สถาปัตยกรรมนอร์มัน
สถาปัตยกรรมนอร์มัน (อังกฤษ: Norman architecture) เป็นคำที่ใช้ในการบรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่วิวัฒนาการโดยนอร์มันในดินแดนต่างๆ ที่ได้เข้าปกครองหรือมีอิทธิพลในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 โดยเฉพาะในการบรรยายถึงสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์แบบอังกฤษ นอร์มันเป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างปราสาท, ป้อมปราการที่รวมทั้งหอกลางแบบนอร์มัน, สำนักสงฆ์, แอบบี, คริสต์ศาสนสถาน และมหาวิหารเป็นจำนวนมากในอังกฤษ ในลักษณะการใช้โค้งกลม (โดยเฉพาะรอบหน้าต่างและประตู) และมีลักษณะหนาหนักเมื่อเทียบกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่น
ลักษณะสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่กล่าวนี้เริ่มขึ้นในนอร์ม็องดีและแผ่ขยายไปทั่วยุโรปโดยเฉพาะในอังกฤษซึ่งเป็นที่ที่มีการวิวัฒนาการมากที่สุดและยังคงมีสิ่งก่อสร้างจากยุคนั้นที่ยังหลงเหลืออยู่มากกว่าประเทศอื่น ในขณะเดียวกันตระกูลโอตวิลล์ (Hauteville family) ซึ่งเป็นตระกูลนอร์มันที่ปกครองซิซิลีก็สร้างลักษณะสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์อีกลักษณะหนึ่งที่มีอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์และซาราเซ็นที่ก็เรียกว่า “สถาปัตยกรรมนอร์มัน” เช่นกันหรือบางครั้งก็เรียกว่า “สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ซิซิลี”
ที่มาของคำและการและการวิวัฒนาการไปเป็นสถาปัตยกรรมกอทิก
[แก้]“สถาปัตยกรรมนอร์มัน” อาจจะเป็นคำที่เริ่มใช้กันโดยนักโบราณศึกษา (antiquarian) ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่การลำดับลักษณะตามสมัยต่างๆ มาจากการกำหนดของทอมัส ริคแมน (Thomas Rickman) ในหนังสือที่เขียนในปี ค.ศ. 1817 ชื่อ ความพยายามในการแยกลักษณะสถาปัตยกรรมอังกฤษตั้งแต่สมัยนอร์มันพิชิตอังกฤษจนถึงสมัยการปฏิรูปศาสนา (An Attempt to Discriminate the Styles of English Architecture from the Conquest to the Reformation) ที่ริคแมนเริ่มใช้คำว่า “นอร์มัน, กอทิกอังกฤษตอนต้น, กอทิกวิจิตร และกอทิกเพอร์เพ็นดิคิวลาร์” ในการแยกลักษณะสถาปัตยกรรมแบบต่างๆ ส่วนคำว่า “โรมาเนสก์” โดยทั่วไปเป็นคำที่ใช้ในภาษากลุ่มโรมานซ์ในอังกฤษมาตั้งแต่ ค.ศ. 1715[1] และนำมาใช้ในการบรรยายลักษณะสถาปัตยกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1819[2] แม้ว่าสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพจะทรงสร้างแอบบีเวสต์มินสเตอร์ในแบบโรมาเนสก์ (ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งก่อสร้างเดิมหมดในปัจจุบัน) ก่อนหน้าการรุกรานของชาวนอร์มันไม่นานนัก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างสำคัญขนาดใหญ่ที่เก่าที่สุดที่สร้างแบบโรมาเนสก์ในอังกฤษ ในอังกฤษไม่มีสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ที่สร้างก่อนการรุกรานเหลืออยู่ให้เห็น แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าลักษณะบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ในคริสต์ศาสนสถานบางแห่งที่โดยทั่่วไปกล่าวกันว่าเป็นลักษณะ “นอร์มัน” นั้นอันที่จริงแล้วอาจจะเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแองโกล-แซ็กซอน
