ข้ามไปเนื้อหา

ธุลีปริศนา

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธุลีปริศนา
ภาพปกธุลีปริศนาฉบับภาษาไทย
ผู้ประพันธ์ฟิลิป พูลแมน
ชื่อเรื่องต้นฉบับHis Dark Materials
ผู้แปลวันเพ็ญ บงกชสถิตย์
เอื้อนทิพย์ พีระเสถียร
ศิลปินปกฟิลิป พูลแมน
เดวิด สกัตต์
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาษาอังกฤษ
ประเภทนวนิยายแฟนตาซี
สำนักพิมพ์สหราชอาณาจักร สกอลาสติก พอยนท์
ไทย นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่น จำกัด
วันที่พิมพ์สหราชอาณาจักร ค.ศ. 1995-2000
ไทย ค.ศ. 2005-2006
ชนิดสื่อสิ่งตีพิมพ์

ธุลีปริศนา เป็นนิยายแฟนตาซีไตรภาค ประพันธ์โดย ฟิลิป พูลแมน ประกอบด้วยมหันตภัยขั้วโลกเหนือ (ค.ศ. 1995) มีดนิรมิต (ค.ศ. 1997) และสู่เส้นทางมรณะ (ค.ศ. 2000) โดยได้รับการแปลกว่า 40 ภาษา และจัดจำหน่ายหนังสือได้กว่า 15 ล้านเล่ม[1] ผลงานทั้งสามได้รับรางวัลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สู่เส้นทางมรณะ ซึ่งได้รับรางวัลหนังสือวิทเบรดประจำปี ค.ศ. 2001 ในขณะที่วรรณกรรมไตรภาคอยู่ที่ลำดับที่สามการสำรวจความคิดเห็นบิ๊กรีดของบีบีซีใน ค.ศ. 2009

เนื้อเรื่องดำเนินไปเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ของตัวเอกสองคนคือ ไลรา เบลัควา และวิล แพร์รี่ ซึ่งได้ผจญภัยร่วมกันไปในดินแดนของโลกคู่ขนาน อันเป็นโครงเรื่องหลักของนิยายเรื่องนี้ ในนิยายมีองค์ประกอบทางด้านแฟนตาซี เช่น แม่มด หรือหมีขั้วโลกสวมเกราะ ขณะเดียวกันก็มีแนวความคิดด้านศาสตร์ต่าง ๆ เช่น ฟิสิกส์ ปรัชญา เทววิทยา และความเข้าใจเกี่ยวกับวิญญาณ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่นั้นเป็นการกล่าวย้ำถึงบทกลอนพาราไดซ์ ลอสท์ ของจอห์น มิลตัน พูลแมนได้กล่าวแนะนำมนุษยชาติสำหรับสิ่งที่มิลตันเห็นว่าเป็นความล้มเหลวอันน่าสลดใจ[1] เนื่องจากเหตุผลดังกล่าวและเหตุผลอื่น ๆ เช่น การแสดงภาพลบที่มีต่อศาสนาคริสต์และศาสนาโดยรวม จึงทำให้วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรศาสนาบางแห่ง

สำนักพิมพ์ผู้จัดจำหน่ายวางตัวหนังสือไว้ให้เป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่ตัวพูลแมนเองต้องการจะสื่อความถึงบรรดาผู้ใหญ่มากกว่า[2] ในทวีปอเมริกาเหนือ ได้มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่กล่าวถึงความรู้สึกทางเพศของไลราในสู่เส้นทางมรณะ[3][4]

นอกจากนี้ พูลแมนยังได้เขียนหนังสือเพิ่มอีกสองเล่ม ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับไตรภาคธุลีปริศนา ไลราแอนด์เดอะเบิร์ดส์ ซึ่งปรากฏในออกซฟอร์ดของไลรา และกาลครั้งหนึ่งในดินแดนทางเหนือ ขณะนี้เขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนาเพิ่มอีกหนึ่งเล่ม คือ คัมภีร์แห่งฝุ่นธุลี

ต่อมา จึงได้มีการนำเรื่องราวไปแสดงเป็นละครเวทีในโรงละครแห่งชาติ ช่วงปี ค.ศ. 2003-2004 และ นิวไลน์ซีนีม่า ก็ได้นำเรื่องราวในตอนมหันตภัยขั้วโลกเหนือ ไปจัดทำเป็นภาพยนตร์เรื่องอภินิหารเข็มทิศทองคำ ในปี ค.ศ. 2007

หนังสือชุดธุลีปริศนา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักร
หนังสือชุดธุลีปริศนา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา

ชื่อเรื่องกับที่มาของชื่อ

[แก้]
ซาตานพยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาจากนรกในเรื่องพาราไดซ์ ลอสท์ วาดโดยกุสตาฟ โดเร

ชื่อ "ธุลีปริศนา" (His Dark Materials) นี้ มีที่มาจากบทกวีของจอห์น มิลตัน เรื่อง พาราไดซ์ ลอสท์ เล่ม 2 ความตอนหนึ่งดังนี้ :

Into this wilde Abyss,
The Womb of nature and perhaps her Grave,
Of neither Sea, nor Shore, nor Air, nor Fire,
But all these in thir pregnant causes mixt
Confus'dly, and which thus must ever fight,
Unless th' Almighty Maker them ordain
His dark materials to create more Worlds,
Into this wilde Abyss the warie fiend
Stood on the brink of Hell and look'd a while,
Pondering his Voyage; for no narrow frith
He had to cross.

— เล่ม 2, บรรทัดที่ 910 - 920

เดิมฟิลิป พูลแมน เคยคิดจะใช้ชื่อชุดนิยายว่า "เข็มทิศทองคำ" (Golden Compasses)[5] ซึ่งคำนี้ก็มีปรากฏอยู่ในบทกวีพาราไดซ์ ลอสท์ เช่นกัน แต่ในบทกวีคำว่า compasses หมายความถึง "วงเวียน" ซึ่งเป็นเครื่องมือช่างชนิดหนึ่งซึ่งสื่อความถึงการที่พระเจ้าทรงสร้างโลก ดังปรากฏในภาพวาด The Ancient of Days ของวิลเลียม เบลค แต่ในนิยายนำมาเล่นคำโดยใช้รูปเอกพจน์ (compass) ซึ่งหมายถึง "เข็มทิศ" ในฉบับอเมริกันจึงได้เปลี่ยนชื่อเล่มแรกจาก Northern Lights มาเป็น Golden Compasses เพื่อเล่นคำตามแนวความคิดนี้

ฉากหลัง

[แก้]

เหตุการณ์ในวรรณกรรมไตรภาคนี้เกิดขึ้นในเอกภพคู่ขนานที่แตกต่างกัน ในมหันตภัยขั้วโลกเหนือ เหตุการณ์เกิดขึ้นในโลกที่เหมือนกับโลกของเรา การแต่งกายก็คล้ายคลึงกับสมัยวิคตอเรีย และยังไม่มีเทคโนโลยีทางด้านรถยนต์หรือเครื่องบินปีกตรึง ยานพาหนะที่สำคัญอย่างเดียวที่ปรากฏคือ เซพเพลิน ในโลกนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่เคยมีการปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์ ในหนังสือระบุถึง จอห์น คาลวินว่าเป็นพระสันตปาปา หรือมิฉะนั้น ก็อาจเป็นไปได้ที่ว่าการปฏิรูปศาสนาของนิกายโปรแตสแตนท์อาจจะประสบสำเร็จอย่างสมบูรณ์ยิ่งจนกระทั่งสามารถล้มล้างสำนักคาทอลิกลงได้อย่างสิ้นเชิง และก่อตั้งโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ของโปรแตสแตนท์ขึ้นใหม่ทั้งหมด ศาสนจักรในวรรณกรรมของพูลแมน (หรือที่มักเรียกว่า "พระอาจาริยานุภาพ") มีอำนาจปกครองอันเข้มแข็งมากในโลกนวนิยายของเขา ในมีดนิรมิต เหตุการณ์ได้ย้ายจากโลกในหนังสือเล่มแรกมาสู่โลกของเรา และต่อไปยังอีกโลกหนึ่ง อันเป็นที่ตั้งเมืองซีตากาซซี และในสู่เส้นทางมรณะ เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นเอกภพคู่ขนานอีกมากมาย

