ประวัติศาสตร์ชัมมูและกัศมีร์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
ประวัติศาสตร์รัฐชัมมูและกัศมีร์ มีความเป็นมายาวนาน รัฐชัมมูและกัศมีร์เคยเป็นดินแดนที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ต่อมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิดุรรานีในอัฟกานิสถาน จักรวรรดิโมกุล ในอินเดีย และเคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวซิกข์ ภายหลังขับไล่ชาวซิกข์ออกไปได้ ในยุคที่อังกฤษเข้ามา กษัตริย์ของชัมมูและกัศมีร์ช่วยอังกฤษรบกับชาวซิกข์และได้เป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ เมื่ออังกฤษให้เอกราชแก่อินเดียและมีการแบ่งเป็นอินเดียและปากีสถาน รัฐชัมมูและกัศมีร์กลายเป็นกรณีพิพาทของทั้งสองประเทศจวบจนปัจจุบัน
ตำนาน
[แก้]คำว่า "กัศมีร์" หมายถึงแผ่นดินแห้ง (มาจากภาษาสันสกฤต กะ หมายถึงน้ำ และ ศิมีระ แปลว่าแห้ง) ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู พระกัศยปะเป็นผู้ถ่ายน้ำออกจากทะเลสาบเพื่อสร้างแผ่นดินกัศมีร์ขึ้นมา
ในราชตรังคินี ประวัติศาสตร์กัศมีร์ที่เขียนโดยกัลหนะเมื่อพุทธศตวรรษที่ 17 กล่าวว่าหุบเขากัศมีร์สร้างมาจากทะเลสาบที่ถุกทำให้แห้งโดยพระกัศยปะผู้เป็นบุตรแห่งพระพรหม โดยการตัดช่องเขาที่วรหะ-มุลละ เมื่อแผ่นดินแห้งแล้ว พระกัศยปะได้ขอให้พระพรหมสร้างเมืองขึ้นในบริเวณนั้น ดินแดนนี้กลายเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางการค้า เมืองสำคัญในหุบเขามีชื่อว่า "กัศยปปุระ" ตามตำนาน เฮโรโดตัสเรียกดินแดนนี้ว่า Kaspatyros ส่วนปโตเลมีเรียกดินแดนนี้ว่า Kao-1r6. nupos
ประวัติศาสตร์ยุคต้น
[แก้]กัศมีร์เคยเป็นศูนย์กลางสำคัญของนักวิชาการภาษาสันสกฤต จากหลักฐานในมหาภารตะ กัมโพชัสเป็นผู้ปกครองกัศมีร์ในยุคมหากาพย์โดยเป็นการปกครองในระบบสาธารณรัฐในชื่อกัมโพช เมืองหลวงในยุคนั้นคือราชปุระ[1] [2]. นอกจากนั้นยังมีบางส่วนของรัฐปัญจาละรวมอยู่ในกัศมีร์ปัจจุบันด้วย[3]. จากชื่อ เปียร์ ปัญจาละ ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกัศมีร์ โดยชื่อปัญจาละมาจากชื่อเผ่าปัญจาละ ในภาษาสันสกฤต ส่วน เปียร์เป็นคำที่เพิ่มเข้ามาเมื่อมุสลิมเข้ามามีอิทธิพลในดินแดนนี้แล้ว[4]
พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะเป็นผู้สร้างเมืองศรีนครและกัศมีร์เป็นแคว้นที่นับถือพุทธศาสนาในยุคนั้นโดยนิกายสรวาสติวาทน่าจะเป็นนิกายสำคัญ พระภิกษุจากเอเชียตะวันออกและเอเชียกลางเข้ามาแวะพักที่นี่เสมอ ในพุทธศตวรรษที่ 9 พระกุมารชีพเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาในกัศมีร์และเป็นผู้ช่วยในการแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเป็นภาษาจีน
ยุคของมุสลิม
[แก้]ศาสนาอิสลามเข้ามามีบทบาทในกัศมีร์เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 ชาวมุสลิมและชาวฮินดูอาศัยอยู่ร่วมกันและมีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางศาสนาจนเกิดศาสนาอิศลามลัทธิซูฟีขึ้น ซึ่งทำให้ผู้นับถือศาสนาพุทธ อิสลามและฮินดูสามารถอยู่ร่วมกันได้อยางสงบสุข สุลต่านหลายองค์ของกัศมีร์ยอมรับศาสนาอื่น ยกเว้นบางองค์เช่น สิกันดาร์ บูกิสตานที่สั่งให้ทำลายรูปเคารพทั่งทั้งกัศมีร์
บันทึกทางประวัติศาสตร์
