ข้ามไปเนื้อหา

อีซาแบลแห่งฝรั่งเศส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อีซาแบลแห่งฝรั่งเศส
สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
ดำรงพระยศ25 มกราคม ค.ศ. 1308 -
20 มกราคม ค.ศ. 1327
พระราชสมภพราว ค.ศ. 1295
ปารีส ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
สวรรคต22 สิงหาคม ค.ศ. 1358 (ประมาณ 63 พรรษา)
คู่อภิเษกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ
พระราชบุตรพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ
ราชวงศ์แพลนทาเจเน็ท
พระราชบิดาพระเจ้าฟีลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศส
พระราชมารดาสมเด็จพระราชินีนาถฌานที่ 1 แห่งนาวาร์

อีซาแบลแห่งฝรั่งเศส ( อังกฤษ: Isabella of France;ฝรั่งเศส: Isabelle de France; ค.ศ.1295 - 22 สิงหาคม ค.ศ.1358) บางครั้งถูกบรรยายไว้ว่าเป็น นางหมาป่าแห่งฝรั่งเศส เป็นพระราชินีแห่งอังกฤษในฐานะพระมเหสีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ.1326 จนถึง ค.ศ.1330 พระองค์เป็นพระราชบุตรที่รอดชีวิตคนสุดท้องและพระธิดาคนเดียวของพระเจ้าฟีลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศสกับสมเด็จพระราชินีนาถฌานที่1 แห่งนาวาร์ พระราชินีอีซาแบลเป็นที่เลื่องลือในตอนนั้นในเรื่องของความงาม, ทักษะการทูต และความเฉลียวฉลาด

พระราชินีอีซาแบลเสด็จถึงอังกฤษเมื่อพระชนมายุได้ 12 พรรษา[1] ในช่วงยุคแห่งความขัดแย้งที่เติบโตขึ้นระหว่างกษัตริย์กับกลุ่มของบารอนที่มีอำนาจ พระสวามีคนใหม่ของพระองค์มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ในเรื่องของการอุปถัมภ์ค้ำชูคนโปรดของพระองค์ เพียซ กาเวสตัน จนมากเกินควร แต่พระราชินีสนับสนุนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในช่วงปีแรกๆ ทรงสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นไปด้วยดีกับเพียซและใช้ความสัมพันธ์กับระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศสของพระองค์ค้ำจุนพลังและอำนาจของตนเอง ทว่าหลังการตายด้วยน้ำมือของพวกบารอนของเพียซ กาเวสตันใน ค.ศ.1312 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดหันไปหาคนโปรดคนใหม่ ฮิวจ์ เดสเปนเซอร์ ผู้ลูก และพยายามเอาคืนพวกบารอน ผลที่ได้คือสงครามเดสเปนเซอร์และยุคแห่งความเก็บกดภายในประเทศทั่วทั้งอังกฤษ อีซาแบลไม่สามารถทนกับฮิวจ์ เดสเปนเซอร์ได้และใน ค.ศ.1325 ชีวิตแต่งงานกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดของพระองค์ก็มาถึงจุดแตกหัก

ทรงเดินทางไปฝรั่งเศสภายใต้การอำพรางว่าเป็นภารกิจทางการทูต ราชินีอีซาแบลเริ่มต้นความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ และทั้งสองตกลงใจที่จะปลดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดลงจากตำแหน่งและขับไล่ตระกูลเดสเปนเซอร์ออกไป พระราชินีกลับมาอังกฤษพร้อมกับกองทัพทหารรับจ้างกลุ่มเล็กๆ ใน ค.ศ.1326 รีบเคลื่อนตัวไปทั่วอังกฤษอย่างรวดเร็ว กองทัพของกษัตริย์ทอดทิ้งพระองค์ พระราชินีอีซาแบลปลดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดลงจากตำแหน่ง ทรงกลายเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในนามของพระโอรส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 หลายคนเชื่อว่าหลังจากนั้นพระราชินีอีซาแบลจัดการฆาตกรรมพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 รัชสมัยของพระราชินีอีซาแบลกับมอร์ติเมอร์เริ่มแตกเป็นเสี่ยงๆ ส่วนหนึ่งเพราะการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่ายของพระองค์ แต่ก็เป็นเพราะการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่สำเร็จแต่ไม่เป็นที่นิยมของพระราชินี เช่น สงครามกับสกอตแลนด์ ด้วย

