระราชวงศ์ญี่ปุ่นเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติต่าง ๆ ในทวีปยุโรป อาทิเดือนพฤษภาคมได้เสด็จไปร่วมพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักรกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ หลังจากนั้นได้เสด็จเยือนประเทศสวีเดนและเนเธอร์แลนด์ในฐานะพระอาคันตุกะในพระเจ้ากุสตาฟที่ 5 และสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮลมินา และในช่วงท้ายของการเสด็จเยือน เจ้าชายยาซูฮิโตะเสด็จไปเนือร์นแบร์กเพื่อเข้าพบอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ส่วนเจ้าหญิงเซ็ตสึโกะประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งโดยส่วนพระองค์นั้นทรงรักสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งอย่างหลังนี้เห็นจะเป็นที่โปรดที่สุด เพราะพระองค์นั้นนิยมอังกฤษ (anglophile) และทรงรู้สึกเศร้าพระทัยยิ่งที่จักรวรรดิญี่ปุ่นนั้นเลือกเข้าฝ่ายอักษะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ปัจฉิมวัย

[แก้]

เจ้าหญิงเซ็ตสึโกะทรงอยู่อย่างลำพัง หลังเจ้าชายยาซูฮิโตะ ชิจิบุโนะมิยะ พระสวามีได้สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2496 เนื่องจากวัณโรค หลังจากนั้นเป็นต้นมาเจ้าหญิงเซ็ตสึโกะได้ทรงงานในกิจการต่าง ๆ เป็นต้นว่า เป็นองค์ประธานของสมาคมเพื่อการป้องกันวัณโรค (Society for the Prevention of Tuberculosis), องค์ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมบริเตน-ญี่ปุ่น, องค์ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมสวีเดน-ญี่ปุ่น และเป็นรองประธานกิตติมศักดิ์สภากาชาดญี่ปุ่น

ทั้งนี้เจ้าหญิงเซ็ตสึโกะทรงมีความชำนาญในการใช้ภาษาอังกฤษ และเสด็จเยือนสหราชอาณาจักรและประเทศสวีเดนแบบกึ่งทางการหลายครั้ง

เจ้าหญิงเซ็ตสึโกะ พระชายาฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2538 ด้วยอาการพระหทัยพิการ สิริพระชันษา 85 ปี[6] และมีพระราชพิธีปลงพระศพ ณ ป่าช้าโทชิมางาโอกะ เขตบุงเกียว โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น[5]

พระเกียรติยศ

[แก้]

พระอิสริยยศ

[แก้]
  • 9 กันยายน พ.ศ. 2452 – 28 กันยายน พ.ศ. 2471 : เดอะออนะระเบิลเซ็ตสึโกะ มัตสึไดระ
  • 28 กันยายน พ.ศ. 2471 – 25 สิงหาคม พ.ศ. 2538 : เจ้าหญิงเซ็ตสึโกะ พระชายาฯ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Dorothy Britton. "Prince and Princess Chichibu, Two Lives Lived Above and Below the Clouds". Japan Society of the UK (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-22. สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. Ancestry - Princess Nashimoto Masako
  3. เอเลนอร์ โรสเวลต์. "28 พฤษภาคม 2496". My Day column (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 11 สิงหาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. Deceased Members and Former Members of the Imperial Family
  5. 5.0 5.1 Matsudaira Setsuko Chichibu
  6. Deceased Members and Former Members of the Imperial Family[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]