อี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้
อี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ (จีนตัวย่อ: 议政王大臣会议; จีนตัวเต็ม: 議政王大臣會議; พินอิน: yìzhèng wáng dàchén huìyì; "ที่ประชุมมหาอำมาตย์และราชวงศ์เพื่อทรงหารือราชกิจ"; อังกฤษ: Deliberative Council of Princes and Ministers, Council of Princes and High Officials, หรือ Assembly of Princes and High Officials) เรียกโดยย่อว่า อี้เจิ้งชู่ (จีนตัวย่อ: 议政处; จีนตัวเต็ม: 議政處; พินอิน: yìzhèng chù; "ที่หารือราชกิจ"; อังกฤษ: Deliberative Council) เป็นคณะที่ปรึกษาของจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิจีนช่วงต้นราชวงศ์ชิง เกิดจากคณะบุคคลที่ประชุมกันอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งหนูเอ่อร์ฮาชื่อ (努爾哈赤; ครองราชย์ ค.ศ. 1616–1626) ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ทรงจัดตั้งขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1610–20 แล้วหฺวัง ไถจี๋ (黃台吉; ครองราชย์ ค.ศ. 1626–1643) จักรพรรดิพระองค์ถัดมา ทรงจัดตั้งอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1626 และมีการขยายองค์ประกอบใน ค.ศ. 1637 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงชาวแมนจู ทำหน้าที่ถวายความเห็นด้านกลาโหมต่อหฺวัง ไถจี๋ รวมถึงผู้สืบราชสมบัติต่อมา คือ ชุ่นจื้อ (順治; ครองราชย์ ค.ศ. 1643–1661) และคังซี (康熙; ครองราชย์ ค.ศ. 1661–1722)[1] องค์กรดังกล่าวยังมีอำนาจมากในช่วงที่ตัวเอ่อร์กุ่น (多尔衮; ค.ศ. 1643–1650) สำเร็จราชการแทนชุ่นจื้อ และเอ๋าไป้ (鼇拜; 1661–1669) สำเร็จราชการแทนคังซี บุคคลทั้งสองใช้ที่ประชุมนี้ส่งเสริมอิทธิพลของตนอย่างยิ่ง[2]
ครั้นยงเจิ้ง (雍正; ครองราชย์ ค.ศ. 1722–1735) เถลิงราชสมบัติ ทรงจัดตั้งจฺวินจีชู่ (軍機處; "สภาความลับทหาร") ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ ขึ้นในปลายคริสต์ทศวรรษ 1720 เพื่อลดอิทธิพลของเหล่าอำมาตย์และราชวงศ์ อี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้จึงมีบทบาทถดถอยลงเรื่อย ๆ จนยุบเลิกไปอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1792
การจัดตั้ง
[แก้]โรเบิร์ต ออกซ์นัม (Robert Oxnam) นักประวัติศาสตร์ พรรณนาว่า กำเนิดของอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้เป็น "กระบวนการที่ซับซ้อนและมักชวนงงงวย" (complicated and often confusing process)[3] จุดแรกเริ่มของอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ คือ องค์กรอย่างไม่เป็นทางการที่จักรพรรดิหนูเอ่อร์ฮาชื่อทรงตั้งขึ้นเพื่อให้ราชวงศ์ปรองดองกันมากขึ้น เพราะใน ค.