ข้ามไปเนื้อหา

เพียงพอน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เพียงพอน (อังกฤษ: weasel, mink, ferret, ermine, polecat) คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในสกุล Mustela ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงศ์ Mustelidae มีถิ่นกำเนิดกว้างขวางทั้งในทวีปเอเชีย, แอฟริกาเหนือ, ยุโรป, อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้

เพียงพอนมีรูปร่างโดยรวมเป็นสัตว์ขนาดเล็ก มีความยาวตั้งแต่ 15–55 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 30–40 กรัม ไปจนถึง 1.4–3.2 กิโลกรัม เป็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร มีรูปร่างเพรียวยาว ส่วนขาทั้งสี่ข้างสั้น มีนิ้วเท้า 5 นิ้ว เล็บมีความแหลมคม แต่พับเก็บเล็บไม่ได้ ปากแหลม ภายในปากมีฟันแหลมคมจำนวน 34 ซี่ ทุกชนิดจะมีต่อมกลิ่นที่ก้น ซึ่งจะผลิตสารเคมีสีเหลืองคล้ายน้ำมันที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง ใช้ในประกาศอาณาเขต เป็นสัตว์มีความปราดเปรียวว่องไว หากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยจะล่าสัตว์ขนาดเล็ก เช่น หนู, หนูผี, ตุ่น, แมลง, สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเป็นอาหาร รวมทั้งอาจล่ากระต่ายได้ด้วย รวมทั้งล่าเป็ด, ไก่, นกกระทา ในพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ได้ด้วย ซึ่งจะใช้ลำตัวที่เพียวยาวนั้นมุดเข้าไปล่าถึงในโพรงดิน

นอกจากนี้แล้ว เพียงพอนเป็นสัตว์ที่เมื่อผสมพันธุ์กันแล้ว ตัวผู้จะผสมกับตัวเมียหลายตัว แต่จะอยู่กับตัวเมียเพียงตัวเดียว ในบางชนิด ไข่เมื่อได้รับการปฏิสนธิแล้ว จะยังไม่ฝังตัวในผนังมดลูก แต่จะลอยอยู่อย่างนั้น ซึ่งอาจกินเวลานับ 10 เดือน จะฝังตัวเฉพาะเมื่อถึงฤดูกาลที่อาหารอุดมสมบูรณ์เท่านั้น มีระยะเวลาการตั้งท้องนานประมาณ 35–45 วัน ออกลูกครั้งละ 4–10 ตัว และอาจมากได้ถึง 13 ตัว ซึ่งจะออกลูกในโพรงของสัตว์ที่ล่าได้ ลูกที่เกิดใหม่ตาจะยังไม่ลืม จะมีขนบาง ๆ ปกคลุมลำตัวเท่านั้น จะลืมตาเมื่ออายุได้ 3–4 สัปดาห์ หรืออาจจะ 5–6 สัปดาห์ มีระยะเวลาการกินนมแม่ 5–10 สัปดาห์ และจะอาศัยอยู่กับแม่จนอายุได้ 1 ปี[1]

ในอดีต เพียงพอนมักถูกมนุษย์ล่า เพื่อนำขนและหนังไปทำเป็นเสื้อขนสัตว์ที่เรียกว่า "เสื้อขนมิงก์" ในปัจจุบัน ในบางชนิดนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง

แบ่งออกได้เป็น 18 ชนิด (ดูในตาราง)[2]

ในประเทศไทยมักพบในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลนับพันเมตร พบประมาณ 3 ชนิด ได้แก่ เพียงพอนไซบีเรีย (M. sibirica), เพียงพอนเหลือง (M. nudipes) และเพียงพอนเส้นหลังขาว (M. strigidorsa)[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. [ลิงก์เสีย] เพียงพอน: จารุจินต์ นภีตะภัฏ
  2. "Mustela". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน หน้า 66-69 โดย กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543) ISBN 974-87081-5-2

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Mustela ที่วิกิสปีชีส์