ใน ค.ศ.1330 พระราชโอรสของอีซาแบล พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ปลดมอร์ติเมอร์ลงจาตำแหน่งบ้าง ทรงยึดเอาอำนาจของพระองค์กลับมาและประหารชีวิตคนรักของพระราชินีอีซาแบล ทว่าพระราชินีไม่ได้ถูกลงโทษ และชีวิตที่เหลืออยู่อีกหลายปีของพระองค์มีความสำคัญ—แม้จะไม่ใช่ที่ราชสำนักของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด—จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.1358

ชีวิตช่วงต้นและการอภิเษกสมรส

[แก้]
พระญาติทางฝรั่งเศสของพระราชินีอีซาแบล วาดใน ค.ศ.1315: จากซ้ายไปขวา: พระเชษฐา ชาร์ล, ฟิลิป, พระราชินีอิซาเบลลา, พระบิดา พระเจ้าฟิลิปที่ 4, พระเชษฐา หลุยส์ และพระปิตุลา (อา) ชาร์ลแห่งวาลัวส์ (หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส)

อีซาแบลแห่งฝรั่งเศสเสด็จพระราชสมภพในปารีส ทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าฟิลิปที่ 4 แห่งฝรั่งเศสกับสมเด็จพระราชินีนาถฌานที่ 1 แห่งนาวาร์ พระราชธิดาของพระเจ้าอ็องรีที่ 1 แห่งนาวาร์ ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับการเสด็จพระราชสมภพของพระองค์เหลือรอดอยู่ แต่การคำนวณจากวันอภิเษกสมรสทำให้เข้าใจว่าอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤษจิกายน ค.ศ.1295

พระราชินีอีซาแบลใช้เวลาในวัยเด็กในชาโต เดอ ลูฟร์และปาเลส์ เดอ ลา ซิเต ในปารีส พระองค์ได้รับการดูแลโดยธีโอฟาเนีย เดอ แซ็งต์-ปิแอร์ นางพยาบาลส่วนพระองค์และได้รับการศึกษาอย่างดี พัฒนาความรักในการอ่านที่จะอยู่ติดตัวพระองค์ไปตลอดชีวิต คนในสมัยเดียวกันยังแสดงความเห็นถึงความเฉลียวฉลาดและบุคคลิกที่มีเสน่ห์ของพระองค์ เช่นเดียวกับพระบิดา พระเจ้าฟิลิปที่ 4 ความงามของพระราชินีอิซาเบลลาเป็นที่พูดถึงในเวลานั้น

พระเจ้าฟิลิปผู้รูปงามเป็นที่รู้จักในชื่อ "เลอ เบล" (ผู้รูปงาม) เนื่องจากรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลา พระมารดาของพระองค์ สมเด็จพระราชินีนาถฌานแห่งนาวาร์ ถูกบรรยายไว้โดยคนในสมัยเดียวกันว่าเป็นผู้หญิงรูปร่างท้วมและธรรมดา พระเชษฐาของพระราชินีอีซาแบล หลุยส์, ฟิลิป และชาร์ล กลายเป็นพระมหากษัตริย์แห่งฝรั่งเศสตามลำดับ