เอกภพในตอนมหันตภัยขั้วโลกเหนือ มีเทคโนโลยีที่น่าสนใจหลายประการ แม้ดูเผิน ๆ แล้วเอกภพแห่งนั้นจะมีเทคโนโลยีล้าหลังกว่าโลกของเรา แต่ก็มีความก้าวหน้ากว่าในหลายสาขา โลกของไลรามีวิทยาการทางด้านฟิสิกส์อนุภาคเหมือนกับโลกของเรา แต่เรียกในชื่อ "เทววิทยาเชิงทดลอง" ในตอนสู่เส้นทางมรณะ มีการหารือกันเกี่ยวกับอาวุธล้ำสมัยที่สามารถตรวจจับดีเอ็นเอของผู้เป็นเป้าหมายได้ ทั้งยังสามารถติดตามเป้าหมายไปยังเอกภพต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมี "ยานแห่งเจตจำนง" ที่ใช้ความคิดในการควบคุมยาน และติดตั้งอาวุธพลังงานที่ร้ายแรงอย่างยิ่งไว้ด้วย

ภาพ "สตรีกับตัวเออร์มีน" (ปี 1489-90) ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจของแนวคิดเกี่ยวกับ "ภูติ" ของพูลแมน [1]

เอกลักษณ์ที่เด่นชัดประการหนึ่งในนวนิยายของพูลแมน คือแนวคิดเกี่ยวกับ "ภูติ" ในจักรวาลเริ่มแรกของเรื่องหรือเอกภพของตัวละครเอก ไลรา เบลัควา มนุษย์แต่ละคนจะมีดวงจิตที่เป็นตัวตนจับต้องได้ที่แสดงรูปร่างเป็นสัตว์ ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ใกล้กับมนุษย์เจ้าของดวงจิตนั้น ๆ พวกแม่มดกับมนุษย์บางคนจะผ่านเข้าไปในดินแดนที่ซึ่งภูติไม่สามารถติดตามเข้าไปได้ หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาอันเจ็บปวดรวดร้าวของการพรากจากนั้นแล้ว ภูติของพวกเขาก็สามารถเดินทางออกไปห่างจากมนุษย์ได้ไกลเท่าที่มันต้องการ[6]

ปกติพวกภูติจะพูดคุยกับมนุษย์เจ้าของมันเท่านั้น หากก็สามารถสื่อสารกับมนุษย์คนอื่นหรือภูติตนอื่นได้เช่นกัน ในระหว่างช่วงวัยเยาว์ของมนุษย์ พวกภูติสามารถเปลี่ยนรูปร่างไปมาได้ตามใจชอบ แต่เมื่อใดที่เด็กเหล่านั้นได้เติบโตเป็นหนุ่มสาว ร่างของพวกภูติจะคงอยู่เพียงร่างเดียว รูปร่างสุดท้ายของพวกภูตินั้นจะสื่อถึงบุคลิกลักษณะนิสัยของมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งมีความหมายเป็นนัยว่าบุคลิกของเด็ก ๆ จะปรับตัวจนคงที่เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ในโลกจินตนาการของพูลแมน การที่มนุษย์คนหนึ่งคนใดจะแตะต้องตัวภูติของคนอื่นถือว่าเป็นการเสียมารยาทอย่างร้ายแรง ส่วนการที่มนุษย์ไม่มีภูติก็เป็นเรื่องเลวร้ายน่ากลัวเหมือนกับเห็นคนไม่มีหัว

ในบางเอกภพ มีปีศาจซึ่งออกล่าภูติของหนุ่มสาวกับพวกผู้ใหญ่ มันกินพวกภูติเสียแล้วทำให้มนุษย์เจ้าของภูตินั้นสูญเสียสติสัมปชัญญะและค่อย ๆ ตายไป ภูติกับมนุษย์อาจแยกออกจากกันได้ด้วยกระบวนการตัดภูติซึ่งใช้โลหะบางชนิดมาช่วย เช่นที่ดำเนินการตัดภูตด้วยกิโยตินซึ่งทำจากไทเทเนียมและแมงกานีสที่โบลแวงการ์ แต่การทำเช่นนี้มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงมาก มนุษย์และภูติที่ถูกแยกจากกันจะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในสภาพของซากผีดิบ ผลข้างเคียงที่ได้จากกระบวนการตัดภูติยังนำมาซึ่งพลังงานปริศนาปริมาณมหาศาลที่สามารถแปลงมาเป็นพลังงานแอนบาริก (หรือพลังงานไฟฟ้า) ได้

โครงเรื่อง

[แก้]

มหันตภัยขั้วโลกเหนือ

[แก้]

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อตัวเอก ไลรา บาลัควา ผู้เป็นเด็กหญิงที่ถูกเลี้ยงดูในวิทยาลัยจอร์แดน ออกซฟอร์ด เธอและภูติของเธอ แพนทาไลมอน ได้เรียนรู้ถึงการมีอยู่ของฝุ่นธุลี พระอาจาริยานุภาพมองว่าฝุ่นธุลีเป็นหลักฐานของปฐมบาป ฝุ่นธุลีได้ถูกดึงดูดโดยความไร้เดียงสาของเด็กน้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก ซึ่งนำไปสู่การนำเด็กไปทดลองอันน่าสยองขวัญ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการการพลีกรรม อันเป็นองค์กรของนักเทววิทยาเชิงทดลองของพระอาจาริยานุภาพ โดยมีการลักพาตัวเด็กจำนวนมากไปทดลองทางเหนือ (เด็ก ๆ ต่างเรียกว่า "พวกตัวกินเด็ก") ไลรา ผู้เคยรู้สึกตื่นเต้นที่ตนได้รับการเลี้ยงดูจากสตรีผู้สวยงามและลึกลบ ชื่อว่า มิสซิสโคลเตอร์ แต่ได้มาค้นพบในภายหลังว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานอันน่าสะพรึงกลัวในฐานะสมาชิกของคณะกรรมการการพลีกรรม จึงได้หลบหนีออกมา

หลังจากที่ได้พบว่าโรเจอร์ พาสโลว์ หายตัวไปจากออกซฟอร์ด ไลราและแพนทาไลมอนได้ตัดสินใจเดินทางขึ้นไปทางเหนือพร้อมกับพวกยิปซีที่ออกตามหาเด็กของพวกเขาที่หายไปด้วยเช่นกัน ระหว่างการเดินทางเธอพบว่า ลอร์ดแอสเรียลและมิสซิสโคลเตอร์คือพ่อแม่ของเธอ ที่นั่นเธอได้รับความช่วยเหลือจากยอริก เบิร์นนิสัน, จอห์น ฟาและฟาร์เดอร์ โครัม ชาวยิปซี, นักแล่นบัลลูน ลี สกอร์บี้ และราชินีแม่มด เซราฟินา เพกคาลา ไลราสามารถปล่อยเด็กออกจากการทดลองของพวกตัดเด็กเหล่านั้นได้และทำลายสถานีวิจัยลง จากนั้น เธอเดินทางไปยังสวาลบาร์ด อันเป็นที่ตั้งของอาณาจักรหมีสวมเกราะ เธอได้พูดล่อหลอกจนทำให้กษัตริย์หมี ยูเฟอร์ รักนิสัน ได้ประลองตัวต่อตัวกับยอริก เบิร์นนิสันจนแพ้ อาณาจักรหมีจึงถูกปกครองโดยยอริก เบิร์นนิสัน

ในตอนท้ายของเรื่อง ลอร์ดแอสเรียลกำลังหาหนทางในการเปิดประตูไปยังโลกอื่น ซึ่งต้องใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งเขาได้ตัดภูตของโรเจอร์และทำให้เขาเสียชีวิต การระเบิดท้องฟ้าทำให้ประตูระหว่างโลกเปิดออก เขาได้เดินทางไปยังโลกอื่นเพื่อสังหารพระผู้ทรงอานุภาพ มิสซิสโคลเตอร์ต้องการทำลายฝุ่นธุลีและปฐมบาป ซึ่งไลราและแพนทาไลมอนก็ได้ตามไปด้วย

