ข้ามไปเนื้อหา

วงศ์กระต่าย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กระต่ายและกระต่ายป่า[1]
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 53–0Ma สมัยอีโอซีน-สมัยโฮโลซีน
กระต่ายอาร์กติก (Lepus arcticus)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
Mammalia
อันดับ: อันดับกระต่าย
Lagomorpha
วงศ์: วงศ์กระต่าย
Leporidae
Fischer de Waldheim, 1817
สกุลต้นแบบ
Lepus
Linnaeus, 1758
สกุล

Pentalagus
Bunolagus
Nesolagus
Romerolagus
Brachylagus
Sylvilagus
Oryctolagus
Poelagus
Caprolagus
Pronolagus
Lepus
Aztlanolagus
Nuralagus

วงศ์กระต่าย (อังกฤษ: Hare, Rabbit) เป็นวงศ์ของสัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อันดับกระต่าย (Lagomorpha) ในวงศ์ Leporidae

สัตว์ที่อยู่ในวงศ์นี้แม้จะมีฟันแทะเหมือนกับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) แต่ถูกจัดออกมาเป็นอันดับต่างหาก เนื่องมีจำนวนฟันที่ไม่เท่ากัน เพราะกระต่ายมีฟันแทะที่ขากรรไกรบน 2 แถว เรียงซ้อนกันแถวละ 2 ซี่ ฟันกรามบนข้างละ 6 ซี่ และฟันกรามล่างข้างละ 5 ซี่ เมื่อเวลาเคี้ยวอาหาร กระต่ายจะใช้ฟันทั้ง 2 ด้านเคี้ยวสลับกันไป ต่างจากสัตว์ฟันแทะโดยทั่วไปที่เคี้ยวเคลื่อนหน้าเคลื่อนหลัง ซึ่งสามารถเขียนเป็นสูตรได้ว่า:

กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก มีขนปุกปุยทั่วลำตัว มีหางกลมสั้น มีใบหูยาวเมื่อเทียบกับสัตว์อื่น ซึ่งวิวัฒนาการมาใช้สำหรับฟังเสียงได้เป็นอย่างดี และยังมีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นที่ดีมาก กระต่ายมีขาหน้าที่มี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีสะโพกที่ยาวและทรงพลัง เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ จึงสามารถกระโดดได้เป็นอย่างดี ใต้ฝ่าเท้ามีขนนุ่ม ๆ รองรับอยู่ เพื่อมิให้เกิดเสียงเมื่อเคลื่อนไหว เป็นสัตว์ที่ตื่นตกใจง่ายและมีความว่องไวปราดเปรียวมากในการระแวดระวังภัย นอกจากนี้แล้วตาของกระต่ายยังมีหนังตาหรือเปลือกตาถึง 3 ชั้นด้วยกัน[2]

กระต่ายเป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารเท่านั้น ต่างจากสัตว์ฟันแทะที่กินได้ทั้งเนื้อและพืช อาหารของกระต่ายได้แก่ หญ้าและพืชผักชนิดต่าง ๆ อายุขัยโดยเฉลี่ยของกระต่ายจะอยู่ที่ 2-3 ปี นับเป็นสัตว์ที่สืบพันธุ์เร็วมาก โดยปีหนึ่ง ๆ กระต่ายสามารถออกลูกได้ถึง 2-3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2-3 ตัว กระต่ายในธรรมชาติ มักอาศัยอยู่ในที่ราบโล่งที่เป็นทุ่งหญ้ามากกว่าป่าทึบ โดยขุดโพรงใต้ดินเป็นรังและที่อยู่อาศัย ลูกกระต่ายป่าในธรรมชาติ เมื่อแรกเกิดจะลืมตา และในวันรุ่งขึ้นก็สามารถวิ่งและกระโดดได้เลย เมื่อกระต่ายตัวเมียจะคลอดลูก จะแยกออกจากรังเดิมไปขุดรังใหม่ เพื่อป้องกันลูกอ่อนจากกระต่ายตัวผู้ ซึ่งอาจฆ่าลูกกระต่ายเกิดใหม่ได้ โดยจะกัดขนตัวเองเพื่อปูรองรับลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา

กระต่ายกระจายพันธุ์ไปในทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งเขตอาร์กติก ยกเว้นโอเชียเนียและทวีปออสเตรเลีย แบ่งออกได้เป็น 11 สกุล (ดูในตาราง) [3]

กระต่ายโดยธรรมชาติ เป็นสัตว์ที่อยู่สุดปลายของห่วงโซ่อาหาร ด้วยเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อชนิดต่าง ๆ เช่น หมาป่า, หมาจิ้งจอก, แมวป่า, เสือชนิดต่าง ๆ, หมาใน, ชะมด, เพียงพอน รวมถึงงูขนาดใหญ่ด้วย เช่น งูหลามและงูเหลือม [4] กระต่ายเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับมนุษย์มาเป็นเวลานาน ด้วยการเป็นสัตว์ที่ถูกล่าเพื่อเป็นอาหารและเกมกีฬาโดยเฉพาะในแถบทวีปยุโรป

ความสัมพันธ์และการพัฒนาเชิงวิวัฒนาการของกระต่าย

[แก้]

ความสัมพันธ์ทั่วไป

[แก้]
กระต่ายป่า จัดเป็นกระต่ายชนิดที่พบได้ในธรรมชาติเพียงชนิดเดียวที่พบได้ในประเทศไทย

กระต่ายจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทสัตว์เลือดอุ่น ในอันดับ Lagomorpha กระต่ายถือกำเนิดในโลกมาเมื่อประมาณ 50 ล้านปีมาแล้ว ในบริเวณทวีเอเชียและอเมริกาเหนือ ทั่วโลกมีจำนวนชนิดของกระต่ายรวม 58 ชนิด โดยมี 14 ชนิด อยู่ในวงศ์ไพกา (Ochotonidae) ลักษณะหูสั้น มีขาคู่หน้าและหลังสั้น ใบหูสั้นเป็นมนกลม และไม่มีหางให้เห็นภายนอก และอีก 44 ชนิด จัดอยู่ในวงศ์กระต่าย (Leporidae) ซึ่งมีขาหลังที่ยาว ทำให้วิ่งได้เร็ว ใบหูยาวและหมุนไปมาได้ มีหางสั้น ขนฟูเป็นกระจุก

ในวงศ์กระต่าย แบ่งออกได้เป็นกระต่ายบ้าน และกระต่ายป่า ซึ่งมีความแตกต่างกันที่กะโหลกศีรษะ กระต่ายเลี้ยงออกลูกในโพรงใต้ดิน ไม่มีขน และไม่ลืมตาจนกว่าจะมีอายุได้ 10 วัน ส่วนกระต่ายป่าออกลูกบนพื้นดินในพงหญ้ารก ลูกที่ออกมามีขนปกคลุมตัว และตาเปิดตั้งแต่วันแรกเกิด และมีนิสัยชอบวิ่งหนีศัตรูมากกว่าจะหลบในโพรงเหมือนกระต่ายเลี้ยงที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ และกระต่ายป่าชอบอยู่โดดเดี่ยว ในขณะที่กระต่ายเลี้ยงชอบอยู่เป็นฝูง กระต่ายยุโรป มีเพียงชนิดเดียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryctolagus cuniculus มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรไซบีเรียและแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ต่อมามีการนำไปเลี้ยงทั่วโลก สำหรับกระต่ายป่านั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepus peguensis มีเขตแพร่กระจายในประเทศพม่า, ไทย, อินโดจีน และเกาะไหหลำ พบอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้า และบริเวณป่าดั้งเดิมที่สภาพถูกทำลายทั่วประเทศ ลงไปทางทิศใต้ จนถึงบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับจังหวัดชุมพรกระต่ายอาศัยอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมหลายแบบ ตั้งแต่บริเวณเขตหิมะในแถบอาร์กติก จนถึงทะเลทรายและป่าในเขตร้อน อาหารได้แก่ หญ้าและพืชล้มลุก รากไม้ เปลือกไม้ยืนต้น และไม้พุ่ม กระต่ายมีนิสัยกินมูลของตัวเอง โดยในเวลากลางวันจะถ่ายออกมาเป็นมูลแข็งและ ในเวลากลางคืนจะถ่ายมูลอ่อนที่มีวุ้นเคลือบ ซึ่งกระต่ายจะกินในเวลาเช้า เชื้อบักเตรีในมูลอ่อนเมื่อมาถูกกับอากาศจะสร้างวิตามินบางชนิดขึ้น วิตามินนี้จำเป็นมากต่อสุขภาพของกระต่าย หากไม่ได้กินมูลอ่อนกระต่ายจะตายภายในเวลา 3 วันกระต่ายเลี้ยงในทวีปยุโรปภาคเหนือผสมพันธุ์ในเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนสิงหาคม หรือเดือนกันยายน ผสมพันธุ์โดยการปฏิสนธิภายใน ออกลูกได้ 3-5 ครอก ครอกละ 5-6 ตัว สำหรับกระต่ายป่าในซีกโลกภาคเหนือ ออกลูก 2-4 ครอก ครอกละ 1-9 ตัว ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่ในเขตร้อนกระต่ายป่าผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ในธรรมชาติปกติกระต่ายมีอายุประมาณ 10 ปี [5]

สายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ

[แก้]

กระต่ายมีความสัมพันธุ์เชิงวิวัฒนาการกับสัตว์ฟันแทะ หรือ สัตว์เคี้ยวเอื้อง โดยเดิมจัดกระต่ายไว้เป็นสัตว์ฟันแทะในอันดับ Rodentia ร่วมกับพวกหนูและกระรอก แต่พบว่ากระต่ายมีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างต่างออกไป นั่นคือ ฟันตัดสองคู่หน้าของขากรรไกรบนคู่ที่สองมีลักษณะเป็นปุ่มเล็กซุกอยู่ภายในคู่หน้า แต่หนูและกระรอกจะมีฟันตัดเพียงคู่เดียว

กระต่ายและสายสัมพันธ์ ในอันดับ Lagomorpha มีการสัมผัสหรือได้รับสารบางอย่าง โดยใช้ protein sequences จึงสามารถบอกได้ว่า Lagomorpha ค่อนข้างที่จะสัมพันธ์กับ Primates และ Scandentia มากกว่าสัตว์ฟันแทะ แต่ทั้งหมดที่กล่าวมายังมีการพัฒนาในแบบเดียวกัน จากการพบนี้อาจจะทำให้ไปค้านกับ phylogeneticของ Glire ที่เคยจัดให้ Lagomorphและ Rodent อยู่กลุ่มเดียวกัน แต่เพราะมีสารบางอย่างทำให้ไม่ถือเป็น phylogenic แต่เป็นสายวิวัฒนาการที่บรรพบุรุษมีลักษณะ morphotype ที่เหมือนกัน เลยทำให้มีลักษณะคล้ายกันในปัจจุบัน [6]

วิวัฒนาการร่วมกัน

[แก้]

