ประวัติวิชากายวิภาคศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพวาดทางกายวิภาคแสดงหลอดเลือดดำในร่างกาย ในสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13

ประวัติการศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาตั้งแต่การผ่าร่างกายของเหยื่อจากการสังเวยในสมัยโบราณ ไปจนถึงการวิเคราะห์อย่างละเอียดซับซ้อนถึงการทำงานของร่างกายโดยนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ การศึกษาวิชานี้มีลักษณะเฉพาะมาเป็นเวลานาน และมีการพัฒนาถึงการทำความเข้าใจในหน้าที่และโครงสร้างของอวัยวะในร่างกายอย่างต่อเนื่อง การศึกษากายวิภาคศาสตร์มนุษย์มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่มีเกียรติและนับว่าเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มีความโดดเด่นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 วิธีการศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ก็มีการพัฒนาอย่างมากมายตั้งแต่การศึกษาในสัตว์ไปจนถึงการศึกษาในศพของมนุษย์ และการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในคริสต์ศตวรรษที่ 20

การศึกษาในยุคโบราณ[แก้]

อียิปต์โบราณ[แก้]

การศึกษากายวิภาคศาสตร์เริ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุดเมื่อราว 1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในยุคอียิปต์โบราณบน กระดาษปาปิรุส เอ็ดวิน สมิธ (Edwin Smith papyrus) บทความในกระดาษนั้นกล่าวถึงหัวใจ, หลอดเลือดของหัวใจ, ตับ, ม้าม, ไต, มดลูก, และกระเพาะปัสสาวะ และทราบว่าหลอดเลือดออกมาจากหัวใจ มีการกล่าวถึงหลอดเลือดหลอดอื่นๆ ว่าบางเส้นขนส่งอากาศ เมือก และหลอดเลือด 2 เส้นที่ไปทางหูข้างขวาเชื่อกันว่าขนส่ง ลมหายใจแห่งชีวิต (breath of life) ในขณะที่หลอดเลือด 2 เส้นที่ไปทางหูซ้ายขนส่ง ลมหายใจแห่งความตาย (breath of death) ในกระดาษปาปิรุสเอแบส (Ebers papyrus, ประมาณ 1550 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กล่าวถึง บทความเกี่ยวกับหัวใจ โดยกล่าวว่าหัวใจเป็นศูนย์กลางในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงตามหลอดเลือดที่เลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย ชาวอียิปต์โบราณไม่ค่อยมีความเข้าใจเกี่ยวกับหน้าที่ของไต และเชื่อว่าหัวใจเป็นจุดรวมของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ขนส่งของเหลวทุกชนิดในร่างกายไม่ว่าจะเป็นเลือด, น้ำตา, ปัสสาวะ, และน้ำอสุจิ[1]

กรีกโบราณ[แก้]

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยก่อนซึ่งงานของท่านยังคงมีประโยชน์อย่างมากในปัจจุบันคือ ฮิปโปกราเตส (Hippocrates) แพทย์ชาวกรีกที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาลถึงต้นศตวรรษที่ 4 ก่อรคริสตกาล (460 - 377 ปีก่อนคริสต์ศักราช) งานของเขาแสดงถึงความเข้าใจพื้นฐานของโครงสร้างของกล้ามเนื้อและกระดูก และการเริ่มต้นความเข้าใจของการทำงานของอวัยวะบางชนิด เช่น ไต แม้ว่างานของเขาส่วนใหญ่ รวมทั้งงานของลูกศิษย์และผู้ศึกษาในเวลาต่อมาจะเน้นการสังเกตใคร่ครวญทางทฤษฎีมากกว่าการทดลองปฏิบัติ

ในช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล อริสโตเติลและนักปราชญ์ร่วมสมัยได้สร้างระบบที่ศึกษาจากการปฏิบัติมากขึ้น โดยใช้พื้นฐานการเรียกรู้จากการชำแหละสัตว์ งานที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ทำให้สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ และอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะได้ถูกต้องแม่นยำมากกว่าในอดีต

การศึกษาเพื่อวิจัยทางกายวิภาคจากศพมนุษย์ครั้งแรกเกิดขึ้นภายหลังในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล เมื่อฮีโรฟิโลส (Herophilos) และอีราซิสทราทุส (Erasistratus) ได้ทำการชำแหละศพที่เมืองอเล็กซานเดรียภายใต้ความอุปถัมภ์ของราชวงศ์ปโตเลมี ฮีโรฟิโลสถือได้ว่าเป็นผู้พัฒนาความรู้ทางกายวิภาคจากการศึกษาจากโครงสร้างจริงของร่างกายมนุษย์มากขึ้นจากอดีต