มีดนิรมิต

[แก้]

ไลราได้เดินทางข้ามทางเชื่อมระหว่างโลกอันเกิดมาจากการทดลองของลอร์ดแอสเรียลนำเธอไปสู่ซีตากาซซี ซึ่งประชากรในโลกแห่งนี้สามารถค้นหาทางเชื่อมระหว่างโลกได้ก่อนโลกใด ๆ ในเนื้อเรื่อง จากการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่ยั้งคิดของประชากรซีตากาซซีทำให้เกิดปีศาจอันจะคอยดูดกลืนภูติและวิญญาณของมนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่ ทำให้โลกนี้ผู้ใหญ่และหนุ่มสาวไม่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย ที่นี่ ไลราได้พบกับวิล พาร์รี่ เด็กชายอายุ 12 ปีจากโลกของเราผู้สะดุดใจและเดินเข้ามาในช่องว่างระหว่างโลก อันนำมาสู่ชิตากาซซีหลังจากฆ่าผู้ชายคนหนึ่งซึ่งคอยรบกวนครอบครัวของเขาลง ในความพยายามค้นหาพ่อที่หายตัวไปเป็นเวลานานแล้ว ต่อมาวิลได้กลายเป็นผู้ธำรงแห่งมีดนิรมิต ซึ่งเป็นอุปกรณ์ซึ่งถูกตีขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อนโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวซีตากาซซีโดยใช้วัตถุดิบเดียวกันกับกิโยตินสีเงินที่โบลแวงการ์ คมมีดด้านหนึ่งสามารถตัดได้ทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างง่ายดาย แต่คมอีกด้านหนึ่งสำคัญกว่านั้น โดยสามารถตัดผ่านได้แม้กระทั่งอนุภาคย่อย ทั้งยังสร้างทางผ่านระหว่างโลกได้ หลังจากพวกเขาพบกับแม่มดจากโลกของไลรา พวกเขาก็ได้เดินทางไปหาพ่อของวิลต่อ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในโลกของไลราโดยใช้ชื่อว่า สตานิสลอส กรัมแมน เพียงเพื่อจะพบว่าเขาถูกสังหารโดยแม่มดนางหนึ่งที่รักเขา ส่วนไลราก็ถูกลักพาตัวไป

สู่เส้นทางมรณะ

[แก้]

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อกล่าวถึงไลราที่ถูกลักพาตัวไปโดยแม่ของเธอ มิสซิสโคลเตอร์ สมาชิกศาสนจักรที่ทราบคำนายที่ระบุว่าไลราจะเป็นอีฟคนต่อไป ทูตสวรรค์ บารัคและบัลธามอส ได้แจ้งวิลให้เดินทางไปกับพวกเขาเพื่อส่งมอบมีดนิรมิตเพื่อใช้เป็นอาวุธสงครามต่อต้านพระผู้ทรงอานุภาพ วิลเพิกเฉยต่อทูตสวรรค์ และด้วยความช่วยเหลือของอะมา เด็กสาวท้องถิ่น ราชาหมียอริก เบิร์นนิสัน และจารชนชาวกอลลิเวสเปี้ยนของลอร์ดแอสเรียล เทียลีส์และซาลมาเกีย เขาสามารถช่วยไลราจากถ้ำซึ่งแม่ของเธอซ่อนเธอไว้จากศาสนจักร ผู้ซึ่งตัดสินใจจะฆ่าเธอด้วยเกรงว่าเธอจะถูกล่อลวงจากสิ่งล่อและบาปเช่นเดียวกับอีฟดั้งเดิม

ไลรา วิล เทียลีส์และซาลมาเกียได้เดินทางไปยังดินแดนแห่งคนตาย ทำให้ต้องแยกจากภูติของเขาชั่วคราว หลังจากนั้น เขาได้ปลดปล่อยวิญญาณจากการถูกกดขี่คุมขังโดยพระผู้ทรงอานุภาพ แมรี มาโลน นักวิทยาศาสตร์ที่มาจากโลกของวิล มีความสนใจในฝุ่นธุลี (หรือเรียกว่า อนุภาคมืด/เงา) ได้เดินทางไปยังดินแดนที่มีสิ่งมีชีวิตมีความรู้สึกอาศัยอยู่ เรียกว่า มูเลฟา เธอจึงได้เรียนรู้ธรรมชาติของฝุ่นธุลี ซึ่งได้รับการอธิบายว่าเป็นอนุภาคจิตครอบคลุมของการตระหนักรู้ในตัวเอง โดยเป็นทั้งสิ่งสร้างและหล่อเลี้ยงชีวิตไว้ ลอร์ดแอสเรียลและมิสซิสโคลเตอร์ที่กลับใจใหม่ได้ร่วมกันทำลายผู้สำเร็จราชการของพระผู้ทรงอานุภาพ เมตาตรอน ซึ่งทั้งหมดได้ตกลงสู่ห้วงอเวจีไปพร้อมกัน พระผู้ทรงอานุภาพตายด้วยความอ่อนแอของตัวเองเมื่อวิลและไลราปลดปล่อยจากคุกคริสตัลซึ่งเมตาตรอนได้ขังเขาไว้

เมื่อวิลและไลรากลับมาจากดินแดนอห่งคนตาย พวกเขาก็ได้พบกับภูติของตน เรื่องราวจบลงเมื่อวิลและไลราตกหลุมรักกัน แต่ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ในโลกเดียวกันได้ เนื่องจากทางผ่านระหว่างโลกทั้งหมด ยกเว้นทางผ่านเชื่อมระหว่างโลกบาดาลกับโลกของมูเลฟา จำเป็นต้องปิดเพื่อป้องกันการสูญเสียฝุ่นธุลี และทั้งสองคนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติในโลกที่พวกเขาถือกำเนิดขึ้นมาเท่านั้น ไลราสูญเสียความสามารถตามธรรมชาติในการอ่านอลิธีอามิเตอร์ และเรียนรู้วิธีการใช้จิตสำนึกของตนให้ได้ผลอย่างเดียวกันแทน

