ข้ามไปเนื้อหา

ธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธนา​นนท์ ปฏิญญาศักดิ​กุล
ธนานนท์ ใน พ.ศ. 2557
เกิด12 กันยายน พ.ศ. 2533 (33 ปี)
จังหวัดนครราชสีมา , ประเทศไทย
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นนายอาร์ม, รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลและเวทมนตร์, เจ้าชายไอที
ศิษย์เก่าโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
มหาวิทยาลัยเทนเนสซี
อาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์, คอนเทนต์ครีเอเตอร์, นักแสดง
มีชื่อเสียงจากการเล่าเรื่อง การให้ความรู้ และการวิพากษ์วิจารณ์หัวข้อที่เป็นกระแสในขณะนั้น ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีผ่านยูทูบ
คู่สมรสเกตุแก้ว ปฏิญญาศักดิกุล (สมรส 2021)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
การประมวลผลสมรรถนะสูง
การประมวลผลแบบขนาน ​
วิทยานิพนธ์Improving MPI Threading Support for Current Hardware Architectures (2019)
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกแจ็ก ดองการ์รา
ข้อมูลยูทูบ
ช่อง9arm
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2553–ปัจจุบัน
ประเภท
  • ความรู้
  • เกมส์
  • ไอที
  • เรื่องเล่า
เว็บไซต์9armstory.com

ธนา​นนท์ ปฏิญญาศักดิ​กุล (เกิด 12 กันยายน พ.ศ. 2533)​ ชื่อเล่น อาร์ม เป็นยูทูบเบอร์และวิศวกรชาวไทย เขาเป็นหนึ่งในทีมผู้พัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Frontier ซึ่งเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของโลก[1][2] อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักจากการเล่าเรื่อง การให้ความรู้ และการวิพากษ์วิจารณ์หัวข้อที่เป็นกระแสในขณะนั้น

ประวัติ[แก้]

ธนา​นนท์เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2533 ที่จังหวัดขอนแก่น เขามีน้องชายหนึ่งคนชื่อ ธนรัชต์ ปฏิญญาศักดิ​กุล (ชื่อเล่น เอม)[3]

การศึกษา[แก้]

ธนา​นนท์เข้ารับการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีใน พ.ศ. 2556 และได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเทนเนสซี สหรัฐอเมริกาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ. 2562[1][4]

การแข่งขัน[แก้]

ขณะศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ธนานนท์มีความสนใจในด้านคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ จึงทำให้อาจารย์ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยมักส่งไปแข่งขันในรายการต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง[5]

การทำงาน[แก้]

ในช่วง พ.ศ. 2553 ขณะกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี เขาเริ่มอาชีพในฐานะยูทูบเบอร์จากการทำช่องยูทูบที่ใช้ชื่อว่า "CastBy9Arm" ซึ่งในช่วงแรกจะเป็นวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับเกมสตาร์คราฟต์ 2 ไม่ว่าจะเป็นการพากย์ หรือวิจารณ์ในนัดการแข่งขันต่าง ๆ เป็นต้น จากนั้นจึงได้หันมาทำวิดิโอแนวรีวิวเกม และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อเขาได้รับทุนไปศึกษาต่อทำให้เวลาว่างมีน้อยลง ประกอบกับการพูดคุยถึงเรื่องเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคม ทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนเนื้อหามาเป็นแนวเล่าเรื่อง ประกอบกับให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี ในช่องยูทูบช่องใหม่ที่ใช้ชื่อว่า "9arm" แทน[6]

ระหว่างการศึกษาชั้นปริญญาเอก เขาได้ทำงานเป็นบัณฑิตผู้ช่วยนักวิจัยใน Innovative Computing Laboratory​ รวมทั้งเข้ารับการฝึกงานในบริษัทผู้นำทางด้านการประมวลผลสมรรถนะสูง (HPC) อย่าง Cisco และอินเทลใน พ.ศ. 2560 และ 2561 ตามลำดับ เมื่อสำเร็จการศึกษาจึงเข้ามาทำงานในฐานะวิศวกรซอฟต์แวร์ให้บริษัท Cray[2][4] ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Hewlett-Packard Enterprise

