สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 | |
---|---|
ราซาฟินดราเฮตี สมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ | |
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์ | |
ครองราชย์ | 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 |
รัชสมัย | 13 ปี 213 วัน |
รัชกาลก่อนหน้า | สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ |
รัชกาลถัดไป | สิ้นสุด (ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง) |
ประสูติ | 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 อัมพาริป, ประเทศมาดากัสการ์ |
สวรรคต | 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 (55 ปี) แอลเจียร์, ประเทศแอลจีเรีย |
พระราชสวามี | ราติมอ ไรนิไลอาริโวนี |
สมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ | |
ราชวงศ์ | เมรีนา |
พระบรมราชชนก | เจ้าชายอันเดรียนซิมิอานาตรา |
พระบรมราชชนนี | เจ้าหญิงราเคตากา |
ลายพระอภิไธย |
สมเด็จพระราชินีรันฟาลูนาที่ 3 แห่งมาดากัสการ์ หรือ รานาวาโล มันจากาที่ 3 (อังกฤษ: Ranavalona III; 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 — 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรเมรีนาหรือประเทศมาดากัสการ์ปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2426 ถึง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 เมื่อทรงถูกเนรเทศโดยฝรั่งเศสที่ได้ยึดครองประเทศนี้เป็นอาณานิคม พระองค์ทรงเป็นที่รักยิ่งของชาวมาลากาซีเนื่องจากทรงพยายามนำพาประเทศต่อต้านการขยายอาณานิคมของฝรั่งเศสในมาดากัสการ์แม้ไม่สำเร็จก็ตาม
ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นเจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตี ทรงถูกคัดเลือกจากเหล่าขุนนางชั้น แอนเดรียนา ให้ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ ซึ่งเสด็จสวรรคต จากธรรมเนียมของพระราชินี พระนางต้องอภิเษกสมรสกับไรนิไลอาริโวนี นายกรัฐมนตรีด้วยเหตุผลทางการเมือง ผู้ซึ่งมีอำนาจในการปกครองราชอาณาจักรและนำประเทศเข้าสู่สากล ในรัชกาลของพระนาง มาดากัสการ์ได้ดำเนินติดต่อทางการค้า รวมทั้งเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเพื่อคานอำนาจการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสได้ยึดชายฝั่งมาดากัสการ์และสามารถเข้ายึดกรุงอันตานานารีโวได้ โดยเข้ายึดครองศูนย์กลางของประเทศคือ พระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโว ใน พ.ศ. 2439 นับเป็นจุดจบของราชอาณาจักรมาดากัสการ์ภายใต้ราชวงศ์เมรีนาที่ยืนยาวเก่าแก่กว่า 400 ปี
รัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ทำการเนรเทศนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีไปที่แอลจีเรีย ในขณะที่มีมติให้ดำรงพระนางรันฟาลูนาไว้ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาวมาลากาซีเพื่อจะได้เป็นราชินีหุ่นเชิด อย่างไรก็ตามรัฐบาลฝรั่งเศสเสื่อมความนิยมจากการต่อต้านจากกบฏเมนาเลมบา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพระราชวงศ์และชาวมาลากาซี การต่อต้านครั้งนี้ได้ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างรุนแรงและถูกปราบปรามใน พ.ศ. 2440 ทำให้ฝรั่งเศสต้องเนรเทศพระราชินีรันฟาลูนาไปยังเรอูนียง เพื่อไม่ให้พระนางได้ปลุกระดมชาวมาลากาซีได้อีก ไรนิไลอาริโวนีถึงแก่อสัญกรรมในปีเดียวกัน และพระนางกับพระราชวงศ์ที่ถูกเนรเทศได้ถูกย้ายไปยังแอลเจียร์ พระนางและพระราชวงศ์ทรงได้รับพระราชทรัพย์ประจำปีและมีพระชนม์ชีพสุขสบายในแอลเจียร์ รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยินยอมให้พระนางเสด็จประพาสกรุงปารีสเพื่อผ่อนคลายอิริยาบถและใช้พระราชทรัพย์ซื้อสิ่งต่าง ๆ แม้ว่าพระนางจะทรงขอให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งพระนางกลับมาดากัสการ์หลายครั้ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธทุกครั้ง อดีตพระราชินีนาถรันฟาลูนาเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระตำหนักในแอลเจียร์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 จากพระอาการประชวรด้วยการอุดตันของเส้นโลหิตแดงอย่างทุกข์ทรมาน พระบรมศพของพระนางรันฟาลูนาถูกฝังที่สุสานแซงต์-เออเชนในกรุงแอลเจียร์ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 รัฐบาลฝรั่งเศสยินยอมให้ย้ายพระศพของพระนางรันฟาลูนากลับยังมาดากัสการ์และทำพิธีฝังพระศพอีกครั้งที่ สุสานแห่งสมเด็จพระราชินีนาถราซอเฮอรินาแห่งมาดากัสการ์ในพระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโว ซึ่งเป็นพระประสงค์สุดท้ายของพระนางที่จะได้เสด็จมายังมาดากัสการ์แม้จะเสด็จสวรรคตแล้ว ปิดฉากพระชนม์ชีพอันน่าเศร้าของพระนาง
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ
[แก้]พระนางเป็นพระราชธิดาในเจ้าชายอันเดรียนซิมิอานาตรากับเจ้าหญิงราเคตากา ประสูติที่เมืองอัมพาริป เขตมันจากาซาฟี นอกกรุงอันตานานารีโว[1] ในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 พระนามเดิมว่า เจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตี พระองค์เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ และเป็นพระปนัดดาในพระเจ้าอันเดรียนนามโบอินีเมรีนาแห่งมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นการปูทางให้พระนางมีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์แห่งราชอาณาจักรมาดากัสการ์[2] พระราชบิดาและพระราชมารดาของเจ้าหญิงทรงมอบหมายให้ทาสรับใช้ดูแลเจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตี [3]