ตัวละครหลัก

[แก้]
  • ไลรา เบลัควา: เด็กหญิงอายุ 12 ปี นิสัยดื้อรั้น เติบโตขึ้นมาใน วิทยาลัยจอร์แดน มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้รับอธิบายว่าเป็นคนผอมแห้ง มีผมสีบลอนด์เข้มและดวงตาสีน้ำเงิน เธอภูมิใจกับความสามารถของตนในความดื้อรั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการโกหก "หน้าด้าน ๆ" และด้วยความสามารถนี้เอง ยอริก เบิร์นนิสันได้ให้ฉายาเธอว่า "ลิ้นเงิน" ภูติของเธอเป็นเพศผู้ ชื่อแพนทาไลมอน ซึ่งสุดท้ายแล้วเลือกที่จะอยู่ในร่างของมาร์เท็นต้นส้น ไลราเป็นผู้ถืออลิธีอามิเตอร์ในเรื่อง และมีความสามารถในการอ่านมันโดยธรรมชาติ
  • วิล แพร์รี่: เด็กหนุ่มอายุ 12 ปี เป็นคนมีเหตุผล มีสำนึกผิดชอบชั่วดี และมีความมั่นใจในตัวเองสูง มาจากโลกของเรา ต่อมาเขาได้กลายเป็นผู้ธำรงแห่งมีดนิรมิต เขาเป็นคนที่รักอิสรเสรี และมีความรับผิดชอบเกินวัย โดยต้องดูแลแม่ซึ่งมีภาวะจิตใจไม่มั่นคงมาเป็นเวลาหลายปึ เขามีความเข้มแข็งและสงบเสงี่ยม ภูติของเขา ชื่อว่า คีร์จาวา คงรูปอยู่ในรูปของแมวเป็นร่างสุดท้าย
  • ลอร์ดแอสเรียล: แสร้งว่าเป็นลุงของไลรา แต่ความจริงแล้วกลับเป็นบิดาของเธอ เขาเป็นคนมีนิสัยดุร้าย ป่าเถื่อนและกล้าลงมือทำ เขาได้ทำการทดลองและสามารถเปิดช่องว่างระหว่างโลกได้ในความพยายามที่จะตามหาฝุ่นธุลี ความใฝ่ฝันของเขาคือการสร้างสาธารณรัฐแห่งสวรรค์ขึ้นมาเพื่อปลดแอกตัวเองจากการปกครองของพระผู้ทรงอานุภาพ เขาจึงใช้อำนาจที่มีทำการรวบรวมกองทัพขนานใหญ่ขึ้นจากหลายเอกภพเพื่อก่อกบฏ ภูติของเขา คือ เสือดาวหิมะเพศเมีย ชื่อว่า สเตลมาเรีย
  • มาริสา โคลเตอร์: เป็นหญิงสาวสวย เยือกเย็น เป็นมารดาของไลรา และอดีตคู่รักของลอร์ดแอสเรียล เธอเคยทำงานรับใช้ศาสนจักรในการจับตัวเด็กเพื่อไปทำการทดลองเกี่ยวกับธรรมชาติของฝุ่นธุลี เธอมีผมสีดำ ร่างผอม และดูอ่อนกว่าวัย เธอได้มีบทบาทในการลักพาตัวไลรา และซ่อนตัวเธอเอาไว้ เธอยังได้โอนเอียงจากฝ่ายศาสนจักรมาเข้าร่วมกับฝ่ายสาธารณรัฐของลอร์ดแอสเรียล ท้ายที่สุด เธอกับลอร์ดแอสเรียลก็สามารถดึงร่างของเมตาตรอนลงสู่ห้วงอเวจีเบื้องล่างไปพร้อมกัน ภูติของเธอเป็นลิงขนทองเพศผู้ อำมหิตและทารุณ ในวรรณกรรมไม่ได้กล่าวถึงชื่อของมัน
  • แมรี่ มาโลน: นักวิทยาศาสตร์ เคยเป็นแม่ชีมาก่อน เธอมาจากโลกแห่งเดียวกับวิล เธอมีความตั้งใจที่จะศึกษาฝุ่นธุลี (หรือที่เรียกกันว่า อนุภาคเงาหรือสสารมืด) ซึ่งได้นำเธอเข้ามาเกี่ยวพันกับการผจญภัยของไลรา เธอได้ดำรงชีวิตอยู่กับพวกมูเลฟา เธอได้สร้างกล้องอำพัน (The Amber Spyglass) เพื่อต้องการค้นหาว่าเหตุใดฝุ่นธุลีจึงกำลังอันตรธานไปจากจักรวาล แมรี่ได้เล่นบทงูในเรื่อง และทำให้ไลรากับวิล (เปรียบเสมือนอดัมกับอีฟ) ต้องแยกจากกันในความพยายามที่จะรักษาฝุ่นธุลีเอาไว้ ด้วยความช่วยเหลือ เธอจึงได้มองเห็นภูติของเธอ ซึ่งเป็นกาอัลไพน์เพศผู้ ไม่ได้ตั้งชื่อ
  • เมตาตรอน: เคยเป็นมนุษย์ในพระคัมภีร์มาก่อน ชื่อว่าเอโนค ผู้ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนรูปเป็นทูตสวรรค์ หลังจากเกิดการก่อกบฏของทูตสวรรค์ที่ถูกขับไล่ออกไปแล้ว เขาก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระผู้ทรงอานุภาพ และได้ปลูกฝังศาสนาตลอดทั่วจักรวาล และยังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จอีกด้วย ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นทูตสวรรค์ แต่ว่าเขายังคงมีความรู้สึกแบบมนุษย์ ทำให้เขาตกหลุมพรางจากการล่อใจของมาริสา โคลเตอร์
  • ยอริก เบิร์นนิสัน: หมีสวมเกราะตัวใหญ่ ได้รับเกราะ เกียรติยศและราชบัลลังก์คืนด้วยความช่วยเหลือของไลรา เขาเป็นหมีที่มีความสง่าผ่าเผยและความเป็นกษัตริย์ เขายังได้ตั้งชื่อให้แก่ไลราว่า "ไลรา ลิ้นเงิน" ด้วยความพึงพอใจในความเจ้าเล่ห์ของเธอ ยอริกเป็นนักรบผู้ทรงพลังและช่างตีเกราะ และได้ช่วยซ่อมมีดนิรมิตให้แก่วิล เข้าร่วมในสงครามกับพระผู้ทรงอานุภาพเนื่องจากไลราและวิลถูกคุกคาม
  • จอห์น ฟา และฟาเดอร์ โครัม: เป็นผู้นำของชุมชนชาวยิปซีแม่น้ำ จอห์นเป็นราชาแห่งยิปซีตะวันตก เมื่อศาสนจักรได้ลักพาตัวเด็กชาวยิปซีเพื่อไปทำการทดลองที่สถานีวิจัยโบลแวงการ์ ทั้งสองจึงนำทัพชาวยิปซีไปทางเหนือเพื่อไปช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น โดยได้นำไลราไปด้วย เขาได้ปรากฏตัวอีกครั้งในตอนสู่เส้นทางมรณะ
  • ลี สกอร์บี้: นักขี่บัลลูนชาวเท็กซัส (ในเรื่อง เท็กซัสมิได้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา) ซึ่งรับจ้างจากจอห์น ฟาเพื่อนำพาพวกเขาไปสำรวจดินแดนทางเหนือ เขาเป็นเพื่อนกับยอริก เบิร์นนิสัน และได้ให้ความช่วยเหลือแก่ไลราในการรบหลายครั้ง ภูติของเขาคงอยู่ในรูปของกระต่าย ชื่อว่า เฮสเตอร์ เสียชีวิตระหว่างการต่อสู้กับทหารจักรวรรดิมัสโกวีในความพยายามที่จะปกป้องสตานิสลอส กรัมแมน
  • สตานิสลอส กรัมแมน (ชื่อจริง: จอห์น แพร์รี่ หรือออกเสียงแบบตาร์ตาร์: โจพาริ): เป็นบิดานักสำรวจของวิล ครั้งหนึ่งเคยถูกบรรจุเป็นนายทหารในกองทัพเรืออังกฤษ หายสาบสูญไปด้วยอุบัติเหตุระหว่างเกิดพายุหิมะในเทือกเขาบรูกส์ อลาสก้า ที่นั่น เขาได้พบกับประตูระหว่างโลกซึ่งสามารถนำพาเขาไปยังอีกจักรวาลหนึ่งได้ และเมื่อไปถึงโลกของไลรา เขาได้ใช้ชื่อตนว่า "สตานิสลอส กรัมแมน" ซึ่งได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก และได้เดินทางสำรวจดินแดนทางเหนือในความพยายามที่จะหาทางกลับโลกเดิม ทว่าไร้ผล พวกตาร์ตาร์พื้นเมืองเชื่อว่าเขาเป็นชาแมน และได้เชิญให้เข้าร่วมกับเผ่านั้น ระหว่างพิธีกรรมเขาได้รับการเจาะรูบนกะโหลกศีรษะอันเป็นสัญลักษณ์ของตาร์ตาร์ ภูติของเขาเป็นนกออกเพศเมีย ชื่อ ซายัน โคเทอร์ ลี สกอร์บี้ได้สละชีวิตเพื่อช่วยชีวิตกรัมแมน และเมื่อกรัมแมนได้พบกับลูกชายของเขา แม่มดผู้ซึ่งเคยรักเขาได้ยิงเขาเสียชีวิต ในภายหลัง เขาได้ปรากฏในรูปของผีเพื่อช่วยเหลือไลราและวิลในสงคราม
  • เซราฟินา เพกคาลา: หญิงงาม ราชินีแห่งเผ่าแม่มดแห่งทะเลสาบเอ็นนาราในดินแดนทางเหนือ ภูติของนางเป็นห่านหิมะ ชื่อว่า ไคซา เซราฟินาได้เข้ามาช่วยเหลือไลราและวิลหลายครั้งระหว่างการผจญภัยอันยิ่งใหญ่ แม้ว่านางจะมีอายุหลายร้อยปีมาแล้ว แต่ว่านางยังคงมีชีวิตอยู่ได้อีกหลายชั่วอายุคน
  • โรเจอร์ พาสลอว์: เด็กชายผู้กลายมาเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของไลรา และอยู่เคียงข้างกับไลราที่วิทยาลัยจอร์แดน ความตายของเขาซึ่งเกิดจากการทดลองของลอร์ดแอสเรียลได้เปิดประตูระหว่างโลกขึ้น ซึ่งไลราและลอร์ดแอสเรียลใช้เดินทางไปเสาะหาแหล่งกำเนิดของฝุ่นธุลี ด้วยความรู้สึกผิด ไลราจึงพยายามเดินทางไปยังโลกของคนตายเพื่อขอโทษและปลดปล่อยเขาจากโลกแห่งนั้น ภูติของเขา คือ แซลซิเลีย ยังไม่ได้คงรูป แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของสุนัขพันธุ์เทอเรียร์
  • พระผู้ทรงอานุภาพ: ทูตสวรรค์องค์แรกที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากฝุ่นธุลี และมิได้เป็นพระเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งแต่อย่างใด ในเรื่อง พระผู้ทรงอานุภาพค่อนข้างจะอ่อนแอ เนื่องจากเขาได้มอบอำนาจส่วนใหญ่ไปให้แก่ผู้สำเร็จราชการแล้ว คือ เมตาตรอน และใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วงความเป็นมนุษย์หลังสูญเสียอำนาจไปกับ "ปริศนาที่ลึกล้ำ" พูลแมนได้วาดภาพเขาว่ามีความชรามาก อ่อนแอ ใจดีและไร้เดียงสา ซึ่งแตกต่างจากผู้ติดตามของเขาซึ่งมีความโหดร้าย เขาเสียชีวิตจากสายลมพัดผ่านร่าง ร่างกายที่อ่อนแอของเขามิอาจแม้จะต้านทานกระแสลมได้ แต่ก็พบว่านั่นเป็นการปลดปล่อยเช่นกัน