ธนา​นนท์เคยเข้าไปให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกม (Software Game) และอีสปอร์ต (E-Sport) ในด้านปัญหาของอีสปอร์ตในประเทศไทย ความยากลำบากในการจัดการแข่งขัน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมการจัดการแข่งขันขนาดใหญ่ในประเทศไทย[7] ต่อมาหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เขาถูกทาบทามให้เข้าร่วมงานกับพรรคก้าวไกลแต่ก็ได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ลง โดยณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "บริบทตอนนี้ต่างคนอาจจะยังเดินตามทางของตัวเองอยู่"[8]

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 ธนา​นนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางในการใช้ปัญญาประดิษฐ์ฯ สภาผู้แทนราษฎร[9][10]

ผลงาน[แก้]

ละคร/ซีรีส์[แก้]

ปี เรื่อง รับบทเป็น
2567 สาธุ (2567)
(เน็ตฟลิกซ์)
มันนี่ โค้ช

รางวัล[แก้]

ปี รางวัล สาขา ผล
2566 11th Thailand Social Awards [11] Gadget & Technology
(กลุ่มรางวัลผู้ผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับอุปกรณ์และเทคโนโลยี)
ชนะ
2567 12th Thailand Social Awards [12] ชนะ
2567 The People Awards 2024 [13] 10 คนแห่งปี ชนะ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "ประวัติ 9arm ธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล ฉายา รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลและเวทมนตร์". springnews. June 1, 2023. สืบค้นเมื่อ June 1, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 "รู้จัก 9arm ว่าที่ รมต.ดีอีเอส ขวัญใจชาวเน็ต". ประชาชาติธุรกิจ. May 31, 2023. สืบค้นเมื่อ June 1, 2023.
  3. วนสุนทรเมธี, สุดาวรรณ (2022-02-14). "aimmuno แชนแนลของ นศ.แพทย์ ที่เล่าเรื่องหมอ ๆ ให้สนุก-ง่าย ไม่ใช่เด็กวิทย์ก็ฟังได้". The Cloud. สืบค้นเมื่อ June 1, 2023.
  4. 4.0 4.1 Patinyasakdikul, Thananon (2019-12-15). "Improving MPI Threading Support for Current Hardware Architectures". Doctoral Dissertations.
  5. ประวัตินายอาร์ม 2022 Edition, สืบค้นเมื่อ 2023-08-19
  6. Thesky (2022-03-10). "'9arm' เจ้าชายไอทีสายสตรีม ครีเอเตอร์เนิร์ดเทคเจ้าของฉายารัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล". RAiNMaker. สืบค้นเมื่อ June 1, 2023.
  7. "บันทึกการประชุม คณะอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกม (Software Game) และอีสปอร์ต (E-Sport) ครั้งที่ ๑๐". parliament.go.th. February 11, 2021. สืบค้นเมื่อ June 1, 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. TODAY. [@todayth]. (2023, May 31). “นายอาร์มเองเขาก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ในวงการไอที ถ้าได้เขามามีส่วนร่วมกับพรรคก็คงจะดี แต่บริบทตอนนี้ต่างคนอาจจะยังเดินตามทางของตัวเองอยู่” เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พูดถึงเรื่องการทาบทาม ดร. ธนานนท์ ปฏิญญาศักดิกุล หรือ นายอาร์ม เข้ามาร่วมงาน. [Tweet]. Twitter. https://twitter.com/todayth/status/1663765759351488513
  9. "กมธ.ควบคุมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ฯ มีมติตั้ง 'นายอาร์ม' เป็นที่ปรึกษาคณะ มีหน้าที่ให้คำปรึกษา-แนะนำ". THE STANDARD. 2024-05-04.
  10. "กมธ.ศึกษา AI ตั้ง 'นายอาร์ม' อินฟลูเอนเซอร์ด้านไอทีชื่อดัง เป็นที่ปรึกษา". bangkokbiznews. 2024-05-04.
  11. "ประกาศผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 11 แบรนด์และผู้ทรงอิทธิพลบนโลกโซเชียลยกทัพร่วมงานคับคั่ง". ไทยรัฐ. 2023-02-24. สืบค้นเมื่อ 2023-06-12.
  12. "ผล Thailand Social Awards ครั้งที่ 12 "คัลแลน-พี่จอง" ได้รางวัลดาวรุ่ง". พีพีทีวี. March 2, 2024. สืบค้นเมื่อ March 3, 2024.
  13. "ถอดแนวคิด 10 บุคคลต้นแบบ ผู้รับรางวัล The People Awards 2024". thepeople.co. April 11, 2024. สืบค้นเมื่อ April 30, 2024.