พระราชินีอีซาแบลถูกหมั้นหมายกับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษโดยพระราชบิดาในตอนที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ ข้อเสนอได้รับการพูดคุยใน ค.ศ.1298 ในตอนที่พระราชินีอีซาแบลมีพระชนมายุไม่ถึง 3 พรรษา หลังความล่าช้าที่ยาวนานอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในเงื่อนไขของสัญญาการอภิเษกสมรส สุดท้ายทั้งสองพระองค์ก็อภิเษกสมรสกับที่บูโลญ-ซูร์-แมร์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1308 ในตอนที่พระราชินีอีซาแบลพระชนมายุ 12 พรรษา พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกับพระราชินีอีซาแบลเป็นพระญาติลำดับที่สองที่ห่างกันหนึ่งขั้น และมีบรรพบุรุษร่วมกันคือเรมอน เบเรนเกร์ เคานต์แห่งโพรงว็องซ์ กับภรรยา เบียทริซแห่งซาวัว พระปัยกี (ทวด) ทางฝั่งบิดาของพระราชินีอิซาเบลลา มาร์การิดาแห่งโพรว็องซ์ พระราชินีแห่งฝรั่งเศส เป็นพระเชษฐภคินีของพระอัยกี (ปู่) ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด อะลีอูโนแห่งโพรว็องซ์ พระราชินีอีซาแบลได้นำสายเลือดของกษัตริย์แซ็กซัน พระเจ้าแฮโรลด์ที่ 2 กลับมาสู่ราชตระกูลอังกฤษอีกครั้ง พระองค์เป็นพระนัดดา (หลานย่า) ของพระราชินีอิซาเบลแห่งอารากอน พระมเหสีของพระเจ้าฟิลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส พระมารดาของพระราชินีอิซาเบลลาแห่งอารากอน วิโอลันต์แห่งฮังการี เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอันดราชที่ 2 แห่งฮังการี พระนัดดา (หลานปู่) ของพระเจ้ากีซาที่ 2 แห่งฮังการี ที่มีกับพระราชินียูโฟรซีนแแห่งเคียฟ พระนัดดา (หลานย่า) ของพระราชธิดาของพระเจ้าแฮโรลด์ กีธาแห่งเวสเซ็กซ์ ที่เสกสมรสกับวลาดิเมียร์ที่ 2 โมโนมัคแห่งเคียฟ

การเป็นพระราชินี

[แก้]

พระสวามีของพระองค์เป็นคนรูปงาม แต่พัวพันกับเรื่องรักๆใคร่ๆ กับชายคนโปรดหลายคน ในตอนที่อภิเษกสมรส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีความสัมพันธ์อยู่กับเพียซ กาเวสตัน เอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์ ความสัมพันธ์เริ่มขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระบิดาของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ที่มักจะผิดใจกับพระโอรสคนโตอยู่บ่อยครั้ง ทรงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเรื่องที่ว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมีความรักใคร่ให้กับกาเวสตันมากเกินไป ว่ากันว่าพระองค์จิกผมของพระโอรสและดึงมันออกมา พระองค์เนรเทศกาเวสตันข้อหาพยายามรักษาความสัมพันธ์ไว้ แต่ไม่นานหลังพระบิดาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเรียกตัวคนรักของพระองค์กลับมา มอบเอิร์ลดอมแห่งคอร์นวอลให้กับเขาและให้เขาแต่งงานกับพระนัดดา (หลานอา) ของพระองค์ มาร์กาเร็ต เดอ แคลร์ กาเวสตันเย่อหยิ่ง มีนิสัยไม่รอบคอบและหัวรั้น ซึ่งพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมองว่ามีเสน่ห์ ในงานฉลองการอภิเษกสมรสของทั้งคู่ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดชอบที่จะนั่งกับคนโปรดของพระองค์มากกว่าพระราชินีอีซาแบล ซึ่งสร้างความโกรธเคืองเป็นอย่างมากแก่พระปิตุลา (อา) ของอีซาแบล หลุยส์ เคานต์แห่งอีปโรซ์ กับชาร์ล เคานต์แห่งวาลัวส์ เพื่อเพิ่มความเจ็บช้ำน้ำใจให้มากขึ้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมอบอัญมณีของพระราชินีอีซาแบลให้กับกาเวสตันที่สวมใส่มันอย่างเปิดเผย ผ้าทอที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีราชาภิเษกกษัตริย์และพระราชินีคนใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1308 แสดงให้เห็นถึงตราประจำตัวของกษัตริย์กับกาเวสตัน

การตกต่ำลงของกาเวสตัน

[แก้]