เมื่อทรงเจริญพระชันษาในวัยศึกษาเล่าเรียน เจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตีทรงได้รับการอุปการะจากสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ พระปิตุจฉา พระนางทรงให้เจ้าหญิงได้รับการศึกษาจากคณะครูแห่งสมาคมมิชชันนารีลอนดอน [1] เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงทรงเป็นเด็กขยัน อยากรู้อยากเห็นและทรงมีศรัทธาในคัมภีร์ไบเบิลอย่างแรงกล้า ทรงสนพระทัยในการศึกษาและการอ่านเขียน ทำให้ทรงเป็นที่รักใคร่ในพระอาจารย์ทั้งหลาย[3] เมื่อทรงเจริญพระชันษามากขึ้นเจ้าหญิงทรงศึกษาต่อที่ Congregational School แห่งอัมบาโตนากันกา, the Friends High School for Girls, และ LMS Girls' Central School เจ้าหญิงทรงเข้ารับศีลจุ่มเป็นโปรแตสแตนต์ที่อัมโบฮิมันกา ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2417[1]
เมื่อทรงเจริญพระชันษาในวัยรุ่น เจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตีทรงรักและตัดสินพระทัยอภิเษกสมรสครั้งแรกกับขุนนางหนุ่มตำแหน่ง "แอนเดรียนา" ชื่อ ราติมอ (ราติมออาริโวนี) แต่ได้เสียชีวิตลงไม่กี่ปีหลังอภิเษกสมรส ในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 ขณะเขามีอายุเพียง 22 ปี ซึ่งทำให้เจ้าหญิงต้องทรงตกพุ่มหม้าย[4] ซึ่งมีกระแสข่าวลือว่า นายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีมีส่วนวางยาพิษสังหารราติมอเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง จากการปฏิวัติชนชั้นสูงใน พ.ศ. 2406 ซึ่งไรนิไลอาริโวนีและไรนิโวนินาฮิทรินิโอนี พี่ชาย เป็นผู้ก่อการ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจเต็มของขุนนางชนชั้นสูงด้วยราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการปกครองร่วมระหว่างพระมหากษัตริย์และนายกรัฐมนตรี (เสรีชน) จากข้อตกลงนี้ทำให้ต้องมีการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มโดยต้องมีการอภิเษกสมรสด้วยเหตุทางการเมืองระหว่างนายกรัฐมนตรีและสมเด็จพระราชินีนาถ ผู้เป็นพระประมุข ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เลือก บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินีนาถเอง ต่อมาสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 ทรงพระประชวรและใกล้สวรรคต ทางรัฐบาลต้องหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชินีนาถพระองค์ต่อไป นายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีได้วางแผนวางยาพิษสังหารราติมอ เนื่องจากเจ้าหญิงราซาฟินดราเฮตีทรงเป็นผู้เหมาะสมและเป็นที่รักใคร่ในพระปิตุจฉา สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 และการสังหารราติมอจะเป็นประโยชน์ต่อเขาในการที่เขาสามารถสมรสกับว่าที่พระราชินีองค์ต่อไปได้โดยง่าย[4]
ครองราชย์และในรัชกาล
[แก้]พระนางทรงได้รับการประกาศเป็นสมเด็จพระราชินีสืบต่อจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2426[5] พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นที่อิมาฮาซินาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 ซึ่งมีพระชนมายุครบ 22 พรรษาในวันนั้นพอดี พระอิสริยยศเต็มของพระนางคือ"สมเด็จพระนางเจ้ารันฟาลูนาที่ 3 โดยความดีงามแห่งพระผู้เป็นเจ้าและความปรารถนาแห่งปวงพสกนิกร, สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์และผู้ปกป้องกฎอันชอบธรรมแห่งชาติ" ("Her Majesty Ranavalona III by the grace of God and the will of the people, Queen of Madagascar, and Protectoress of the laws of the Nation") พระราชพิธีครองราชย์ได้จัดขึ้นที่เขตมาฮามาซินาในกรุงอันตานานารีโวในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 ซึ่งเฉลิมฉลองสิริพระชนมายุครบ 22 พรรษา พระนางทรงเลือกที่จะฝืนโบราณราชประเพณีโดยการเพิ่มกำลังทหารในพระราชพิธีของพระนางโดยทหารคือกลุ่มเด็กนักเรียนชาย 500 คนและนักเรียนหญิง 400 คนจากโรงเรียนที่ดีที่สุดในเมืองหลวง เด็กผู้หญิงสวมชุดกระโปรงยาวสีขาว ส่วนเด็กผู้ชายสวมชุดเครื่องแบบทหารและฝึกซ้อมใช้อาวุธหอกตามธรรมเนียมโบราณ พระราชินีรันฟาลูนาทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกโดยทรงฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไหมคลุมยาวสีขาวพร้อมชายกระโปรงปักด้วยไหมสีแดงและเครื่องประดับจากทองคำ[6] ชาวอเมริกันที่เข้าร่วมพระราชพิธีได้บรรยายถึงพระนางว่า "พระนางมีพระวรกายสูงกว่าคนปกติเล็กน้อยและทรงมีลักษณะที่ละเอียดอ่อน ผิวของพระนางสีคล้ำน้อยกว่าผู้ติดตามคนอื่น ๆ พระนางปรากฏว่าค่อนข้างประหม่าและอาย และพระนางทรงเป็นผู้รับผิดชอบพิธีทางศาสนาในราชสำนักอย่างเคร่งครัด"[7]
ซึ่งเหมือนกับพระราชินีนาถสองพระองค์ก่อน คือ พระนางต้องอภิเษกสมรสกับนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนี พระราชินีมีพระราชอำนาจเพียงในพระนาม ข้อตกลงทางการเมืองต่าง ๆ ที่สำคัญจะต้องได้รับความเห็นชอบหรือการตัดสินโดยนายกรัฐมนตรีที่อ้างว่าเป็นผู้อาวุโสและมีประสบการณ์สูง พระราชินีนาถรันฟาลูนาจะต้องมีพระราชดำรัสในที่สาธารณะบ่อย ๆ ในนามของนายกรัฐมนตรี และต้องทรงประกอบพระราชกรณียกิจเปิดอาคารสาธารณะใหม่ ๆ เช่น โรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ไอโซอาวินอันเดรียนา และโรงเรียนแห่งใหม่ที่อัมโบดินอันโดฮาโล[8] ตลอดรัชกาลของพระนาง เจ้าหญิงรามิซินดราซานา ผู้เป็นพระปิตุจฉา ได้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ในพระราชินีและทรงอิทธิพลมากในราชสำนัก เจ้าหญิงราเซนดราโรโน ผู้เป็นพระภคินีในพระราชินี เจ้าหญิงมีพระโอรสคือ เจ้าชายรากาโตเมนา และพระธิดาคือ เจ้าหญิงราซาฟินานเดรียมานิทรา ทั้งสองพระองค์เป็นพระนัดดาที่พระราชินีสนิทที่สุด พระนางโปรดเวลาในการทรงว่าวหรือเล่นเกมล็อตโต (เกมชนิดหนึ่งคล้ายบิงโก) และเกมพาร์ลอร์ โดยทรงเล่นร่วมกับพระญาติและนางสนองพระโอษฐ์ในราชสำนัก พระนางโปรดงานเย็บปักถักร้อยและการปักโครเช่ต์ และบ่อยครั้งที่พระนางจะนำโครงการแนวพระราชดำริเสนอต่อคณะรัฐมนตรี[3] พระนางโปรดฉลองพระองค์ต่าง ๆ มากและพระนางทรงเป็นผู้ปกครองชาวมาลากาซีคนแรกที่นำเข้าเสื้อผ้าจากปารีสมากกว่าลอนดอน[7]
