วัดดอยงำเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดดอยงำเมือง
พระวิหาร วัดงำเมือง
แผนที่
ที่ตั้งถนนอาจอำนวย บ้านฮ่อมดอย หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ประเภทมหานิกาย
พระประธานพระพุทธรูปศิลปะล้านนาอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย
เจ้าอาวาสพระครูวิทิตสาธุการ[1]
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดงำเมือง หรือ วัดดอยงำเมือง เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดเชียงราย เดิมชื่อ วัดงามเมือง เป็นวัดโบราณที่ไม่ปรากฏประวัติการสร้าง ตั้งอยู่บนดอยงามเมือง ต่อมากลายเป็นวัดร้างในช่วงยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย

พ.ศ. 2435 เดือนเมษายน ขึ้น 6 ค่ำ มีการสร้างวิหารวัดงามเมือง[2] ซึ่งมีรูปแบบและสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดพระแก้วและวัดพระสิงห์ สันนิษฐานว่าช่างผู้ออกแบบและก่อสร้างคือช่างคณะเดียวกัน เมื่อวัดร้าง วิหารไม่ได้รับการบูรณะจึงพังเสียหาย ต่อมา พ.ศ. 2445 ได้สร้างพระเจ้าหลวง (พระประธานในวิหาร)

พ.ศ. 2488 พระวีรญาณมุนี (หมื่น สุมโน) เจ้าคณะจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น มอบหมายให้พระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย อัญเชิญพระเจ้าล้านทองจากวัดล้านทอง (วัดแสนทอง) ซึ่งเป็นวัดร้าง (ปัจจุบันคือโรงเรียนอนุบาลเชียงราย) ไปประดิษฐานที่วัดงามเมือง ต่อมาเมื่อวัดงามเมืองร้าง ศรัทธาสาธุชนจึงได้ขึ้นไปทำหลังคาคลุมพระเจ้าหลวงและพระเจ้าล้านทอง พ.ศ. 2495 พระวีรญาณมุนี (หมื่น สุมโน) ได้มอบหมายให้พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดพระแก้วในขณะนั้น ทำการฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์วัดงามเมืองขึ้นใหม่

พ.ศ. 2504 พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (วงศ์ ทานวํโส) เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงรายขณะนั้น ได้ทำการย้ายพระเจ้าล้านทองจากวัดงามเมืองมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้วจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2536 วัดงามเมืองถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดงำเมือง หรือวัดดอยงำเมือง จนถึงปัจจุบัน[3]

อนึ่ง ประวัติที่ทางวัดอ้างว่าพญาไชยสงคราม เป็นผู้สร้างวัดและนำอัฐิพญามังรายมาประดิษฐาน, พระยาสรีรัชฏเงินกอง (หมื่นงั่ว) เจ้าเมืองเชียงแสนมาบูรณะวัดในปี พ.ศ. 2030 และเจ้าฟ้ายอดงำเมือง เจ้าฟ้าเมืองเชียงแสนมาบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2220 นั้น ยังไม่พบในเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นแต่อย่างใด ซึ่งน่าจะเป็นการสับสนกับประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง เชียงแสน มากกว่า[4]

กู่พญามังราย[แก้]

พระเจดีย์วัดดอยงำเมือง

พระเจดีย์วัดดอยงำเมือง หรือที่เชื่อกันว่าเป็นกู่พญามังราย มีฐานเป็นศิลาแลง (เป็นการบูรณะภายหลัง ไม่ได้ทำขึ้นพร้อมกับองค์เจดีย์) ทรงปราสาทยอด ประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยม 3 ชั้น ต่อด้วยฐานเขียงย่อมุมยี่สิบ 1 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุที่ตกแต่งเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่สองเส้นยืดสูง กึ่งกลางของแต่ละด้านเป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นชุดบัวลูกแก้วอกไก่เส้นเดียว 2 ชุดในผังแปดเหลี่ยม แล้วจึงเป็นองค์ระฆังกลม องค์เรือนธาตุย่อเก็จ ก่อด้วยอิฐ มีซุ้มคูหา 4 ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ต่อขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง 8 เหลี่ยม ซึ่งเครื่องยอดหักหายไป กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา[5]

กู่พญามังรายที่วัดดอยงำเมือง ปรากฏครั้งแรกในเอกสารราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3683 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 แต่ไม่ทราบที่มาและข้อมูลที่อ้างอิงชัดเจน และปรากฏอีกครั้งในหนังสือตำนานเมืองเหนือ พ.ศ. 2497 ของสงวน โชติสุขรัตน์ โดยระบุว่าเจดีย์ที่เป็นกู่ของพญามังรายนั้น เป็นเจดีย์ที่พังทลายเหลือแต่ฐานบนดอยงามเมือง อยู่หลังวัดดอยงำเมือง ซึ่งปัจจุบันถูกทำลายไปแล้ว อีกทั้งข้อมูลที่พญาไชยสงครามนำพระอัฐิของพญามังรายมาไว้ที่วัดดอยงำเมืองนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานข้อมูลในเอกสารชั้นต้นฉบับใด และสงวน โชติสุขรัตน์ไม่ได้อ้างอิงที่มาของข้อมูลนี้ ทำให้มีความน่าเชื่อถือน้อย

เมื่อข้อมูลชุดนี้แพร่หลาย เนื่องจากเจดีย์ที่ถูกอ้างว่าเป็นกู่ถูกทำลายไปแล้ว จึงเกิดความเข้าใจว่าเจดีย์อีกองค์หนึ่งของวัดดอยงำเมืองเป็นกู่ของพญามังราย ซึ่งเป็นคนละองค์กับที่หนังสือตำนานเมืองเหนือระบุ อีกทั้งอายุและศิลปะของเจดีย์และผอบทองคำและเงินที่ค้นพบในเจดีย์ (ปัจจุบันอยู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน) ก็มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงยุคพม่า-ฟื้นฟูเมืองเชียงรายเท่านั้น จึงไม่น่าจะเป็นกู่ของพญามังราย[6][7]

พ.ศ. 2535 ได้สร้างพระบรมรูปพระญามังรายไว้ด้านหน้าเจดีย์ โดย พระราชรัตนากร เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว, พระครูวิทิตสาธุการ เจ้าอาวาสวัดดอยงำเมือง ประธานฝ่ายสงฆ์ นายบุญเลิศ เจริญผล อัยการศาลอุทธรณ์จังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมพุทธศาสนิกชนทั่วไปสร้างขึ้น

ในปี พ.ศ. 2551 ได้ทำการปรับปรุงฐานพระราชอาสน์และฉัตร โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อให้สมพระเกียรติยิ่งขึ้น

อ้างอิง[แก้]

  1. https://www.chiangrai365.com/th/listing/wat-doi-ngam-muang/
  2. อภิชิต ศิริชัย ปริวรรต. จดหมายเหตุเมืองเชียงราย ยุคฟื้นฟูเมืองเชียงราย พ.ศ. 2386-2446. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2558.
  3. อภิชิต ศิริชัย. วัดร้างในเวียงเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: สำนักพิมพ์ล้อล้านนา, 2563.
  4. อภิชิต ศิริชัย. รู้เรื่องเมืองเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2559.
  5. อภิชิต ศิริชัย. วัดร้างในเวียงเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2563.
  6. อภิชิต ศิริชัย. รู้เรื่องเมืองเชียงราย. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงราย: ล้อล้านนา, 2559.
  7. https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_817112