ข้ามไปเนื้อหา

พิธีราชาภิเษกในโอเชียเนีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถซาโลเต ตูโปอูที่ 3 แห่งตองงาและวิเลียมี ตังกิ ไมเลฟีฮี พระราชสวามี ในรูปแบบพิธีตามอย่างวัฒนธรรมยุโรป แวดล้อมด้วยข้าราชการที่แต่งตัวแบบยุโรป วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1918

พิธีราชาภิเษกในโอเชียเนีย เป็นพิธีที่มีความเกี่ยวเนื่องในประวัติศาสตร์ของประเทศในโอเชียเนีย ที่เคยมีระบอบราชาธิปไตยโดยถูกยกเลิกไปแล้ว และประเทศที่ยังคงมีสถาบันกษัตริย์อยู๋ พิธีราชาภิเษกแบบดั้งเดิมของพระมหากษัตริย์ในโอเชียเนียยังคงมีลักษณะในรูปแบบชนเผ่า ตามประเพณีของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม ก่อนที่พิธีราชาภิเษกในบางประเทศจะถูกแปรเปลี่ยนไปตามอิทธิพลของวัฒนธรรมยุโรป และการเผยแพร่ของคริสต์ศาสนา ที่เข้ามาแทนที่ศาสนาและประเพณีของชนเผ่าพื้นเมือง เช่น ในกรณีของราชอาณาจักรตองงาและราชอาณาจักรฮาวาย

พิธีราชาภิเษกของภูมิภาคโอเชียเนียสามารถแบ่งตามประเทศได้ดังนี้

พิธีราชาภิเษกแบ่งตามประเทศ

[แก้]

ฟีจี

[แก้]

เซรู เอเพนิซา คาโคบาอู หัวหน้าชนเผ่าแห่งเกาะเกาะบาอู ได้ใช้ปืนใหญ่และปืนคาบศิลาของตะวันตกสร้างกองทัพควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของฟีจี พระองค์ได้รับการสวมมงกุฎในฐานะพระมหากษัตริย์ฟิจิที่เป็นชาติอธิปไตยจากพ่อค้าและผู้อยู่อาศัยชาวยุโรป ซึ่งต้องการรัฐบาลที่มั่นคงในฟีจีเพื่อให้ช่วยปกป้องการลงทุนในธุรกิจของตน[1] คาโคบาอูประกอบพิธีราชาภิเษกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1867 ในฐานะกษัตริย์แห่งบาอู และได้รับการยอมรับในฐานะพระมหากษัตริย์ฟีจี ในปี ค.ศ. 1871 พระองค์ทรงจัดตั้งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ทั้งสถานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีล้วนเป็นชาวต่างชาติ หลังจากนั้นอำนาจอธิปไตยของฟีจีถูกเปลี่ยนผ่านไปยังราชาธิปไตยแห่งสหราชอาณาจักร เนื่องจากพระองค์ทรงยอมถวายตำแหน่งกษัตริย์และหัวหน้าเผ่าสูงสุดแก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย จนกระทั่งฟีจีได้รับเอกราชในปีค.ศ. 1970 ปัจจุบันฟีจีปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ แม้ว่าจะยอมรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรในฐานะหัวหน้าเผ่าสูงสุด

ฮาวาย

[แก้]
พระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าคาลาคาอัวและสมเด็จพระราชินีคาปิโอลานิแห่งฮาวายในปีค.ศ. 1883

ราชอาณาจักรฮาวาย ได้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกแก่พระเจ้าคาลาคาอัวและสมเด็จพระราชินีคาปิโอลานิ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1883 ซึ่งพิธีจัดขึ้นหลังจากทรงครองราชย์มาแล้ว 9 ปี โดยทรงครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าลูนาลิโล ในปีค.ศ. 1874 เหตุที่ไม่มีการประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกโดยเร็วนั้นเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองกำลังวุ่นวาย โดยพระเจ้าคาลาคาอัวกำลังทรงมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงกับกลุ่มพรรคพระราชินีเอ็มมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนสมเด็จพระพันปีหลวงเอ็มมา พระราชินีในรัชกาลก่อนหน้าสองรัชกาล คือ พระมเหสีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 แห่งฮาวาย โดยกลุ่มพรรคพระราชินีเอ็มมาพยายามสนับสนุนความทะเยอทะยานของสมเด็จพระพันปีหลวงในการขึ้นครองราชบัลลังก์ พระนางพยายามก่อการรัฐประหารโดยการสนับสนุนจากฝรั่งเศสเพื่อล้มบัลลังก์ของพระเจ้าคาลาคาอัวในการเลือกตั้งพระมหากษัตริย์ปีค.ศ. 1874 แต่แผนการล้มเหลวด้วยกองทัพอเมริกันและอังกฤษเข้ามาปราบปรามการจลาจล