ผลงานที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

งานเขียนอื่นของพูลแมนที่อยู่ในหนังสือชุดเดียวกันนี้ ซึ่งแม้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อเรื่องในธุลีปริศนา แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของตัวละครหลักในเรื่อง โดยเรื่องราวเกิดขึ้นก่อนหน้าหรือหลังจากเหตุการณ์ในวรรณกรรมไตรภาค ได้แก่

แก่นของเรื่องและแรงบันดาลใจ

[แก้]
ภาพวาดประกอบกวีนิพนธ์ พาราไดซ์ ลอสท์ วาดโดย วิลเลียม เบลก ชื่อว่า "ซาตานกำลังเฝ้ามองการสัมผัสของอดัมกับอีฟ"

พูลแมนระบุถึงวรรณกรรมเอกของโลกสามเรื่องซึ่งเป็นแรงบันดาลใจต่อธุลีปริศนา ได้แก่ งานเขียนร้อยแก้วเรื่อง On the Marionette Theatre ของ ไฮน์ริช ฟอน ไคลสท์ ผลงานหลายชุดของวิลเลียม เบลก และที่สำคัญที่สุดก็คือ พาราไดซ์ ลอสท์ ของจอห์น มิลตัน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อชุดวรรณกรรมไตรภาคชุดนี้[7]

พูลแมนเคยแสดงเจตนาอย่างชัดเจนในการดัดแปลงเรื่องราวของมิลตันว่าด้วยสงครามระหว่างสวรรค์กับนรก ซึ่งปีศาจสามารถจะกลายมาเป็นวีรบุรุษก็ได้[8] ในบทนำของเขา เขาดัดแปลงถ้อยคำอันโด่งดังของเบลกที่พรรณนาถึงมิลตัน เป็นการล้อเลียนว่าตัวเขาเอง (พูลแมน) นั้น "เป็นพวกของปีศาจและรู้จักมันดี" พูลแมนยังอ้างอิงถึงแนวคิดอันเป็นเหตุเป็นผลในการพรรณนาโครงสร้างเชิงเทพนิยายที่แฝงอยู่ในนวนิยายของเขาอีกด้วย[9]

จากแนวคิดดังกล่าวทำให้การตีความต่าง ๆ ในนวนิยายเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับแนวคิดดั้งเดิมของศาสนาคริสต์ อนุภาคเงาหรือฝุ่นธุลีในเรื่อง ซึ่งถือเป็นความผิดบาปสำหรับศาสนจักรในโลกของไลรา กลับกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ "ชีวิต" การล่มสลายของมนุษย์หรือความผิดบาปครั้งแรกที่ทำให้มนุษย์ถูกลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้าโดยการเนรเทศออกจากสวนอีเดน ก็ถูกตีความเสียใหม่ ว่าการล่มสลายครั้งนั้นแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ดี[10]

นักวิจารณ์วรรณกรรมมักเปรียบเทียบไตรภาคชุดนี้กับวรรณกรรมเรื่อง A Wrinkle in Time, A Wind in the Door และ A Swiftly Tilting Planet ของแมเดอลีน เลงเกิล ซึ่งมีแก่นเรื่องคล้ายกัน[11] เช่นเดียวกันกับเรื่องตำนานแห่งนาร์เนีย[12] นวนิยายชุดของ ซี. เอส. ลิวอิส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำนานแห่งนาร์เนียดูจะให้แรงบันดาลใจในทางตรงข้ามต่อแกนเรื่องหลักของวรรณกรรมไตรภาคของพูลแมนชุดนี้ พูลแมนกล่าววิพากษ์วิจารณ์นวนิยายชุดนาร์เนียในทางลบหลายประการ เช่น ว่าเป็น "วรรณกรรมการเหยียดผิวอย่างโจ่งแจ้ง" "การดูหมิ่นสตรีอย่างมหันต์" "ไร้ศีลธรรม" และ "ชั่วร้าย"[13][14]

อาจกล่าวได้ว่า ธุลีปริศนาเป็นวรรณกรรมที่มีการตีความทางศาสนาตรงกันข้ามกับตำนานแห่งนาร์เนียอย่างสิ้นเชิง ตัวละครเอกอย่างไลรา ก็มาเพื่อแทนที่ลูซี่ ตู้เสื้อผ้าที่พาไปยังโลกอื่น กับเอกภพคู่ขนาน สัตว์พูดได้ สงครามครั้งสุดท้ายของจักรวาล และแม่มด ซึ่งในเรื่องนี้เป็นตัวละครทางฝ่ายดีแทนที่จะเป็นพวกปีศาจ[15] พูลแมนเองก็เคยกล่าวว่า "ผมเกลียดแนวคิดในเรื่องนาร์เนียอย่างที่สุด ที่ว่าวัยเยาว์เป็นยุคอันรุ่งเรือง ส่วนพวกผู้ใหญ่กับเพศสัมพันธ์เป็นความตกต่ำ"[15] อย่างไรก็ดีเมื่อมีผู้ถามว่า พูลแมนต้องการสื่ออะไรในนิยายเรื่องนี้ เขาหลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบ แต่เอ่ยถึงแนวคิดทั่ว ๆ ไปว่า

"ทุกเรื่องราวล้วนมีแง่คิดบางอย่าง ไม่ว่าผู้เล่าเรื่องประสงค์จะบอกสิ่งนั้นหรือไม่ก็ตาม เรื่องราวจะสอนเกี่ยวกับโลกที่เราเป็นผู้สร้าง สอนเกี่ยวกับชีวิตที่เราดำรงอยู่ สอนอะไรๆ มากกว่าศีลธรรม คำแนะนำหรือสุภาษิต มนุษย์เราไม่ได้ต้องการรายการสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด ไม่ต้องการตารางบอกสิ่งที่ควรทำกับสิ่งที่ห้ามทำ สิ่งที่เราต้องการคือหนังสือ เวลา และความเงียบ แล้วลืมคำว่า "ห้ามทำ" ไปเสีย"[15]

ข้อถกเถียงทางศาสนา

[แก้]
ภาพการล่มสลายของมนุษย์ โดย โธมัส โคล (การเนรเทศจากสวนอีเดน, ค.ศ. 1828) ในธุลีปริศนาได้กล่าวถึงการล่มสลายนี้ว่าเป็นผลดีกับการเจริญเติบโตเต็มที่ของมนุษย์