ขณะที่ช่างสลักหินวิวัฒนาการลักษณะการแกะและทดลองหาวิธีแก้ปัญหาการสร้างเพดานสันอยู่ก็ได้พบวิธีใหม่ๆ ในการก่อสร้างเช่นการใช้โค้งที่แหลมขึ้นกว่าเดิม ที่ต่อมากลายมาเป็นลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมกอทิก นักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและนักวิชาการมีความเห็นว่าการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมควรเป็นการศึกษาที่มีความต่อเนื่องเป็นหน่วยทั้งหมดรวมกันแทนที่จะเป็นการศึกษาของลักษณะเป็นส่วนๆ ซึ่งรวมทั้งการศึกษาวิวัฒนาการภายในสถาปัตยกรรมนอร์มันหรือโรมาเนสก์เช่นที่ว่า นักวิชาการเรียกลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะที่อยู่ในระหว่างการวิวัฒนาการจากสมัยหนึ่งไปเป็นอีกสมัยหนึ่งว่าเป็น “ลักษณะคาบสมัย” (Transitional) หรือ “ลักษณะคาบสมัยนอร์มัน-กอทิก” (Norman-Gothic Transitional) เว็บไซต์บางแห่งใช้คำว่า “นอร์มันกอทิก” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกำกวมที่อาจจะหมายถึงลักษณะคาบสมัยหรือลักษณะนอร์มันอย่างเดียวก็เป็นได้[3],[4]
สถาปัตยกรรมนอร์มันในนอร์ม็องดี
[แก้]ผู้รุกรานไวกิงมาถึงปากแม่น้ำแซนในปี ค.ศ. 911 ในช่วงเวลาที่ชนแฟรงก์ยังต่อสู้บนหลังม้าและลอร์ดของชนแฟรงก์ยังสร้างปราสาทอยู่ มาอีกศตวรรษต่อมาประชาชนในบริเวณนั้นก็ยอมจำนนต่อไวกิงและรวมตัวกันเป็นชนที่เรียกว่านอร์มันที่ยอมรับประเพณีท้องถิ่น, ภาษา และการนับถือคริสต์ศาสนา ขุนนางนอร์มันเริ่มสร้างปราสาทที่ทำด้วยไม้ที่ต่อมาวิวัฒนาการมาเป็นปราสาทเนิน และต่อมาวิวัฒนาการก็เป็นคริสต์ศาสนสถานที่สร้างด้วยหินแบบโรมาเนสก์ของชนแฟรงก์ เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 950 นอร์มันก็เริ่มสร้างหอกลางด้วยหิน นอร์มันเป็นกลุ่มชนที่เดินทางอย่างกว้างไกลและขณะที่เดินทางไปตามท้องถิ่นต่างๆ นอร์มันก็รับวัฒนธรรมต่างๆ ที่รวมทั้งวัฒนธรรมของตะวันออกไกล้ บางอย่างก็นำเข้ามาผสมกับลักษณะศิลปะและสถาปัตยกรรมของตนเอง นอร์มันวิวัฒนาผังแบบบาซิลิกาของสถาปัตยกรรมคริสเตียนยุคแรกที่ขยายด้านข้างและมุขตะวันออกออกไปมากกว่าเดิม และสร้างหอสองหอทางด้านหน้าของมุขตะวันตกเช่นที่เห็นในการก่อสร้างวัดแซ็งเตเตียน (Abbaye-aux-Hommes) ที่เมืองคอง (Caen) ที่เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1067 และกลายมาเป็นแบบอย่างในการสร้างมหาวิหารขนาดใหญ่ในอังกฤษต่อมาอีกยี่สิบปีให้หลัง
สถาปัตยกรรมนอร์มันในอังกฤษ
[แก้]ในอังกฤษขุนนางนอร์มันและสังฆราชมีอิทธิพลมาก่อนหน้าที่จะเข้ามารุกรานในปี ค.ศ. 1066 และอิทธิพลของนอร์มันนี้ก็มีผลต่อลักษณะสถาปัตยกรรมแองโกล-แซ็กซอนตอนปลาย สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพทรงเติบโตขึ้นในนอร์ม็องดีและในปี ค.ศ. 1042 พระองค์ก็ทรงนำช่างหินจากนอร์ม็องดีมาสร้างแอบบีเวสต์มินสเตอร์ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์สิ่งแรกในอังกฤษ