สมเด็จพระราชินีคาปิโอลานิทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์และฉายพระรูปพร้อมมงกุฎในพระราชพิธีราชาภิเษกในปีค.ศ. 1883

หลังจากการจลาจลจบลง ก็ได้มีการประกอบพิธีราชาภิเษกในอีก 9 ปีถัดมา พระราชพิธีราชาภิเษกและงานเลี้ยงเฉลิมฉลองถูกจัดขึ้นอย่างแพร่หลายเป็นระยะเวลาสองสัปดาห์[2] พระเจ้าคาลาคาอัวทรงปฏิญาณตนอย่างรวดเร็วในฐานะพระมหากษัตริย์ที่ตึกคินาอูฮาเล ซึ่งเป็นตึกส่วนกรมวังถัดจากพระราชวังอิโอลานี โดยพระมหากษัตริย์สามพระองค์ก่อนหน้า ทรงประกอบพิธีสถาปนาที่โบสถ์คาวาอิอาฮาโอ ที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ต้องทรงสวมผ้าคลุมขนนกของพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 แห่งฮาวาย ปฐมกษัตริย์ ไว้ที่พระอังสา ซึ่งสังเกตได้ชัดว่ามีการปรับเปลี่ยนพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม

มงกุฎทองคำถูกผลิตขึ้นในประเทศอังกฤษเพื่อใช้ในพิธีสวมมงกุฎของพระเจ้าคาลาคาอัว และมีการตั้งพลับพลาปะรำพิธีขนาดใหญ่ด้านหน้าพระราชวังอิโอลานีที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ที่ซึ่งเหล่าพระราชวงศ์เสด็จมาพร้อมทรงถือ คาฮีลี (Kahili) อันเป็นสัญลักษณ์โบราณประจำราชวงศ์ฮาวาย พระเจ้าคาลาคาอัวทรงได้รับการถวายมงกุฎจากเรเวอเรนด์ แม็กคินทอร์ช จากนั้นทรงสวมมงกุฎลงบนศีรษะด้วยพระองค์เอง เนื่องจากไม่มีผู้ใดทรงศักดิ์สิทธิ์ไปกว่าองค์อาลีอิ (Aliʻi; พระประมุขในภาษาฮาวาย) จากนั้นพระองค์ทรงสวมมงกุฎแก่สมเด็จพระราชินี แต่มงกุฎไม่สามารถวางลงบนพระเกศาของสมเด็จพระราชินีที่มีการทำอย่างประณีตได้ พระองค์จึงต้องทรงกดมงกุฎลงไปจนแน่น ทำให้สมเด็จพระราชินีทรงมีน้ำพระเนตรไหลด้วยความเจ็บ เจ้าหญิงลีลีโอกาลานี พระขนิษฐาในพระเจ้าคาลาคาอัว ทรงบรรยายถึงเหตุการณ์ในช่วงสวมมงกุฎว่า ดวงอาทิตย์ถูกบดบังด้วยก้อนเมฆซึ่งเป็นการเปิดทางให้กับดาวเจิดจรัสแสงเพียงดวงเดียวเท่านั้น เนื่องจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลากลางวัน ดังนั้นมันจึงเป็นความรู้สึกของพยานในเหตุการณ์ที่ได้ร่วมจดจำเอาไว้[3] พระราชพิธีจบลงด้วยการร้องเพลงสรรเสริญของคณะประสานเสียง และมีการสวดภาวนา ปัจจุบันพลับพลาปะรำพิธีของพระเจ้าคาลาคาอัวถูกใช้เป็นเวทีสำหรับวงดุริยางค์หลวงฮาวายใช้สำหรับจัดแสดง[4]

สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานี ครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าคาลาคาอัวในปี ค.ศ. 1891 โดยไม่มีการจัดพระราชพิธีราชาภิเษกเนื่องจากเกิดการล้มล้างราชอาณาจักรฮาวายในปีค.ศ. 1893 โดย คณะปฏิวัติคือ ทหารจากสหรัฐอเมริกาและพ่อค้าชาวยุโรปและอเมริกา เพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐฮาวายขึ้น แต่เป้าหมายสูงสุดของการปฏิวัติคือการผนวกฮาวายรวมเข้ากับประเทศสหรัฐอเมริกา