ศ. 1601 หนูเอ่อร์ฮาชื่อทรงจัดระเบียบสังคมแมนจูโดยแบ่งออกเป็นสี่กองธง ซึ่งต่อมาเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น แปดกองธงใน ค.ศ. 1615[4] ครั้น ค.ศ. 1622 พระองค์ให้ราชวงศ์แปดองค์กำกับแปดกองธงองค์ละกอง[4] แล้วให้ราชวงศ์ทั้งแปดประชุมหารือกันเกี่ยวกับนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะด้านกลาโหม[5] ที่ประชุมดังกล่าวเรียกว่า "อี้เจิ้งหวัง" (議政王; "ราชวงศ์หารือราชกิจ")[6]
ต่อมา หนูเอ่อร์ฮาชื่อทรงแต่งตั้งขุนนางผู้ใหญ่ห้าคนกับตุลาการสิบคนให้กำกับดูแลงานด้านปกครองและตุลาการใน ค.ศ. 1615 และ 1616 ตามลำดับ[7] ออกซ์นัมอ้างว่า ที่ประชุมขุนนางผู้ใหญ่ดังกล่าวเรียกว่า "อี้เจิ้งต้าเฉิน" (議政大臣; "มหาอำมาตย์หารือราชกิจ") และมีหน้าที่ช่วยเหลือที่ประชุมอี้เจิ้งหวังของฝ่ายราชวงศ์[8] แต่ฟรานซ์ ไมเคิล (Franz Michael) แย้งว่า กลุ่มอำมาตย์เป็นที่ปรึกษาแต่ในนามของกลุ่มราชวงศ์เท่านั้น ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง และซิลัส วู (Silas Wu) เห็นด้วย[9]
ครั้น ค.ศ. 1623 หนูเอ่อร์ฮาชื่อทรงแต่งตั้งขุนนางชั้นผู้ใหญ่แปดคนเป็นที่ปรึกษาราชกิจ แต่หน้าที่ส่วนใหญ่เป็นการตรวจราชการและรายงานให้ทรงทราบเกี่ยวกับการสมคบกันกบฏในหมู่ราชวงศ์[10]
เมื่อหฺวัง ไถจี๋ สืบบัลลังก์ต่อจากหนูเอ่อร์ฮาชื่อ ก็ไม่ทรงดำเนินนโยบายส่งเสริมความปรองดองระหว่างราชวงศ์ดังเดิม แต่ทรงแสวงหาลู่ทางสร้างความเป็นปึกแผ่นอย่างแท้จริงให้แก่จักรวรรดิแทน โดยใน ค.ศ. 1627 ทรงให้กองธงทั้งแปดอยู่ในบังคับบัญชาของขุนนางผู้ใหญ่ทั้งแปดคนดังกล่าวแทนราชวงศ์ทั้งแปดองค์อย่างแต่ก่อน แต่ก็รับสั่งให้ขุนนางทั้งแปดต้องปรึกษากับราชวงศ์แปดองค์นั้นในด้านนโยบาย[11] ซิลัส วู เห็นว่า กลุ่มราชวงศ์และขุนนางสิบหกคนนี้เป็นที่มาของที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ ซึ่งกลายเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายของหฺวัง ไถจี๋ เพราะหฺวัง ไถจี๋ ทรงปรึกษาหารือกลุ่มบุคคลดังกล่าวเกี่ยวกับการต่างประเทศและกลาโหม[12]
ครั้น ค.ศ. 1637 หฺวัง ไถจี๋ ทรงแก้ไของค์ประชุม โดยให้ราชวงศ์ทั้งแปดพ้นจากตำแหน่งในที่ประชุม[13] แล้วให้ที่ประชุมประกอบด้วยขุนนางกลาโหมแปดคนที่ภายหลังเรียก "ตูถ่ง" (都統) แต่ละคนมีผู้ช่วยสองคน เรียก "ฟู่ตูถ่ง" (副都統) มีหน้าที่บริหารแปดกองธง[14] การที่ทรงให้สมาชิกที่ประชุมมีแต่แม่ทัพนายกอง โดยปราศจากส่วนร่วมของพระญาติพระวงศ์นั้น แม้ทำให้พระราชอำนาจมากขึ้น และอิทธิพลของราชวงศ์น้อยลง[2] แต่ที่ประชุมก็ดำเนินมาตลอดรอดฝั่งในฐานะจุดสูงสุดของการปกครองราชวงศ์ชิงได้[15]