สงครามฝรั่งเศส-มาลากาซี
[แก้]ขณะเป็นพระประมุขแห่งมาดากัสการ์ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการล่าอาณานิคมระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิฝรั่งเศสซึ่งก็คือ ต้องเข้าพึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการปกป้องมาดากัสการ์ ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษ ความตึงเครียดระหว่างฝรั่งเศสและมาดากัสการ์ทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีก่อนที่พระนางรันฟาลูนาที่ 3 ครองราชย์ ฝรั่งเศสได้รุกรานเมืองต่าง ๆ ตลอดชายฝั่งของชาวมาลากาซีในช่วงปีสุดท้ายแห่งรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 และยังคงดำเนินต่อจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ซึ่งได้ครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีพระองค์ใหม่ในช่วงฤดูร้อน ของ พ.ศ. 2426 ในภายหลัง นายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีตัดสินใจที่จะติดต่อกับพันโท วิลลอจบี ทหารชาวบริเตนที่มีประสบการณ์จากสงครามอังกฤษ-ซูลู เพื่อให้เป็นผู้ตรวจตราควบคุมทหารและฝึกฝนทหารในพระราชินีและปกป้องประเทศจากการรุกรานของฝรั่งเศสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[2]
ระหว่าง พ.ศ. 2426 ถึงพ.ศ. 2428 ฝรั่งเศสสร้างความมั่นคงในการยึดครองชายฝั่งของมาดากัสการ์แต่ประสบความล้มเหลวในการรุกรานเข้าไปถึงในตัวเกาะ[2] สงครามทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นสูงสุดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2428 มีการการโจมตีโดยการใช้ระเบิดหรือปืนที่มีอานุภาพร้ายแรงในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมาดากัสการ์และกองทัพฝรั่งเศสสามารถยึดครองเมืองมาฮาจันกาได้[9] ตลอดช่วงนี้มาดากัสการ์พยายามที่จะเจรจาต่อรองกับจักรวรรดิฝรั่งเศส แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าประสบความล้มเหลวโดยทั้งสองฝ่ายปฏิเสธที่จะทำตามความต้องการของทั้งสองฝ่ายจึงจบลงด้วยข้อโต้แย้ง จุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อฝรั่งเศสตระหนักว่าทัศนคติของกองทัพและผู้แทนทางการเมืองในมาดากัสการ์นั้นไม่เห็นพ้องต้องกันกับเหล่าคณะผู้แทนจากปารีส เอ็ม. โบเดส์ กงสุลฝรั่งเศสถูกเรียกตัวกลับและแทนที่ด้วยบุคคลที่มีอำนาจเต็มพิเศษคนใหม่ ได้มีการพาดหัวข่าวยื่นคำขาดมาที่กรุงอันตานานารีโว เพื่อต้องการให้รับรองสิทธิของชาวฝรั่งเศสในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโดยฝรั่งเศสจะรวมซากาลาวาเป็นรัฐในอารักขา มาดากัสการ์ต้องยินยอมที่จะจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 ฟรังก์ สนธิสัญญาสันติภาพนี้ได้รับการอนุมัติโดยพระราชินีรันฟาลูนาและนายกรัฐมนตรี ไรนิไลอาริโวนิในเดือนมกราคม พ.ศ. 2429 โดยรัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำเนินการในสองเดือนหลังจากนั้น[9]
ก่อนการอนุมัติสัญญา พระราชินีและนายกรัฐมนตรีพยายามหาความชัดเจนในข้อความต่าง ๆ ของสนธิสัญญาหลักที่ระบุ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ" ที่จะควบคุมโดย "ชาวฝรั่งเศสที่มาอยู่อาศัย" และอ้างอิง "การก่อตั้ง" ที่อ่าวดีเอโก-ซัวเรซ โดยมาดากัสการ์ที่พ่ายแพ้ยินยอมทำสนธิสัญญาโดยยอมถูกผนวกเป็นรัฐอารักขาในฝรั่งเศส เมื่อข่าวการผนวกไปถึงอังกฤษ ฝรั่งเศสได้ปฏิเสธความถูกต้องต่าง ๆ ทางกฎหมายโดยยืนยันจะยึดครองมาดากัสการ์ในทุกวิถีทาง ฝรั่งเศสได้ประกาศครอบครองประเทศแม้จะได้รับการต่อต้านจากฝ่ายค้านของรัฐบาลมาลากาซี และฝรั่งเศสยังละเลยข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา[2] อีกทั้งเกิดปัญหาการแทรกแซงรัฐบาลมาลากาซีของฝรั่งเศสมากขึ้น[10]
ใน พ.ศ. 2430 ฝรั่งเศสเริ่มโจมตีเมืองทางชายฝั่งของมาดากัสการ์อีกครั้ง พระนางรันฟาลูนาทรงขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาโดยทรงส่งของกำนัลไปให้แก่ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ อันได้แก่ผ้าไหม, งาช้างและตะกร้าจักสาน[11] แต่อเมริกาไม่สามารถทำตามคำขอของพระนางที่ทรงให้รับรองเอกราชของมาดากัสการ์ ในรัชกาลของพระนางทรงพ่ายแพ้สงครามฝรั่งเศส-มาลากาซี จากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ประเทศไปสู่หายนะ ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2430 ทรงยอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศสเพื่อต้องการให้ประเทศสงบสุข[2]
