ข้ามไปเนื้อหา

วัดพระแก้ว (อำเภอเมืองเชียงราย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระแก้ว
พระอุโบสถ
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 19 ม.1 ถ.ไตรรัตน์ ใกล้กับศาลากลางจังหวัด ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000
ประเภทวัดอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท มหานิกาย
พระประธานพระเจ้าล้านทอง
พระพุทธรูปสำคัญ"พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย"
ความพิเศษวัดที่พบพระแก้วมรกตเป็นครั้งแรก
การถ่ายภาพไม่ควรใช้แฟลช ในถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง ส่วนภายในอาคาร บางอาคารห้ามถ่ายภาพ ควรสังเกตป้าย
เว็บไซต์watphrakaew-chiangrai.com
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ในถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นวัดอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521

ประวัติ

[แก้]
ภาพถ่ายอุโบสถของวัดพระแก้วราว ค.ศ. 1946

วัดพระแก้ว เดิมชื่อวัดป่าญะ หรือวัดป่าเยียะ (เขียนเป็นภาษาบาลีว่า ญรุกขวนาราม) เนื่องจากภายในวัดเดิมมีไม้เยียะขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองชนิดหนึ่งคล้ายไม้ไผ่สีสุก ไม่มีหนาม เนื้อแข็งและเหนียว นิยมนำไปทำหน้าไม้หรือคันธนู เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดเชียงราย ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง

ชินกาลมาลีปกรณ์และรัตนพิมพวงศ์ กล่าวว่า ท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงราย อนุชาของพญากือนา อัญเชิญพระสีหลปฏิมากับพระรตนปฏิมาจากกำแพงเพชรมายังเมืองเชียงราย เมื่อพญากือนาสวรรคต พญาแสนเมืองมา โอรสได้ขึ้นครองราชย์สืบแทน ท้าวมหาพรหมไม่พอใจจึงยกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังพญาแสนเมืองมานำกองทัพสู้รบจับท้าวมหาพรหมได้ แล้วอัญเชิญพระสีหลปฏิมามายังเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระรตนปฏิมา เนื่องจากท้าวมหาพรหมได้นำปูนขาวคลุกด้วยน้ำผึ้งน้ำอ้อยและทรายละเอียดพอกไว้ ลงรักปิดทอง แล้วก่อพระเจดีย์ทำด้วยศิลาแลงที่วัดป่าเยียะ บรรจุพระรตนปฏิมาที่พอกแล้วไว้ในเรือนเจดีย์ จึงไม่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย

พ.ศ. 1977 เจดีย์วัดป่าเยียะถล่มลงมาเอง (มีเพียงพระบรมราชาธิบายและคาถาตำนานพระแก้วมรกต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่านั้นที่กล่าวว่าเจดีย์ต้องอสนีบาต) จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง นำไปไว้ในวิหารของวัดป่าเยียะ ต่อมาปูนบริเวณพระกรรณเกิดกระเทาะออกเห็นเป็นเนื้อมรกต (มีเพียงพระบรมราชาธิบายและคาถาตำนานพระแก้วมรกต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เท่านั้นที่กล่าวว่าปูนกระเทาะบริเวณพระนาสิก) จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ จึงทราบว่าเป็นพระรตนปฏิมา ท้าวเจ็ด เจ้าเมืองเชียงรายได้กราบทูลให้พญาสามฝั่งแกนทรงทราบ โปรดให้อัญเชิญพระรตนปฏิมาจากวัดป่าเยียะ เมืองเชียงรายไปยังเมืองเชียงใหม่โดยกระบวนช้าง แต่เมื่อถึงแจ้สัก (ชยสัก) ช้างทรงพระรตนปฏิมาไม่ยอมไปทางเชียงใหม่ จึงเสี่ยงทายจับฉลากได้ชื่อเมืองนครลำปาง จึงอัญเชิญพระรตนปฏิมาไปประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จากเหตุการณ์ค้นพบพระรตนปฏิมา (พระแก้วมรกต) ทำให้วัดป่าเยียะได้รับการขนานนามใหม่ว่า วัดพระแก้ว[1] [2]