บทบาทต้นราชวงศ์ชิง
[แก้]เมื่อจักรพรรดิหฺวัง ไถจี๋ สวรรคตใน ค.ศ. 1643 ชุ่นจื้อสืบราชสมบัติต่อ มีตัวเอ่อร์กุ่นกับจี้เอ่อร์ฮาหลาง (濟爾哈朗) เป็นผู้สำเร็จราชการ ครั้นปีถัดมา ภายใต้การนำของบุคคลดังกล่าว ราชวงศ์ชิงปราบราชวงศ์หมิงลงได้ และย้ายเมืองหลวงไปยังเป่ย์จิง ส่วนที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ก็กลายเป็นองค์กรหลักในการกำหนดนโยบายรัฐบาลช่วงที่ตัวเอ่อร์กุ่นสำเร็จราชการแทนจักรพรรดิ[16] เพราะทันทีที่ย้ายมาเป่ย์จิง ตัวเอ่อร์กุ่นก็ให้ที่ประชุมควบคุมทั้งการทหารและพลเรือน ทั้งเพิ่มสมาชิกขึ้นให้ประกอบด้วยตูถ่งและฟู่ตูถ่งทุกคนในกองธงของแมนจูและมองโกล รวมตลอดถึงชาวแมนจูและมองโกลที่ดำรงตำแหน่งในเน่ย์เก๋อ (內閣; "ศาลาใน") หรือประธานกรรมการต่าง ๆ[16] ฉะนั้น แทนที่จะเป็นหน่วยงานทานอำนาจของตัวเอ่อร์กุ่น ที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้กลับเป็นเครื่องมือที่ตัวเอ่อร์กุ่นใช้งัดข้อกับราชวงศ์ผู้หาญกล้าท้าทายอำนาจของเขา[17] ตัวอย่างเกิดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1644 เมื่อเหาเก๋อ (豪格; ค.ศ. 1609–1648) พระโอรสของหฺวัง ไถจี๋ ทรงถูกกล่าวหาว่า ปลุกปั่นล้มล้างการปกครอง ตัวเอ่อร์กุ่นก็ให้คู่อริของเหาเก๋อมาให้การยืนยันความผิดของพระองค์ในที่ประชุม[18] แล้วใน ค.ศ. 1648 เขาก็ใช้วิธีเดียวกันกำจัดเหาเก๋อไปตลอดกาล[17]
เมื่อตัวเอ่อร์กุ่นสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1650 จักรพรรดิชุ่นจื้อรับสั่งให้สมาชิกที่ประชุมถวายฎีกาต่อพระองค์โดยตรงในเรื่องสำคัญของแผ่นดิน[19] ภายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1651 เมื่อผู้สนับสนุนตัวเอ่อร์กุ่นถูกกำจัดไปจากราชสำนักจนหมดสิ้นแล้ว จี้เอ่อร์ฮาหลาง ซึ่งยังเป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ ก็ตั้งคนจำนวนหนึ่งเข้าสู่ที่ประชุม หวังจะหล่อเลี้ยงให้ผู้คนนิยมภักดีต่อชนชั้นสูงชาวแมนจูต่อไป[20] โดยในช่วง ค.ศ. 1651–53 เขาตั้งสมาชิกใหม่ 30 คนเข้าที่ประชุม ทุกคนที่เขาตั้งไม่มีตำแหน่งหน้าที่ในกองธงหรือการปกครองเมืองหลวง[21] 2 คนในจำนวนนี้ยังเป็นชาวจีน คือ ฟ่าน เหวินเฉิง (范文程; ค.ศ. 1597–1666) และหนิงหวันหวั่ว (寗完我; ตาย ค.ศ. 1665) ซึ่งเป็นคนจีนสองในเพียงสามคนที่ได้รับแต่งตั้งเข้าที่ประชุม[21] ผู้ได้รับแต่งตั้งในคราวนั้นยังมีเอ๋าไป้, ซูเค่อซาฮา (蘇克薩哈), เอ้อปี้หลง (遏必隆; ตาย ค.ศ. 1673), และสั่วหนี (索尼; ค.ศ. 1601–1667) ซึ่งภายหลังได้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิคังซี[22]