ฝรั่งเศสได้ประกาศอารักขามาดากัสการ์อย่างเป็นทางการ โดยอังกฤษยอมรับสิทธิของฝรั่งเศส จากการยอมตกลงในข้อตกลงร่วมอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2433[12] ระหว่าง พ.ศ. 2433 - พ.ศ. 2437 ฝรั่งเศสได้ประกาศอย่างแข็งกร้าวในการครอบครองดินแดนมาดากัสการ์ อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสไม่สามารถครอบครองดินแดนอย่างสมบูรณ์เพราะมีอุปสรรคคือ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาและนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนี ซึ่งได้พยายามขัดขวางทุกวิถีทางในการกระทำอันไม่ถูกต้องของฝรั่งเศส จนถึงที่สุด ชาร์ลส์ เลอ แมร์ เดอ วิแยร์ ได้ถูกส่งมาเพื่อข่มขู่ให้พระราชินีและรัฐบาลให้ทรงยอมรับในสนธิสัญญาที่ให้ฝรั่งเศสครอบครองประเทศอย่างสมบูรณ์ แต่พระนางทรงปฏิเสธและเพิกเฉยต่อคำขู่โดยสิ้นเชิง ทำให้ฝรั่งเศสประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับมาดากัสการ์ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2437[2]
จากการตัดความสัมพันธ์ในครั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ทิ้งระเบิดและยึดครองอ่าวโทอามาซินาทางชายฝั่งตะวันออกได้ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2437 และยึดครองมาฮาจันกาทางชายฝั่งตะวันตกได้ในอีกเดือนถัดมา[12] การโจมตีทางบกได้เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2438 โดยการมาถึงของกองทหาร flying column ได้เดินทางเพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงอันตานานารีโวในใจกลางเกาะ ซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก ทหารฝรั่งเศสหลายนายต้องเสียชีวิตจากไข้มาลาเรียและโรคภัยต่าง ๆ ทำให้จำเป็นต้องส่งกองทัพหนุนกว่า 1,000 คนจากอาณานิคมอื่น ๆ ของฝรั่งเศสในแอลจีเรียและซับ-ซาฮาราน แอฟริกา กองทัพได้มาถึงกรุงอันตานานารีโวในเดือนกันยายน พ.ศ. 2438 ทหารมาลากาซีต้านทานกองทัพฝรั่งเศสได้เพียง 3 วันในบริเวณรอบนอกของกรุง แต่ทหารมาลากาซีได้พยายามป้องกันเมืองอย่างเต็มที่ เมื่อฝรั่งเศสต้องใช้วิธีทิ้งระเบิดกรุงอันตานานารีโว โดยโจมตีที่พระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโวและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทำให้ชาวเมืองต้องสูญเสียชีวิตหลายคน พระนางไม่อาจเห็นชาวมาลากาซีต้องสูญเสียเลือดเนื้อ โดยพระองค์ตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจของชาวมาลากาซีทั้งปวง โดยทรงยอมให้ราชอาณาจักรกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ถือเป็นจุดจบของความเป็นเอกราชของราชอาณาจักรมาดากัสการ์ที่ยืนยาวกว่า 400 ปี[13]
อาณานิคมของฝรั่งเศส
[แก้]ฝรั่งเศสยึดครองมาดากัสการ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2439 ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ฝรั่งเศสได้ประกาศให้มาดากัสการ์เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและเนรเทศนายกรัฐมนตรีไรนิไลอาริโวนีไปยังแอลเจียร์ ที่ซึ่งเขาเสียชีวิตในหลายปีถัดมา สมเด็จพระราชินีนาถและฝ่ายบริหารของพระนางยังคงดำรงอยู่และถูกยึดพระราชอำนาจทางการเมือง ในเวลาไม่ช้าหลังจากไรนิไลอาริโวนีถูกเนรเทศ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงถูกบังคับโดยเจ้าหน้าที่ทางการฝรั่งเศสให้ทรงยอมรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ทรงฝรั่งเศสเลือก พระราชินีนาถทรงตัดสินใจอย่างเร่งรีบตามคำกราบทูลของนายพลฝรั่งเศส ฌาคส์ ดูเชเน ผู้ซึ่งเป็นคนควบคุมกองทัพในการต่อต้านพระราชวงศ์เมรีนา การยอมรับในธรรมเนียมแบบแผนทางการเมืองของมาดากัสการ์ยังคงอยู่ สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงเกรงว่าพระนางจะต้องอภิเษกสมรสกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งพระนางทรงเป็นทุกข์ยิ่งที่ต้องอภิเษกสมรสกับฌาคส์ ดูเชเน แต่เป็นที่น่าประหลาดใจที่ทางการฝรั่งเศสไม่ต้องการที่จะให้พระราชินีต้องสมรสกับนายกรัฐมนตรีโดยยกเลิกกฎมณเฑียรบาลนี้ซึ่งสร้างความโล่งพระทัยในพระราชินีได้ระดับหนึ่ง ไรนิทซิมบาซาฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพระราชินีได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปโดยได้รับความยินยอมจากฝรั่งเศส[14]
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2438 สองเดือนหลังจากฝรั่งเศสยึดครองกรุงอันตานานารีโว ได้เกิดการต่อต้านรัฐบาลฝรั่งเศสที่สำคัญซึ่งมีชื่อว่า กบฏเมนาเลมบา (กบฏผ้าคลุมแดง) โดยปฏิบัติการกองโจรเพื่อขับไล่ชาวต่างชาติ ชาวคริสต์และการคอร์รัปชันของรัฐบาลโดยมีผู้เข้าร่วมกลุ่มกบฏมากมายซึ่งล้วนแต่ใส่ผ้าคลุมไหล่สีแดง การต่อต้านครั้งนี้ได้ถูกปราบปรามโดยรัฐบาลฝรั่งเศสและพบกับจุดจบใน พ.ศ. 2440[15] ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มกบฏเป็นเชื้อพระวงศ์ซึ่งฝรั่งเศสสั่งให้ประหารชีวิตทุกพระองค์ ซึ่งรวมถึง เจ้าชายรัทสิมมามันกา พระปิตุลาในพระราชินีและไรเดรียมอัมพันดรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม ส่วนเจ้าหญิงรามิซินดราซามา พระปิตุจฉาในพระราชินีทรงถูกเนรเทศไปยังเรอูนียงเพราะว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่ต้องการประหารสตรี[16]
จากการต่อต้านนี้ทำให้ฝรั่งเศสต้องเปลี่ยนผู้ว่าราชการประจำเกาะ จาก ฮิปโปไลท์ ลาโร็ช เป็นโจเซฟ กาเลียนี ผู้ว่าการทหาร หนึ่งวันก่อนที่กาเลียนีจะเดินทางมาถึงอันตานานารีโว เขาได้ส่งจดหมายกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาให้เสด็จมารายงานพระองค์ที่ฐานบัญชาการทางทหารด้วยพระองค์เองพร้อมกับข้าราชบริพารทั้งหมด ฐานบัญชาการได้มีผู้ถือธงชาติฝรั่งเศสแบบดั้งเดิมตามพระองค์มาด้วย สมเด็จพระราชินีนาถทรงถูกบังคับให้ลงพระปรมาภิไธยยินยอมยกพระราชทรัพย์ของพระราชวงศ์เมรีนาทั้งหมดแก่ฝรั่งเศสก่อนที่พระนางทรงถูกกักขังคุกภายในพระราชวังของพระองค์เอง พระนางทรงได้พบปะเพียงผู้ที่ได้รับการอนุญาตจากกาเลียนีเท่านั้น ขณะทรงถูกจองจำพระนางรันฟาลูนาทรงเปลียนศาสนานับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกเพื่อให้ฝรั่งเศสพึงพอใจแต่ฝรั่งเศสก็ไม่สนใจอะไรในการกระทำของพระนาง[16]