กาเลน[แก้]

นักกายวิภาคคนสำคัญคนสุดท้ายของยุคโบราณคือ กาเลน (Galen) มีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 เขารวบรวมความรู้จากงานเขียนในสมัยก่อน และศึกษาหน้าที่ของอวัยวะโดยการชำแหละสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ งานภาพวาดของเขาซึ่งมักจะเป็นกายวิภาคศาสตร์ของสุนัข กลายมาเป็นตำรากายวิภาคศาสตร์มาเป็นเวลากว่า 1500 ปี แม้ตัวตำราเดิมนั้นได้สูญหายไปแล้ว และงานของเขาเป็นที่รู้จักกันเฉพาะในหมู่แพทย์ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) โดยผ่านทางการเก็บรักษาอย่างดีและถ่ายทอดโดยแพทย์ชาวอาหรับ เนื่องจากมีข้อห้ามทางศาสนาในการเป็นนักกายวิภาคซึ่งกินเวลานานหลายศตวรรษนับตั้งแต่ยุคกาเลนเป็นต้นไป กาเลนจึงคาดเดาเอาว่าโครงสร้างทางกายวิภาคในสุนัขคล้ายคลึงกับในมนุษย์ และทำการศึกษากายวิภาคศาสตร์ในสุนัขแทน และทำให้การศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ต้องหยุดลงในยุโรป

การศึกษาในยุคกลาง[แก้]

หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน การศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ได้หยุดชะงักลงในทวีปยุโรปซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ซึ่งมีข้อกำหนดทางศาสนาที่เคร่งครัด แต่กลับรุ่งเรืองขึ้นในยุคกลางของโลกอิสลาม ที่ซึ่งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวมุสลิมได้อุทิศตัวอย่างหนักในการศึกษาความรู้และวัฒนธรรมในยุคกลาง แพทย์ชาวเปอร์เซียชื่อว่า อวิเซนนา หรืออาบู อาลี อัล-ฮุเซน อิบน์ อับด์ อัลลอฮ์ อิบน์ ซีนา (Avicenna, Abū ʿAlī al-Ḥusayn ibn ʿAbd Allāh ibn Sīnā; ภาษาเปอร์เซีย: ابو علی الحسین ابن عبدالله ابن سینا) (ค.ศ. 980 - ค.ศ. 1037) ได้ซึมซับการสอนวิชากายวิภาคศาสตร์ของกาเลนและได้เพิ่มเติมลงใน The Canon of Medicine (ทศวรรษที่ 1020) ซึ่งนับว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่อทั้งโลกอิสลามและโลกคริสเตียนของยุโรป The Canon เป็นตำราทางกายวิภาคที่เชื่อถือได้มากที่สุดในโลกอิสลามจนกระทั่ง อิบน์ อัล-นาฟิส (Ibn al-Nafis) ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เมื่อตำรานี้ได้เผยแพร่มาในยุโรปจนกระทั่งมีบทบาทโดดเด่นถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16

อิบน์ ซุห์ร (Ibn Zuhr หรือ Avenzoar, ค.ศ. 1091 - ค.ศ. 1161) เป็นแพทย์ชาวอาหรับคนแรกที่ทำการชำแหละร่างกายมนุษย์และการชันสูตรศพ และพิสูจน์ว่าโรคหิดเกิดจากเชื้อปรสิต ซึ่งเป็นการค้นพบที่ค้านกับทฤษฎี humorism ของฮิปโปกราเตสและกาเลนที่เชื่อว่าโรคเกิดมาจากความไม่สมดุลขององค์ประกอบสี่อย่างของมนุษย์ได้แก่ น้ำดีสีดำ, น้ำดีสีเหลือง, เลือด, และเสมหะ การนำปรสิตออกจากร่างกายของคนไข้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการอาเจียน การเอาเลือดออก หรือการรักษาแบบดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบสี่อย่างของมนุษย์[2] ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 แพทย์ประจำพระองค์ของสุลต่านศอลาฮุดดีน (Saladin) ชื่อ อิบน์ จุไม (Ibn Jumay) เป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่ทำการชำแหละร่างกายมนุษย์ และได้ทำให้แพทย์คนอื่นๆ สนใจและศึกษาตาม ในช่วง ค.ศ. 1200 เกิดความแห้งแล้งในอียิปต์ อับด์-เอล-ละติฟ (Abd-el-latif) ได้สังเกตและศึกษาโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมาก และค้นพบว่ากาเลนกล่าวผิดเกี่ยวกับรูปร่างของกระดูกกรามล่างและกระเบนเหน็บ (sacrum) [3]

