ราชกิจจานุเบกษา
ราชกิจจานุเบกษา ฉบับ 1 มิถุนายน ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ซึ่งลงประกาศกฎหมายลักษณะอาญา | |
ประเภท | หนังสือข่าวสารรัฐบาล |
---|---|
รูปแบบ | แบบพิมพ์และแบบอิเล็กทรอนิกส์ |
เจ้าของ | รัฐบาลไทย |
ผู้ก่อตั้ง | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] |
ผู้เผยแพร่ | กลุ่มงานราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี[2] |
ก่อตั้งเมื่อ | 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 |
ภาษา | ไทย |
สำนักงานใหญ่ | ทำเนียบรัฐบาลไทย 1 ถนนพิษณุโลก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
เว็บไซต์ | ratchakitcha |
ราชกิจจานุเบกษา เป็นหนังสือข่าวสารรัฐบาลของประเทศไทย ซึ่งลงประกาศต่าง ๆ ของรัฐบาลไทย[2]
หนังสือนี้ออกครั้งแรกใน พ.ศ. 2400 (ตามปฏิทินเก่า)[3] หรือ 2401 (ตามปฏิทินใหม่)[1][2][4] ตามรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เพื่อเป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารของรัฐบาล โดยเฉพาะในการประกาศกฎหมาย ซึ่งมีการรับรองในกฎหมายว่า กฎหมายทั้งหลายต้องลงเผยแพร่ในหนังสือนี้ก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้[5]
หนังสือนี้เป็นสิ่งพิมพ์ฉบับแรกของไทยที่คนไทยจัดทำ[4] เป็นวารสารฉบับแรกของรัฐบาลไทย[6] และเป็นสิ่งพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทยซึ่งยังเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน[1]
ตั้งแต่ พ.ศ. 2566 หนังสือนี้เผยแพร่แบบออนไลน์เท่านั้น[7] และพิมพ์ขึ้นเป็นรูปเล่มในจำนวนจำกัดเฉพาะเพื่อเก็บรักษาเป็นหลักฐาน[8]
ชื่อ
[แก้]ชื่อ ราชกิจจานุเบกษา นั้น รัชกาลที่ 4 ทรงบัญญัติขึ้นจากภาษาสันสกฤต แปลว่า "ที่เพ่งดูราชกิจ"[1][6]
ประวัติ
[แก้]หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา ออกเผยแพร่ครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 ตาม "ประกาศออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา" ลงวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย จ.ศ. 1219 ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2400 (ตามปฏิทินเก่า)[3] หรือ 2401 (ตามปฏิทินใหม่)[1][2][4] ประกาศดังกล่าวระบุวัตถุประสงค์ในการออกหนังสือนี้ว่า "ถ้าเหตุแลการในราชการแผ่นดินประการใด ๆ เกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดีพร้อมกันบังคับไปอย่างไร บางทีก็จะเล่าความนั้นใส่มาในราชกิจจานุเบกษานี้บ้าง เพื่อจะได้รู้ทั่วกัน มิให้เล่าลือผิด ๆ ไปต่าง ๆ ขาด ๆ เกิน ๆ เป็นเหตุให้เสียราชการและเสียพระเกียรติยศแผ่นดินได้"[1] มานิจ สุขสมจิตร เห็นว่า หนังสือนี้ออกเพื่อลงข่าวสารชี้แจงข้อมูลคลาดเคลื่อนที่แดน บีช แบรดลีย์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน พิมพ์ในวารสาร บางกอกรีคอร์เดอร์[9]
ในสมัยนั้น รัชกาลที่ 4 ทรงอำนวยการผลิตและเป็นบรรณาธิการหนังสือนี้ด้วยพระองค์เองทั้งหมด[9] และทรงให้ตั้งโรงพิมพ์ชื่อ โรงอักษรพิมพการ ขึ้นที่ใกล้พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ อาคารที่บรรทมของพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อรับผิดชอบพิมพ์หนังสือนี้[4] โดยมีฐานะเป็นกรมลอย (ไม่มีสังกัด) ชื่อว่า กรมอักษรพิมพการ มีอธิบดีบังคับบัญชา 1 คน[10] ครั้งนั้น เนื้อหาที่ลง ได้แก่ ข่าวต่าง ๆ จากราชสำนัก และข่าวทั่วไปของบ้านเมือง เช่น ข่าวแต่งตั้งขุนนาง ข่าวประสูติ ข่าวเพลิงไหม้ รายงานน้ำฝน และข่าวเบ็ดเตล็ด[4] เผยแพร่ทุก 15 วันโดยไม่คิดราคา[6] แต่เผยแพร่ได้ 1 ปีเศษก็เลิกไป[6]