ฝ่ายที่ต่อต้านกาเวสตันที่ไม่เป็นที่นิยมอย่างมากเริ่มก่อตัวขึ้น นำโดยโธมัส แพลนทาเจเนตแห่งแลงคาสเตอร์ พระญาติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดและพระปิตุลา (น้า) ทางฝั่งมารดาของพระราชินีอิซาเบลลา พระราชินีอิซาเบลลาเขียนจดหมายถึงพระบิดาว่า "ข้าเป็นภรรยาที่เคราะห์ร้ายที่สุด" และกล่าวถึงพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดว่า "บนเตียงนอนของข้ามีชายที่ไม่รู้จักกันอย่างสิ้นเชิง" พระเจ้าฟิลิปที่ 4 สงสารในชะตากรรมของพระธิดาและให้ความช่วยเหลือ เป็นผลให้กาเวสตันถูกขับไล่ออกจากประเทศไปไอร์แลนด์อยู่ช่วงหนึ่งแต่สุดท้ายก็กลับมาอังกฤษอีกครั้ง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นผู้นำในการสู้รบครั้งหายนะกับชาวสกอตใน ค.ศ.1311 ในช่วงที่อิซาเบลลาได้แต่หลบหนีการถูกจับกุมตัว เหล่าบารอนลุกขึ้นมาก่อปฏิวัติต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เป็นผลให้เกิดสงครามกลางเมือง กาเวสตันถูกจับกุมตัวที่ปราสาทสการ์โบโร และถูกประหารโดยกีย์ เดอ โบช็อมป์กับโธมัสแห่งแลงคาสเตอร์

การเติบโตขึ้นของความตึงเครียด

[แก้]

ความรักใคร่ของกษัตริย์เปลี่ยนไปเป็นของพวกเดสเปนเซอร์ บิดากับบุตรชาย พระราชบุตรคนแรกของอิซาเบลลา อนาคตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เสด็จพระราชสมภพที่ปราสาทวินด์เซอร์ใน ค.ศ.1312 ตามมาด้วยพระโอรสธิดาอีกสามคนในช่วงเวลาสิบปีต่อมา

ความตึงเครียดที่ราชสำนักต่อกษัตริย์กับการปกครองที่ไร้ประสิทธิภาพและชายคนโปรดของพระองค์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กษัตริย์สกอตแลนด์ พระเจ้าโรเบิร์ต เดอะ บรูซ หาทางกอบกู้ราชอาณาจักรสกอตแลนด์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดนำการสู้รบครั้งใหม่มาสู่สกอตแลนด์ใน ค.ศ.1314 ที่ผลลัพธ์คือความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิแห่งบันน็อคเบิร์น การเผชิญหน้าลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ที่โด่งดังที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ กษัตริย์แห่งอังกฤษถูกบีบให้หนีกลับอังกฤษอย่างน่าขายหน้า พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดออกจากปราสาทสเตอร์ลิงและรีบหนีไปดันบาร์ ที่ซึ่งพระองค์สามารถหาเรือกลับไปอังกฤษได้

พวกเดสเปนเซอร์

[แก้]

ยิ่งฮิวจ์ เดอ เดสเปนเซอร์ ผู้ลูกเป็นที่โปรดปรานของพระสวามีของพระองค์มากเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้เป็นศัตรูกับฝ่ายตรงข้ามของพระองค์มากขึ้นเท่านั้น แลงคาสเตอร์ ที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับเดสเปนเซอร์ ส่งกองทหารเข้าสู่ลอนดอนและเรียกร้องให้ขับไล่พวกเดสเปนเซอร์ออกจากประเทศ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดถูกบีบให้ยอมทำตาม แต่ก็เอาคืนในตอนที่เดสเปนเซอร์กลับมาในเวลาต่อมาและโจมตีฝ่ายตรงข้ามกลับ พระองค์ถูกบีบให้ยอมจำนน แลงคาสเตอร์ถูกจับกุมตัวและถูกประหารหลังสมรภูมิแห่งโบโรบริจด์

ศาสนสำนักไทน์มัธ มองจากทะเล ที่ซึ่งพระราชินีอิซาเบลลาหนีจากกองทัพชาวสกอตหลังการสู้รบครั้งหายนะใน ค.ศ.1322