ครั้น ค.ศ. 1656 จักรพรรดิชุ่นจื้อทรงยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ชาวแมนจูและมองโกลที่ดำรงตำแหน่งในเน่ย์เก๋อได้เป็นสมาชิกที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้โดยอัตโนมัติ กระนั้น เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ใน ค.ศ. 1661 ที่ประชุมก็ยังมีสมาชิกมากกว่า 50 คน[21]
ในรัชกาลของชุ่นจื้อ ที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้มักเรียกประชุมเพื่อตรวจสอบขุนนางคนสำคัญผู้ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ[23]
เมื่อชุ่นจื้อสวรรคตใน ค.ศ. 1661 แล้ว คังซีสืบราชอำนาจต่อ แต่เนื่องจากทรงพระเยาว์ เอ๋าไป้, ซูเค่อซาฮา, เอ้อปี้หลง, และสั่วหนี จึงสำเร็จราชการแทน ในช่วงที่เอ๋าไป้สำเร็จราชการนี้ (ค.ศ. 1661–69) ที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้กลายเป็น "สถาบันที่โดดเด่นที่สุดของแมนจู" (most prominent Manchu institution)[22] ผู้สำเร็จราชการทั้งสี่ดำรงตำแหน่งในที่ประชุมต่อไป และกำหนดให้สมาชิกที่ประชุมต้องเป็นตูถ่งจากกองธงของแมนจูและมองโกล กับผู้ดำรงตำแหน่งในหกกรม (六部) เท่านั้น[21] บุคคลทั้งสี่ยังกำหนดให้หัวหน้าหลี่ฟานเยฺวี่ยน (理藩院; "ฝ่ายบริหารเมืองขึ้น") เป็นสมาชิกโดยตำแหน่งของที่ประชุม[24] ภายใน ค.ศ. 1662 สมาชิกที่ประชุมจึงลดเหลือ 31 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวแมนจูชนชั้นสูงมากประสบการณ์ด้านทหารและพลเรือน[25]
เมื่อสิ้นอำนาจเอ๋าไป้ใน ค.ศ. 1669 แม้จักรพรรดิคังซีทรงล้มเลิกการปรับปรุงการปกครองของเอ๋าไป้หลายประการ แต่ก็ทรงพึ่งพาที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ต่อไป โดยทรงปรึกษาเกี่ยวกับกิจการหลายด้านในทางกลาโหมและพลเรือน โดยเฉพาะเรื่องที่ละเอียดอ่อนหรือซับซ้อนเกินกว่าที่ข้าราชการทั่วไปจะถวายความเห็นได้[26] คังซียังทรงให้หัวหน้าโตวฉาเยฺวี่ยน (都察院; "ฝ่ายตรวจการทั้งปวง") เป็นสมาชิกโดยตำแหน่งของที่ประชุม แต่เมื่อทรงปราบกบฏสามเจ้าศักดินา (三藩之乱) ได้ใน ค.ศ. 1683 พระองค์ก็มิให้ตูถ่งจากกองธงต่าง ๆ เป็นสมาชิกโดยตำแหน่งของที่ประชุมอีก[21]
นับจากนั้น ที่ประชุมก็เบนเข็มไปทางการปกครองฝ่ายพลเรือนมากขึ้น[21] ส่วนกิจการทหารก็เข้าสู่ที่ประชุมบ้าง เช่น ในช่วงสงครามจุ่นก๋าเอ่อร์–ชิงระหว่าง ค.ศ. 1687–97 ซึ่งราชวงศ์ชิงทำสงครามกับรัฐข่านจุ่นก๋าเอ่อร์ (準噶爾汗國) คังซีทรงปรึกษาที่ประชุมเรื่องการรับมือกับก๋าเอ่อร์ตัน (噶尔丹) ข่านแห่งจุ่นก๋าเอ่อร์ และการรับมือกับมองโกลคาเอ่อร์คา (喀尔喀蒙古) คู่ปรับจุ่นก๋าเอ่อร์[27]
ในรัชกาลคังซีนั้น ที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้จะประชุมตามรับสั่งเท่านั้น แล้วจะถวายผลการหารือต่อจักรพรรดิ ซึ่งจักรพรรดิมักปฏิบัติตาม[28]