วัดพระแก้วคงมีสถานะเป็นวัดสำคัญมาตลอดทุกสมัย ช่วงสงครามขับไล่พม่าออกจากล้านนาทำให้เมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2347 จนเมื่อฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386 จึงมีการบูรณะวัดสำคัญต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปตามจำนวนไพร่พลและสถานะทางสังคมยุคนั้น

พ.ศ. 2433 มีการสร้างวิหารวัดพระแก้วขึ้นใหม่ สันนิษฐานว่าสร้างบนฐานเดิมของวิหารในยุคล้านนา ซึ่งมีรูปแบบและสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดงามเมือง (หลังเก่า) และวัดพระสิงห์ สันนิษฐานว่าช่างผู้ออกแบบและก่อสร้างคือช่างคณะเดียวกัน จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงรายกล่าวว่า

"เดือน 8 ขึ้น 5 ฅ่ำ วัน 7 สกราช 1252 ปีกดยี ปกวิหารวัดพระแก้ว รอดเดือน 8 ขึ้น 12 ค่ำ ปกวิหารวัดพระสิงห์"[3]

พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

ถาวรวัตถุภายในวัด

[แก้]

พระอุโบสถ

[แก้]

เป็นพระวิหารทรงล้านนา มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ ซ้อนกัน 2 ชั้น สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2433 มีขนาดกว้าง 9.50 เมตร ยาว 21.85 เมตร ต่อมาชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา

พ.ศ. 2503 พระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวํโส) เจ้าอาวาสวัดพระแก้วและเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (ภายหลังเป็นพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์) ทำการบูรณะวิหารโดยรื้อเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ทำบุญฉลองสมโภชวิหารเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2505 เปลี่ยนเสาจากไม้เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนผนังได้ก่ออิฐถือปูน เครื่องไม้บางส่วนใช้ของเดิม แต่บางส่วนที่ทรุดโทรมได้นำไปจัดเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน[4]

ต่อมาได้ขอพระราชทาน วิสุงคามสีมา ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2495

พระเจ้าล้านทอง

[แก้]
พระเจ้าล้านทองพระประธาน อัญเชิญจากวัดดอยงำเมือง (วัดงามเมือง) มาประดิษฐานวัดพระแก้วในปัจจุบัน

พระเจ้าล้านทอง เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงจากฐานถึงพระรัสมี 2.80 เมตร รอบพระเศียร 1.60 เมตร นั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีเป็นดอกบัวตูมอยู่ในเปลวเพลิง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือราวพระถัน เม็ดพระศกใหญ่ พระหนุ (คาง) เป็นปมใหญ่และชัดมาก น้ำหนักประมาณ 1,200 กิโลกรัม นับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิลปะปาละที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในประเทศไทย

พระเจ้าล้านทอง เดิมเป็นพระประธานของวัดล้านทอง (วัดแสนทอง ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลเชียงราย) เมื่อวัดร้างไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2488 พระวีรญาณมุนี (หมื่น สุมโน) เจ้าคณะจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น มอบหมายให้พระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย อัญเชิญพระเจ้าล้านทองจากวัดล้านทอง (วัดแสนทอง) ไปประดิษฐานที่วัดงามเมือง ต่อมาเมื่อวัดงามเมืองร้าง ศรัทธาสาธุชนจึงได้ขึ้นไปทำหลังคาคลุมพระเจ้าหลวงและพระเจ้าล้านทอง

พ.ศ. 2504 พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวํโส) ขณะเป็นพระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย ได้ทำการย้ายพระเจ้าล้านทองจากวัดงามเมืองมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน จนถึงปัจจุบัน[5]

พระสาวก

[แก้]

พระสาวก 2 องค์ คือพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ สำริด ปางสมาธิ ศิลปะล้านนา เดิมประดิษฐานที่วัดงามเมือง อัญเชิญมาพร้อมกับพระเจ้าล้านทอง เมื่อ พ.ศ. 2504 ใต้ฐานทั้ง 2 มีจารึกระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2269 ผู้สร้างคือมังพละสแพก (ส่างกอละ) เจ้าเมืองเชียงราย โมยหวาน (เมียวหวุ่น) เมืองเชียงแสน และพระนางบุษบาสิริวัฒนเทพาราชกัญญาเจ้า มเหสีของเจ้าฟ้าลักที เจ้าฟ้าเชียงแสน สร้างพระพุทธรูปองค์นี้เพื่ออุทิศให้กับเจ้าฟ้ายอดงำเมือง (พระยอดงำเมือง) เจ้าฟ้าเชียงแสน พระโอรสของพระนาง[6]