อิบน์ อัล-นาฟิส[แก้]

แพทย์ชาวอาหรับนามว่า อิบน์ อัล-นาฟิส (Ibn al-Nafis, ค.ศ. 1213 - ค.ศ. 1288) เป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่เสนอการชำแหละร่างกายมนุษย์และการชันสูตรศพ และในปี ค.ศ. 1242 เขาเป็นคนแรกที่อธิบายระบบการไหลเวียนปอด (pulmonary circulation) [4] และระบบไหลเวียนโคโรนารี (coronary circulation) [5] ซึ่งเป็นพื้นฐานของรวามรู้เรื่องระบบไหลเวียนโลหิต เขาจึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งทฤษฎีการไหลเวียน[6] อิบน์ อัล-นาฟิสยังเป็นผู้ที่อธิบายความคิดแรกเริ่มของเมแทบอลิซึม[7] และได้พัฒนาระบบการศึกษากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาขึ้นมาแทนที่ลัทธิของอวิเซนนาและกาเลน ด้วยการล้มล้างความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับทฤษฎี humorism, การคลำชีพจร,[8] กระดูก, กล้ามเนื้อ, ลำไส้, อวัยวะรับความรู้สึก, ท่อน้ำดี, หลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร, และกายวิภาคของร่างกายมนุษย์แทบทุกส่วน[9]

การศึกษาในยุคใหม่ช่วงแรก[แก้]

ภาพวาดทางกายวิภาคในปี ค.ศ. 1559 โดย Juan Valverde de Amusco ในรูปเป็นคนที่มือหนึ่งถือมีดและอีกมือหนึ่งถือผิวหนังของตัวเอง

ผลงานของกาเลนและอวิเซนนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Canon of Medicine ซึ่งได้รับการสอนควบคู่กันไป ได้ถูกแปลเป็นภาษาละติน และ Canon เป็นตำราทางกายวิภาคที่เชื่อถือได้มากที่สุดในการเรียนแพทยศาสตร์ในยุโรปจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 16 พัฒนาการของกายวิภาคศาสตร์ครั้งใหญ่ครั้งแรกในยุโรปนักตั้งแต่การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันเกิดขึ้นที่โบโลญญา (Bologna) ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึง 16 ซึ่งมีผู้ชำแหละศพมนุษย์จำนวนมากซึ่งอุทิศตนในการพยายามอธิบายอวัยวะต่างๆ ให้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นและอธิบายหน้าที่ของมันอย่างชัดเจน นักกายวิภาคศาสตร์คนสำคัญเหล่านี้ เช่น มอนดีโน เด ลีอุซซี (Mondino de Liuzzi) และ อาเลซซานโดร อากิลลีนี (Alessandro Achillini)

การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อลัทธิของกาเลนในยุโรปครั้งแรกเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จากอิทธิพลของการพิมพ์ที่ทำให้ผลงานของกาเลนและอวิเซนนาถูกเผยแพร่ไปทั่วยุโรป และต่อมามีการพิมพ์บทวิจารณ์ต่อผลงานดังกล่าว แอนเดรียส เวซาเลียส (Andreas Vesalius) เป็นบุคคลแรกที่พิมพ์บทความ De humani corporis fabrica ที่ท้าทายความเชื่อของกาเลนโดยการเดินทางจากลิวเวน (Leuven) โดยหาเลี้ยงชีพด้วยการวาดภาพตลอดการเดินทาง เพื่อไปยังปาดัว (Padua) [10] เพื่อขออนุญาตชำแหละศพนักโทษประหารโดยไม่เกรงกลัวต่อการถูกประหัตประหาร ภาพวาดของเขานับเป็นคำอธิบายมี่สำคัญที่อธิบายความแตกต่างระหว่างสุนัขและมนุษย์ และแสดงถึงความสามารถในการวาดภาพที่ดีเลิศ นักกายวิภาคในเวลาต่อมาหลายคนได้ท้าทายความเชื่อของกาเลนในตำราของพวกเขาทั้งๆ ที่ความเชื่อของกาเลนเคยมีอิทธิพลอย่างสูงสุดต่อความรู้ด้านกายวิภาคในศตวรรษที่ผ่านมา