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงให้รื้อฟื้นหนังสือนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2417[6] เผยแพร่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง คือ ทุกวันขึ้น 1 ค่ำ วันขึ้น 9 ค่ำ วันแรม 1 ค่ำ และวันแรม 9 ค่ำ รวมเป็นเดือนละ 4 ครั้ง โดยทรงให้คิดราคาเป็นรายปีปีละ 8 บาท เพราะทรงเห็นว่า การแจกให้เปล่าเหมือนครั้งก่อนทำให้ผู้รับไม่เห็นค่า[6] เงินที่เก็บได้นั้นนำส่งพระคลัง[11] อย่างไรก็ดี กรมอักษรพิมพการประกาศว่า มีผู้ยอมเสียเงินซื้อหนังสือนี้น้อยมาก จากที่พิมพ์ไม่ต่ำกว่า 500 ฉบับ มีผู้รับไปเพียง 50–60 ราย ทำให้คณะผู้จัดทำรู้สึกว่า "เสียแรงทำเสียแรงแต่งด้วย ทำแล้วเปนประโยชน์แก่คนตั้งร้อยขึ้นไป เปนที่ยินดี ทำให้ชวนแต่งชวนเรียงขึ้นอีก ถ้าจะเปนประโยชน์แต่แก่คนสักห้าหกสิบคนเท่านั้น ก็เปนที่น่าเสียดายแรงนักอยู่"[12] สุดท้ายแล้ว หนังสือนี้เผยแพร่ได้ 5 ปีก็เลิกไปอีก[6] ฉบับสุดท้าย ลงวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2422[13]
ภายหลัง รัชกาลที่ 5 ทรงให้รื้อฟื้นหนังสือนี้อีกเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2424[13] โดยเปลี่ยนเป็นเผยแพร่ทุกวันอาทิตย์[14] และทรงให้ยกกรมอักษรพิมพการขึ้นสังกัดกรมพระอาลักษณ์ด้วย[10] แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีราชการอื่นล้นมือ พิมพ์ได้พักหนึ่งจึงหยุดไปอีก จนมารื้อฟื้นขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2427 โดยมีประกาศว่า ครั้งนี้ ตั้งใจ "จะไม่ให้หยุดให้ขาดเหมือนดังแต่ก่อนได้เลย"[15] และหลังมีประกาศเชิญชวนหลายครั้ง[12][16][17] หนังสือนี้ก็เป็นที่สนใจและมีผู้สมัครรับมากขึ้น จนใน พ.ศ. 2435 มีประกาศจากกรมอักษรพิมพการว่า "ได้รับความอุดหนุนจากท่านผู้รับราชกิจจานุเบกษามีทวีมากขึ้น แลที่ได้รับอยู่แล้วก็มิได้ลดถอนลงไปกี่นามนัก ทั้งการเก็บเงินในระหว่างเจ้าพนักงานผู้เก็บกับผู้ให้ก็เปนการได้โดยสดวกขึ้นกว่าปีที่ล่วงแล้วมา เมื่อราชกิจจานุเบกษาได้รับผลทั้ง 3 ประการเปนอาหารบำรุงชีวิตดำรงตลอดมาดังนี้ จึ่งทำให้เปนเรื่องยินดี"[18] ในปีนั้น รัชกาลที่ 5 ยังทรงตั้งกระทรวงมุรธาธรขึ้น และให้กรมพระอาลักษณ์มาขึ้นกระทรวงมุรธาธร[19] งานจัดทำหนังสือนี้จึงเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมุรธาธร[20]
ในการเผยแพร่สมัยหลังนี้ รัฐบาลจ้างโรงพิมพ์เอกชนดำเนินงาน เช่น โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ[21] และบางคราวโรงพิมพ์เอกชนก็จัดทำให้โดยไม่คิดราคา[22]
ภายหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 งานด้านอาลักษณ์ของกระทรวงมุรธาธรตกมาเป็นความรับผิดชอบของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่จัดตั้งขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี[19] การเผยแพร่หนังสือนี้จึงอยู่ในความรับผิดชอบของกรมดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันคือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยจัดตั้งกลุ่มงานราชกิจจานุเบกษาขึ้นรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ[2] และมีสำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษาเป็นผู้พิมพ์ฉบับรูปเล่ม[23] เดิมเผยแพร่รายสัปดาห์ แต่ปัจจุบันไม่มีกำหนดตายตัว สุดแล้วแต่ความเร่งด่วนของสิ่งเผยแพร่[6] ตั้งแต่ พ.ศ. 2566 หนังสือนี้เผยแพร่แบบออนไลน์เท่านั้น[7] ส่วนฉบับรูปเล่มจะพิมพ์ขึ้นเฉพาะเพื่อเก็บรักษาเป็นหลักฐานไว้ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 1 ชุด และหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร อีก 3 ชุด รวม 4 ชุด[8]
ประเภท
[แก้]ปัจจุบัน หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา มี 4 ประเภท คือ[24]
- ประเภท ก เรียกว่า ฉบับกฤษฎีกา สำหรับลงประกาศกฎหมายและคำพิพากษาของศาล