อาจเกิดขึ้นรวดเร็วพอที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่มนุษย์ไปรบกวนกระบวนการวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น การใช้ไวรัสเพื่อการควบคุมประชากรกระต่ายในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้มีผู้นำเอากระต่ายเลี้ยงจากประเทศอังกฤษเข้าไปเลี้ยงในประเทศออสเตรเลีย ที่ซึ่งอาหารการกินอุดมสมบูรณ์และไม่มีศัตรูทำลายกระต่ายจึงทำให้ประชากรกระต่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากอย่างน่าตกใจจนทำให้กระต่ายเหล่านั้นเป็นตัวทำลายพืชผลของเกษตรกรชาวออสเตรเลียไปโดยมิได้ตั้งใจ เมื่อมีเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นนักวิทยาศาสตร์ก็พยายามหาทางกำจัด หรือควบคุมประชากรกระต่ายโดยใช้ไวรัสพวกมิกโซมาโทซิส (myxxomatosis) ซึ่งทำให้เกิดโรคในกระต่ายอย่างรุนแรงจนถึงตายได้ ทำให้การควบคุมประชากรกระต่ายดังกล่าวได้ผลดียิ่ง โดยมีอัตราการตายของกระต่ายสูงถึงเกือบร้อยละ 99 ในระยะเริ่มต้นของการปล่อยเชื้อไวรัสซึ่งยังความปิติให้แก่นักวิชาการและประชาชนทั่วไปที่คิดว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็ดีใจไม่ได้นานเพราะพวกกระต่ายที่สามารถพัฒนาภูมิต้านทานต่อสู้กับเชื้อไวรัสและสามารถรอดตายจากโรคร้ายที่เกิดจากไวรัสนั้นได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังคงมีกระต่ายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากยุโรปอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับประชากรกระต่ายดังกล่าวสามารถอธิบายได้โดยหลักวิวัฒนาการ คือ มีการคัดเลือกตามธรรมชาติเกิดขึ้นกับพันธุ์กระต่ายที่สามารถทนทานต่อเชื้อไวรัสนั้นได้ ในขณะเดียวกันการคัดเลือกตามธรรมชาติก็เกิดขึ้นกับเชื้อไวรัสมิกโซมาโทซิสโดยการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่มีฤทธิ์รุนแรงต่อกระต่ายตามติดไปด้วย ซึ่งลักษณะพันธุกรรมที่มีฤทธิ์รุนแรงจะถ่ายทอดจากกระต่ายตัวหนึ่งสู่อีกตัวหนึ่งโดยอาศัยยุงเป็นพาหะ ไวรัสพันธุ์ที่ไม่รุนแรงมากนักจนถึงกับทำให้กระต่ายตายก็จะสามารถดำรงพันธุ์ต่อไปได้โดยถูกถ่ายทอดไปสู่กระต่ายตัวอื่นต่อไปโดยอาศัยยุงที่เป็นพาหะที่มากินเลือดกระต่ายตัวที่ป่วยด้วยไวรัสนั้น ในขณะที่ไวรัสพันธุ์รุนแรงมาก ๆ จนถึงกับเป็นอันตรายต่อชีวิตกระต่ายก็มักจะไม่ค่อยถ่ายทอดต่อไปยังกระต่ายตัวอื่น เพราะยุงที่เป็นพาหะนั้นจะดูดกินเลือดจากกระต่ายที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ดังนั้นการคัดเลือกตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับพันธุ์กระต่ายที่ต้านทานเชื้อไวรัสและที่เกิดขึ้นกับพันธุ์ไวรัสชนิดที่ไม่รุนแรงจนถึงกับทำให้กระต่ายตายนั้นส่งผลให้กระต่ายและไวรัสสามารถปรับตัวร่วมกันและวิวัฒนาการร่วมกันมาได้จนถึงสภาวะสมดุลดังที่เป็นอยู่ในประเทศออสเตรเลียขณะนี้ [7]

การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของกระต่าย

[แก้]
กระต่ายอาร์กติก ซึ่งเป็นกระต่ายที่อาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือมีขนสีขาวล้วนเพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมอันได้แก่ น้ำแข็งและหิมะ

สีขน

[แก้]

การปรับตัวมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในวิวัฒนาการ ทั้งควบคุมในเรื่องของโครงสร้างและพฤติกรรม และบ่อยครั้งที่จะเห็นในรูปแบบของการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยสิ่งมีชีวิตนั้นๆมีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อที่จะทำให้ตัวเองอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ได้ สำหรับกระต่ายขนสีขาวที่อาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ โดยสิ่งแวดล้อมที่กระต่ายอาศัยอยู่เป็นลักษณะโพรงไม้ จึงทำให้กระต่ายสีขาวถูกล่าได้ง่ายกว่า กระต่ายที่มีขนสีน้ำตาล ลักษณะดังกล่าวจึงสามารถอธิบายถึงการปรับตัวของกระต่ายได้เป็นอย่างดี [8] และสำหรับกระต่ายที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นสีขาว เช่น มีหิมะ กระต่ายขนสีขาวจะสามารถอยู่รอดได้มากกว่ากระต่ายขนสีอื่น [9]

ความเป็นอยู่

[แก้]

การเป็นอยู่ของกระต่ายเริ่มที่จะแยกย้ายไม่อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ถ้าในกรงของกระต่ายมีการเพิ่มจำนวนขึ้นประมาณ 4-5 ตัว จะเป็นผลให้เกิดการทะเลาะกันเองในกรง ซึ่งอาจะทำให้เพิ่มอัตราการตายมากขึ้น กระต่ายจึงมักจะแยกย้าย หรืออาศัยเพียงลำพัง โดยไม่อยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ อีกทั้งยังช่วยลดอัตราการถูกล่าจากผู้ล่าได้อีกด้วย [10]