[แก้]พงศาวดารของกัศมีร์ ราชตรังคิณี เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ เขียนด้วยภาษาสันสกฤต มีการแปลเป็นภาษาเปอร์เซียเมื่อ พ.ศ. 2131 เอกสารนี้บันทึกเหตุการณ์รายปีของกัศมีร์จนถึงยุคของสังกรมะ เทวะ (ประมาณ พ.ศ. 1549) เอกสารที่บันทึกเหตุการณ์ต่อมาเป็นของโชนราชะที่เขียนต่อจากงานของกัลหนะจนกระทั่งการมาถึงของศาสนาอิสลามและถึงยุคของซาบินอุลอัดดีน (พ.ศ. 1955) จากนั้นจึงเป็นบันทึกของศรีวระ จนถึงยุคของฟะห์ ชาห์ในพ.ศ. 2029 เอกสารลำดับต่อมาคือ ราชวลี ปะกะตา เขียนโดยปรัชเนีย ภัตตะ ซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ของกัศมีร์ไว้จนถึงยุคของจักรวรรดิโมกุล ในสมัยของอัคบาร์
ราชรัฐแห่งกัศมีร์และชัมมู
[แก้]เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 หุบเขากัศมีร์อยู่ภายใต้การควบคุมของจักรวรรดิดุรรานีแห่งอัฟกานิสถาน จากนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของชาวมุสลิมมูคัลและอัฟกัน ตามมาด้วยความขัดแย้งกับชาวซิกข์เมื่อ พ.ศ. 2323 หลังจากการตายของรณชิต เคโอ ราชาแห่งชัมมู ราชอาณาจักรชัมมู (ทางใต้ของหุบเขากัศมีร์)ถูกปกครองโดยชาวซิกข์ รันชิต สิงห์แห่งลาฮอร์จนกระทั่ง พ.ศ. 2389 คุลาบ สิงห์ หลานชายของรณชิต เคโอได้แยกตัวออกมาจากการปกครองของกษัตริย์ชาวซิกข์ และตั้งตนเป็นราชาแห่งชัมมูตั้งแต่ พ.ศ. 2363 โดยความช่วยเหลือของโซราวัร สิงห์
คุลาบ สิงห์เข้าปกครองลาดักและบัลติสถานที่อยู่ทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของชัมมู เมื่อเกิดสงครามอังกฤษ-ซิกข์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2388 คุลาบ สิงห์เข้าข้างอังกฤษ เมื่อสงครามสิ้นสุด รัฐลาฮอร์(รวมทั้งปัญจาบตะวันตก)และดินแดนระหว่างเปียสและอินดุสเป็นของอังกฤษ ส่วนรัฐชัมมูของคุลาบ สิงห์เป็นรัฐในอารักขา เมื่อคุลาบ สิงห์เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2400 บุตรชายของเขาคือ รันบีร สิงห์ได้รวม อันซา คิลคิต และนาคัรเข้าในราชอาณาจักรด้วย
ราชรัฐแห่งกัศมีร์และชัมมูตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2363 - 2401 เป็นบริเวณที่มีความหลากหลายในตัวเองมาก แทบจะไม่มีเอกลักษณ์ร่วมกันเลย โดยเป็นทั้งความแตกต่างในด้านศาสนา เขตแดนและวัฒนธรรม."[5] ดินแดนลาดักทางตะวันออกมีวัฒนธรรมแบบทิเบตและนับถือศาสนาพุทธ ชัมมูทางใต้เป็นกลุ่มชนผสมระหว่างชาวฮินดู ชาวมุสลิม และชาวซิกข์ ในตอนกลางของหุบเขากัศมีร์ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสุหนี่ แต่ชนที่มีอิทธิพลเป็นชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ ซึ่งเป็นชนส่วนน้อยแต่มีอำนาจปกครอง บัลติสถานทางตะวันออกเฉียงเหนือมีวัฒนธรรมแบบเดียวกับลาดัก แต่นับถืออิสลามชีอะหฺ คิลคิตทางเหนือเป็นที่รวมของกลุ่มชนหลากส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะหฺ และปุนชิทางตะวันตกเป็นมุสลิมแต่มีเชื้อชาติต่างจากมุสลิมในหุบเขากัศมีร์ หลังการกบฏในอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2400 กัศมีร์เข้าข้างอังกฤษ ทำให้กลายเป็นรัฐที่อยู่ภายใต้การอารักขาของอังกฤษ
พ.ศ. 2490
[แก้]ฮารี สิงห์ หลานของรันบีร สิงห์เป็นกษัตริย์ของกัศมีร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 จนถึง พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นปีที่อังกฤษตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของอาณานิคมอินเดีย โดยแบ่งเป็นประเทศเอกราช 2 ประเทศคืออินเดียและปากีสถาน ทั้งสองประเทศตกลงกันว่าราชรัฐแห่งกัศมีร์และชัมมูต้องรวมเข้ากับประเทศใดประเทศหนึ่งหรือเป็นรัฐเอกราช ใน พ.ศ. 2490 นั้น ประชากรของกัศมีร์เป็นมุสลิม 77% และมีชายแดนติดกับปากีสถาน ในขณะที่สถานภาพการเป็นรัฐในอารักขาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 14 - 15 สิงหาคม มหาราชได้ลงนามในข้อตกลงกับปากีสถานเกี่ยวกับการติดต่อทางด้านการค้า การท่องเที่ยว และการติดต่อและการบริการที่คล้ายกันนี้ระหว่างทั้งสองดินแดน อินเดียไม่ยอมทำข้อตกลงแบบนี้กับกัศมีร์ ไปรษณีย์ของอินเดียกำหนดให้กัศมีร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย ซึ่งทำให้ปากีสถานไม่พอใจ