- ประเภท ข เรียกว่า ฉบับทะเบียนฐานันดร สำหรับลงประกาศเกี่ยวกับราชสำนักและคณะสงฆ์ เช่น หมายกำหนดการ การพระราชทานหรือถอดถอนเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสมณศักดิ์ และข่าวต่าง ๆ ในราชสำนัก
- ประเภท ค เรียกว่า ฉบับทะเบียนการค้า สำหรับลงประกาศเกี่ยวกับทะเบียนขององค์กรทางการค้า เช่น บริษัท และห้างหุ้นส่วน
- ประเภท ง เรียกว่า ฉบับประกาศและงานทั่วไป สำหรับลงประกาศและงานอื่น ๆ
ความมีผลของกฎหมาย
[แก้]ในระบบกฎหมายไทย กฎหมายจะมีผลใช้บังคับได้ ต้องลงเผยแพร่ในหนังสือ ราชกิจจานุเบกษา ก่อน[5] หลักการนี้ได้รับการรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งระบุในมาตรา 38 ว่า ร่างพระราชบัญญัตินั้น เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในหนังสือนี้แล้ว จึงมีผลใช้บังคับได้[5]
ต้นฉบับ
[แก้]หนังสือ ราชกิจจานุเบกษา สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ตีพิมพ์ขึ้นหลายร้อยฉบับ แต่เหลือรอดมาเพียง 19 ฉบับเท่านั้น[25]
ฉบับซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงรื้อฟื้นช่วง พ.ศ. 2417–2422 นั้น ต้นฉบับที่สมบูรณ์เหลือน้อยมาก มีการพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2540 และ 2546 โดยการถ่ายจากต้นฉบับดั้งเดิม[13]
ส่วนฉบับซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงรื้อฟื้นเมื่อ พ.ศ. 2424 นั้น ต้นฉบับเหลือรอดเพียง 1 เล่ม ขาดหายบางหน้า มีการพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2513[26]
ต้นฉบับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา มีเก็บรักษาเป็นคลังเอกสารที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และเปิดให้เข้าใช้บริการได้โดยต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน[27]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 2010
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ขวัญชนก วิบูลย์คำ 2017, p. 1
- ↑ 3.0 3.1 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, p. 156
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม 2021
- ↑ 5.0 5.1 5.2 ขวัญชนก วิบูลย์คำ 2017, p. 2
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ n.d., pp. 19–33
- ↑ 7.0 7.1 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ 2023, pp. 1–4
- ↑ 8.0 8.1 ประกาศสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฯ 2023, p. 19
- ↑ 9.0 9.1 มานิจ สุขสมจิตร 2018, pp. 108–109
- ↑ 10.0 10.1 แจ้งความกรมอักษรพิมพ์การ 1889, p. 260
- ↑ แจ้งความ 1889, p. 338
- ↑ 12.0 12.1 แจ้งความ ลงวันที่ 18 มีนาคม จ.ศ. 1249 1888, pp. 379–381
- ↑ 13.0 13.1 13.2 สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, p. 161
- ↑ แจ้งความออกราชกิจจานุเบกษา 1889, pp. 1–2
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, pp. 164–165
- ↑ ขอให้อ่านราชกิจจานุเบกษา 1888, pp. 1–5
- ↑ ขอให้อ่าน 1891, p. 304
- ↑ ความยินดีสุดปีฯ 1893, p. 466
- ↑ 19.0 19.1 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2018
- ↑ แจ้งความกระทรวงมุรธาธร 1893, p. 370
- ↑ สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ 2023
- ↑ แจ้งความกระทรวงยุติธรรมฯ 1908, p. 426
- ↑ เดอะสแตนดาร์ดทีม 2023
- ↑ ขวัญชนก วิบูลย์คำ 2017, pp. 1–2
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, p. 157
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 2023, p. 164
- ↑ สำนักหอสมุดแห่งชาติ 2020
บรรณานุกรม
[แก้]- กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม (2021-06-28). "แรกเริ่มพิมพ์ "ราชกิจจานุเบกษา" สิ่งพิมพ์แรกของไทย โดยคนไทย". ศิลปวัฒนธรรม.