นีวเว

[แก้]
พระเจ้าฟาตาอาอิกี ปาตูอิกิองค์ที่ 7 แห่งนีวเว ทรงฉลองพระองค์แบบโบราณและทรงถือคาโตอูอา (Katoua) ไว้ในพระหัตถ์

นีวเว ไม่เหมือนเกาะอื่นๆในพอลินีเชีย เนื่องจากนีวเวไม่มีรัฐบาลของชาติปกครองประเทศหรือไม่มีหัวหน้าเผ่าคนหนึ่งคนใดที่ปกครองเกาะแต่เพียงผู้เดียวจนล่วงมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก่อนหน้านั้นเหล่าหัวหน้าเผ่าและหัวหน้าของหลายๆครอบครัวได้มีการใช้อำนาจปกครองผู้คนภายใต้อาณัติของตนเองอย่างแตกต่างกัน ในช่วงประมาณค.ศ. 1700 แนวคิดเกี่ยวกับราชาธิปไตยเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นจากการรับวัฒนธรรมโดยติดต่อคบค้าสมาคมกับซามัวและตองงา และทำให้หลังจากนั้นมีองค์ปาตูอิกิ (Patu-iki) หรือกษัตริย์ปกครองเกาะ กษัตริย์พระองค์แรกคือปูนิมาตาซึ่งทำพิธีสรงน้ำในปาปาเตอา ใกล้กับเขตฮาคูปูของเกาะนีวเว เกาะแห่งนี้ถูกผนวกเข้ากับราชบัลลังก์อังกฤษโดยปาตูอิกิพระองค์ที่ 8 คือ พระเจ้าโตกีอาปูลูโตอากีทรงยินยอมมอบเกาะให้กับอังกฤษในปีค.ศ. 1900

ระบอบกษัตริย์ของนีวเวไม่ใช่ระบบสืบราชสันตติวงศ์ทางสายเลือด แต่เหล่าประมุขจะถูกเลือกโดยประชาชนที่มาจากกลุ่มครอบครัวที่มีอิทธิพล หลังจากมีการเลือกตั้งกษัตริย์แล้ว กษัตริย์ทุกพระองค์จะได้รับการเจิมตามประเพณีศักดิ์สิทธิ์แบบโบราณ มากกว่าพิธีแบบยุโรป กษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องสรงน้ำหรือทำพิธีทำความสะอาดร่างกายตามพิธีการโดยชำระล้างด้วยน้ำมันหอมระเหย (มาโนกี; manogi) หัวหน้าเผ่าที่อาวุโสสูงสุดจะทำการเจิมให้แก่ (ฟาคาอูคู; fakauku) กษัตริย์องค์ใหม่ โดยการจุ่มใบลาอูมามาลู (lau-mamālu; เป็นใบเฟิร์นที่พบโดยทั่วไปในเกาะนีวเว) ลงในถ้วยน้ำมันมะพร้าว จากนั้นสลัดใบไปยังพระเศียรของกษัตริย์สามครั้ง หลังพิธีเจิม บทเพลง (โลโลโก; lologo) ได้ถูกบรรเลงและร้องขึ้นในงานเฉลิมฉลอง (คาโตอากา; katoaga) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่กษัตริย์ พิธีเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบันแต่เป็นลักษณะการกล่าวขานเล่ากันปากต่อปากในสังคมชาวพื้นเมืองนีวเว