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2490 ชาวปาทานที่อยู่ในจังหวัดฟรอนเทียร์ตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานรุกรานกัศมีร์และก่อกบฏต่อต้านมหาราชแห่งกัศมีร์ มหาราชหันมาขอความช่วยเหลือจากอินเดีย เมื่อมหาราชลงนามในข้อตกลงกับอินเดียแล้ว ทางการอินเดียได้ส่งทหารเข้าสู่กัศมีร์และปราบปรามกองโจรก่อการร้ายที่ปากีสถานให้การสนับสนุน ทำให้สหประชาชาติต้องเข้ามาแทรกแซงในที่สุด
หลัง พ.ศ. 2490
[แก้]ใน พ.ศ. 2491 ได้มีการทำสัญญาสงบศึกระหว่างอินเดียกับปากีสถานภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ อินเดียได้ครอบครองบริเวณที่เคยเป็นราชรัฐแห่งกัศมีร์และชัมมูครึ่งหนึ่ง ส่วนปากีสถานได้ครอบครองส่วนภาคเหนือและอาซัด กัศมีร์
บริเวณภาคตะวันออกของบริเวณที่เคยเป็นราชรัฐแห่งกัศมีร์และชัมมูได้มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนขึ้นมาอีกบริเวณหนึ่ง ข้อตกลงเกี่ยวกับเขตแดนในบริเวณดังกล่าวรวมถึงตอนเหนือของกัศมีร์ได้มีการลงนามระหว่างรัสเซีย อังกฤษและอัฟกานิสถานแต่จีนไม่ยอมรับ หลังจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้นมามีอำนาจได้ส่งกองทหารเข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาดัก และเข้ายึดครองบริเวณที่เรียกว่า อักไซ จีน จนถึง พ.ศ. 2505 และมีการทำข้อตกลงทรานส์-การาโกรัมกับปากีสถานเมื่อ พ.ศ. 2508
ใน พ.ศ. 2492 รัฐบาลอินเดียให้หริสิงห์ออกจากกัศมีร์ทำให้อำนาจการปกครองเป็นของ เชค มุฮัมหมัด อับดุลเลาะห์ ผู้นำพรรคสภาแห่งชาติ หลังจากนั้น ความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถานยังไม่หยุด และมีสงครามติดต่อกันอีก 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2532 เริ่มมีกลุ่มมุญาฮิดีนจากอัฟกานิสถานเข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งในกัศมีร์ด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Mahabharata 7.4.5
- ↑ Political History of Ancient India, from the Accession of Parikshit to the ..., 1953, p 150, Dr H. C Raychaudhuri - India; Ethnic Settlements in Ancient India: (a Study on the Puranic Lists of the ..., 1955, p 78, Dr S. B. Chaudhuri; An Analytical Study of Four Nikāyas, 1971, p 311, D. K.Barua - Tipiṭaka.
- ↑ Watters, Yuan Chawang, Vol I, p 284.
- ↑ [1]
- ↑ Bowers, Paul. 2004. "Kashmir." Research Paper 4/28 เก็บถาวร 2009-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, International Affairs and Defence, House of Commons Library, United Kingdom.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- [https://web.archive.org/web/20100612114256/http://jammukashmir.nic.in/govt/cntit1.htm#1 เก็บถาวร 2010-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Proclamation of May 1, 1951 on Jammu & Kashmir Constituent Assembly
- Conflict in Kashmir: Selected Internet Resources by the Library, University of California, Berkeley, USA; Bibliographies and Web-Bibliographies list