จากแนวคิดพื้นฐานในการประพันธ์ จึงไม่น่าประหลาดใจที่วรรณกรรมเยาวชนธุลีปริศนา ได้ทำให้เกิดการถกเถียงทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวคริสเตียนบางกลุ่ม [16][17]

แต่พูลแมนเองยังค่อนข้างประหลาดใจที่พบว่าเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์น้อยกว่าที่คิด สำหรับประเด็นความเชื่อทางศาสนาในธุลีปริศนา เขากล่าวว่า "ผมค่อนข้างประหลาดใจว่าเหตุใดจึงถูกวิจารณ์น้อยนัก แฮร์รี่ พอตเตอร์ ยังถูกวิจารณ์หนักเสียกว่า ส่วนผมเหมือนร่อนอยู่ใต้เรดาร์ ประกาศแนวคิดบ่อนทำลายที่ละเอียดอ่อนและสำคัญกว่าคำพูดของตาเฒ่าแฮร์รี่เสียอีก หนังสือของผมเกี่ยวกับการฆ่าพระเจ้านะ"[18]

ตัวละครบางตัวกล่าวตำหนิศาสนจักรและโครงสร้างการปกครองทางศาสนาอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น รูต้า สกาดิ ราชินีแม่มดแห่งแลตเวีย ซึ่งเตรียมการทำสงครามกับศาสนจักรในโลกของไลรา นางกล่าวว่า "ประวัติศาสตร์ [ของศาสนจักร] ทั้งหมดที่ผ่านมา... มันเฝ้าพยายามปราบปรามและควบคุมความรู้สึกตามธรรมชาติ และเมื่อไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ มันก็จะตัดทิ้งเสียเลย" (ดูที่ กระบวนการตัดภูติ) นางยังได้กล่าวเพิ่มเติมภายหลังถึงทุกองค์กรศาสนาว่า "ศาสนจักรทำสิ่งเหล่านั้นแหละ และทุก ๆ ศาสนจักรก็จะทำเหมือนกัน คือควบคุม ทำลาย และล้มล้างความดีทุกอย่าง" ในวรรณกรรม แม่มดกล่าวประโยคนี้เพื่อบรรยายว่าศาสนจักรในโลกของนางได้ทำร้ายพวกแม่มดให้กลายเป็นอาชญากรอย่างไร แมรี่ มาโลน ตัวละครหลักอีกตัวหนึ่ง ระบุว่า "ศาสนาของชาวคริสต์...คือความผิดพลาดทางความเชื่อที่มีพลังอำนาจมาก ก็เท่านั้น" ก่อนหน้านั้นเธอเคยเป็นนางชีคาทอลิก แต่ได้ละคำสาบานเสียเมื่อได้พบกับความรัก และทำให้ความศรัทธาสั่นคลอน อย่างไรก็ดี พูลแมนได้ออกมาเตือนว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่มุมมองส่วนตัวของเขา เป็นแต่คำพูดของมาโลน "แมรี่เป็นตัวละครตัวหนึ่งในหนังสือ แมรี่ไม่ใช่ผม นี่เป็นนิยาย ไม่ใช่บทวิจารณ์ หรือคำสอน หรืองานเขียนปรัชญา"[19]

พูลแมนพรรณนาภาพชีวิตหลังความตายที่แตกต่างออกไปจากแนวคิดเรื่องสวรรค์ของชาวคริสเตียน ในสู่เส้นทางมรณะ ชีวิตหลังความตายจะดำรงอยู่ในโลกบาดาลอันเป็นดินแดนอันเปลี่ยวร้าง เงียบเหงา ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยเหล่าฮาร์ปี้ คล้ายกับโลกบาดาลตามชาวเชื่อของกรีก จนกระทั่งวิลและไลราได้เข้าไปในโลกนั้น และสามารถทำข้อตกลงกันได้ พวกฮาร์ปี้ให้คำมั่นว่าจะเลิกทรมานเหล่าวิญญาณของคนตาย โดยแลกกับการที่จะได้ฟังเรื่องจริงของธรรมชาติจากวิญญาณของคนตายเหล่านั้น จากนั้นก็จะนำวิญญาณแห่งคนตายขึ้นไปสู่โลกเบื้องบน ที่ซึ่งวิญญาณเหล่านั้นจะสลายกลายเป็นอะตอมและไปรวมกันเป็นส่วนเดียวกับธรรมชาติตลอดไป

The Lovers' Whirlwind ภาพวาดของวิลเลียม เบลก แสดงถึง "นรก" ในงานเขียนชุด Inferno ของดังเต

"พระผู้ทรงอานุภาพ" ในวรรณกรรมไตรภาคของพูลแมน ซึ่งได้รับการเคารพบูชาในโลกของไลราว่าเป็นพระเจ้าแห่งคริสตจักร ในความจริงแล้วเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่มีวิวัฒนาการขึ้นเท่านั้น พูลแมนบรรยายไว้อย่างชัดเจนว่าพระผู้ทรงอานุภาพมิได้เป็นผู้สร้างโลกต่าง ๆ แต่ใครหรืออะไรที่เป็นผู้สร้างก็ยังไม่อาจระบุได้ ส่วนภาพของสมาชิกคริสตจักรจะบรรยายว่าเป็นพวกหัวรุนแรง[20][21]

ซินเธีย เกรเนียร์ บรรยายไว้ในวัฒนธรรมคาทอลิก ว่า "ในโลกของพูลแมน พระเจ้า (พระผู้ทรงอานุภาพ) เป็นทรราชที่ไร้เมตตา[22] ศาสนจักรของพระองค์เป็นเครื่องมือแห่งการกดขี่ และผู้กล้าหาญที่แท้จริงก็คือผู้ที่สามารถล้มล้างทั้งสองอย่างนี้ได้"[23] วิลเลียม เอ. โดโนฮิว แห่งสันนิบาตคาทอลิค เรียกวรรณกรรมไตรภาคของพูลแมนว่าเป็น "ลัทธิไม่เชื่อพระเจ้าสำหรับเด็ก"[24] พูลแมนแย้งว่าโดโนฮิวกล่าวเช่นนั้นเพื่อพยายามคว่ำบาตรเขา "ทำไมเราถึงไม่เชื่อใจผู้อ่านล่ะ? [...] โอ ผมทั้งมึนทั้งสลดว่ายังมีคนไม่เต็มเต็งหลุดออกมาในโลกอีกหรือเนี่ย" [25]

อย่างไรก็ดี พูลแมนยังได้รับการสนับสนุนจากพวกคริสเตียนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโรวัน วิลเลียมส์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคริสตจักรแห่งอังกฤษ เขาอธิบายว่าการโจมตีของพูลแมนครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายกล่าวถึงการบังคับฝืนใจ อันตรายจากความเชื่อโดยไร้เหตุผล และการแอบอ้างใช้ศาสนาข่มเหงผู้อื่น แต่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับศาสนาคริสต์โดยตรง[26] วิลเลียมส์ยังเสนอว่าวรรณกรรมไตรภาคของธุลีปริศนาควรจะถูกบรรจุไว้ในชั้นเรียนการสอนศาสนาเพื่อการอภิปราย และยังกล่าวอีกว่า "หากได้เห็นกลุ่มนักเรียนมาชมการแสดงละครเวทีเรื่องนี้ของพูลแมนที่โรงละครแห่งชาติกันเป็นจำนวนมากคงจะน่าตื่นเต้นไม่น้อย"[27]

พูลแมนแสดงความเห็นตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความเป็นคริสเตียนในแง่ของความเชื่อ ที่หมิ่นเหม่ต่อการถูกวิพากษ์อย่างยิ่ง ในประโยคต่อไปนี้ "ผมเดาว่าท่านทั้งหลายคงจะลงความเห็นว่าผมน่ะเป็นพวกนอกศาสนา แต่ถ้าหากพระเจ้ามีจริง และพระองค์เป็นเหมือนอย่างที่พวกคริสเตียนบรรยายเอาไว้จริง ๆ เช่นนั้นก็สมควรแล้วที่พระองค์จะต้องถูกปราบปรามและได้รับการต่อต้าน"[15] อย่างไรก็ดี พูลแมนยังได้กล่าวในการสัมภาษณ์และระหว่างการปรากฏตัวของเขาอีกว่า แนวคิดดังกล่าวสามารถใช้ได้กับทุกศาสนา[28][29]