แต่ละหมู่บ้านจะส่งตัวแทนมาเข้าร่วมพิธี คนอื่นๆจะมีหน้าที่ของตนเองที่หลากหลาย เช่น การจัดเตรียมก้อนหินให้กษัตริย์ประทับนั่งระหว่างพิธีเจิม ซึ่งถูกเรียกว่า เปเป (pepe) ก้อนหินสองก้อนอยู่ในอาโลฟี ซึ่งเป็นก้อนหินที่พระเจ้าตูอิโตกา กษัตริย์องค์ที่ 6 และพระเจ้าฟาตาอาอิกี กษัตริย์องค์ที่ 7 ประทับนั่งในระหว่างพิธีเจิม หินทั้งสองเป็นหินปะการังลักษณะแบนหยาบ สูงประมาณ 4 ฟุตและกว้าง 2 ฟุต หินอื่นๆที่มีลักษณะเหมือนเสาตั้งนอนอยู่ที่หมู่บ้านตูอาปา มีความสูง 12 ฟุต ความยาว 60 ฟุต และความกว้าง 50 ฟุต แต่ก็ไม่ได้มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่ากษัตริย์พระองค์ใดทรงใช้หินก้อนนี้ทำพิธีเจิม พื้นที่ 70 หรือ 80 หลาถูกใช้เป็นที่วางหินที่นั่งสำหรับเหล่าสภาหัวหน้าเผ่า มีเพียงกษัตริย์สามพระองค์สุดท้ายของนีวเวเท่านั้นที่พิธีเจิมถูกบันทึกโดยชาวตะวันตก ได้แก่ พระเจ้าตูอิโตกา พระมหากษัตริย์ชาวคริสต์พระองค์แรก ทรงประกอบพิธีเจิมในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1875, พระเจ้าฟาตาอาอิกีทรงประกอบพิธีเจิมในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1888 และพระเจ้าโตกีอาปูลูโตอากี ทรงประกอบพิธีเจิมในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1898[5]

ราโรตองกา

[แก้]

ราชอาณาจักรราโรตองงาเป็นราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่ในหมู่เกาะคุก ราโรตองกามีองค์อารีกี (Ariki) หรือ กษัตริย์หลายพระองค์ปกครองพร้อมๆกัน องค์อารีกีแห่งราโรตองกาจะได้รับการเจิมตามโบราณราชประเพณีโดยประทับนั่งบนแท่นศิลา ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับพิธีของกษัตริย์นีวเว แต่พิธีของราโรตองกาจะมีความเก่าแก่กว่านีวเว ในเขตอาราอีเตตองงา (Arai Te Tonga) จะถูกเรียกว่าเขตมาราเอ (Marae) ซึ่งเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของเกาะ แท่งหินถูกเรียกว่าตาอูมาเควา (Tau-Makeva) ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการประกอบพิธีเจิมให้กษัตริย์หลายพระองค์ในประวัติศาสตร์[5]

ซามัว

[แก้]

หัวหน้าเผ่าต่างๆในหมู่เกาะซามัวจะได้รับการเจิมตามแบบพิธีโบราณดั้งเดิม มาลีเอตัว ตาลาโวอู โตนูมาอีเปอา ทรงเข้าพิธีเจิมที่หมู่บ้านมูลีนูอู บนอาสนะพระที่นั่ง ในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1879[6] มาลีเอตัว เลาเปปาทรงได้รับการเจิมในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1880 ตามประเพณีซามัวที่หมู่บ้านมูลีนูอู[7] ในช่วงการครองราชย์ของมาลีเอตัว เลาเปปา เกิดสงครามกลางเมืองซามัวครั้งที่หนึ่ง ช่วงค.ศ. 1886 ถึงค.ศ. 1894 มาตาอาฟา อีโอเซโฟ หนึ่งในหัวหน้าเผ่าสูงสุดของซามัวไม่ยอมรับการขึ้นครองราชย์ของมาลีเอตัว เลาเปปา พระองค์จึงประกาศตนเป็นศัตรูกับกษัตริย์ซามัวด้วยการสนับสนุนของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่หวังจะตั้งมาตาอาฟา อีโอเซโฟขึ้นเป็นมาลีเอตัว เพื่อขยายอิทธิพลเหนือเกาะซามัว ส่วนมาลีเอตัว เลาเปปาทรงมีฝ่ายสนับสนุนเป็นกองทัพเยอรมันจึงกลายเป็นการสู้รบกันขนานใหญ่ แต่ในระหว่างการสู้รับนั้นมาลีเอตัว เลาเปปาทรงถูกช่วงชิงราชบัลลังก์ภายในรัฐบาลโดยตาปัว ตามาเซเซ ตีติมาเอีย หนึ่งในสี่หัวหน้าเผ่าที่ทรงอิทธิพลของซามัว เลาเปปาทรงลี้ภัยในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1887 จักรวรรดิเยอรมันหันมาสนับสนุนตามาเซเซโดยประกาศให้พระองค์เป็นกษัตริย์แห่งซามัวในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1888