พระเจดีย์

[แก้]

เป็นพระเจดีย์ฐานรูปแปดเหลี่ยมแต่ละเหลี่ยมกว้าง 5.20 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 9.50 เมตร ห่อหุ้มทองแผ่นทองแดง ลงรักปิดทองทั้งองค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2478

หอพระหยก

[แก้]

เป็นอาคาร ค.ส.ล. ทรงล้านนาโบราณประกอบด้วยไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นที่ประดิษฐาน "พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล" หรือ "พระหยกเชียงราย" แปลว่า "พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นมงคลอนุสรณ์ 90 พรรษา" เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บนผนังอาคาร แสดงกิจกรรม จากตำนานพระแก้วมรกต และภาพวาดการสร้าง และพิธีอัญเชิญพระหยกเชียงรายสู่พระอารามในวันที่ 19 ตุลาคม 2534

โฮงหลวงแสงแก้ว

[แก้]

เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ออกแบบโดย นภดล อิงคะวณิช สถาปนิกชาวเชียงราย เป็นอาคารทรงล้านนาประยุกต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 23.25 เมตร สูงสองชั้น มีคุณแม่อมรา มุนิกานนท์ (แสงแก้ว) เป็นผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ เช่นพระพุทธสิหิงค์ (จำลอง) รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัย

พระประธานวัดหนองบัวสด

[แก้]

พระประธานวัดหนองบัวสด เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 1.5 เมตร เดิมอยู่วัดหนองบัวสด (วัดหนองโบสถ) ร้าง บ้านใหม่ ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย พ.ศ. 2523 พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวํโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้รับแจ้งจากชาวบ้านให้เคลื่อนย้ายพระประธานวัดหนองบัวสด เพื่อนำไปเก็บรักษาเพราะไม่มีผู้ดูแล พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์จึงได้ขอความร่วมมือรถและอุปกรณ์เคลื่อนย้ายจากสำนักงาน รพช.

วันที่อัญเชิญ พนักงานขับรถและชาวบ้านช่วยกันนำเชือกโอบรัดพระพุทธรูปและใช้รถยก กระทำกันหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เชือกขาดบ้าง รถยกฟันเฟืองค้างบ้าง ใช้เวลาหลายชั่วโมง จึงนิมนต์พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์มาอัญเชิญ ท่านถามคนขับรถว่า เมื่อเช้าสั่งให้นำสวยดอก (กรวยดอกไม้ธูปเทียน) มาบอกกล่าวก่อนทำการเคลื่อนย้ายหรือยัง คนขับรถว่าไม่ได้ทำเพราะคิดว่าไม่น่าจะยาก พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์จึงให้คนขับรถและชาวบ้านตั้งจิตอธิษฐานและขอขมา อัญเชิญให้ไปสถิตยังที่เหมาะสม หลังจากทำพิธีแล้วรถยกสามารยกองค์พระได้อย่างง่ายดาย ปัจจุบันพระประธานวังหนองบัวสดประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ศาลาสี่ทิศด้านทิศตะวันตก หลังองค์เจดีย์วัดพระแก้ว[7]

รูป

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์. แปลโดย ร.ต.ท.แสง มนวิทูร. พิมพ์ครั้งที่ 2 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่นายกี นิมมาเหมินทร์) 2510.
  2. พระพรหมราชปัญญาเถระ. รัตนพิมพวงศ์ ตำนานพระแก้วมรกต. แปลโดย พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์) เปรียญ. พิมพ์ครั้งที่ 3 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่นางสุภาพ ตาละลักษณ์) 2512.
  3. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  4. อภิชิต ศิริชัย. เพชรพระแก้ว. พิมพ์ครั้งที่ 1 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสนมหาเถร)). เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  5. อภิชิต ศิริชัย. เพชรพระแก้ว. พิมพ์ครั้งที่ 1 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสนมหาเถร)). เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  6. ศิริสาร เหมือนโพธิ์ทอง, จารึกที่ฐานพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร วัดพระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. ดำรงวิชาการ ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2559.
  7. อภิชิต ศิริชัย. วัดร้างในเวียงเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.