รางวัลที่ได้รับ

[แก้]

หนังสือเล่มแรก "มหันตภัยขั้วโลกเหนือ" ชนะเลิศเหรียญรางวัลคาร์เนกี ประเภทวรรณกรรมเยาวชน ในประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1995 [30] ต่อมาในปี ค.ศ. 2007 คณะกรรมการเหรียญรางวัลคาร์เนกี CILIP เลือกให้หนังสือนี้เป็นหนึ่งในสิบหนังสือสำหรับเด็กยอดเยี่ยมในรอบ 70 ปี เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2007 ผลการโหวตออนไลน์เพื่อเลือกผู้ชนะเหรียญรางวัลคาร์เนกียอดเยี่ยมในโอกาสครบรอบ 70 ปีของรางวัล หนังสือนี้ได้รับเลือกเป็น the Carnegie of Carnegies[31][32] นิตยสาร The Observer ระบุว่า "มหันตภัยขั้วโลกเหนือ" เป็นหนึ่งในร้อย หนังสือนิยายยอดเยี่ยม[33] นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเดอะการ์เดียนอวอร์ด ปี 1996, และบริติชบุ๊คอวอร์ด: หนังสือสำหรับเด็กประจำปี 1996[34]

เล่มที่สอง "มีดนิรมิต" ได้รับเหรียญรางวัลคาร์เนกี ปี ค.ศ. 1995, เดอะการ์เดียนอวอร์ด ปี ค.ศ. 1996, และบริติชบุ๊คอวอร์ด: หนังสือเด็กประจำปี ค.ศ. 1996[35]

เล่มที่สาม "สู่เส้นทางมรณะ" ชนะเลิศรางวัลคอสต้า ประจำปี ค.ศ. 2001 ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติของวรรณกรรมอังกฤษ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่งานเขียนที่ได้รับรางวัลนี้เป็น "วรรณกรรมสำหรับเด็ก"[36] นอกจากนั้นยังมีรางวัล Whitbread ชนะเลิศหนังสือแห่งปี ค.ศ. 2001 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติการมอบรางวัลนี้ที่ผู้ชนะเลิศเป็น "วรรณกรรมเยาวชน" และจัดให้เรื่องดังกล่าวเป็นนวนิยายที่ดีที่สุด 100 เรื่อง[37] รางวัล Whitbread ชนะเลิศรางวัลหนังสือสำหรับเด็กแห่งปี ค.ศ. 2001 รางวัลหนังสือสำหรับเด็กแห่งปี และบริติชบุ๊คอวอร์ด แห่งปี ค.ศ. 2000 และรางวัล Booksellers Association Author of the Year Award ค.ศ. 2002[38]

ปี ค.ศ. 2003 สถานีโทรทัศน์บีบีซี จัดสำรวจความนิยม "หนังสือในดวงใจ" และวรรณกรรมไตรภาคของธุลีปริศนาได้รับเลือกเป็นอันดับสาม[39] (อันดับหนึ่งและสองคือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และสาวทรงเสน่ห์) เป็นหนังสือเพียงหนึ่งในสองเรื่อง ในบรรดาห้าอันดับแรก ซึ่งยังไม่ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ณ เวลานั้น (อีกเรื่องหนึ่งคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี ซึ่งออกฉายในปี ค.ศ. 2005) นอกจากนี้ใน 10 อันดับแรก ก็มีเพียงหนังสือทั้งสองเรื่องนี้ที่เป็นผลงานที่สร้างขึ้นในช่วง 25 ปีมานี้เอง

การดัดแปลงในสื่ออื่น

[แก้]

การดัดแปลงเรื่องธุลีปริศนา มีทั้งในสื่อวิทยุ ละครเวที และภาพยนตร์

วิทยุ

[แก้]

สถานีวิทยุบีบีซีได้บรรจุลงเป็นละครวิทยุบนบีบีซีเรดิโอ 4 ออกอากาศในปี ค.ศ. 2003 โดยมี เทเรนซ์ แสตมป์ แสดงเป็น ลอร์ดแอสเรียล และ ลูลู่ พ็อพเพิลเวลล์ เป็น ไลรา เบลัควา ปัจจุบันทางบีบีซีได้จัดทำละครวิทยุชุดนี้ออกจำหน่ายในรูปแบบซีดีและเทป ในปีเดียวกัน ละครวิทยุเรื่องมหันตภัยขั้วโลกเหนือ ได้รับการผลิตโดยสถานีวิทยุมวลชนไอร์แลนด์ (RTÉ)

ละครเวที

[แก้]

นิโคลัส ไฮต์เนอร์ได้กำกับละครเวทีที่ดัดแปลงจากเรื่องนี้ โดยแบ่งออกเป็นสององก์ เป็นละครขนาดความยาวหกชั่วโมง แสดงที่โรงละครแห่งชาติในลอนดอน ในวันที่ 20 ธันวาคม 2003 ไปจนถึง 27 มีนาคม 2004[40] นำแสดงโดย แอนนา แม็กซ์เวล-มาร์ติน เป็นไลรา โดมินิก คูเปอร์ เป็นวิล ทิโมธี ดาลตัน เป็นลอร์ดแอสเรียล และแพทริเซีย ฮอดจ์ เป็นมิสซิสโคลเตอร์ โดยที่ภูติทั้งหมดเป็นหุ่นซึ่งออกแบบโดยมิเชล เคอร์รี่ การแสดงประสบความสำเร็จอย่างงดงามและได้จัดแสดงซ้ำอีกครั้ง (พร้อมกับนักแสดงชุดใหม่และบทพูดใหม่) เป็นรอบสองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2004 จนถึงเดือนเมษายน 2005 นับแต่นั้นละครเวทีเรื่องนี้ก็มีการแสดงซ้ำในโรงละครขนาดเล็กหลายแห่งทั่วประเทศอังกฤษ ที่สำคัญก็เช่นที่โรงละครเพลย์บ๊อกซ์ ในเมืองวอริค นอกจากนี้ยังมีรอบพิเศษ ไอริชพรีเมียร์ ที่โรงละครโอเรลลี ในเมืองดับลิน แสดงโดยชมรมการละครของวิทยาลัยเบลวีเดียร์

ภาพยนตร์

[แก้]
ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์อภินิหารเข็มทิศทองคำ ภูติที่อยู่ในเรื่องถูกสร้างขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์

นิวไลน์ซีนีม่าได้สร้างภาพยนตร์ขึ้นจากวรรณกรรมชุดนี้ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า "The Golden Compass" (ชื่อไทยว่า "อภินิหารเข็มทิศทองคำ") ภาพยนตร์ได้ออกฉายในเวลาที่แตกต่างกัน กำกับโดย คริส ไวทซ์ ซึ่งนับได้ว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทุ่มทุนสร้างมากที่สุดของนิวไลน์ซีนีม่าเลยทีเดียว[41] โดยการสร้างภาพยนตร์จะยึดหลักให้คล้ายกับเนื้อเรื่องในหนังสือให้มากที่สุด แต่ไวทซ์เห็นว่าควรจะลดบทบาทของคณะปกครองในเรื่องลงเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านของผู้ชมในตอนแรก "การนำเสนอ อภินิหารเข็มทิศทองคำ ต่อสาธารณชนจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง" เขากล่าว "เราไม่สามารถลดใจความที่เกี่ยวข้องกับศาสนาในหนังสือเล่มที่สองและเล่มที่สามลงได้โดยไม่ทำลายวิญญาณของวรรณกรรมไตรภาคเรื่องนี้... ผมจะยังไม่กังวลกับเนื้อหาในเล่มที่สองและสาม ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมทำงานอย่างหนักกับภาพยนตร์เรื่องแรกเพื่อให้มันสามารถส่งต่อไปยังเรื่องที่สองและสามได้"[42] ในปี 2006 พูลแมนได้กล่าวว่า "ฉากตอนที่สำคัญยังคงอยู่ครบ และมีสาระแน่นเหมือนเดิม"[43] เดือนมีนาคม ค.ศ. 2008 เขากล่าวว่าภาพยนตร์ที่ถ่ายทำเสร็จแล้วนั้น "มีหลายสิ่งหลายอย่างในนั้นดี ... แต่ไม่มีส่วนใดที่ถอดแบบมาจากในหนังสือได้เหมือนทั้งหมด ทุกอย่างต้องมีการประนีประนอม"[44]