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่มีพระราชินีอิซาเบลลาร่วมเดินทางด้วยนำกองทัพขึ้นเหนือไปสู้กับชาวสกอต แบกรับความพ่ายแพ้ที่น่าอับอายที่สมรภูมิแห่งบายแลนด์ มัวร์ในยอร์กเชียร์ กษัตริย์ส่งพระมเหสีไปที่ศาสนสำนักไทน์มัธบนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ จากนั้นขี่ม้าลงใต้ ไปหาทหารใหม่ กองทัพสกอตแลนด์ที่เดินหน้าลงใต้ทำให้พระราชินีอิซาเบลลาที่ตั้งครรภ์สามเดือนในตอนนั้นรู้สึกกังวลกับความปลอดภัยของตนเองและร้องขอความช่วยเหลือจากพระสวามี แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดยังคงถอยลงใต้ไปกับพวกเดสเปนเซอร์ต่อไป ทิ้งพระราชินีอิซาเบลลาไว้ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ทรงถูกตัดขาดจากทางใต้โดยกองทัพสกอตแลนด์ พระราชินีอิซาเบลลาหนีโดยอาศัยให้ผู้ติดตามของพระองค์ช่วยกันชาวสกอตออกไป ในขณะที่อัศวินของพระองค์บางส่วนไปจัดหาเรือมาให้ การต่อสู้ดำเนินยังคงดำเนินอยู่ในตอนที่พระราชินีอิซาเบลลาถอยลงเรือ นางกำนัลสองคนของพระองค์ถูกฆ่า พระราชินีที่โกรธจัดหาทางกลับยอร์กได้โดยปลอดภัย

ความรู้สึกของพระองค์ที่มีต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดแข็งกระด้างขึ้นนับจากตอนนี้ ในปลายปี ค.ศ.1322 อิซาเบลลาจากราชสำนักไปแสวงบุญรอบๆ อังกฤษเป็นเวลาสิบเดือน ความตึงเครียดเติบโตขึ้นในตอนที่พระองค์ปฏิเสธที่จะมอบคำสัตย์ปฏิญาณแห่งความจงรักภักดีให้แก่พวกเดสเปนเซอร์ เอ็ดเวิร์ดตอบโต้ด้วยการยึดที่ดินของพระองค์และพระราชบุตรคนสุดท้องของพระองค์ถูกพรากไปจากพระองค์และให้ไปอยู่ในการดูแลของพวกเดสเปนเซอร์

การบุกอังกฤษ

[แก้]

การยึดอำนาจ

[แก้]

พระราชินีที่ถูกทำร้ายอย่างหนักหน่วงออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างแดนเพื่อถวายความเคารพต่อพระเชษฐา พระเจ้าชาร์ลที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ในนามดินแดนของฝรั่งเศสที่อยู่ในการครอบครองของอังกฤษ พร้อมกับพระโอรสคนโต เอ็ดเวิร์ด ที่นั่นพระองค์วางแผนต่อต้านพระสวามีที่ดูหมิ่นพระองค์และรับโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ช ที่หนีออกมาจากหอคอยแห่งลอนดอน เป็นคนรักของพระองค์ พระเชษฐาของพระองค์ พระเจ้าชาร์ลที่ 4 ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือทางทหารและโกรธที่พระขนิษฐากับมอร์ติเมอร์ที่เป็นชู้กันอย่างเปิดเผย พระองค์ได้รับความช่วยเหลือจากเคานต์วิลเลี่ยมแห่งเอโนลต์กับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดที่ถูกหมั้นหมายกับบุตรสาวของท่านเคานต์ ฟิลิปปาแห่งเอโนลต์ ทั้งคู่กลับไปอังกฤษพร้อมกับกองทัพ ขึ้นฝั่งที่ออร์เวลล์บนชายฝั่งตะวันออก ได้รับการสบทบจากขุนนางที่ไม่พอใจหลายคน รวมถึงโธมัส เอิร์ลแห่งนอร์โฟล์กกับเฮนรี่แห่งแลงคาสเตอร์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดหนีออกจากลอนดอน พระราชินีอิซาเบลลากับมอร์ติเมอร์ปิดล้อมบริสตอล ที่กษัตริย์ยกให้กับฮิวจ์ เดอ เดสเปนเซอร์ ผู้พ่อ