มาลีเอตัว ตานุมาฟิลิที่ 1 กับอุปราช หรือ ตามาเซเซ (Tamasese) ทรงฉายพระรูปหลังพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1889 ทรงฉลองพระองค์แบบทหารตะวันตก ห้อมล้อมไปด้วยข้าราชสำนักและทหารในชุดพื้นเมือง

มาตาอาฟา อีโอเซโฟไม่ยอมรับตามาเซเซ เช่นเดียวกับไม่ยอมรับมาลีเอตัว เลาเปปา เกิดการปะทะกันของทหารทั้งสองฝ่าย และการปะทะกันระหว่างกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาและกองทัพเรือของจักรวรรดิเยอรมัน กองทัพของมาตาอาฟา อีโอเซโฟสามารถโจมตีกองทัพของตามาเซเซให้ถอยร่นไปได้ มาตาอาฟา อีโอเซโฟจึงเข้าพิธีเจิมเป็นมาลีเอตัวแห่งซามัวในวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1888 ที่หมู่บ้านฟาเลอูลา บนเกาะอูโปลู[8] มาตาอาฟาทรงตอบโต้การรุกรานของเยอรมันด้วยการเข้าทำลายไร่เพาะปลูกของชาวเยอรมัน จึงทำให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาลเยอรมัน ในที่สุดชาติมหาอำนาจทั้งสามได้แก่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนีได้ตกลงกันเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ซามัว มาตาอาฟาทรงถูกสหรัฐอเมริกาทอดทิ้ง เช่นเดียวกับตามาเซเซที่เยอรมนีเลิกสนับสนุน ผลสรุปก็คือ มาลีเอตัว เลาเปปาทรงกลับคืนสู่ราชบัลลังก์ดังเดิมในฐานะมาลีเอตัวอีกครั้ง[9] ดังนั้นตำแหน่ง "มาลีเอตัว" จึงได้รับการยอมรับจากชาวยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในฐานะ "พระมหากษัตริย์แห่งซามัว" แม้ว่าตำแหน่ง "มาลีเอตัว" จะไม่ใช่หัวหน้าเผ่าที่มีแต่เพียงผู้เดียวในซามัวก็ตาม

มาลีเอตัว เลาเปปาสวรรคตในปีค.ศ. 1898 เป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองซามัวครั้งที่สอง ช่วงปีค.ศ. 1898 ถึง 1899 มาตาอาฟา อีโอเซโฟไม่ทรงยอมรับมาลีเอตัว ตานุมาฟิลิที่ 1 พระโอรสในมาลีเอตัว เลาเปปาในฐานะมาลีเอตัว พระองค์จึงเตรียมก่อสงครามอีกครั้ง แม้ว่ามาลีเอตัว ตานุมาฟิลิที่ 1 จะได้รับการประกาศเป็นพระมหากษัตริย์ซามัวในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1898 แล้วก็ตาม ช่วงสงครามกลางเมืองครั้งที่สองนี้เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในครั้งนี้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในซามัว เนื่องจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเคยสนับสนุนมาตาอาฟามาก่อนกลับไปสนับสนุนมาลีเอตัว ตานุมาฟิลิที่ 1 ในฐานะประมุขที่มีความชอบธรรม พระองค์จึงหันไปขอความช่วยเหลือจากเยอรมันในการช่วงชิงราชบัลลังก์ สงครามกินเวลานานหลายเดือน แม้ว่ามาตาอาฟาจะทรงได้รับชนะหลายครั้ง แต่สงครามก็ทำให้พระองค์ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และต่อมาทรงพ่ายแพ้ให้กับฝูงบินเรือรบของอังกฤษและอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทหารชาวซามัวไม่สามารถเอาชนะได้ ในที่สุดทางมหาอำนาจจึงได้มีการประนีประนอมและแบ่งซามัว ในปีค.ศ. 1899 เยอรมนีได้หมู่เกาะทางตะวันตก ก่อตั้งเยอรมันซามัว ส่วนสหรัฐอเมริกาได้หมู่เกาะทางตะวันออก ก่อตั้งอเมริกันซามัว อังกฤษยกเลิกการอ้างสิทธิเพื่อแลกกับหมู่เกาะโซโลมอน[10] มาตาอาฟาไปประทับที่เยอรมันซามัวภายใต้การดูแลของเยอรมนี มหาอำนาจยอมรับตามานุฟิลิที่ 1 อีกครั้งในฐานะกษัตริย์วันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1899 มาลีเอตัว ตานุมาฟิลิที่ 1 จึงได้เป็นประมุขดังเดิม พระองค์ประกอบพิธีราชาภิเษกในวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1899 พระองค์และอุปราช (Vice-king) หรือตำแหน่ง "ตามาเซเซ" (คนละพระองค์กับตามาเซเซผู้ช่วงชิงบัลลังก์ของมาลีเอตัว เลาเปปา) ทรงฉลองพระองค์แบบทหารตะวันตก ห้อมล้อมไปด้วยข้าราชสำนักและทหารในชุดพื้นเมืองในวันราชาภิเษก