การยุบเลิก
[แก้]เมื่อจักรพรรดิคังซีสวรรคตใน ค.ศ. 1722 ยงเจิ้งสืบราชย์ต่อ หลังเกิดวิกฤติการณ์ที่ทำให้พระโอรสองค์ต่าง ๆ ของคังซีชิงราชสมบัติกันอย่างดุเดือด ขุนนางแมนจูหลายคนในที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้สนับสนุนคู่แข่งของยงเจิ้ง[29] แต่เพื่อมิให้ขุนนางเหล่านี้ตีตัวออกจากพระองค์หลังขึ้นทรงราชย์แล้ว ยงเจิ้งทรงรักษาที่ประชุมไว้ และทรงปรึกษาราชกิจด้านทหารหลายประการต่อไป แต่ก็ทรงหาวิธีบั่นทอนอำนาจของที่ประชุมไปด้วย[30]
หนทางของยงเจิ้ง คือ จัดตั้งองค์กรขนาดเล็กขึ้นหลายองค์กร มีสถานะเสมอที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ ประกอบด้วยข้าราชสำนักที่พระองค์ไว้พระทัย[29] แล้วถ่ายเทอำนาจในการหารือราชกิจไปสู่องค์กรเหล่านั้นอย่างช้า ๆ[31] กระทั่งราว ค.ศ. 1730 องค์กรซึ่งมีสถานะไม่เป็นทางการเหล่านี้ตกผลึกเป็นจฺวินจีชู่ (军机处; "สภาความลับทหาร")[29] ซึ่งต่างจากที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ตรงที่ที่ประชุมมีสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นชาวแมนจู แต่จฺวินจีชู่มีชาวจีนร่วมด้วยหลายคน[32] จฺวินจีชู่นี้ได้ทำหน้าที่เหมือนสภาองคมนตรีที่ถวายความเห็นด้านการกำหนดนโยบายของรัฐต่อองค์จักรพรรดิอีกหลายพระองค์ตลอดมาจนสิ้นราชวงศ์ชิง
การสถาปนาจฺวินจีชู่จนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1730 ทำให้อิทธิพลของที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ลดน้อยถอยลงตามลำดับ[21] ในรัชกาลเฉียนหลง (乾隆; ค.ศ. 1736–1796) ตำแหน่งสมาชิกที่ประชุมเหลือสถานะเพียงเป็นคำเรียกขานเพื่อยกย่อง[31] ชาวแมนจูซึ่งดำรงตำแหน่งในเน่ย์เก๋อยังคงเป็นสมาชิกโดยตำแหน่งของที่ประชุมต่อไป จนจักรพรรดิเฉียนหลงทรงยุบเลิกที่ประชุมนี้อย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1792[33]
ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการรื้อฟื้นตำแหน่งสมาชิกที่ประชุมนี้ขึ้น เพื่อมอบให้แก่เจ้าชายอี้ซิน (奕訢; ค.ศ. 1833–1898) และบุคคลอื่น ๆ ในคราวที่เจ้าชายอี้ซินรับตำแหน่งประธานจฺวินจีชู่[34]
อ้างอิง
[แก้]เชิงอรรถ
[แก้]- ↑ Wakeman 1985, p. 851; Bartlett 1991, p. 267; Hucker 1985, p. 266; Rawski 1998, p. 123.
- ↑ 2.0 2.1 Oxnam 1975, p. 31.
- ↑ Oxnam 1975, p. 21, note 17.
- ↑ 4.0 4.1 Wu 1970, p. 10.
- ↑ Oxnam 1975, p. 21; Bartlett 1991, p. 25.
- ↑ Oxnam 1975, p. 21.
- ↑ Oxnam 1975, p. 21 (1615); Wu 1970, p. 11 (1616); Michael 1942, p. 67 (1616).
- ↑ Oxnam 1975, pp. 21 and 30 respectively.
