สาธารณรัฐกอสปายา
สาธารณรัฐกอสปายา Repubblica di Cospaia | |||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
1440–1826 | |||||||||||
ที่ตั้งของสาธารณรัฐกอสปายา | |||||||||||
สถานะ | นครรัฐ | ||||||||||
เมืองหลวง | กอสปายา | ||||||||||
ภาษาทั่วไป | ละติน, อิตาลี, อัลโตตีเบรีนี | ||||||||||
ศาสนา | โรมันคาทอลิก | ||||||||||
การปกครอง | สาธารณรัฐ | ||||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | ต้นสมัยใหม่ | ||||||||||
• ก่อตั้ง | 1440 | ||||||||||
• การแบ่งแยก | 25 พฤษภาคม 1826 | ||||||||||
พื้นที่ | |||||||||||
3.2 ตารางกิโลเมตร (1.2 ตารางไมล์) | |||||||||||
สกุลเงิน | ดูกัล (Ducal) | ||||||||||
|
สาธารณรัฐกอสปายา (อิตาลี: Repubblica di Cospaia; อัลโตตีเบรีนี: Republica de' Cošpäja) เป็นอดีตนครรัฐอิสระขนาดเล็กแห่งหนึ่งของยุโรปคั่นกลางระหว่างรัฐสันตะปาปากับสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ มีเอกราชช่วงปี ค.ศ. 1440 ถึง ค.ศ. 1826[4]
ปัจจุบันพื้นที่ของอดีตสาธารณรัฐกอสปายาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองซันจูสตีโน (San Giustino) จังหวัดเปรูจา แคว้นอุมเบรีย ประเทศอิตาลี[5]
ประวัติ
[แก้]สาธารณรัฐกอสปายา ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1440 หลังจากสมเด็จพระสันตะปาปายูจีนที่ 4 ทรงมีปัญหากับสภาบาเซล จากการขายดินแดนให้แก่สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ ซึ่งในสัญญาการขายมีการตกหล่นดินแดนแถบเล็ก ๆ บริเวณ 500 เมตร เมื่อนับจากแม่น้ำจนถึงลำธารที่ใช้เป็นหลักเขตแดนเรียกว่า "รีโอ" (Rio) ใกล้กันนั้นก็มีลำธารสายหนึ่งมีชื่อเดียวกันตั้งอยู่ และลำธารทั้งสองตั้งอยู่ขนานกันก่อนไหลลงสู่แม่น้ำไทเบอร์ ผู้แทนของสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ถือว่าลำธารที่อยู่ทางทิศเหนือเป็นหลักเขตแดนใหม่ ขณะที่ผู้แทนของรัฐสันตะปาปาถือว่าลำธารที่อยู่ทางทิศใต้เป็นหลักเขตแดน ทำให้บริเวณกึ่งกลางของลำธารทั้งสองสายกลายเป็นดินแดนที่ไม่มีเจ้าของ (terra nullius) สิริรวม 3.2 ตารางกิโลเมตร โดยประชาชนซึ่งอาศัยในแถบนั้นซึ่งกลายเป็นผู้ไร้รัฐได้ประกาศตัวเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นแก่ใครแต่นั้น[6][7] และได้รับการยอมรับในปี ค.ศ. 1484[8]
กระทั่งวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1826 กอสปายาแยกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งไปรวมเข้ากับแกรนด์ดัชชีตอสคานา และส่วนหนึ่งไปรวมกับรัฐสันตะปาปา[5] ตามสนธิสัญญาที่ลงนามโดย 14 สมาชิกของกอสปายา เพื่อแลกกับเหรียญเงินและขออนุญาตขยายพื้นที่ปลูกยาสูบ[9]
การปกครอง
[แก้]สาธารณรัฐกอสปายาไม่มีรัฐบาลหรือแม้แต่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอย่างเป็นทางการ[5] รวมทั้งไม่มีกองกำลังทหาร ตำรวจ หรือแม้แต่คุกเนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก[10] ทั้งนี้จะมีสภาอาวุโสและหัวหน้าครอบครัวโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่โบสถ์แม่พระรับสาร (Church of Annunciation) ซึ่งพวกเขามีอำนาจตัดสินใจและอำนาจตุลาการ[11] ชาวกอสปายาถือว่าพวกเขาทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพโดยสมบูรณ์ จึงไม่มีหน่วยงานจากรัฐบาลอย่างประเทศอื่น[12][13]
กอสปายามีธงชาติเป็นของตนเอง ผืนธงมีสีขาวตัดกับสีดำในแนวทแยง ขณะที่สัญลักษณ์ของกอสปายาคือรูปหมู่บ้านที่มีลำธารเล็ก ๆ สองสายไหลผ่าน มีรูปปลาสองตัวทางด้านขวา และรูปต้นยาสูบทางด้านซ้าย ด้านบนเป็นคำขวัญของกอสปายาเขียนด้วยภาษาละติน[14]
เศรษฐกิจ
[แก้]กอสปายาเป็นศูนย์กลางการผลิตยาสูบในคาบสมุทรอิตาลี เพราะมีชัยภูมิที่ดี ด้วยตั้งอยู่ระหว่างสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ (ต่อมาคือแกรนด์ดัชชีตอสคานา) กับรัฐสันตะปาปา กอสปายาจึงมีลักษณะเป็นทั้งเมืองการค้าเสรีและรัฐกันชน มีพื้นที่ทั้งหมดราว 330 เฮกตาร์ (ยาว 2 กิโลเมตร และกว้าง 500 เมตร) กับประชากรทั้งหมดราว 250 คน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 25 เฮกตาร์[7] และสาเหตุที่ทำให้กอสปายารุ่งเรืองจากการค้ายาสูบก็เพราะที่นี่มิได้ปฏิบัติตามพระราชโองการของสมเด็จพระสันตะปาปาที่ทรงประกาศห้ามมิให้ปลูกยาสูบเพียงแห่งเดียว และที่นี่จึงผูกขาดด้านการผลิตยาสูบ[15] แม้กระทั่งปัจจุบัน ยาสูบบางชนิดมีชื่อเรียกว่า กอสปายา[16] กอสปายาไม่มีการเก็บภาษี แต่อาจมีการเก็บภาษีอย่างไม่เป็นทางการในรูปแบบของค่าธรรมเนียมสภา หากครอบครัวใดไม่ชำระเงินดังกล่าว ก็จะถูกชาวเมืองคว่ำบาตร และบังคับให้ออกจากกอสปายา ไปยัง "พื้นที่หลบหนีอันกว้างใหญ่ของผู้ลี้ภัยรอบกอสปายา"[17]