นักวิจัยในช่วงเวลาต่อมาได้ดำเนินการปรับปรุงการศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีการตั้งชื่อโครงสร้างในร่างกายอีกเป็นจำนวนมาก ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 มีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดในการทำความเข้าใจระบบไหลเวียนโลหิต ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจหน้าที่ของลิ้นในหลอดเลือดดำ การอธิบายการไหลของเลือดจากหัวใจห้องล่างซ้ายไปห้องล่างขวาผ่านทางระบบไหลเวียนโลหิต และสามารถระบุว่าหลอดเลือดดำตับ (hepatic vein) เป็นโครงสร้างหนึ่งที่แยกออกมาในระบบไหลเวียนโลหิต นอกจากนี้ยังสามารถแยกระบบน้ำเหลืองออกเป็นอีกหนึ่งระบบอวัยวะได้ในช่วงระยะเวลานี้

คริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18[แก้]

ภาพ Anatomy Lesson of Dr. Nicolaes Tulp โดย แรมบรังด์ แสดงภาพของการสาธิตการชำแหละศพในสมัยศตวรรษที่ 17

การศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์มีความเฟื่องฟูในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 โดยมีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ช่วยในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เนื่องจากการศึกษากายวิภาคศาสตร์จะเกี่ยวกับการสังเกตและภาพวาด นักกายวิภาคศาสตร์จะมีชื่อเสียงหรือไม่จึงขึ้นกับฝีมือการวาดภาพของเขาโดยไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญภาษาละติน[11] ศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคนก็ศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์ เข้าเรียนการชำแหละร่างกาย และวาดภาพเพื่อหารายได้ เช่น มีเกลันเจโล (Michelangelo) หรือ แรมบรังด์ (Rembrandt) ในช่วงแรกๆ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงสอนเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์โดยผ่านทางภาพวาดแทนที่จะสอนตามเนื้อหาภาษาละติน สิ่งที่ขัดขวางการศึกษากายวิภาคศาสตร์เพียงอย่างเดียวในช่วงเวลานี้คือคำตำหนิของฝ่ายศาสนา ซึ่งทำให้นักกายวิภาคศาสตร์หลายคนเกิดความหวาดกลัวเมื่อต้องชำแหละร่างกายมนุษย์ เพราะว่าในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา แม้ว่าจะเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์มีความเฟื่องฟูและการค้นพบต่างๆ มากมาย แต่ศาสนาก็มีอิทธิพลอย่างมากดังเช่นกรณีของกาลิเลโอซึ่งถูกศาลศาสนาลงโทษเพราะตีพิมพ์ผลงานขัดแย้งกับฝ่ายศาสนา นักวิทยาศาสตร์บางคนในยุคนี้กลัวเกินกว่าจะเดินทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง เช่น เรอเน เดส์การตส์ (Descartes) นักกายวิภาคศาสตร์เพียงบางคนเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ชำแหละร่างกายมนุษย์เพื่อศึกษา บางครั้งได้รับอนุญาตเพียงปีเดียว การแสดงการชำแหละร่างกายมนุษย์นี้มักได้รับการสนับสนุนจากสภาของเมือง และบางครั้งอาจต้องเก็บค่าธรรมเนียมราวกับเป็นการแสดงของนักวิชาการ เมืองในยุโรปหลายเมืองเช่น อัมสเตอร์ดัม, ลอนดอน, โคเปนเฮเกน, ปาดัว, และปารีส มีนักกายวิภาคหลวง (Royal anatomists) ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลท้องถิ่น เช่น นีโคลัส ทุลพ์ (Nicolaes Tulp) นักกายวิภาคศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองอัมสเตอร์ดัม 3 สมัย แม้ว่าการแสดงการชำแหละร่างกายมนุษย์ค่อนข้างเป็นธุรกิจที่เสี่ยง และไม่แน่นอนว่าจะหาร่างกายมนุษย์มาจากที่ใด แต่การเข้าชมการชำแหละร่างกายมนุษย์นั้นถูกกฎหมาย นักเรียนกายวิภาคศาสตร์หลายคนเดินทางรอบทวีปยุโรปเพื่อเข้าชมการศึกษาร่างกายมนุษย์ที่แล้วที่เล่าตลอดหลักสูตรการเรียน พวกเขาต้องเดินทางไปตามที่ต่างๆ ซึ่งมีศพมนุษย์ที่เพิ่งเสียชีวิตให้ศึกษา (เช่น หลังจากการแขวนคอ) เพราะว่าหากปล่อยทิ้งไว้ร่างกายอาจเน่าสลายไปจนไม่เหมาะที่จะนำมาศึกษา เนื่องจากยังไม่มีการคิดค้นระบบแช่เย็นในสมัยนั้น