พระราชินีอิซาเบลลา (ซ้ายมือ) ปิดล้อมบริสตอลในเดือนตุลาคม ค.ศ.1326

เมื่อเมืองแตก อิซาเบลลาได้พระธิดา เอเลนอร์กับโจแอน กลับคืนมา เดสเปนเซอร์ ผู้พ่อถูกประหารชีวิตโดยศัตรูชาวแลงคาสเตอร์ ศพของเขาถูกสับเป็นชิ้นๆ ให้สุนัขท้องถิ่นกิน ฝูงชนกลุ่มใหญ่รวมตัวกันเพื่อดูฮิวจ์ เดสเปนเซอร์ ผู้ลูกตาย พวกเขาลากตัวเขาลงมาจากม้า จับถอดเสื้อผ้า และเขียนข้อความในไบเบิ้ลเรื่องการทุจริตและความเย่อหยิ่งลงบนผิวหนังของเขา จากนั้นเขาถูกลากตัวเข้าเมือง และถูกประณามด้วยการแขวนคอ ควักไส้ และผ่าสี่ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ถูกจับกุมตัวและถูกบีบให้สละบัลลังก์

การสวรรคตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

[แก้]
ปราสาทบาร์กลีย์ ที่ซึ่งว่ากันว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ถูกฆาตกรรมตามคำสั่งของพระราชินีอิซาเบลลากับมอร์ติเมอร์

ตอนแรกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดถูกจองจำที่เคนิลเวิร์ธและต่อมาย้ายไปที่ปราสาทบาร์กลีย์ในกลอสเตอร์เชียร์ในเดือนมกราคม ค.ศ.1327 โธมัส เดอ บาร์กลีย์กับเซอร์จอห์น มอลตราเวิร์สได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้คุมของกษัตริย์ พระองค์ถูกส่งไปอยู่ในคุกใต้ดิน ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลและซากสัตว์เน่า ด้วยความหวังว่าพระองค์จะติดโรคจนสิ้นพระชนม์ ผู้ที่จับกุมพระองค์จะได้ไม่มีส่วนในการฆาตกรรมพระองค์ แต่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ชายที่แข็งแรงเป็นที่สุด ยังคงมีชีวิตรอด

ตามความเชื่อที่ได้รับการยอมรับ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมเกินมนุษย์ตามคำสั่งของมอร์ติเมอร์และพระราชินีอิซาเบลลาราววันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1327 แท่งโลหะร้อนแดงถูกสอดเข้าไปในอวัยวะภายในของพระองค์โดยเขาสัตว์ เพื่อไม่ให้หลงเหลือร่องรอยภายนอกบนร่างกายของพระองค์ ว่ากันว่าชาวเมืองบาร์กลีย์ได้ยินเสียงกรีดร้องต่อต้านของกษัตริย์ที่กำลังจะสิ้นพระชนม์จากนอกปราสาท ทว่าไม่มีการยืนยันจากแหล่งข้อมูลในสมัยนั้นว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดสิ้นพระชนม์อย่างไรและไม่มีผู้เขียนพงศาวดารในสมัยนั้นคนใดบันทึกถึงจุดจบของเอ็ดเวิร์ดแบบตรงๆ มักอ้างว่าการหายใจติดขัดหรือการถูกบีบคอน่าจะเป็นสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ การถูกฆาตกรรมอย่างน่ากลัวถูกเปิดเผยครั้งแรกในกลางยุค 1330

ชีวิตในภายหลัง

[แก้]

การหล่นจากอำนาจ

[แก้]
ปราสาทเบอร์เคมสเต็ด ที่ซึ่งพระราชินีอิซาเบลลาถูกย้ายไปในตอนแรกหลังจากมอร์ติเมอร์ตายและพระองค์หล่นจากอำนาจใน ค.ศ.1330
ปราสาทไรซิ่งที่พระราชินีอิซาเบลลาซื้อมาใน ค.ศ.1327 ซึ่งเป็นบ้านของพระองค์ในช่วงปีหลังๆ