- ขวัญชนก วิบูลย์คำ (2017-09-30). "ราชกิจจานุเบกษากับการประกาศใช้กฎหมาย" (PDF). หอสมุดรัฐสภา.
- "ขอให้อ่าน". ราชกิจจานุเบกษา. 8 (35). 1891-11-29.
- "ขอให้อ่านราชกิจจานุเบกษา". ราชกิจจานุเบกษา. 5 (1). 1888-05-03.
- "ความยินดีสุดปีของราชกิจจานุเบกษาใน ร.ศ. 111". ราชกิจจานุเบกษา. 9 (52). 1893-03-26.
- "แจ้งความ". ราชกิจจานุเบกษา. 5 (39). 1889-02-06.
- "แจ้งความกรมอักษรพิมพ์การ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 6 (30). 1889-10-26.
- "แจ้งความกระทรวงมุรธาธร" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 9 (41). 1893-01-07.
- "แจ้งความกระทรวงยุติธรรม ลงวันที่ 1 กรกฎาคม ร.ศ. 127". ราชกิจจานุเบกษา. 25 (14). 1908-07-05.
- "แจ้งความ ลงวันที่ 18 มีนาคม จ.ศ. 1249". ราชกิจจานุเบกษา. 4 (48). 1888-03-18.
- "แจ้งความออกราชกิจจานุเบกษา". ราชกิจจานุเบกษา. 6 (1). 1889-04-07.
- เดอะสแตนดาร์ดทีม (2023-03-15). "15 มีนาคม 2401 – กำเนิดราชกิจจานุเบกษา หนังสือรวบรวมคำประกาศของทางราชการ". เดอะสแตนดาร์ด.
- ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (2010-05-02). "'ราชกิจจานุเบกษา' ประกาศราชการที่มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4". กรุงเทพธุรกิจออนไลน์.
- "ประกาศสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง จำนวนหนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ต้องจัดทำเป็นรูปเล่มเพื่อประโยชน์ในการเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานและตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง พ.ศ. 2566". ราชกิจจานุเบกษา. 140 (79 ง). 2023-03-31.
- มานิจ สุขสมจิตร (2018). "ฐานันดร 4". วารสารราชบัณฑิตยสภา. 43 (1).
- "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประกาศเรื่องในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2566". ราชกิจจานุเบกษา. 140 (23 ง). 2023-02-01.
- สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ (2023-02-11). ""โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ" โรงพิมพ์ที่รัชกาลที่ 5 ถึงกับทรงสรรเสริญ". ศิลปวัฒนธรรม.
- สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (n.d.). "การพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-12-23. สืบค้นเมื่อ 2023-04-15.
- สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (2023). "หนังสือราชกิจจานุเบกษา". นานาสาระภาษาและวัฒนธรรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสภา. กรุงเทพฯ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. ISBN 978-616-389-176-1.
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2018). "ประวัติความเป็นมา". สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี.
- สำนักหอสมุดแห่งชาติ (2020-05-18). "ราชกิจจานุเบกษา". หอสมุดแห่งชาติ.