ดาราภาพยนตร์ "อภินิหารเข็มทิศทองคำ" นำแสดงโดย ดาโกตา บลู ริชาร์ดส เป็นไลรา นิโคล คิดแมน เป็นมิสซิสโคลเตอร์ แดเนียล เครก เป็นลอร์ดแอสเรียล และอีวา กรีน เป็นเซราฟินา เพกคาลา ตลอดภาพยนตร์ไตรภาคนี้ ยอริก เบิร์นนิสัน ให้เสียงโดย เอียน แมคเคลเลน และเฟรดดี้ ไฮมอร์ ให้เสียงของแพนทาไลมอน ภาพยนตร์ได้รับเสียงตอบรับที่แตกต่างกันไป[45]

การตอบรับของภาพยนตร์ จนถึงวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 2008 ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้กว่า 372,234,100 ดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก[46] ทางผู้สร้างยังไม่ได้วางแผนที่จะผลิตภาพยนตร์ภาคต่อออกมา มีการประณามว่าการต่อต้านจากศาสนจักรบีบให้ต้องยกเลิกการสร้างไป แต่ "ความผิดหวัง" กับภาพยนตร์ตอนแรกอาจเป็นเหตุผลแท้จริงของผู้สร้าง[47]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 Robert Butler. "An Interview with Philip Pullman". The Economist. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-05. สืบค้นเมื่อ 2008-03-05.
  2. The Man Behind the Magic: บทสัมภาษณ์ฟิลิป พูลแมน เก็บถาวร 2007-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก บาร์นสแอนด์โนเบิล
  3. Hanna Rosin. "How Hollywood Saved God". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ 2007-12-01.
  4. Corliss, Richard (December 8, 2007). "What Would Jesus See?". The Atlantic. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-24. สืบค้นเมื่อ 2008-05-04.
  5. "Frequently Asked Questions". BridgeToTheStars.net. สืบค้นเมื่อ 2007-04-05.
  6. พูลแมน, ฟิลิป. สู่เส้นทางมรณะ. ธุลีปริศนา. New York: Random House, Inc. p. 423. ISBN 978-0-440-23815-7.
  7. Fried, Kerry. "Darkness Visible: An Interview with Philip Pullman". Amazon.com.
  8. Mitchison, Amanda. "The art of darkness". Daily Telegraph.
  9. "The Dark Materials debate: life, God, the universe..." Daily Telegraph.
  10. "His Dark Materials.org FAQ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-09. สืบค้นเมื่อ 2008-07-27.
  11. Crosby, Vanessa. "Innocence and Experience: The Subversion of the Child Hero Archetype in Philip Pullman's Speculative Soteriology" (PDF). University of Sydney. สืบค้นเมื่อ 2007-04-12.
  12. Miller, Laura. "Far From Narnia Philip Pullman's secular fantasy for children". The New Yorker. สืบค้นเมื่อ 2007-04-12.
  13. Ezard, John. "Narnia books attacked as racist and sexist". The Guardian. Guardian Unlimited.
  14. TheStar.com
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 "Sympathy for the Devil by Adam R. Holz" เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Plugged In Online.
  16. Overstreet, Jeffrey. "His Dark Materials… here's what… reviewers are saying". Christianity Today. สืบค้นเมื่อ 2007-04-12.
  17. Thomas, John (2006). "Opinion". Librarians' Christian Fellowship. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-06. สืบค้นเมื่อ 2007-04-12.
  18. สตีฟ เมอาแคม. "The shed where God died". Sydney Morning Herald Online.
  19. "A dark agenda? Interview with Philip Pullman" เก็บถาวร 2013-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, surefish.co.uk (November 2002.).
  20. Ebbs, Rachael. "Philip Pullman's His Dark Materials: An Attack Against Christianity or a Confirmation of Human Worth?". BridgeToTheStars.Net. สืบค้นเมื่อ 2007-04-13.
  21. Thomas, John (2006). "Opinion". Librarians' Christian Fellowship. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-06. สืบค้นเมื่อ 2007-04-12.
  22. ในประเด็นนี้ เกรเนียร์กล่าวถึงพระเจ้าผิดคน เพราะอันที่จริงพระเจ้าในวรรณกรรมของพูลแมนคือชายแก่ที่ถูกทูตสวรรค์เมตาตรอนยึดอำนาจไปแล้ว
  23. Grenier, Cynthia (October 2001). "Philip Pullman's Dark Materials". The Morley Institute Inc. สืบค้นเมื่อ 2007-04-05.
  24. Donohue, Bill. ""The Golden Compass" Sparks Protest". The Catholic League for Religious and Civil Rights. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-19. สืบค้นเมื่อ 2008-01-04.
  25. David Byers. "Philip Pullman: Catholic boycotters are 'nitwits'". The Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-15. สืบค้นเมื่อ 2008-02-20.
  26. Petre, Jonathan. "Williams backs Pullman". Daily Telegraph. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-16.
  27. Rowan, Williams (2004-03-10). "Archbishop wants Pullman in class". The BBC. สืบค้นเมื่อ 2004-03-10.
  28. Spanner, Huw. "Heat and Dust". ThirdWay.org.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-04-10. สืบค้นเมื่อ 2008-02-20.
  29. Bakewell, Joan (2001). "Belief". BBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-09-11. สืบค้นเมื่อ 2008-02-20.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  30. "Living Archive — Celebrating the Carnegie and Greenaway Winners". CarnegieGreenaway.org.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-24. สืบค้นเมื่อ 2007-04-05.
  31. "Pullman wins 'Carnegie of Carnegies'
  32. ""70 years celebration the publics favourite winners of all time"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-11-04. สืบค้นเมื่อ 2008-02-11.
  33. http://blogs.guardian.co.uk/observer/archives/2005/05/11/the_best_novels_ever_version_12.html
  34. "ข้อมูลของมหันตภัยขั้วโลกเหนือในเว็บไซต์ของนานมีบุ๊คส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-07-31.
  35. "ข้อมูลของมีดนิรมิตในเว็บไซต์ของนานมีบุ๊คส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-07-31.
  36. รายชื่องานเขียนที่ได้รับ Costa Book Awards ที่ผ่านมาในอดีต
  37. The best novels ever (version 1.2) จากหน้ากระทู้ของนิตยสาร
  38. "ข้อมูลของสู่เส้นทางมรณะในเว็บไซต์ของนานมีบุ๊คส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-10. สืบค้นเมื่อ 2008-07-31.
  39. BBC - The Big Read จาก bbc.co.uk
  40. "National Theatre : Productions : His Dark Materials Part I 2003/04". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-07. สืบค้นเมื่อ 2008-07-27.
  41. McClintock, Pamela and McNary, Dave. "Will 'Compass' find audiences?" นิตยสารวาไรตี้, วันที่ 6 ธันวาคม 2007
  42. Pullman, Philip (May 2006). "May message". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-12. สืบค้นเมื่อ 2008-09-24. And the latest script, from Chris Weitz, is truly excellent; I know, because I`ve just this morning read it. I think it`s a model of how to condense a story of 400 pages into a script of 110 or so. All the important scenes are there and will have their full value.
  43. "'Golden Compass' Director Chris Weitz Answers Your Questions: Part I by Brian Jacks". MTV Movies Blog. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-15. สืบค้นเมื่อ 2007-11-14.
  44. Silverman, Rosa (March 22, 2008). "Exclusive interview with Philip Pullman". London: The Times. สืบค้นเมื่อ 2008-12-01.[ลิงก์เสีย]
  45. Josh Friedman. "'Golden Compass' points overseas". Los Angeles Times.
  46. "Golden Compass at boxofficemojo.com". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2008-02-28.
  47. Elliot, Sam (15 December 2009). "Who killed off The Golden Compass?". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 16 March 2010.

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]