ข้ามไปเนื้อหา

รัฐประหารในประเทศกัมพูชา พ.ศ. 2513

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รัฐประหารในประเทศกัมพูชา พ.ศ. 2513
ส่วนหนึ่งของ สงครามกลางเมืองกัมพูชา
วันที่18 มีนาคม ค.ศ. 1970
สถานที่
ประเทศกัมพูชา
ผล

รัฐประหารสำเร็จ

คู่สงคราม

พระราชอาณาจักรกัมพูชา (สมัยสังคมราษฏรนิยม)

กองทัพแห่งชาติเขมร/สภาผู้แทนราษฎรกัมพูชา สนับสนุนโดย:

  • CIA (เป็นที่โต้แย้ง)
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ลอน นอล
อิน ตัม
นักองค์ราชวงศ์สีสุวัตถิ์ สิริมตะ
ลน นล ผู้มีบทบาทสำคัญในรัฐประหาร และได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเขมร

รัฐประหารในประเทศกัมพูชา พ.ศ. 2513 (Cambodian coup of 1970) หมายถึง การถอดสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ประมุขแห่งรัฐกัมพูชา หลังการออกเสียงในรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2513 อำนาจกลายเป็นของนายกรัฐมนตรี ลน นลที่ได้ประกาศยุบพระราชอาณาจักรกัมพูชา ทำให้ระบอบราชอาณาจักรภายใต้พรรคสังคมราษฎรนิยมของพระนโรดม สีหนุต้องล่มสลายลง และนำไปสู่การก่อตั้งสาธารณรัฐเขมร และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองกัมพูชา ก่อนการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเขมรในเดือนตุลาคมได้กำหนดให้เรียกชื่อประเทศว่ารัฐกัมพูชา "État du Cambodge" (รัฐกัมพูชา) ในช่วงหกเดือนหลังรัฐประหาร นอกจากนั้น จุดนี้ยังทำให้กัมพูชาเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนาม โดยลน นลได้ดำเนินการขับไล่ชาวเวียดนามออกจากกัมพูชา

ภูมิหลัง

[แก้]

หลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2496 กัมพูชามีพระนโรดม สีหนุเป็นประมุขรัฐและปกครองประเทศผ่านระบอบสังคม พรรคสังคมราษฎรนิยมคุมอำนาจทางการเมืองนับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2498 ต่อมาใน พ.ศ. 2506 พระนโรดม สีหนุได้บีบให้สมัชชาแห่งชาติแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระองค์เป็นประมุขรัฐ พระองค์พยายามถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาภายในรัฐบาล และเป็นผู้กำหนดศัพท์เรียกฝ่ายคอมมิวนิสต์ว่าเขมรแดง เมื่อสงครามเวียดนามเริ่มขึ้น พระนโรดมสีหนุพยายามถ่วงดุลระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา แต่ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2509 ดุลอำนาจในพรรคสังคมเปลี่ยนเป็นฝ่ายขวา มีกลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์จำนวนน้อย เช่น ฮู ยวนและเขียว สัมพันที่ได้รับเลือก ลน นลได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ใน พ.ศ. 2512 ลน นลและฝ่ายขวาในพรรคมีบทบาทมากขึ้น กลุ่มชาตินิยมและต่อต้านคอมมิวนิสต์ของลน นลไม่ยอมรับนโยบายของพระนโรดม สีหนุที่อดทนต่อเวียดกงและกองทัพประชาชนเวียดนามในระดับหนึ่งในการล้ำแดนกัมพูชา นโยบายของพระนโรดม สีหนุเริ่มเอียงไปทางฝ่ายซ้ายระหว่าง พ.ศ. 2506 – 2509 มีการเจรจาในทางลับกับฮานอย โดยจะยอมให้ใช้ท่าเรือสีหนุวิลล์ในการขนส่งอาวุธให้เวียดกง นักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมในพรรคสังคมนำโดยอิน ตัมได้เพิ่มการต่อต้านพระนโรดม สีหนุมากขึ้น

ระหว่าง พ.ศ. 2512 ลน นลได้เจรจากับกองทัพสหรัฐเกี่ยวกับการสนับสนุนทางทหารเพื่อต่อต้านพระนโรดม สีหนุ[1] ลน นลได้กล่าวว่าพระสีสุวัตถิ์ สิริมตะเคยมีความคิดว่าควรลอบสังหารพระนโรดม สีหนุ แต่ลน นลไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้[2] พระนโรดม สีหนุเองเห็นว่าสิริมตะนั้นมีซีไอเอหนุนหลังและได้ติดต่อกับฝ่ายต่อต้านพระนโรดม สีหนุที่ลี้ภัยอยู่อย่างเซิง งอกทัญ ซึ่งได้แนะนำให้ลน นลปฏิวัติใน พ.ศ. 2512[3] ความเกี่ยวข้องกับซีไอเอของรัฐประหารครั้งนี้ยังพิสูจน์ไม่ได้ เฮนรี คิสซินเจอร์ได้กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สหรัฐประหลาดใจ แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าสหรัฐวางแผนจะเข้าโจมตีที่มั่นของเวียดนามเหนือในกัมพูชาตั้งแต่ พ.ศ. 2509 – 2510[4]