การลดความกลัวจากสิ่งที่ได้รับรู้เมื่อเยาว์วัย

[แก้]

หากกระต่ายได้รับรู้ว่ามีการดูแลตั้งแต่แรกเกิดโดยทดลองให้กระต่ายบ้าน และกระต่ายป่า ได้รับการดูแลจากคน ผลคือ กระต่ายบ้านจะเชื่องตามผู้ที่ดูแลตั้งแต่แรกเกิด และสามารถที่จะติดต่อกับผู้ที่ดูแลได้ แต่ถ้าต้องอยู่กับผู้ที่ไม่ได้เลี้ยงดูมันตั้งแต่เกิด จะแสดงพฤติกรรมที่กลัวต่อคน ๆ นั้น โดยกระต่ายบ้าน จะมีพฤติกรรมความกลัวลดลงและสามารถยอมรับกับเหตุการณ์นั้น ซึ่งดูได้วิวัฒนาการของการคัดเลือกทางพันธุกรรม แต่สำหรับกระต่ายป่าจะเชื่องตามคนดูแลโดยจะปราศจากการคัดเลือกทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามยังมีข้อมูลสนับสนุนไม่เพียงพอว่า กระต่ายสามารถจดจำผู้ดูแลในช่วงแรกเกิดได้อย่างไร [11]

อ้างอิง

[แก้]
  1. แม่แบบ:MSW3 Hoffmann
  2. Pets 101 : Pet Guide, สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 3 มกราคม 2556
  3. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  4. หน้า 157-159, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม 2518)
  5. "ทรัพยากรชีวภาพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-12. สืบค้นเมื่อ 2014-05-03.
  6. Graur D, Duret L and Gouy M,( 1996). Phylogenetic position of the order Lagomorpha (rabbits, hares and allies). Nature. Department of Zoology, George S. Wise Faculty of Life Sciences, Tel Aviv University, Ramat Aviv, Israel. 25;379(6563):333-5. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/8552186
  7. Best S.M and Kerr P.J , (2000) Coevolution of Host and Virus: The Pathogenesis of Virulent and Attenuated Strains of Myxoma Virus in Resistant and Susceptible European Rabbits. Virology 267, 36-48. doi:10.1006/viro.1999.0104, doihttp://dx.doi.org/10.1006/viro.1999.0104 http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0042682299901046
  8. Yam S.B,. 2011. Evolutionary adaptation of the Rabbit: Build-a-Beast. (online). Available: http://necsi.edu/projects/evolution/activities/build-a-beast/activities_beast.html [2013, Sep, 21].
  9. Petr V,. 1999. Zen Philosophy and Adaptation via Natural Selection. Journal of the National Museum, Natural History Series ,Časopis Národního muzea, Řada přírodovědná, 168 (1-4): 1-3. http://www.mprinstitute.org/vaclav/Zen.htm
  10. Best S.M and Kerr P.J , (2000) Coevolution of Host and Virus: The Pathogenesis of Virulent and Attenuated Strains of Myxoma Virus in Resistant and Susceptible European Rabbits. Virology 267, 36-48. doi:10.1006/viro.1999.0104, doihttp://dx.doi.org/10.1006/viro.1999.0104 http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0042682299901046
  11. Bilkó .Á and Altbäcker .V (1999) Regular handling early in the nursing period eliminates fear responses toward human beings in wild and domestic rabbits. Developmental Psychobiology 36 (1):78–87. DOI: 10.1002/(SICI)1098-2302(200001)36:1<78::AID-DEV8>3.0.CO;2-5 http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/(SICI)1098-2302(200001)36:1%3C78::AID-DEV8%3E3.0.CO;2-5/abstract?systemMessage=Wiley+Online+Library+will+be+unavailable+for+approximately+4+hours+between+09%3A00+EDT+and+14%3A00+EDT+on+Saturday%2C+28+September+2013+as+we+make+upgrades+to+improve+our+services+to+you.+There+will+also+be+some+delays+to+online+publishing+between+25+to+28+September+2013.+We+apologize+for+the+inconvenience+and+appreciate+your+patience.+Thank+you+for+using+Wiley+Online+Library%21

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]