ชาวยุโรปหลายคนที่สนใจการศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์เดินทางไปยังอิตาลี ซึ่งต่อมากลายเป็นศูนย์กลางของวิชากายวิภาคศาสตร์ เฉพาะในอิตาลีเท่านั้นที่มีการศึกษาวิจัยที่เฉพาะบางอย่าง เช่น การศึกษาร่างกายผู้หญิง รีอัลโด โคลอมโบ (Realdo Colombo) และกาเบรียล ฟัลลอพพีโอ (Gabriele Falloppio) เป็นนักเรียนของแอนเดรียส เวซาเลียส นักกายวิภาคในศตวรรษที่ 16 โคลอมโบซึ่งในเวลาต่อมาเป็นผู้สืบทอดวิชานี้จากเวซาเลียสในเมืองปาดัว ซึ่งต่อมาได้เขาเป็นศาสตราจารย์ที่โรม ได้ปรับปรุงและแก้ไขกายวิภาคศาสตร์ของกระดูก อธิบายรูปร่างและช่องต่างๆ ในหัวใจ หลอดเลือดแดงพัลโมนารี และหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาและลิ้นหัวใจ และติดตามทางเดินของเลือดจากหัวใจจากห้องขวาไปห้องซ้าย อธิบายสมองและหลอดเลือดสมอง และทำความเข้าใจหูชั้นในให้ถูกต้อง และเป็นคนแรกที่อธิบายเวนทริเคิลของกล่องเสียง ในเวลาเดียวกันนั้นเองก็มีการพัฒนาวิชาวิทยากระดูก (Osteology) เกิดขึ้นโดยความพยายามของจีโอวานนี ฟิลิพโพ อินกรัสซียัส (Giovanni Filippo Ingrassias)

การศึกษาในคริสต์ศตวรรษที่ 19[แก้]

ภาพวาดกะโหลกศีรษะจากหนังสือ Gray's Anatomy ฉบับตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1918

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักกายวิภาคศาสตร์ได้รวบรวมคำอธิบายกายวิภาคศาสตร์มนุษย์จากในศตวรรษที่ผ่านมาให้สมบูรณ์ มีการพัฒนาและกำเนิดขึ้นของแหล่งความรู้ของวิชามิญชวิทยา (histology) และชีววิทยาของการเจริญ (developmental biology) ไม่เฉพาะการศึกษาในมนุษย์เท่านั้นก็ยังเจริญขึ้นในสัตว์ด้วย งานวิจัยจำนวนมากเกิดขึ้นในหลายสาขาของกายวิภาคศาสตร์ อังกฤษถือได้ว่าเป็นแหล่งวิจัยทางกายวิภาคศาสตร์ที่สำคัญ มีความต้องการร่างกายมนุษย์ในการศึกษาอย่างมากจนบางครั้งมีการขโมยศพหรือแม้กระทั่งการฆาตกรรมเพื่อให้ได้ศพมาศึกษา ทำให้รัฐสภาอังกฤษต้องผ่านกฎหมาย Anatomy Act 1832 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดหาร่างมนุษย์เพื่อการศึกษาให้เหมาะสม เพียงพอ และถูกกฎหมาย ข้อห้ามในการชำแหละร่างกายมนุษย์นั้นผ่อนคลายลงทำให้ตำรากายวิภาคศาสตร์ Gray's Anatomy ซึ่งมีการรวบรวมเนื้อหากายวิภาคอย่างละเอียดเป็นตำรายอดนิยมขึ้นมา แม้ว่าฉบับในปัจจุบันจะมีขนาดใหญ่ไม่เหมาะมือก็ตาม แต่ตำรา Gray's Anatomy ก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากความต้องการรวบรวมความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ให้อยู่ในเล่มเดียวให้เหมาะกับแพทย์ที่ต้องเดินทาง

