นันทนา สงฆ์ประชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นันทนา สงฆ์ประชา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 (65 ปี)
อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท
พรรคการเมืองชาติไทย (2550—2551)
ภูมิใจไทย (2552—2556,2565—ปัจจุบัน)
เพื่อไทย (2556—2561)
ประชาภิวัฒน์ (2561—2565)

นันทนา สงฆ์ประชา (เกิด 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท เขต 2 ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคภูมิใจไทย เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความศรัทธาในวัดพระธรรมกาย[1]

ประวัติ[แก้]

นันทนา สงฆ์ประชา (ชื่อเล่น : มันแกว) เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 เป็นบุตรของนายบุญธง สงฆ์ประชา อดีต ส.ส. ชัยนาท และนางจันทร์เพ็ญ สงฆ์ประชา มีพี่น้อง 5 คน อาทิ นายมนตรี สงฆ์ประชา อดีตกำนันตำบลไพรนกยูง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท นางจิรดา สงฆ์ประชา อดีตนายก อบจ.ชัยนาท นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส. ชัยนาท และ นายศักดิ์สิทธิ์ สงฆ์ประชา อดีตสมาชิกสภาจังหวัดชัยนาท

นันทนา สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาการเงินการธนาคาร UNIVERSITY OF THE EAST ประเทศฟิลิปปินส์ เธอเคยสมรส ปัจจุบันสถานภาพหย่าจากคู่สมรสแล้ว มีบุตร 2 คน

งานการเมือง[แก้]

นันทนา เป็นอดีตสมาชิกสภาจังหวัด (พ.ศ. 2538) ประธานสภาจังหวัดชัยนาท (พ.ศ. 2539-2547) และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท (พ.ศ. 2541-2542) จากนั้นได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ชุดปี พ.ศ. 2543[2] ปี พ.ศ. 2549 ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชัยนาทอีกครั้ง และได้รับการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพราะเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เสียก่อน หลังจากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 นางนันทนา และนายมณเฑียร (พี่ชาย) จึงลงสมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคชาติไทย และได้รับการเลือกตั้งทั้งสองคน แต่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินให้ใบแดงในเวลาต่อมา

กลางปี พ.ศ. 2552 นางนันทนาย้ายมาสังกัดพรรคภูมิใจไทย[3] ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปปี พ.ศ. 2554 นางนันทนาได้รับการเลือกตั้ง โดยเอาชนะนายชัยวัฒน์ ทรัพย์รวงทอง อดีต ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย

ในปี พ.ศ. 2556 นางนันทนา ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองว่าให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย แม้ว่าตนจะสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ตาม โดยเฉพาะในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2557 ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 เธอได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย แม้ว่าจะถูกคัดค้านจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และขัดต่อเจตนารมของรัฐธรรมนูญในมาตรา 135[4] ต่อมาหลังการยุบสภาในเดือนพฤศจิกายน นางนันทนาได้ย้ายเข้าพรรคเพื่อไทยในที่สุด และลงสมัครรับเลือกตั้งในปีถัดมา แต่กกต.ประกาศการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ใน พ.ศ. 2561 นางนันทนาได้ย้ายจากพรรคเพื่อไทยมาสังกัด พรรคประชาภิวัฒน์ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (เลื่อนแทน) ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562[5] ต่อมาจึงย้ายกลับไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย และได้เลื่อนขึ้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ แทนศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567[6]

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[แก้]

นันทนา สงฆ์ประชา ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว 3 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 จังหวัดชัยนาท สังกัดพรรคภูมิใจไทย
  2. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาภิวัฒน์ (เลื่อนแทน)
  3. การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย (เลื่อนแทน)

สมาชิกวุฒิสภา[แก้]

นันทนา สงฆ์ประชา ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภามาแล้ว 1 สมัย คือ

  1. การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2543 จังหวัดชัยนาท

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. เอาแล้วไง? พรรคประชาภิวัฒน์ สิบล้อพ่วง "ธรรมกาย"!
  2. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เขตเลือกตั้งจังหวัดชัยนาท (นางนันทนา สงฆ์ประชา)[ลิงก์เสีย]
  3. 'นันทนา สงฆ์ประชา' อดีตส.ส.ชาติไทย เปิดตัว ภท.
  4. ปชป.ไม่เห็นด้วยตั้ง "นันทนา" เป็นกมธ.ในสัดส่วนเพื่อไทย
  5. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเลื่อนขึ้นมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง (นางนันทนา สงฆ์ประชา พรรคประชาภิวัฒน์)
  6. “เจ๊มันแกว” นั่ง สส. แทน “น้องเพลง” หลังเปิดทางลาออกสมาชิกพรรคภูมิใจไทย
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๓ เก็บถาวร 2022-10-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๑ ข หน้า ๖, ๒๒ มกราคม ๒๕๖๔
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๓๐, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]