ในช่วงปลายของการดำรงอยู่ของกอสปายา ดินแดนแห่งนี้ได้กลายสภาพเป็นดินแดนค้าของเถื่อน แนวคิดด้านเสรีภาพที่เคยมีมาก็เสื่อมทรามลงเพราะให้สิทธิพิเศษเกินควร และดึงดูดผู้คนเข้าไปยังกอสปายาอย่างหลากหลาย ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจบ้าง หรือแม้แต่การเลี่ยงกฎหมายจากประเทศใหญ่ที่ขนาบข้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของประเทศขนาดเล็ก[18]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Settimio ed Emilio Gennaioli, Cospaia e la sua storia in ottava rima, Bologna, Negri, 1999, p. 5
- ↑ Milani, Giuseppe; Selvi, Giovanna (1996). Tra Rio e Riascolo: piccola storia del territorio libero di Cospaia. Lama di San Giustino: Associazione genitori oggi. p. 19. OCLC 848645655.
- ↑ Milani, Giuseppe; Selvi, Giovanna (1996). Tra Rio e Riascolo: piccola storia del territorio libero di Cospaia (ภาษาอิตาลี). Lama di San Giustino: Associazione genitori oggi. p. 25. OCLC 848645655.
- ↑ Ellingham, written and researched by Tim Jepson, Jonathan Buckley, and Mark (2009). The Rough Guide to Tuscany & Umbria (7th ed.). London: Rough Guides. p. 505. ISBN 9781405385299.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "Cospaia (Umbria)". penelope.uchicago.edu. สืบค้นเมื่อ 8 January 2017.
- ↑ Heywood, William (1921). A History of Pisa: Eleventh and Twelfth Centuries. The University Press. p. 104. ISBN 9781177788007.
- ↑ 7.0 7.1 Marconi, Francesco Testa, Aroldo (2001). The Toscano : the complete guide to the Italian cigar (2. ed.). Firenze: Giunti. p. 43. ISBN 9788809016514.
- ↑ Angelo Ascani. Cospaia. Storia inedita della singolare repubblica. tipografia Sabbioni, Città di Castello 1977, p. 15
- ↑ "The incredible story of Cospaia | UmbriaTouring.it". www.umbriatouring.it. สืบค้นเมื่อ 8 January 2017.
- ↑ Milani, Giuseppe; Selvi, Giovanna (1996). Tra Rio e Riascolo: piccola storia del territorio libero di Cospaia (ภาษาอิตาลี). Lama di San Giustino: Associazione genitori oggi. pp. 16–17. OCLC 848645655.
- ↑ Nikola Budanovic (February 28, 2018). "The Republic of Cospaia was created by accident in Italy, yet grew in strength over four centuries". The Vintage News.
- ↑ Milani, Giuseppe; Selvi, Giovanna (1996). Tra Rio e Riascolo: piccola storia del territorio libero di Cospaia. Lama di San Giustino: Associazione genitori oggi. p. 18. OCLC 848645655.
- ↑ Ascani, Angelo (1963). Cospaia: storia inedita della singolare Repubblica. Tuscany: Città di Castello. p. 20.
- ↑ Gennaioli, Settimio; Gennaioli, Emilio; Selvi, Giovanna (1999). Cospaia e la sua storia in ottava rima: la straordinaria storia di un borgo dell'alta valle del Tevere, Cospaia, libera repubblica dal 1440 sino al 1826 : festa degli auguri-Natale di fine millennio, Bologna, 19 dicembre 1999. S.l.: s.n. p. 4. OCLC 954844777.
- ↑ Ploeg, Jan Douwe van der (1995). Beyond modernization: the impact of endogenous rural development. Assen: Van Gorcum. p. 158. ISBN 978-9023229384.
- ↑ Ascani, Angelo (1963). Cospaia: storia inedita della singolare Repubblica. Tuscany: Città di Castello. p. 42.
- ↑ McFarland, Ellie (22 April 2020). "The Republic of Cospaia: An Anarchist Renaissance City". Mises Institute.
- ↑ Graziano Graziani, Stati d'eccezione, Rome: Edizioni dell'Asino, 2012, p. 15.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ กอสปายา
- Cospaia: storia della repubblica più piccola al mondo (อิตาลี)