พระราชินีอิซาเบลลากับมอร์ติเมอร์ปกครองอังกฤษร่วมกันเป็นเวลาสี่ปีในช่วงที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ แต่หล่นจากอำนาจในตอนที่พระโอรสที่สิ้นหวังในตัวพระองค์เป็นผู้นำในการรัฐประหารเพื่อปลดมอร์ติเมอร์ ที่ถูกจองจำเป็นนักโทษที่ปราสาทน็อตติ้งแฮม แม้พระราชินีอิซาเบลลาจะช่วยขอร้องให้ แต่เขาถูกตัดสินว่าเป็นกบฏและถูกตัดหัวที่ทายเบิร์น พระราชินีอิซาเบลลาได้รับความปราณีกว่ามาก ตอนแรกพระองค์ถูกย้ายตัวไปปราสาทเบอร์เคมสเต็ดและต่อมาถูกกักบริเวณที่ปราสาทวินด์เซอร์จนถึง ค.ศ.1332 เมื่อพระองค์ย้ายกลับไปปราสาทไรซิ่งในนอร์โฟล์คที่เป็นของพระองค์ ว่ากันว่าพระราชินีอิซาเบลลามีอาการป่วยทางจิตหลังคนรักตาย

ชีวิตหลังการปลดเกษียณ

[แก้]

พระราชินีอิซาเบลลาสนิทสนมกับพระธิดาของพระองค์ โจแอน พระราชินีแห่งสกอตแลนด์ มาก ทั้งสองพระองค์ใกล้ชิดกันมากขึ้นหลังโจแอนทิ้งพระสวามีที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ พระเจ้าดาวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์ พระโอรสของพระเจ้าโรเบิร์ต เดอะ บรูซ พระองค์ถูกบันทึกไว้ว่าทรงรักพระนัดดา (หลานย่า) จนมากเกินไป โดยเฉพาะพระโอรสคนโตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายดำ พระองค์มักมีผู้มาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ ซึ่งรวมถึงบุตรสาวของโรเจอร์ มอร์ติเมอร์ แอ็กเนส มอร์ติเมอร์ เคานเตสแห่งเพมโบรก กับหลานชายของเขา โรเจอร์ มอร์ติเมอร์ เอิร์ลแห่งมาร์ช ความสัมพันธ์ของพระองค์กับพระโอรส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้นและเอ็ดเวิร์ดกับพระโอรสธิดายังมาเยี่ยมพระองค์ด้วย

พระองค์สนใจในศาสนามากขึ้นเมื่อทรงแก่ตัวลงและมักแวะไปที่แท่นบูชาแห่งนักบุญโธมัส เบ็คเก็ตที่แคนเทอร์บรี พระราชินีอิซาเบลลารับกิจวัตรของแม่ชีพัวร์แคลร์มาปฏิบัติก่อนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1358 ได้รับการพยาบาลก่อนสิ้นพระชนม์โดยพระธิดา โจแอนพระราชินี อิซาเบลลาถูกฝังที่โบสถ์นิกายฟรานซิสกันที่นิวเกต ลอนดอน พระองค์ถูกฝังในชุดแต่งงานตามคำร้องขอของพระองค์ พร้อมกับหัวใจของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ที่ถูกใส่ไว้ในหีบเมื่อสามสิบปีก่อน พระองค์ทิ้งมรดกมากมาย รวมถึงปราสาทไรซิ่ง ไว้ให้เจ้าชายดำ ทุกๆ ปีในวันครบรอบวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ สุสานของอิซาเบลลาจะถูกตกแต่งด้วยผ้าทองและการทำมิสซาให้กับดวงวิญญาณของพระองค์ตามคำสั่งของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3

พระโอรสธิดา

[แก้]

พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกับพระราชินีอิซาเบลลามีพระโอรสธิดา 4 คน อันได้แก่

  1. พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 เสด็จพระราชสมภพ ค.ศ.1312
  2. จอห์นแห่งเอลแธม เอิร์ลแห่งคอร์นวอลล์ ประสูติ ค.ศ.1316
  3. เอเลนอร์แห่งวู้ดสต็อก ประสูติ ค.ศ.1318 เสกสมรสกับเรโนดที่ 2 แห่งเกลเดอส์
  4. โจแอนแห่งหอคอย ประสูติ ค.ศ.1321 อภิเษกสมรสกับพระเจ้าดาวิดที่ 2 แห่งสกอตแลนด์

อ้างอิง

[แก้]
  1. Castor page 227

แหล่งข้อมูล

[แก้]

http://www.englishmonarchs.co.uk/plantagenet_27.html

ดูเพิ่ม

[แก้]