ถูกเนรเทศ
[แก้]กาเลียนีประกาศเนรเทศสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 ในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2440 และประกาศล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการในวันถัดมา ฝรั่งเศสออกคำสั่งให้อดีตสมเด็จพระราชินีนาถต้องเสด็จออกจากพระราชวังภายในเวลา 1 นาฬิกา 30 นาที พระนางถูกควบคุมพระองค์ออกจากอันตานานารีโวด้วยเกี้ยว ในขณะที่ชาวเมืองยังคงหลับนอน โดยมีผู้รักษาความปลอดภัยและข้าราชบริพารตามเสด็จประมาณ 700 ถึง 800 คน[17] โดยตลอดการเดินทางต้องเสด็จไปยังที่หมายที่ชายฝั่งตะวันออกของเมืองโทอามาซินาที่ซึ่งพระนางต้องเสด็จประทับโดยเรือไปยังเกาะเรอูนียง ได้มีรายงานว่าระหว่างเสด็จโดยเรือพระนางรันฟาลูนาทรงเมาอย่างหนัก เสวยเหล้ารัมหลายขวดซึ่งผิดธรรมเนียมวิสัย[18] ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าทรงเสียพระทัยอย่างหนัก ที่โทอามาซินาในวันที่ 6 มีนาคม พระนางรันฟาลูนาทรงได้รับการแจ้งให้ทราบว่า เจ้าหญิงราเซนดราโนโร พระขนิษฐา และเจ้าหญิงราซินดราซานา พระปิตุจฉา ได้เสด็จมาถึงในเวลาอันสั้นพร้อมกับเจ้าหญิงราซาฟินนานเดรียมานิทรา พระราชนัดดาวัย 14 พรรษา ซึ่งเจ้าหญิงพระองค์นี้ทรงพระครรภ์ได้ 9 เดือนกับทหารชาวฝรั่งเศส[19]
ณ เกาะเรอูนียง
[แก้]พระราชวงศ์เสด็จทางเรือพระที่นั่งลา เปรูสถึงท่ากาเลต์ ห่างจากนครแซงต์-เดนิส เมืองหลวงของเกาะเรอูนียงเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร โดยมีการระมัดระวังอย่างรอบคอบตามคำสั่งของรัฐบาลฝรั่งเศส ทั้ง ๆ ที่มีความพยายามของฝูงชนชาวฝรั่งเศสได้ออกมาดูสมเด็จพระราชินีพระองค์สุดท้ายแห่งมาดากัสการ์พร้อมตะโกนด่าสาปแช่งและเย้ยหยันพระนางในขณะที่เรือจอดเทียบท่าซึ่งโกรธแค้นพระนางที่ทำให้ทหารชาวฝรั่งเศสที่เป็นสามี บุตร พี่น้องหรือบิดาของพวกเขาต้องเสียชีวิตในการรบกับมาดากัสการ์โดยรุกคืบเข้ากรุงอันตานานารีโวที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ยากแก่การรุกรานซึ่งทำให้ทหารฝรั่งเศสต้องเสียชีวิตจากไข้ป่าหลายร้อยนาย หลังจากกลุ่มฝูงชนที่ตั้งใจจะมารุมประชาทัณฑ์พระนางสลายการชุมนุมออกไป กัปตันได้ถวายการคุ้มครองพระนางและพระราชวงศ์เสด็จประทับรถเทียมม้าซึ่งเป็นครั้งแรกที่พระนางทรงรู้จักรถเทียมม้าและได้เดินทางไปยังโรงแรมเดอลายูโรเปในกรุงแซงต์-เดนิส เจ้าหญิงราซาฟินนานเดรียมานิทราซึ่งทรงพระครรภ์และทรงเครียด พระองค์ทรงทรมานจากพระอารมณ์แปรปรวนอย่างมากตลอดการถูกเนรเทศ เจ้าหญิงทรงคลอดบุตรอย่างยากลำบากในโรงแรมและมีพระประสูติกาลพระธิดาในวันที่สองหลังจากเสด็จถึงเรอูนียง แต่ไม่สามารถฟื้นฟูพระวรกายของพระองค์ได้ เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ในอีก 5 วันต่อมา ทารกถูกตั้งชื่อว่า "มารี-หลุยส์" และทรงได้รับพิธีศีลจุ่มตามแบบคาทอลิก เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูกับฝรั่งเศส เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาให้เป็นองค์รัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์แห่งมาดากัสการ์ โดยอดีตพระราชินีนาถรันฟาลูนาทรงรับเจ้าหญิงเป็นธิดาบุญธรรม[20]
ภายในเวลา 1 เดือน พระราชวงศ์ถูกย้ายไปยังคฤหาสน์ของมาดามเดอวิลเลนตองย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณที่เงียบสงบของรู เดอ ลา อาร์เซนองและรู เดอ เลมพาร์ต ใกล้จวนว่าราชการของฝรั่งเศสในแซงต์-เดนิส พระนางรันฟาลูนาทรงประทับใจในสองสิ่งของคฤหาสน์ที่ซึ่งมีกำแพงที่ใหญ่และมีหลังคายอดแหลมตัดขวางซึ่งเตือนให้พระนางรำลึกถึงสถาปัตยกรรมมาดากัสการ์และชีวิตบนที่ราบสูงมาดากัสการ์ที่ซึ่งทรงรักยิ่ง พระราชวงศ์ที่เสด็จมานี้เป็นพระราชวงศ์ฝ่ายหญิงทั้งหมดได้แก่ อดีตพระราชินี พระปิตุจฉา พระขนิษฐาและพระปนัดดา เท่านั้นไม่พอผู้ติดตามรวมทั้งราชเลขานุการ 2 คน พ่อครัว แม่บ้าน และคนรับใช้ 3 คนของพระนางรันฟาลูนา อาจารย์ส่วนพระองค์ของพระราชินีได้รับเข้าหาพระราชวงศ์อย่างอิสระ[21]
อดีตพระราชินีและพระราชวงศ์ทรงประทับที่คฤหาสน์ในเรอูนียงเป็นเวลาเพียง 2 ปี จากความตึงเครียดที่ทวีมากขึ้นอีกครั้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเกิดการขัดแย้งจากปัญหาซูดาน ผู้มีอำนาจในรัฐบาลฝรั่งเศสกังวลกับสภาพของประชาชนในมาดากัสการ์ที่พยายามหาทางต่อต้านกฎหมายของฝรั่งเศสจนอาจจะกลายเป็นการก่อกบฏใหม่ อดีตสมเด็จพระราชินีซึ่งใกล้ชิดกับมาดากัสการ์อาจทรงสนับสนุนช่วยเหลือและปลุกระดมกลุ่มกบฏ ผู้มีอำนาจในรัฐบาลฝรั่งเศสได้ตัดสินใจอย่างฉับพลันให้ย้ายพระนางรันฟาลูนาและพระราชวงศ์ไปยังแอลจีเรีย โดยเชื่อว่าถ้าพระนางประทับห่างจากบ้านเกิดของพระนางก็จะทำให้กลุ่มกบฏไม่มีผู้สนับสนุนและสถานการณ์ของมาดากัสการ์จะกลับเป็นปกติ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2442 หลังจากทรงได้รับการเตือนล่วงหน้าไม่นาน พระนางรันฟาลูนาและพระราชวงศ์ทรงถูกบังคับให้ขึ้นเรือยาง-เซ โดยมีราชเลขานุการ ล่ามและคนรับใช้ตามเสด็จมากมาย[22] ในเวลาการเดินทาง 28 วันก่อนถึงเมืองท่ามาร์แซย์พระราชวงศ์ได้หยุดพักที่เมืองท่าต่าง ๆ ได้แก่ มายอต, แซนซิบาร์, เอเดน และจิบูตี[23] พระราชวงศ์ประทับที่มาร์แซย์เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะถูกย้ายไปที่คฤหาสน์ในมุสตาฟา ซูเพอริเออร์ ในพื้นที่แอลเจียร์ในแอลจีเรีย ตลอดการเดินทาง กัปตันหลายคนพยายามขัดขวางไม่ให้พระนางรันฟาลูนาตรัสกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส[18] พระนางทรงหวังว่ารัฐบาลฝรั่งเศสจะให้พระนางประทับที่กรุงปารีสและทรงผิดหวังอย่างมากเมื่อทรงทราบว่าพระนางจะถูกส่งไปยังแอลจีเรีย พระนางตรัสและพระอัสสุชลไหลรินหลังจากได้รับรายงาน ตรัสว่า