ในปี ค.ศ. 1051 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดก็ทรงนำขุนนางนอร์มันเข้ามาในอังกฤษผู้มาสร้างปราสาทเนินในเวลส์ หลังจากการรุกรานของนอร์มันแล้วทั้งการก่อสร้างปราสาทเนินและการก่อสร้างอื่นๆ ก็แพร่หลายอย่างรวดเร็ว การขยายตัวของการก่อสร้างก็รวมทั้งคริสต์ศาสนสถาน และแอบบี และป้อมปราการอันใหญ่โตและซับซ้อนกว่าเดิมที่รวมทั้งการก่อสร้างหอกลางที่ทำด้วยหิน
ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นลักษณะที่หนาหนักและเป็นทรงเรขาคณิตง่ายๆ การตกแต่งก็อาจจะมีแถบรูปสลักหินเล็กๆ เช่นตามคันทวย หรือซุ้มบอด (blind arcade) หรือการแกะสลักตกแต่งหัวเสาหรือในบริเวณหน้าบันเหนือประตูโค้งครึ่งวงกลม “ซุ้มโค้งนอร์มัน” เป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลม รอบโค้งมักจะตกแต่งเป็นลวดลายเรขาคณิตเช่นรูปหยักเชฟรอน (chevron) ผนังก็มักจะมีบริเวณพิธี (chancel) ที่ลึกและหอกลางเหนือจุดตัดเป็นสี่เหลี่ยมที่กลายมาเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมคริสต์ศาสนสถาน (Church architecture) ของอังกฤษต่อมา เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1083 นอกจากสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ เช่นปราสาทหรือมหาวิหารแล้ววัดเล็กๆ ประจำท้องถิ่นเป็นจำนวนร้อยก็สร้างกันขึ้นในสมัยนี้ด้วย วัดเล็กๆ เหล่านี้มักจะมีโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นโถงที่มีช่องทางเดินกลางช่องเดียวและหอสี่เหลี่ยมหอหนึ่งคร่อมทางเข้าหน้าวัดด้านตะวันตก ลักษณะวัดประจำท้องถิ่นที่สร้างมาตั้งแต่สมัยนอร์มันที่เห็นในปัจจุบันอาจจะมีลักษณะต่างจากที่กล่าวบ้างเพราะได้รับการขยายเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงจากเดิมในสมัยต่อมา
หลังจากมหาวิหารแคนเตอร์บรีได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ในปี ค.ศ. 1174 แล้วช่างหินนอร์มันก็เริ่มสร้างส่วนใหม่เป็นสถาปัตยกรรมกอทิก ราว ค.ศ. 1191 มหาวิหารเวลล์สในมณฑลซัมเมอร์เซ็ท และมหาวิหารลิงคอล์นก็สร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกอังกฤษ สถาปัตยกรรมนอร์มันก็ออกไปมีอิทธิพลไกลออกไปในท้องถิ่นในสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดเล็กลง
สถาปัตยกรรมคริสต์ศาสนสถาน
[แก้]- ปราสาทออกซฟอร์ดในปี ค.ศ. 1074 - หอใช้เป็นที่หลบภัยด้วย
- ชาเปลเซนต์จอห์น (ราวปี ค.ศ. 1087), หอคอยแห่งลอนดอน
- มหาวิหารเดอแรม (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1093) เป็นสิ่งก่อสร้างสิ่งแรกที่ใช้เพดานโค้งสันและโค้งแหลม
- มหาวิหารวินเชสเตอร์ (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1079)
- มหาวิหารอีลี (ปี ค.ศ. 1083–ค.ศ. 1109)
- มหาวิหารปีเตอร์บะระห์ (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1118)
- วัดที่คิลเพ็ค, แฮรฟอร์ดเชอร์
- วัดเซนต์นิโคลัส, ไพร์ฟอร์ด, เซอร์รีย์ (ราวปี ค.ศ. 1140)
- มหาวิหารเซาท์เวล
- วัดเซนต์แมรี, อิฟรีย์, ออกซฟอร์ดเชอร์ (ค.ศ. 1170)
- วัดเซนต์สวิทธันส เนทลีย์ สเคียวส์, แฮมพ์เชอร์ (ค.ศ. 1175) เป็นตัวอย่างของการสร้างวัดแบบห้องเดียว