แม้ว่าจะมีระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญในปีค.ศ. 1962 ถึง ค.ศ. 2007 เหล่าหัวหน้าเผ่าสูงสุดของซามัวทั้งหลายก็ไม่มีการประกอบพิธีเจิมหรือราชาภิเษกในช่วงนี้ แม้แต่มาลีเอตัว ตานุมาฟิลิที่ 2 กษัตริย์พระองค์สุดท้ายก็ไม่ปรากฏว่าทรงประกอบพิธีราชาภิเษก

ตาฮีตี

[แก้]
พระมงกุฎแห่งตาฮีตี เป็นมงกุฎที่พระเจ้าโปมาเรที่ 3 ทรงได้รับการถวายเป็นของขวัญจากสมาคมคณะมิชชันนารีลอนดอน เพื่อใช้ในพระราชพิธีราชาภิเษกปีค.ศ. 1824 พระมงกุฎจริงถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ตาฮีตี เขตปูนาอาอูเอียของเกาะ

ตาฮีตีปกครองโดยพระมหากษัตริย์ชาวพื้นเมือง (มีสมเด็จพระราชินีนาถหนึ่งพระองค์) แห่งราชวงศ์โปมาเร ตั้งแต่ค.ศ. 1788 ถึงค.ศ. 1880 เมื่อพระเจ้าโปมาเรที่ 5 แห่งตาฮีตี กษัตริย์พระองค์สุดท้าย ทรงยินยอมยกประเทศให้ฝรั่งเศส ได้มีการบันทึกรายละเอียดพระราชพิธีราชาภิเษกอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าโปมาเรที่ 2 แห่งตาฮีตี กษัตริย์พระองค์ที่สอง ที่ประกอบพิธีในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1791 พิธีนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่มาโร อูรา (maro ura) คือเข็มขัด หรือ ปั้นเหน่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานะและอำนาจของราชวงศ์โปมาเร ซึ่งทำจากขนนกสีเหลืองและแดง มีความยาวถึง 5 หลา และความกว้าง 15 นิ้ว ขนนกสีดำประดับล้อมรอบด้านบนและด้านล่างของฉลองพระองค์ ฉลองพระองค์คลุมนี้ยังประกอบด้วยเส้นผมสีแดงของริชาร์ด สกินเนอร์ หนึ่งในผู้ก่อการกำเริบของเรือเอช.เอ็ม.เอส เบาวน์ตี้ ซึ่งเลือกที่จะอยู่อาศัยในตาฮีตี เมื่อเฟล็ทเชอร์ คริสเตียนออกเดินทางไปยังหมู่เกาะพิตแคร์น ด้วยสกินเนอร์เป็นช่างตัดผมประจำเรือ เขาจึงได้รับเกียรติจากหมู่ชาวตาฮีตีอย่างเป็นพิเศษ โดยชาวตาฮีตีมองว่าเส้นผมสีแดงของเขาเป็นสิ่งล้ำค่าและได้ขอเส้นผมส่วนหนึ่งมาสานประดับมาโร อูรา ชายธงสีแดงของอังกฤษยังถูกประดับรวมในเข็มขัดนี้ด้วย ซึ่งซามูเอล วอลลิสแห่งเรือเอช.เอ็ม.เอส ดอลฟิน ได้เคยยกธงนี้เหนือตาฮีตี เมื่อเขาได้ประกาศครอบครองเกาะนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของพระมหากษัตริย์อังกฤษในปี ค.ศ. 1767 ซึ่งเป็นเวลา 20 กว่าปีก่อน ชาวตาฮีตีชักธงนี้ลงมา และถักทอลงในฉลองพระองค์คลุมขององค์กษัตริย์เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์อำนาจอธิปไตยของตนเองที่มีเหนือเกาะ[11]