ใครคือความแน่นอนของพรุ่งนี้ เพียงเมื่อวานเท่านั้นที่ฉันเป็นราชินี วันนี้ฉันกลับกลายเป็นหญิงที่ไม่มีความสุขอย่างแท้จริง เป็นเพียงผู้หญิงที่ถูกทำลายจิตใจจนแตกสลาย[6]
ณ แอลจีเรียและการเสด็จประพาสฝรั่งเศส
[แก้]— Kings in Exile (กษัตริย์ยามลี้ภัย), Our Paper (1904) (พ.ศ. 2447) [24]
ที่พระตำหนักของพระราชินีในแอลเจียร์ พระนางทรงได้รับการจัดเตรียมข้าราชบริพารและผู้ถวายการต้อนรับซึ่งเป็นสตรีชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้คอยสังเกตการณ์อดีตพระราชินีทุกฝีก้าวและทำหน้าที่คอยดูและแนะนำเมื่อใดที่อดีตพระราชินีทรงเชิญแขกเข้ามา เท่านั้นไม่พอในขั้นต้นรัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดเตรียมถวายพระราชทรัพย์ประจำปีแก่พระนางรันฟาลูนาเป็นจำนวน 25,000 ฟรังก์ ซึ่งเป็นเงินรายได้จากอาณานิคมแห่งมาดากัสการ์ซึ่งได้รับอำนาจจากผู้ว่าราชการนายพลของอาณานิคม[25] พระราชทรัพย์เกือบทั้งหมดของพระนางรันฟาลูนาได้ถูกยึดโดยอำนาจของผู้ว่าราชการอาณานิคม ถึงแม้ว่าพระนางจะได้รับอนุญาตที่จะเก็บรักษาพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บางอย่างซึ่งรวมทั้งเครื่องเพชรบางชิ้นของพระนาง บำนาญของพระนางในขั้นต้นทรงได้รับน้อยจนถึงกับยากจนที่ซึ่งรัฐบาลอาณานิคมแห่งแอลจีเรียชักชวนให้ขายทรัพย์สินไม่สำเร็จหลายครั้งในนามของพระนางเพื่อจะได้ให้เงินเพิ่มสำหรับพระนาง พระนางรันฟาลูนาทรงพยายามอย่างหนักร่วมกับข้าราชบริพารในการขายเครื่องเพชรบางส่วนของพระนางเป็นการลับแต่แผนการนี้รั่วไหลจนรัฐบาลอาณานิคมรู้จึงได้ขับไล่และส่งข้าราชบริพารคนนั้นกลับมาดากัสการ์[18]
ในช่วงปีแรกหลังจากถูกเนรเทศมาที่แอลจีเรีย พระนางรันฟาลูนาทรงสนพระทัยที่ได้พบกับวิถีชีวิตสังคมแบบชาวแอลเจียร์ พระนางทรงได้รับเชิญเสมอ ๆ ในงานเลี้ยง, การเสด็จประพาสในระยะสั้น และงานประเพณีท้องถิ่น โดยพระนางจะถูกเชิญให้เป็นเจ้าภาพประจำงานบ่อย ๆ [26] อย่างไรก็ตามความคิดถึงบ้านเกิดนั้นเกิดขึ้นประจำและความหวังที่จะได้เสด็จกลับมาดากัสการ์มีส่วนทำให้พระนางโศกเศร้าและเหนื่อยหน่าย พระนางประสงค์ที่จะพระราชดำเนินเพียงพระองค์เดียวบ่อย ๆ ในเขตชนบท, ทรงพระราชดำเนินผ่านชายหาดหรือผ่านเมืองเพื่อที่จะทำจิตใจให้สงบและระงับอารมณ์ของพระนางเอง[27] อดีตพระราชินีทรงมีความกระตือรือร้นที่จะทอดพระเนตรแผ่นดินใหญ่ฝรั่งเศส โดยเฉพาะกรุงปารีส โดยมีพระราชประสงค์ขอความยินยอมจากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อการเดินทางหลายครั้ง โดยพระราชประสงค์ขอพระนางได้รับการปฏิเสธมาโดยตลอดจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2444 พระนางรันฟาลูนาได้รับการอนุญาตให้เสด็จประพาสฝรั่งเศส ในเวลาหลายเดือนพระนางรันฟาลูนาทรงพำนักอยู่ที่เขตการปกครองปารีสที่ 16 ใกล้กับจัตุรัสชาร์ล เดอ โกล และถนนช็องเซลีเซ โดยเสด็จไปสถานที่หลักทั่วกรุงปารีสและทรงได้รับการถวายการต้อนรับจากผู้คนจำนวนมาก พระนางทรงได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางโดยวงสังคมชั้นสูงและทรงได้รับของขวัญมากมายรวมทั้งผ้าคลุมซึ่งมีค่ามาก ในระหว่างการเสด็จประพาสครั้งแรก ทรงเยี่ยมชมพระราชวังแวร์ซาย และทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการที่โฮเต็ล เดอ วิลเล ปารีส และเสด็จประพาสเมืองบอร์โดเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ท้ายสุดพระนางเสด็จประพาสชายหาดอาร์คาชอง ก่อนที่พระนางทรงใช้พระราชทรัพย์จนหมดสิ้นและประทับเรือพระที่นั่งแอลจีเรียที่มาร์แซย์ในต้นเดือนสิงหาคม[28] การเสด็จประพาสครั้งนี้เป็นที่ดึงดูดใจชาวปารีสมาก[24] ที่ซึ่งแสดงความเห็นใจในชะตากรรมของพระราชินีและได้รวมกันกล่าวหารัฐบาลโดยเรียกร้องให้จัดหาตำหนักที่ใหญ่กว่านี้หรือถวายพระเกียรติที่พระนางสมควรได้รับมากกว่านี้โดยให้พระนางได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์[28]
พระนางรันฟาลูนาจะได้กลับไปยังฝรั่งเศส 6 ครั้งในอีก 12 ปีถัดไป การเสด็จประพาสบ่อยครั้งทำให้พระนางทรงมีชื่อเสียงขึ้นมามากจนเป็นที่สรรเสริญ (cause célèbre) ของพลเมืองฝรั่งเศสจำนวนมากที่ซึ่งสงสารในชะตากรรมของพระนางและยกย่องพระนางในด้านกิริยามารยาทที่งดงามและความอดทนอดกลั้นอย่างยิ่งในพระชะตา การเสด็จประพาสของพระนางรันฟาลูนาเป็นที่สนใจแก่สื่อสาธารณะและจากความนิยมในอดีตพระราชินีรันฟาลูนาทำให้พระฉายาลักษณ์ของพระนางได้ถูกพิมพ์ลงบนกล่อง Petit Beurre คุกกี้ใน พ.ศ. 2459 [29] การเสด็จประพาสครั้งที่สองของพระราชินีมีขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2446 เมื่อเสด็จประพาสวิค-ซูร์-ซีเรและโอรียัก พลเมืองจำนวนมากได้กดดันรัฐบาลในระหว่างที่พระนางเสด็จให้เพิ่มพระราชทรัพย์ประจำปีของพระนางขึ้นเป็นจำนวน 37,000 ฟรังก์ ใน 3 ปีถัดมาพระนางเสด็จประพาสมาร์แซย์และแซงต์-เจอร์แมน และทรงเข้าพำนักในอพาร์ตเมนต์ขนาด 5 ห้องนอนใหญ่ของชาวปารีสที่เขตการปกครองปารีสที่ 16 ซึ่งพระนางได้ทอดพระเนตรการแสดงที่โรงละครปารีสโอเปรา, ทรงเข้าสังเกตการณ์การประชุมของสภาผู้แทนฝรั่งเศสและทรงได้รับการถวายการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมฝรั่งเศส และเป็นอีกครั้งที่ทรงได้รับความเห็นใจจากชาวฝรั่งเศส พระราชทรัพย์ของพระนางรันฟาลูนาได้เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ฟรังก์ต่อปี ในการเสด็จประพาสครั้งต่อไป พ.