สถาปัตยกรรมทางทหาร
[แก้]สถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัย
[แก้]- บ้านยิว (Jew's House), ลิงคอล์น
- คฤหาสน์บูธบีย์ พักเนลล์มาเนอร์, ลิงคอล์นเชอร์
- ปราสาทโอ้คแคม, รัทแลนด์
- พิพิธภัณฑ์ม็อยสฮอล, เบอรีเซนต์เอ็ดมันด์, ซัฟโฟล์ค (ราว ค.ศ. 1180)[5]
สถาปัตยกรรมนอร์มันในสกอตแลนด์
[แก้]สกอตแลนด์ก็ได้รับอิทธิพลของนอร์มันตอนต้นเมื่อขุนนางนอร์มันมามีบทบาทในราชสำนักของพระเจ้าแม็คเบ็ธแห่งสกอตแลนด์ราว ค.ศ. 1050 พระเจ้ามัลคอล์มที่ 3 ผู้ครองราชย์ต่อมาทรงโค่นราชบัลลังก์ของแม็คเบ็ธด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษและนอร์มัน มาร์กาเร็ตพระราชินีในพระองค์ทรงส่งเสริมการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสกอตแลนด์ ลัทธิเบ็นนาดิคตินเข้ามาก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่ดันเฟิร์มไลน์ พระราชโอรสองค์ที่สี่ของพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเดวิดที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ และทรงสร้างชาเปลเซนต์มาร์กาเร็ตเป็นอนุสรณ์แก่พระราชมารดาในคริสต์ศตวรรษที่ 12
สถาปัตยกรรมคริสต์ศาสนสถาน
[แก้]- แอบบีดันเฟิร์มไลน์, ดันเฟิร์มไลน์ (ก่อตั้งตั้งแต่ราว ค.ศ. 1070 โดยนักบุญมาร์กาเร็ต หรือพระราชินีมาร์กาเร็ต)
- มหาวิหารเซนต์แอนดรูว์, เซนต์แอนดรูว์ (ตั้งแต่ราว ค.ศ. 1070)
- ชาเปลเซนต์มาร์กาเร็ต, ปราสาทเอดินบะระห์ (ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12)
- วัดประจำท้องถิ่นที่ดาลเมนีย์ (ตั้งแต่ราว ค.ศ. 1130)
- มหาวิหารเซนต์แม็กนัส, เคิร์ควอลล์ (ตั้งแต่ราว ค.ศ. 1137)
- แอบบีเจดบะระห์, เจดบะระห์ (ก่อตั้งตั้งแต่ราว ค.ศ. 1138 โดยพระเจ้าเดวิดที่ 1)
- วัดเซนต์เอเธอร์เนส, Leuchars (คริสต์ศตวรรษที่ 12)
สถาปัตยกรรมนอร์มันในไอร์แลนด์
[แก้]นอร์มันตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่ทางด้านตะวันออกของไอร์แลนด์ที่ต่อมาเรียกกันว่า “เดอะเพล” (the Pale) และสร้างสิ่งก่อสร้างไว้หลายแห่งที่รวมทั้งปราสาททริม, ปราสาทสอร์ด และ ปราสาทดับลิน
สถาปัตยกรรมนอร์มันในอิตาลี
[แก้]เมซโซจอร์โน
[แก้]นอร์มันเริ่มสร้างปราสาทที่เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของนอร์มันในอิตาลีมาตั้งแต่ต้น วิลเลียมแขนเหล็ก (William Iron Arm) สร้างปราสาทหนึ่งในคาลาเบรียในปี ค.ศ. 1045 หลังจากการเสียชีวิตของโรเบิร์ต จิสคาร์ด (Robert Guiscard) ในปี ค.ศ. 1085 แล้วคาบสมุทรทางด้านใต้ของอิตาลีก็ประสบกับสงครามกลางเมือง และตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำที่อ่อนแอลงทุกที การก่อความไม่สงบเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ขุนนางชั้นรองพยายามต่อต้านอำนาจของพระมหากษัตริย์จากปราสาทของตนเอง ในโมลิเซนอร์มันก็เริ่มโครงการก่อสร้างปราสาทที่ทั้งใหญ่และซับซ้อน และนำเทคนิคการก่อสร้างที่เรียกว่า “opus gallicum” มาใช้ในอิตาลี
นอกจากการก่อสร้างปราสาทป้องกันเป็นระยะๆ (Encastellation) แล้ว นอร์มันก็ยังสร้างคริสต์ศาสนสถานหลายแห่งที่ยังเห็นได้ในปัจจุบัน เช่นในการสร้างที่บรรจุศพสำหรับตระกูลโอตวิลล์ที่เวโนซา