ในการรับฉลองพระองค์คลุมนี้ พระเจ้าโปมาเรจะต้องเสด็จไปที่สถานมาราเออันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ กษัตริย์จะทรงสวมฉลองพระองค์คลุมนี้ จากนั้นจะทรงควักลูกตาข้างซ้ายของเหล่าเหยื่อผู้ยอมพลีชีพในการบูชายัญ และจากนั้นทรงทำราวกับว่าจะเสวยดวงตาเหล่านั้น นอกจากนี้พระองค์จะทรงฟังเสียงร้องของนกศักดิ์สิทธิ์ และมีการให้กองพลปืนคาบศิลาระดมยิงไปในท้องฟ้าเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อการกำเริบเรือเบาวน์ตี้ซึ่งมาร่วมพระราชพิธีด้วย ต่อจากนี้ กษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงเต้นรำ ด้วยกันกับบุรุษชาวตาฮีติทั้งหลาย ที่จะเข้ามาทำท่าปกคลุมพระองค์ด้วยอุจจาระและน้ำอสุจิของพวกเขาซึ่งถือเป็นเกียรติยศอย่างสูง[12]

ในปีค.ศ. 1824 เมื่อพระโอรสของพระเจ้าโปมาเรที่ 2 ประกอบพิธีราชาภิเษกเป็น พระเจ้าโปมาเรที่ 3 แห่งตาฮีตี พระราชพิธีของชาวตาฮีตีได้ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอยู่ภายใต้อิทธิพลของมิชชันนารีของคริสต์ศาสนิกชนต่างชาติ ในเวลานี้พระราชพิธีตามแบบยุโรปได้ถูกประกาศใช้ตามกฎหมาย โดยยุวกษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จขบวนไปยังมหาวิหารหลวงแห่งปาเปเอเต เบื้องหลังของขบวนจะมีเหล่าเด็กสาวเดินโปรยดอกไม้ มาพร้อมกัยผู้ว่าราชการ ผู้พิพากษาและข้าราชการคนอื่นๆ หลังจากทรงเข้ารับการเจิมและสวมมงกุฎ พระเจ้าโปมาเรที่ 3 ทรงได้รับคัมภีร์ไบเบิลและประทานการเทศนาแสดงธรรมให้พระองค์ งานเฉลิมฉลองถูกจัดขึ้นพร้อมกับการประกาศอภัยโทษและมีงานเลี้ยงในพิธีราชาภิเษก

พิธีราชาภิเษกที่ดำเนินการโดยมิชชันนารีโปรแตสแตนต์ ไม่ได้มีเพียงแค่ตาฮีตี แต่มีในเกาะอื่นๆของเฟรนช์พอลินีเชียด้วย รวมถึงราชอาณาจักรฮูอาฮีเน ราชอาณาจักรราอีอาเตอา และราชอาณาจักรบอรา บอรา และแม้กระทั่งเกาะออสทรัลแห่งรูรูตูด้วย

ตองงา

[แก้]
กษัตริย์ตูโปอูที่ 6 หลังพระราชพิธีราชาภิเษกแบบตะวันตกในนูกูอาโลฟา วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2015

พระมหากษัตริย์ยุคโบราณของตองงาจะประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกที่คานาคูบอลู ใกล้หมู่บ้านฮิฮิโฟ และจะได้รับตำแหน่ง "ตูอิคานาคูบอลู" (Tui Kanakubolu) แต่ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์และโบราณของตองงาที่เหล่ากษัตริย์ประทับเพื่อประกอบพิธีได้ถูกฉีกทำลายด้วยพายุในช่วงทศวรรษที่ 1890 พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 แห่งตองงา ทรงมีพระบัญชาให้นำเศษซากของต้นไม้ที่ถูกทำลายนี้มาเลี่ยมฝังประกอบราชบัลลังก์ตองงา[13] พระเจ้าจอร์จที่ 2 และกษัตริย์องค์ต่อมา คือ สมเด็จพระราชินีนาถซาโลเต ตูโปอูที่ 3 แห่งตองงา ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1893 และ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1918 ตามลำดับ พระราชพิธีตามธรรมเนียมยุโรปได้ถูกเสนอขึ้นโดยมิชชันนารีตะวันตกที่เดินทางมายังเกาะนี้ ซึ่งได้เข้ามาแทนที่พิธีเก่าอันศักดิ์สิทธิ์ของตองงาดั้งเดิมที่สืบทอดมานานนับศตวรรษ โดยกษัตริย์องค์ใหม่จะทรงดื่มคาวา พร้อมกับการรับอาหารปรุงประเภทหมูและอาหารประเภทต่างๆ