- ↑ Michael 1942, p. 67; Wu 1970, p. 11.
- ↑ Wu 1970, p. 10; Wakeman 1985, p. 850.
- ↑ Oxnam 1975, pp. 30 and 31, note 38; Wakeman 1985, pp. 850-851.
- ↑ Wu 1970, p. 11; Oxnam 1975, p. 30 (main policymaking body); Wakeman 1985.
- ↑ Wu 1970, p. 10; Oxnam 1975, p. 30.
- ↑ Oxnam 1975, p. 30; Kessler 1976, p. 11.
- ↑ Wakeman 1985, p. 851.
- ↑ 16.0 16.1 Oxnam 1975, p. 43.
- ↑ 17.0 17.1 Wakeman 1985, p. 885.
- ↑ Wakeman 1985, p. 300, note 231
- ↑ Wakeman 1985, p. 896.
- ↑ Oxnam 1975, pp. 70–71.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 21.5 21.6 Oxnam 1975, p. 71.
- ↑ 22.0 22.1 Oxnam 1975, p. 70.
- ↑ Wakeman 1985, pp. 925, 948, and 985 (for three examples).
- ↑ Oxnam 1975, p. 69.
- ↑ Oxnam 1975, pp. 71 and 74.
- ↑ Oxnam 1975, pp. 72 and 199.
- ↑ Perdue 2005, pp. 148 and 159.
- ↑ Oxnam 1975, p. 74 (usually followed the council's advice); Wu 1970, p. 18 (rest of the information).
- ↑ 29.0 29.1 29.2 Bartlett 1991, p. 27.
- ↑ Bartlett 1991, p. 48 and p. 307, note 46.
- ↑ 31.0 31.1 Wu 1970, p. 105.
- ↑ Oxnam 1975, p. 89 (Manchu membership); Bartlett 1991, p. 267 (open to Chinese).
- ↑ Bartlett 1991, p. 308, note 61 (Manchu Grand secretaries, 1792), and p. 312, note 116 (abolition by Qianlong).
- ↑ Bartlett 1991, p. 312, note 116, and p. 350, note 23.
บรรณานุกรม
[แก้]- Bartlett, Beatrice S. (1991), Monarchs and Ministers: The Grand Council in Mid-Ch'ing China, 1723–1820, Berkeley and Los Angeles: University of California Press, ISBN 978-0-520-08645-6.
- Hucker, Charles O. (1985), A Dictionary of Official Titles in Imperial China, Stanford: Stanford University Press, ISBN 978-0-8047-1193-7.
- Kessler, Lawrence (1976), K'ang-Hsi and the Consolidation of Ch'ing Rule, 1661–1684, Chicago: University of Chicago Press, ISBN 978-0-226-43203-8.
- Michael, Franz (1942), The Origin of Manchu Rule in China: Frontier and Bureaucracy as Interacting Forces in the Chinese Empire, Baltimore: Johns Hopkins Press.
- Oxnam, Robert B. (1975), Ruling from Horseback: Manchu Politics in the Oboi Regency, 1661–1669, Chicago and London: University of Chicago Press, ISBN 978-0-226-64244-4.
- Perdue, Peter C. (2005), China Marches West: The Qing Conquest of Central Eurasia, Cambridge, Mass., and London, England: The Belknap Press of Harvard University Press, ISBN 0-674-01684-X.
- Rawski, Evelyn S. (1998), The Last Emperors: A Social History of Qing Imperial Institutions, Los Angeles and Berkeley: University of California Press, ISBN 978-0-674-12761-6.
- Wu, Silas H. L. (1970), Communication and Imperial Control in China: Evolution of the Palace Memorial System, 1693–1735, Cambridge: Harvard University Press, ISBN 978-0-674-14801-7.
- Wakeman, Frederic, Jr. (1985), The Great Enterprise: The Manchu Reconstruction of Imperial Order in Seventeenth-Century China, Berkeley and Los Angeles: University of California Press, ISBN 978-0-520-04804-1.