ข้ามไปเนื้อหา

หูฉลาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หูฉลามปรุงเสร็จ

หูฉลาม หรือ ซุปหูฉลาม หรือ ฮื่อฉี่ ในสำเนียงแต้จิ๋ว (จีนตัวเต็ม: 魚翅, จีนตัวย่อ: 鱼翅) เป็นอาหารจีนที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีอย่างหนึ่ง ประวัติของหูฉลามย้อนไปได้ถึงสมัยราชวงศ์หมิง[1]

หูฉลามปรุงมาจากครีบส่วนต่าง ๆ ของปลาฉลาม มีวิธีการปรุงคล้ายกับกระเพาะปลา คือ มีความหนืดคาว และมีส่วนผสมอย่างอื่น เช่น เนื้อไก่, เนื้อหมู, ขาหมู, กระดูกไก่, กระดูกหมู และเครื่องยาจีนต่าง ๆ[2]

ครีบของปลาฉลามมีลักษณะเป็นกระดูกอ่อนที่เป็นเส้น ๆ เพื่อช่วยให้ปลาฉลามสามารถแผ่ครีบออกได้ แบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือฐานครีบและก้านครีบ ส่วนที่นำมาทำเป็นหูฉลามนั้น ก็คือ ก้านครีบ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการหลายอย่าง ตั้งแต่การตากแห้ง ต้มจนเปื่อย และขูดหนังทิ้งจนเหลือแต่กระดูกอ่อน

มีความเชื่อกันว่าหูฉลามที่นำมาต้มจนเปื่อยและตุ๋นจนได้ที่จะกลายเป็นอาหารวิเศษในการบำรุงร่างกาย แต่คุณค่าในทางอาหารแล้ว หูฉลามหนึ่งชามมีค่าเท่ากับไข่เป็ดฟองเดียวเท่านั้น[3]

หูฉลามจัดว่าเป็นอาหารที่มีราคาแพง เป็นอาหารหลักในช่วงงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น เทศกาลตรุษจีน, งานแต่งงานในจีน, ฮ่องกง, ไต้หวัน และอีกหลายประเทศที่มีชาวจีนอาศัยอยู่ เช่น สิงคโปร์ ไทย ภัตตาคารแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ขายหูฉลามในราคาจานละ 16 ดอลลาร์

การขายหูฉลามทำให้ทั่วโลกมีการล่าปลาฉลามเพื่อตัดเอาครีบมาทำเป็นหูฉลามมากขึ้น รายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่า มีปลาฉลามจำนวนกว่า 73 ล้านตัวถูกฆ่าในทุก ๆ ปีเพื่อนำมาขายปลีกกิโลกรัมละหลายร้อยดอลลาร์ และในปี ค.ศ. 2010 มีสปีชีส์ปลาฉลามกว่า 180 สปีชีส์ที่ถูกคุกคามเทียบกับปี ค.ศ. 2000 ที่ถูกคุกคามเพียง 15 สปีชีส์ ปัจจุบันมีการรณรงค์จากหลายภาคส่วนให้มีการลดละการบริโภคหูฉลามมากขึ้น[4]

ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางการค้าหูฉลามมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เฉพาะแค่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีภัตตาคารขายหูฉลามมากกว่า 100 ร้าน จากการศึกษาพบว่า หูฉลามเป็นหนึ่งในเมนูอาหารยอดนิยมของชาวไทย พบได้มากถึงร้อยละ 60 ทั้งในงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือมื้ออาหารตามปกติ[5]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Man Bites Shark". ไทม์ (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-28. สืบค้นเมื่อ 2012-03-12.
  2. "ตำนานหูฉลาม". คมชัดลึก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-09. สืบค้นเมื่อ 2012-03-12.
  3. "หูฉลาม มีประโยชน์ต่อร่างกายมากจริงหรือ". สนุกดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-12. สืบค้นเมื่อ 2012-03-12.
  4. "อนาคตหูฉลามในความต่างทางวัฒนธรรม". กรุงเทพธุรกิจ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-12-04. สืบค้นเมื่อ 2019-12-04.
  5. จุดประกาย 2 โลก คน เมือง, หากพรุ่งนี้ไร้ฉลาม. "กรุงเทพธุรกิจ เล่ารอบตัว" โดย กตตน์ ตติปาณิเทพ. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10533: วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]