ศ. 2450 พระนางต้องประทับที่ดิเวส-ซูร์-เมอร์เพื่อการเสด็จประพาสจังหวัดกาลวาโดส ที่ซึ่งพระนางทรงได้รับการฉายพระรูปลงในสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศส จากเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2453 อดีตพระราชินีนาถรันฟาลูนาเสด็จประพาสปารีส, น็องต์, ลา บูลล์-เอสคอบาค และแซงต์-นาแซร์และทรงได้รับการฉายพระรูปลงในสิ่งพิมพ์ฝรั่งเศสหลาย ๆ ครั้ง ใน พ.ศ. 2455 การเสด็จประพาสของพระนางครั้งนี้ไม่มีพิธีรีตองโดยเสด็จยังหมู่บ้านกีเบอวิลล์และมีการเพิ่มพระราชทรัพย์ประจำปีของพระนางขึ้นเป็นจำนวน 75,000 ฟรังก์ พระนางเสด็จประพาสครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. 2456 โดยเสด็จยังมาร์แซย์, แอกซ์-เลส-บานส์ และอัลเลวาร์ด[30]
การเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2457 ได้ปิดโอกาสในการเสด็จประพาสฝรั่งเศสของพระนาง ตลอดพระชนม์ชีพในแอลจีเรีย พระนางและพระราชวงศ์ได้เข้าร่วมพิธีของโปรแตสแตนต์เป็นประจำทุกสัปดาห์ที่คริสตจักรปฏิรูปซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงแอลเจียร์[31] หลังสงครามพระนางทรงเข้าร่วมกาชาดแอลจีเรียและทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อการกุศล พระนางต้องเสด็จสวรรคตโดยไม่มีโอกาสหวนกลับมาดากัสการ์บ้านเกิดที่ทรงรักยิ่ง โดยทรงขอร้องรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ 2 ครั้งใน พ.ศ. 2453 และ พ.ศ. 2455 แต่ได้ถูกปฏิเสธเนื่องจากเงินทุนจากอาณานิคมไม่เพียงพอ[28]
เสด็จสวรรคตและทายาท
[แก้]อดีตพระราชินีนาถรันฟาลูนาเสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ณ พระตำหนักในแอลเจียร์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 จากพระอาการประชวรด้วยการอุดตันของเส้นโลหิตแดงอย่างทุกข์ทรมาน พระบรมศพของพระนางรันฟาลูนาถูกฝังที่สุสานแซงต์-เออเชนในกรุงแอลเจียร์เวลา 10 นาฬิกาของวันที่ 25 พฤษภาคม พระราชพิธีฝังพระศพได้มีผู้คนมาเข้าร่วมอาทิเช่น พระสหายสนิท, ผู้คนซึ่งรักพระนาง, กลุ่มสภากาชาด และสมาชิกของโบสถ์ที่เป็นพระอุปถัมภ์รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงการเมืองและสังคมของแอลจีเรีย ในเวลา 9 นาฬิกาของตอนเช้า ขบวนรถยาวเหยียดได้เดินทางไปยังสถานที่ระลึกถึง[32] การแสดงความเคารพและการไว้อาลัยพระนางรันฟาลูนาของผู้ร่วมพิธีไม่ได้ถูกสะท้อนให้เห็นโดยรัฐบาลอาณานิคมที่มาดากัสการ์ อย่างไรก็ตามในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2468 เวลาแปดปีหลังจากที่พระนางรันฟาลูนาเสด็จสวรรคต ผู้ว่าการแห่งแอลจีเรียได้เรียนจดหมายไปยังผู้ว่าการแห่งมาดากัสการ์แจ้งเรียกร้องค่าบำรุงรักษาพระศพซึ่งทางผู้ว่าการมาดากัสการ์เพิกเฉย ผู้ว่าการแอลจีเรียได้เรียกร้องให้ทางผู้ว่าการมาดากัสการ์จัดหาเงินทุนเพื่อการบำรุงรักษาพระศพซึ่งทรุดโทรมเสียหายไปมาก ทางมาดากัสการ์ควรให้ความสำคัญต่อการปล่อยปละละเลยในการระลึกและไว้อาลัยถึงพระราชินีนาถซึ่งเหมือนกับรัฐบาลกลางของฝรั่งเศสที่ละเลยเช่นกัน ถึงอย่างไรก็ตามคำขอถูกปฏิเสธถึงสองครั้งและพระศพมิได้รับการบูรณะ[18] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 รัฐบาลฝรั่งเศสยินยอมให้ย้ายพระศพของพระนางรันฟาลูนากลับยังมาดากัสการ์และทำพิธีฝังพระศพอีกครั้งที่ สุสานแห่งสมเด็จพระราชินีนาถราซอเฮอรินาแห่งมาดากัสการ์ในพระราชวังหลวงรูวาแห่งอันตานานารีโว ซึ่งเป็นพระประสงค์สุดท้ายของพระนางที่จะได้เสด็จมายังมาดากัสการ์แม้ซึ่งจะเสด็จสวรรคตแล้ว
จากการที่อดีตสมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาเสด็จสวรรคต เจ้าหญิงรามาซินดราซานา ผู้เป็นพระปิตุจฉาของพระนาง ได้เสด็จย้ายออกจากแอลจีเรียและประทับที่จังหวัดอาลป์-มารีตีม ที่ซึ่งประทับในช่วงวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพในอีกไม่กี่ปี รัชทายาทของอดีตพระราชินีคือ เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ ได้เสด็จออกจากพระตำหนักของพระนางรันฟาลูนา เพื่อทรงเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนแบบฝรั่งเศส และทรงเสกสมรสกับวิศวกรการเกษตรชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีชื่อว่า อังเดร บอสซาร์ด ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2464 ถึงแม้ว่าเจ้าหญิงมารี-หลุยส์จะได้สิทธิในพระตำหนักเล็ก ๆ จากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อประทับ เจ้าหญิงกลับทรงเลือกที่จะประกอบพระกรณียกิจด้านการพยาบาลและทรงได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์จากการประกอบพระกรณียกิจอย่างไม่ลดละด้านการแพทย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจาก อังเดร บอสซาร์ดและเจ้าหญิงมารี-หลุยส์ทรงหย่าร้างโดยไร้บุตรธิดา เจ้าหญิงวัยสาวทรงได้รับการกล่าวถึงว่าทรงเป็นอิสระ ร่าเริงและมีชีวิตชีวาเหมือนดั่งผีเสื้อ เจ้าหญิงมารี-หลุยส์สิ้นพระชนม์ใน ณ บาโซเชซ์-ซูร์-เลอ-เบทซ์ ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2491 โดยไม่ทรงมีรัชทายาทสืบต่อ และพระศพถูกฝังที่มองเตรอิล ประเทศฝรั่งเศส[33] การสิ้นพระชนม์ของพระนางนับเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์เมรีนาและราชอาณาจักรมาดากัสการ์เนื่องจากพระนางทรงเป็นผู้สืบทอดราชวงศ์ลำดับสุดท้าย และความหวังของชาวมาดากัสการ์ที่ต้องการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสูญสิ้นไปด้วย
ดูเพิ่ม
[แก้]บรรณานุกรม