ในปีค.ศ. 1967 ตองงามีการประกอบพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์เตาฟาอาเฮา ตูโปอูที่ 4 ในขณะที่กษัตริย์จอร์จ ตูโปอูที่ 5 ประกอบพิธีราชาภิเษกในปีค.ศ. 2008 และกษัตริย์ตูโปอูที่ 6 กษัตริย์องค์ปัจจุบันในปีค.ศ. 2015 กษัตริย์ทั้งหลายจะต้องทรงเข้าร่วมพิธีที่ประณีตที่มีทั้งมงกุฎทองคำขนาดใหญ่ คฑาและประทับนั่งราชบัลลังก์ การเป็นกษัตริย์ที่นับถือคริสตศาสนาของสถาันกษัตริย์ตองงาได้ถูกเน้นย้ำอีกครั้งในปี 2008 ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์กับอังกฤษ โดยอาร์กบิชอปนิกายแองกลิคันแห่งพอลินีเซียคือ จาเบซ ไบรซ์ ประกอบพิธีเจิมให้กษัตริย์จอร์จ ตูโปอูที่ 5 ด้วยพิธีศักดิ์สิทธิ์ของคริสต์ ตามรากความเชื่อนิกายอังกฤษ.[14][15][16] อย่างไรก็ตาม ตูอิวาอูอาเวา ผู้อำนวยการสำนักพระราชวังตองงา ได้บรรยายว่า พิธีแบบ "คาวา" ถือเป็น "พิธีราชาภิเษกที่แท้จริง" (ต่อต้านพิธีกรรมแบบตะวันตก) ความเชื่อมั่นตามแนวคิดนี้ได้ถูกสะท้อนโดย มาอูคาคาลา โฆษกประจำราชวงศ์[17]

อ้างอิง

[แก้]
  1. David Stanley (1982). "Page 214". South Pacific Handbook. David Stanley. ISBN 0-9603322-3-5.
  2. Kuykendall 1967, pp. 259, 261–265
  3. Liliuokalani, Queen of Hawaii (1898). "Coronation Ceremonies, excerpt from Hawaii's Story by Hawaii's Queen".
  4. "ʻIolani Palace NRHP Asset Details". National Park Service. สืบค้นเมื่อ January 10, 2017.
  5. 5.0 5.1 S. Percy Smith, Niuē-fekai (or Savage) Island and its People, 1903, pp.38-42
  6. Great Britain. Parliament. House of Commons (1889). House of Commons Papers. Vol. 86. HMSO. p. Page 64.
  7. John Brooks Henderson (1901). American Diplomatic Questions. The Macmillan Company. p. Page 218.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-11-03. สืบค้นเมื่อ 2017-09-18.
  9. Kohn, George C (1986). Dictionary of wars, Third Edition. Facts on File Inc, factsonfile.com. pp. 479–480. ISBN 0-8160-6577-2.
  10. Ryden, George Herbert. The Foreign Policy of the United States in Relation to Samoa. New York: Octagon Books, 1975. (Reprint by special arrangement with Yale University Press. Originally published at New Haven: Yale University Press, 1928), p. 574; the Tripartite Convention (United States, Germany, Great Britain) was signed at Washington on 2 December 1899 with ratifications exchanged on 16 February 1900
  11. Possessing Tahiti. Taken from an article of this title in Dening, Greg: Performances. University of Chicago Press, 1996, pp. 129-35. Retrieved on 2009-06-29.
  12. Possessing Tahiti. Taken from an article of this title in Dening, Greg: Performances. University of Chicago Press, 1996, pp. 129-35. Retrieved on 2009-06-29. Retrieved on 2009-06-29.
  13. Richard John Seddon (1900). The Right Hon. R. J. Seddon's (the premier of New Zealand) visit to Tonga, Fiji, Savage Island and the Cook Islands. J. Murray. p. Page 196.
  14. Tedmanson, Sophie (2008-08-01). "Lavish Coronation Ceremony For New King of Tonga". London: Times Online. สืบค้นเมื่อ 2010-04-02.[ลิงก์เสีย]
  15. Alan Taylor (2008-08-13). "The New King of Tonga". Boston.com.
  16. "Photos of George Tupou IV's coronation in 1967". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2018-02-01.
  17. "Tonga's king given pigs, food in traditional coronation". Turkish Press. 2008-07-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-16. สืบค้นเมื่อ 2018-02-01.