การปลดสีหนุออกจากประมุขรัฐ

[แก้]

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2513 ในขณะที่พระนโรดม สีหนุเดินทางไปเยือนยุโรป สหภาพโซเวียตและจีน ได้มีกลุ่มต่อต้านเวียดนามปรากฏขึ้นในเวียดนาม และไปประท้วงหน้าสถานทูตเวียดนามเหนือและเวียดกง ในช่วงแรก พระนโรดม สีหนุเห็นด้วยกับผู้ประท้วง และต้องการให้สหภาพโซเวียตกับจีนช่วยกดดันเวียดนามเหนือให้เข้ามาในกัมพูชาน้อยลง อย่างไรก็ตาม การชุมนุมรุนแรงขึ้น โดยลน นลและสิริมตะเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย ในวันที่ 12 มีนาคม สิริมตะประกาศยกเลิกข้อตกลงทางการค้ากับเวียดนามเหนือที่พระนโรดม สีหนุเคยทำไว้ ลน นลสั่งปิดท่าเรือสีหนุวิลล์ไม่ให้เวียดนามเหนือเข้ามาใช้ และให้ทหารเวียดนามเหนือและเวียดกงออกไปจากกัมพูชาภายใน 15 มีนาคม[5] แต่ในตอนเช้าวันที่ 16 มีนาคม ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง มีกลุ่มคนประมาณ 30,000 คนมาประท้วงที่หน้าสมัชชาแห่งชาติถึงการคงอยู่ของเวียดนาม

ในเวลาเดียวกัน นายพลอุม มันโนรีน บุตรเขยของพระนโรดม สีหนุ ทราบข่าวเกี่ยวกับรัฐประหารและพยายามนำกลุ่มตำรวจลับไปจับตัวผู้วางแผนแต่ช้าเกินไป มันโนรีนและผู้จงรักภักดีต่อสีหนุถูกจับได้ก่อน อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 16 – 17 มีนาคม ลน นลยังลังเลใจในการปลดพระนโรดม สีหนุออกจากประมุขรัฐ แม้สิริมตะจะข่มขู่ว่าพระนโรดม สีหนุได้กล่าวในที่ประชุมที่ปารีสว่าจะประหารชีวิตทั้งลน นลและสิริมตะเมื่อกลับมาถึงพนมเปญ[6] แต่ลน นลก็ยังลังเล ในที่สุด สิริมตะจึงใช้ทหารและอาวุธบีบบังคับให้ลน นลลงนามในเอกสาร

ในวันที่ 18 มีนาคม ได้มีการประชุมในสมัชชาแห่งชาติภายใต้การควบคุมของอิน ตัม มีกำลังทหารลาดตระเวนไปทั่วพนมเปญ กิม พนได้ประท้วงโดยออกจากที่ประชุมสมัชชา ในที่สุดสมาชิกที่เหลือได้ลงมติถอดถอนพระนโรดม สีหนุออกจากประมุขรัฐเป็นการฉุกเฉิน เจง เฮงดำรงตำแหน่งประมุขรัฐแทน หลังจากนั้นจึงเริ่มกระบวนการเพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐเขมร

การต่อต้านรัฐประหาร

[แก้]

ในวันที่ 23 มีนาคม พระนโรดม สีหนุได้ประกาศผ่านทางวิทยุเรียกร้องให้มีการลุกฮือขึ้นต่อต้านลน นล ได้เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้พระนโรดม สีหนุกลับมาในจังหวัดกำปงจาม จังหวัดตาแก้ว และจังหวัดกำปอต[7] การประท้วงในจังหวัดกำปงจามรุนแรงขึ้น โดยสมาชิกสมัชชาแห่งชาติสองคนคือ สส ซวนและกิม พนถูกผู้ประท้วงฆ่าตาย หลังจากที่ทั้งสองคนขับรถเข้าไปเพื่อที่จะเจรจากับกลุ่มผู้ประท้วง ลน นิล น้องชายของลน นลได้นำกำลังตำรวจเข้าไปปราบปรามแต่เขาก็ถูกฆ่าตายเช่นกัน ในที่สุด รัฐบาลได้ส่งทหารเข้าไปปราบอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และถูกจับกุมเป็นพันคน

หลังจากนั้น

[แก้]

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร กองกำลังเวียดนามเหนือได้รุกรานเข้ามาในกัมพูชาใน พ.ศ. 2513 ตามคำของของนวน เจียผู้นำเขมรแดง จากจุดนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองกัมพูชาเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของลน นลที่มีสหรัฐหนุนหลัง

อ้างอิง

[แก้]
  1. Kiernan, p.300
  2. Kiernan, p.301
  3. Sihanouk, pp.36–38
  4. Clymer, p.23
  5. Sutsakhan, Lt. Gen. S. The Khmer Republic at War and the Final Collapse เก็บถาวร 2019-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Washington DC: United States Army Center of Military History, 1987, Part 1, p. 42. See also Part 1 เก็บถาวร 2019-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนPart 2 เก็บถาวร 2007-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนPart 3 เก็บถาวร 2007-02-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  6. Marlay, R. and Neher, C. Patriots and tyrants, Rowman & Littlefield, 1999, p.165
  7. Kiernan, p.302