การศึกษาในสมัยใหม่[แก้]

การวิจัยทางกายวิภาคในช่วงร้อยปีที่ผ่านมามีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเพราะการเจริญของเทคโนโลยี และความเข้าใจในวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ เช่น ชีววิวัฒนาการ (evolutionary biology) และอณูชีววิทยา (molecular biology) ซึ่งช่วยให้เกิดความเข้าใจอวัยวะและโครงสร้างของมนุษย์มากขึ้น ความเข้าใจในวิชาวิทยาต่อมไร้ท่อ (endocrinology) ทำให้สามารถอธิบายหน้าที่ของต่อมต่างๆ ที่ในอดีตไม่เคยได้รับการอธิบาย อุปกรณ์ทางการแพทย์เช่น การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก (MRI) หรือการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอวัยวะของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือเสียชีวิตไปแล้ว ความก้าวหน้าทางกายวิภาคศาสตร์ในปัจจุบันมุ่งไปที่การเจริญเติบโต วิวัฒนาการ และหน้าที่ของโครงสร้างทางกายวิภาค เนื่องจากความรู้ด้านมหกายวิภาคศาสตร์ (macroscopic anatomy) ได้ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบแล้ว สาขาย่อยของกายวิภาคศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human anatomy) ก็มีความสำคัญในปัจจุบัน เพราะนักกายวิภาคสมัยใหม่กำลังพยายามทำความเข้าใจหลักการพื้นฐานของการจัดระบบของกายวิภาคศาสตร์โดยผ่านเทคนิคสมัยใหม่ตั้งแต่การใช้ finite element analysis ไปจนถึงอณูชีววิทยา

อ้างอิง และเชิงอรรถ[แก้]

  1. Porter (1997) , pp49-50
  2. Islamic medicine เก็บถาวร 2012-02-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Hutchinson Encyclopedia.
  3. Emilie Savage-Smith (1996) , "Medicine", in Roshdi Rashed, ed., Encyclopedia of the History of Arabic Science, Vol. 3, p. 903-962 [951-952]. Routledge, London and New York.
  4. S. A. Al-Dabbagh (1978). "Ibn Al-Nafis and the pulmonary circulation", The Lancet 1, p. 1148.
  5. Husain F. Nagamia (2003) , "Ibn al-Nafīs: A Biographical Sketch of the Discoverer of Pulmonary and Coronary Circulation", Journal of the International Society for the History of Islamic Medicine 1, p. 22–28.
  6. Chairman's Reflections (2004) , "Traditional Medicine Among Gulf Arabs, Part II: Blood-letting", Heart Views 5 (2) , p. 74-85 [80].
  7. Dr. Abu Shadi Al-Roubi (1982) , "Ibn Al-Nafis as a philosopher", Symposium on Ibn al-Nafis, Second International Conference on Islamic Medicine: Islamic Medical Organization, Kuwait (cf. Ibn al-Nafis As a Philosopher เก็บถาวร 2008-02-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Encyclopedia of Islamic World).
  8. Nahyan A. G. Fancy (2006) , "Pulmonary Transit and Bodily Resurrection: The Interaction of Medicine, Philosophy and Religion in the Works of Ibn al-Nafīs (d. 1288) ", p. 3 & 6, Electronic Theses and Dissertations, University of Notre Dame.[1] เก็บถาวร 2015-04-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. Dr. Sulaiman Oataya (1982) , "Ibn ul Nafis has dissected the human body", Symposium on Ibn al-Nafis, Second International Conference on Islamic Medicine: Islamic Medical Organization, Kuwait (cf. Ibn ul-Nafis has Dissected the Human Body เก็บถาวร 2009-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Encyclopedia of Islamic World).
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-12. สืบค้นเมื่อ 2008-03-12.
  11. http://www.nlm.nih.gov/dreamanatomy/da_info.html

บรรณานุกรม[แก้]

  • Mazzio, C. (1997). The Body in Parts: Discourses and Anatomies in Early Modern Europe. Routledge. ISBN 0-415-91694-1.
  • Porter, R. (1997). The Greatest Benefit to Mankind: A Medical History of Humanity from Antiquity to the Present. Harper Collins. ISBN 0-00-215173-1.
  • Sawday, J. (1996). The Body Emblazoned: Dissection and the Human Body in Renaissance Culture. Routledge. ISBN 0-415-15719-6.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]