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Trotter Matthews (1904), p. 243
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Titcomb, Mary (November), "Madagascar and the Malagasy", Frank Leslie's Popular Monthly, pp. 530–542
{{citation}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
และ|year=
/|date=
ไม่ตรงกัน (help) - ↑ 3.0 3.1 3.2 Stuart Robson, Isabel (1896), "The Childhood of a Queen IV: The Queen of Madagascar", Children's Friend, London: S.W. Partridge & Co., vol. 36, pp. 103–104
- ↑ 4.0 4.1 Ministère de la marine et des colonies (1884), p. 117
- ↑ Madagascar at uq.net.au
- ↑ 6.0 6.1 Carpenter, Frank G. (January 23, 1908). "Madagascar's Ex-Queen". ใน Pattengill, Henry (บ.ก.). Moderator-Topics. Vol. 28. Lansing, MI. pp. 370–372.
- ↑ 7.0 7.1 "The Queen of Madagascar". Scientific American Supplement. No. 1037. New York: Munn & Co. Publishers. November 16, 1895. p. 16568.
- ↑ Cousins, William Edward (1895). Madagascar of to-day. The Religious Tract Society. p. 73.
- ↑ 9.0 9.1 Priestley, Herbert Ingram (1967-05-26), France overseas: a study of modern imperialism, p. 305, ISBN 9780714610245
- ↑ Van Den Boogaerde, Pierre (2008), Shipwrecks of Madagascar, AEG Publishing Group, p. 7, ISBN 9781606934944
- ↑ "Gifts and Blessings: The Textile Arts of Madagascar". Smithsonian National Museum of African Art. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-06. สืบค้นเมื่อ November 11, 2010.
- ↑ 12.0 12.1 Curtin, Philip D. (1998). Disease and empire: the health of European troops in the conquest of Africa. Cambridge, MA: Cambridge University Press. p. 186. ISBN 9780521598354.
- ↑ Roland, Oliver; Fage, John; Sanderson, G.N. (1985). The Cambridge history of Africa. Vol. 6. Cambridge, UK: Cambridge University Press. p. 530. ISBN 9780521228039.
- ↑ Barrier (1996), p. 205
- ↑ Campbell, Gwyn (1991). "The Menalamba revolt and brigandry in imperial Madagascar, 1820-1897". International Journal of African Historical Studies. 24 (2): 259–291.
- ↑ 16.0 16.1 Basset, Charles (1903). Madagascar et l'oeuvre du Général Galliéni. Paris: A. Rousseau. pp. 140–142. (ฝรั่งเศส)
- ↑ Barrier (1996), pp. 245-246
- ↑ 18.0 18.1 18.2 18.3 Randrianja, Solofo (2001). Société et luttes anticoloniales à Madagascar: de 1896 à 1946. Paris: Karthala Editions. pp. 100–110. ISBN 9782845861367. (ฝรั่งเศส)
- ↑ Barrier (1996), p. 260
- ↑ Barrier (1996), pp. 260-266
- ↑ Barrier (1996), p. 267
- ↑ Barrier (1996), pp. 269-271
- ↑ Barrier (1996), pp. 273-274
- ↑ 24.0 24.1 Massachusetts Reformatory (October 1, 1904). "Kings in Exile". Our Paper. 20 (40): 639.
- ↑ "Crownless Monarchs". The Bookman. No. 26. London: Dodd Mead & Co. 1908. p. 118.
- ↑ Barrier (1996), pp. 288-303
- ↑ Barrier (1996), p. 347
- ↑ 28.0 28.1 28.2 Bergougniou, Jean-Michel; Clignet, Rémi; David, Philippe (2001). "Villages noirs" et autres visiteurs africains et malgaches en France et en Europe: 1870-1940. Paris: Karthala Editions. pp. 87–89. ISBN 9782845862005. (ฝรั่งเศส)
- ↑ Barrier (1916), p. 334
- ↑ Barrier (1916), p. 334
- ↑ Saillens, Pasteur R. (1906). "Impressions of Algeria". The Missionary Review of the World. Vol. 29. London: Funk & Wagnalls. p. 449.
- ↑ Barrier (1996), p. 347
- ↑ Barrier (1996), p. 358
อ้างอิง
[แก้]- Barrier, Marie-France (1996). Ranavalona, dernière reine de Madagascar. Paris: Balland. ISBN 9782715810945. (ฝรั่งเศส)
- Ministère de la marine et des colonies (1884). Revue maritime et coloniale, Volume 81. Paris: Gouvernement de la France. สืบค้นเมื่อ January 27, 2011. (ฝรั่งเศส)
- Nativel, Didier (2005). Maisons royales, demeures des grands à Madagascar. Antananarivo, Madagascar: Karthala Éditions. ISBN 978-2-84586-539-6. (ฝรั่งเศส)
- Stratton, Arthur (1964). The Great Red Island. Berlin: Scribner.
- Trotter Matthews, Thomas (1904). Thirty years in Madagascar. London: A. C. Armstrong. สืบค้นเมื่อ April 10, 2011.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ก่อนหน้า | สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 3 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
สมเด็จพระราชินีนาถรันฟาลูนาที่ 2 แห่งมาดากัสการ์ | สมเด็จพระราชินีนาถแห่งมาดากัสการ์ (ราชวงศ์เมรีนา) (30 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 – 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440) |
ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง | ||
มาดากัสการ์ถูกยึดครองโดยฝรั่งเศส ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง |
ผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์มาดากัสการ์ (ราชวงศ์เมรีนา) (28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 – 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2460) |
เจ้าหญิงมารี-หลุยส์ เป็นลำดับสุดท้าย |