ซิซิลี
[แก้]สมัยนอร์มันระหว่างซิซิลีเกิดขึ้นในระหว่างราวปี ค.ศ. 1070 จนถึงราวปี ค.ศ. 1200 สถาปัตยกรรมตกแต่งด้วยงานโมเสกปิดทองเช่นที่มหาวิหารที่มอนเรอาเล ชาเปลพาลาติเนในพาเลอร์โมสร้างในปี ค.ศ. 1130 อาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของลักษณะนี้ที่ภายใต้โดม (องค์ประกอบแบบไบแซนไทน์) ตกแต่งด้วยงานโมเสกเป็นภาพพระเยซูและเทวดา
สถาปัตยกรรมนอร์มันตอนปลายในซิซิลี ลักษณะของสถาปัตยกรรมกอทิกเริ่มปรากฏขึ้นเช่นที่มหาวิหารเมสซินาที่สถาปนาในปี ค.ศ. 1197 แต่หอระฆังสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกสูงซึ่งแตกต่างจากกอทิกยุคแรกที่สร้างในสมัยนอร์มัน ที่เป็นโค้งแหลมแทนที่จะเป็นค้ำยันแบบที่กางออกไปและรายยอดแหลมเล็ก (pinnacle) ของลักษณะของสมัยสถาปัตยกรรมกอทิกต่อมา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ OED "Romanesque": in French a letter of 1818 by Charles-Alexis-Adrien Duhérissier de Gerville seems to be the first
- ↑ OED same entry; in French by Gerville's friend Arcisse de Caumont in his Essaie sur l'architecture du moyen âge, particulièrement en Normandie, 1824.
- ↑ Gothic Architecture in England
- ↑ Norman Gothic
- ↑ Moyse's Hall museum
บรรณานุกรม
[แก้]- Bilson, J.: Durham cathedral and the cronology of its vaults, Archeol. Journal 79, 1929
- Clapham, A. W.: English Romanesque Architecture after the conquest. Oxford 1934
- Clifton-Taylor, A.: The Cathedrals of England. London 1967
- Cook, G. H.: The English Cathedrals through the Centuries. London 1957
- Escher, K.: Englische Kathedralen. Zürich 1929
- Lexikon der Weltarchitektur. Von Pevsner, Nikolaus / John Fleming / Hugh Honour [1966]. München 1971.
- Rieger, R.: Studien zur mittelalterlichen Architektur Englands. In: Wiener Kunstwiss. Blätter, Jg. 2, 1953
- Short, Ernest H.: Norman Architecture in England, 2005
- Spengler, Dietmar: Die anglo-normannischen Kirchen. Referat im HS SS 1980, Köln (unveröffentlicht)
- Webb, G.: Architecture in Britain: The Middle Ages (Pelican History of Art), London 1956
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมนอร์มัน
- Norman Romanesque Architecture เก็บถาวร 2010-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: detailed analysis, illustrations]
- St Swithuns Church Nately Scures England - Considered the best example in England of an unspoilt single cell apsidal Norman Church
- CRSBI (The Corpus of ROMANESQUE SCULPTURE in Britain and Ireland) website
- The Normans, a European People. เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ระเบียงภาพ
[แก้]-
วัดแซ็งเตเตียน
คอง, ฝรั่งเศส -
ด้านหน้า
วัดแซ็งเตเตียน -
ปราสาทที่ราวิสคานินา
-
บ้านแบบนอร์มันที่มดินา
-
วัดเซนต์เกรกอรี
ซีตัน, เดวอน
ตัวอย่างวัดขนาดเล็ก
หอเดียวโถงเดียว